Please wait...

<< Back

" เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2544 "

(น.265) วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2544
วันนี้ตื่นสายเกือบ 7 โมง ลงไปเรียกตำรวจข้างล่าง เขาบอกว่ารอตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง ไปเดินเล่นกัน มีป้ายสวน Ralph Lapwood ไม่รู้ว่าเป็นใคร ป้ายที่ระลึกถึง Edgar Snow นักเขียนมีชื่อ เขียนเกี่ยวกับจีนก่อนสมัยปลดแอก สมัยก่อนเคยอ่านหนังสือของเขาเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง Red Star over China ไปลองยืนร้องเพลงในระฆัง เสียงก็ไม่ได้สะท้อนดังสักเท่าไหร่ ระฆังใบนี้สร้างสมัยราชวงศ์ชิง มีลายมังกรและลายปากั้ว มหาวิทยาลัยซื้อมา ค.ศ.1926 ดูศิลาจารึกที่จักรพรรดิเฉียนหลงเขียนวางอยู่กลางแจ้ง ตัวอักษรเลือนหมดแล้ว ศิลาจารึกไทยก็มีปัญหาแบบนี้ คนชอบเอาไปวางไว้ในสวน นักอ่านศิลาจารึกจะอ่านก็อ่านไม่ได้ เพราะว่าตัวอักษรกร่อนไปแล้ว อาคารเก่าๆ มีป้ายบอกประวัติ เดินไปทางพิพิธภัณฑ์แซกเคลอร์ ตำรวจบอกว่าพวกตุ๊กตาหิน รูปสิงโต รูปกิเลน และเสาหินหัวเปี่ยว เป็นสิ่งที่เคยอยู่ในหยวนหมิงหยวน เดินผ่านอาคารที่อาจารย์ฟู่เคยพาไปดูศูนย์ภาษาไทย เสาหินหัวเปี่ยวเป็นเสาตั้งตรง ที่ยอดมีไม้สั้นประกบเป็นแนวนอนเฉียงๆ สมัยโบราณใช้เป็นป้ายบอกทาง ในป่าก็มีเสานี้เพื่อชี้ทางเดินไม่ให้หลงทาง ต่อมาเสานี้ที่อยู่ในวังในเมืองได้ใช้เป็นที่ให้ชาวบ้านแขวนฎีการ้องทุกข์ ภายหลังประโยชน์ที่กล่าวมาได้เลือนหายไป กลายเป็นสิ่งแสดงความสูงส่งและอำนาจ มีมังกรพันเสา ที่เทียนอานเหมิน กรุงปักกิ่ง มีเสาหินหัวเปี่ยว 2 ต้นหน้าวัง และ 2 ต้นหลังวัง มีรูปคล้ายสุนัขอยู่ที่เสาด้วย ที่หน้าวังหันออก สื่อความว่า ให้จักรพรรดิไปดูชาวบ้านบ้าง หลังวังหันเข้าแสดงนัยว่า จักรพรรดิเสด็จไปข้างนอกนานแล้ว ให้กลับมาบ้าง

(น.266) บริเวณมหาวิทยาลัยสวยงาม สงบดี เห็นนักเรียนมาอ่านหนังสือกันในสวน ไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตที่ไหน แต่นี่ถึงจะใหญ่โตมโหฬาร แต่อาคารไม่พอแน่นอน ยังกะสวนสาธารณะ ตำรวจบอกว่ามีบริเวณข้างนอกอีก เช่น คณะฟิสิกส์ก็อยู่ข้างนอก เกือบๆ จะ 8 โมงเช้ากลับขึ้นไปที่ห้อง คุณเฉิงโหยวเจียงตำรวจปักกิ่งเอาหนังสือเรื่องเมืองไทยมาให้เซ็น เขาบอกว่าเขาดูแลปานชานลามะด้วย เลยมีโอกาสไปทิเบตบ่อยๆ เขาบอกว่าไปทิเบตควรใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ วันแรกๆ ต้องเดินช้าๆ พอชินแล้วจึงทำอะไรได้ ข้าพเจ้าอธิบายเรื่องเมืองไทย เกือบ 9 โมงยังไม่มีใครมา ปรากฏว่าคนที่มาก่อนคืออาจารย์จังที่สอนพู่กันจีนมาก่อนใคร บอกว่าห้องอาหารเฉาหยวนขอให้เซ็นชื่อในสมุด ในสมุดนั้นมีลายเซ็นของรัฐมนตรีเก่า อธิการบดีเก่า หลี่เทียนอิง หันซูหยิน นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล กิมย้ง และนักประพันธ์ต่างๆ ครูบอกว่านักเขียนตัวอักษรนอกจากชื่อ นามสกุล แล้วมักนิยมใช้ตราที่เขียนคำที่ไพเราะ เช่น เจียงซานตัวเจียว แม่น้ำและภูเขาสวยงาม เป็นคำที่ประธานเหมาชอบ อาจารย์ให้ตราที่อาจารย์ใช้มานานแล้ว เขียนให้มหาวิทยาลัยปักกิ่งว่า หมิน จู่ เคอ เสวีย แปลว่า ประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์ กำลังเขียนให้สถานทูต อาจารย์จังบอกว่าเขียนหนังสือตัวโตต้องมีตราใหญ่ๆ ข้าพเจ้ายังไม่มี พอดีมาดามเฉียนเดินเข้ามาบอกว่ามีของให้ คือ มีตราอันโตให้ อาจารย์จังบอกว่าสำนวนจีนว่า ขาดน้ำก็ได้ฝน มาดามยังให้ที่ทับกระดาษ รวมทั้งฝากของไปถวายสมเด็จแม่ด้วย คุยอยู่ด้วยสักพักหนึ่งก็ไป พอมาดามเฉียนไปแล้ว อาจารย์จี้กลับมาเขียนกันใหม่จนเสร็จ พอเสร็จแล้วลงไปที่ห้องหงเอี้ยน ศาสตราจารย์เฉินซู่เผิงกับศาสตราจารย์


(น.267) รูป 269 มาดามเฉียนเอาตราสำหรับประทับขนาดใหญ่มาให้
Madam Qian giving me a big seal.


รูป 270 ถ่ายรูปกับมาดามเฉียน
A photograph taken with Madam Qian.

(น.268) เก้อเขอโย่วมาคุยกัน อาจารย์เฉินให้หนังสือเกี่ยวกับรีโมตเซนซิ่ง หนังสือเกี่ยวกับฮ่องกง พิมพ์ที่เซินเจิ้น (ใช้ดาวเทียมทุกดวง) เล่มที่สองเป็นแอตลาสใช้ดาวเทียม resolution 1 เมตร อีก 3 เล่มเป็นหนังสือที่อาจารย์เฉินเขียนเองเรื่อง การใช้รีโมตเซนซิ่งและ GIS มีบัตรเชิญร่วมประชุมรีโมตเซนซิ่งเดือนสิงหาคม ซึ่งคิดกันว่า ข้าพเจ้าจะไปจีน ไปเยือนทิเบต แต่ช่วงที่เขาจัดประชุมนั้นแม้จะอยู่ในเดือนสิงหาคม แต่ไม่ตรงกับช่วงที่ข้าพเจ้าจะไปจีน ข้าพเจ้าเล่าให้อาจารย์เก้อฟังว่าได้ตำแหน่งเป็นผู้ส่งเสริมโภชนาการ อาจารย์เก้อบอกว่าดีแล้ว เพราะจะต้องพยายามอธิบายให้พวกผู้นำเข้าใจว่าโภชนาการสำคัญ ไม่ใช่ว่ามีกินแล้วไม่ได้คิดว่ามีประโยชน์ ที่เมืองจีนตอนนี้เริ่มโครงการนมในสถานศึกษา ให้กินทุกวัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีการส่งสารนมถั่วเหลืองไปให้ ปีที่แล้วใน National Nutrition Congress มีการเปลี่ยนจาก RDA หรือ Recommended Dietary Allowance เป็น DRI (Dietary Intakes) ซึ่งมาจาก Dietary Guidelines ที่เอามาให้ดูปีที่แล้ว ข้าพเจ้าเตรียมจะไปทิเบต ถามว่าที่ทิเบตมีข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการบ้างหรือไม่ ดร.เก้อบอกว่ามีข้อมูล ค.ศ.1992 เฉพาะแต่ในเมือง บุคลากรสำหรับสำรวจไม่มี การส่งคนไปช่วยก็ยาก เพราะว่าการเดินทางไม่สะดวก จะมีการประชุมใหญ่ด้านโภชนาการอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.2002 เดินทางไปทิเบต ถ้าไปชิงไห่ ไปซีหนิง (เมืองหลวงของมณฑล) สูงประมาณ 3,500 เมตร ไปลาซาจะต้องนั่งรถไป จากเฉิงตูมีทางไป (ตอนนี้ชักงงต้องหาข้อมูลว่าจริงๆ ไปได้ไหม) แถบๆ ลาซาก็มีศูนย์วิจัยต่างๆ เช่น เรื่องการสะสมของธารน้ำแข็ง ความร้อนจากพื้นดิน ที่ชิงไห่คนกินธัญพืชกินถั่วมากกว่าที่อื่น ทิเบตกินนมมาก เนื้อก็กิน เขาใช้วิธีฆ่าสัตว์ในฤดูหนาว และเก็บเอาไว้กินตลอดปี ธัญพืชที่กินมากคือ ข้าวโอ๊ต คนกินเหล้ากันมาก เป็นเหล้าชาวบ้านแรงมาก ไม่มีรายงานเรื่องกินปลาทั้งๆ ที่มีปลาแยะ ไม่ชอบกินผัก รู้สึกว่าเหมือนกินหญ้า


(น.269) รูป 271 รองอธิการเฉินเอาหนังสือเกี่ยวกับ Biotechnology ที่แต่งสำหรับโรงเรียนมัธยมมาให้
Vice Chancellor Chen giving me books on biotechnology written for secondary school.

(น.269) ที่ลาซามีการศึกษาด้านรังสี (Radiation Measurement) รังสีจากดวงอาทิตย์มีปัญหาต่อผิวหนังต้องป้องกัน เขาสังเกตกันว่าดอกไม้ที่นั่นใหญ่กว่าที่อื่น กลางวันอุ่น กลางคืนหนาว ทางตะวันออกของทิเบตมีเครือข่าย GPS มาก มีปัญหาด้านแผ่นดินไหวมากกว่าที่อื่น ก็เลยต้องศึกษาอย่างดี มีเวลาน้อย ข้าพเจ้าเลยให้การบ้านอาจารย์เฉินซู่เผิงให้ช่วยหาข้อมูลพิเศษ ได้แล้วไว้ที่สถานทูต ตอนเที่ยงศาสตราจารย์เฉินจังเหลียงมา เพิ่งไปประชุมสภายังติดป้ายสมาชิกสภาอยู่เลย ข้าพเจ้าให้อักษรที่ข้าพเจ้าเขียนให้มหาวิยาลัยปักกิ่ง เขาบอกว่าจะเอาไปไว้พิพิธภัณฑ์ ดร.เฉินบอกว่ามีหนังสือมาให้ข้าพเจ้า 5 เล่ม เกี่ยวกับชีววิทยาสาขาต่างๆ ที่เป็นวิทยาการสมัยใหม่ เช่น การทำโคลนนิ่ง การตัดแต่งยีน (นำยีนอย่างหนึ่งไปใส่อีกอย่างหนึ่ง) ฯลฯ เป็นหนังสือที่รัฐมนตรีเฉินจื้อลี่ขอให้เขียนสำหรับนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายให้ก้าวทันโลกในยุคนี้ มีอีก 4 เล่มยังเขียนไม่เสร็จ


(น.270) รูป 272 มองจากห้องพัก
A view from my room.

(น.270) ชวนกันไปรับประทานที่ภัตตาคารทิงลี่เป็นสาขาของภัตตาคารทิงลี่ที่พระราชวังฤดูร้อน อาหารคล้ายๆ กัน เชิญอาจารย์เฉินซู่เผิงและอาจารย์เก้อไปด้วย ยังมีอีกท่านคือ อาจารย์เตาซู่เหริน เลขาธิการพุทธสมาคม เขาบอกว่าเตรียมคัมภีร์ทิเบตเอาไว้ให้ เมื่อพร้อมจะไปให้ที่สถานทูต ข้าพเจ้าบอกว่าเปิดดูประกาศนียบัตรแล้ว ข้าพเจ้าได้หนังสือหมายเลข 2 เขาบอกว่าหมายเลข 1 ต้องเอาไว้ที่ห้องสมุด ปานชานลามะได้เบอร์ 3 ศาสตราจารย์เฉินจังเหลียงคุยตลกมาก ได้หัวเราะกันทุกคน เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ไปร้านหนังสือ อาจารย์จังซิ่วหวนกับอาจารย์ฟู่ไปด้วย ร้านหนังสือนี้มีหนังสือภาษาจีนมาก ข้าพเจ้าเสียดายมากที่อ่านภาษาจีนไม่เก่ง ไม่อย่างนั้นจะมีหนังสือสนุกๆ อ่านมาก มีคนมาอ่านหนังสือมาก มีที่ให้คนอ่านหนังสือพลางดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มต่างๆ ไม่ต้องซื้อหนังสือก็ได้ ชั้นบนมีที่เป็นคูหาแบ่งให้สำนักพิมพ์แต่ละแห่งเอาหนังสือมาขาย

(น.271) ตกลงข้าพเจ้าไม่ได้ซื้อ หนังสือที่เลือกเอาไว้ทางร้านให้ฟรี! กลับที่หอพัก ดูเก็บของเป็นครั้งสุดท้าย ของรับประทานต่างๆ ไม่เอากลับทิ้งไว้ รู้สึกใจหายอยู่มาตั้งเดือนอย่างสบายทุกอย่าง ลงไปข้างล่างหงเอี้ยนบอกว่ายังไม่ถึงเวลา ข้าพเจ้าว่าไม่เป็นไรจะลงไปคุยกับนักเรียน อาจารย์ฟู่ อาจารย์เหริ่นพาลูกศิษย์มา ข้าพเจ้าพบพวกเขา ตอนนี้เขาเพิ่งเข้ามาเรียน เรียนภาษาไทยได้เพียง 5 เดือน แต่พูดได้คล่องปีหน้าก็เรียนจบแล้ว พวกเขาบอกว่าเดือนสิงหาคมจะมารับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแย้งว่าตอนนี้ปิดเทอมใหญ่ เขาบอกว่าบ้านอยู่ปักกิ่งมาได้ พวกนักเรียนไทยก็มา แต่มาตอนจะต้องไปอยู่แล้ว อาจารย์เฮ่าผิงมาส่ง พวกคนทำงานที่ตึกนี้ก็มาส่งกัน ไปสนามบิน ทูตฟู่และภรรยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศาสตราจารย์เหว่ยอวี้) มาส่ง พวกครูๆ มาส่งกัน อาจารย์เผย์ให้กิ่งหลิวมีความหมายว่าให้กลับมาอีก อาจารย์จังซิ่วหวน อาจารย์จังอิง อาจารย์หวังรั่วเจียง คุณเถียน (กระทรวงศึกษาธิการ) เสี่ยวอาน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ฯลฯ ถึงเวลาขึ้นเครื่องบินกลับ ทูตดอนและพี่หนูเล็กขึ้นมาส่งบนเครื่องบิน ข้าพเจ้าคิดว่ามาคราวนี้ได้ประโยชน์ในด้านการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนมาก ทำอย่างไรให้รักษาความรู้ไว้ได้เพื่อนจะได้เรียนต่อเมื่อมาครั้งหน้า

(น.272) รูป