Please wait...

<< Back

"ไอรัก" คืออะไร ? วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2535"

(น.1) “ไอรัก” คืออะไร ?


(น.2) รูป

(น.3) วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2535
ไปจีนเที่ยวนี้ คณะเราใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศ เครื่องเดียวกับที่ไปต่างจังหวัด ใช้เวลาบินเกือบๆ จะห้าชั่วโมง ถึงจะบินกลางวันแต่ท้องฟ้าแถบนี้มีเมฆมาก จึงมองดูทิวทัศน์ไม่เห็น ไปถึงสนามบินจีนท่านเอกอัครราชทูต มนตรี ชาลีจันทร์ ขึ้นมารับบนเครื่องบิน พร้อมกับที่ปรึกษากรมพิธีการทูตจีน (หวังหยูจุง) ลงไปที่สนามบินฝ่ายจีนมีท่านสูตุนซิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและภริยา มาดามเซี่ยย่วยเอ้อ ที่ปรึกษาประจำกรมเอเชีย (รับผิดชอบงานด้านกัมพูชา)
ฝ่ายไทยมีสถานเอกอัครราชทูต นักเรียนไทยในปักกิ่ง ตู่ก็มาด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานการบินไทยประจำปักกิ่ง


(น.3) รูป 1 ที่สนามบินกรุงปักกิ่ง
Peking Airport. Greeted by the Deputy Minister of Foreign Affairs and Madame.


(น.4) รูป 2 ไปดูเขื่อนกั้นน้ำ
Visiting a dam site

(น.4) จากสนามบินเราจะไปที่ป่ามี่หยุนเลย ฉะนั้นรัฐมนตรีช่วยสูตุนซิ่นกับภริยาจึงส่งแค่ที่สนามบิน มาดามเซี่ยเป็นคนนั่งไปกับข้าพเจ้า คุณหลิวจื่อเจี้ยเป็นล่าม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคือคุณหลี่ฟ่งจุนเหมือนปีที่แล้ว มาดามเซี่ยอยู่เมืองไทยมา 3 ปี เพิ่งกลับมาได้ 4 เดือน เขาเคยอยู่ที่กัมพูชาระหว่างปี 1959-1963 เลยรู้จักใครต่อใครในเมืองไทยและเมืองเขมรมาก คุณหลิวนั้นเคยเรียนภาษาไทยที่กวางโจวและมาเรียนจุฬาฯ ปีหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยรู้จักเขาเมื่อเขาทำงานอยู่ที่สถานกงสุลจีนที่เชียงใหม่ (คุณก่วนมู่มาแต่นั่งรถคันอื่น ส่วนพี่อู๋หุ้ยชิงกำลังเรียนภาษาอังกฤษ) มาดามเซี่ยพูดภาษาเขมรก็ได้ การสนทนาในรถเลยมีทั้งภาษาจีน ไทย เขมร และฝรั่งเศส ฉะนั้นมาเที่ยวนี้ศึกษาภาษาจีนได้เร็วมาก


(น.5) รูป 3 เขื่อนที่อำเภอมี่หยุน
The dam at Miyun Shelter Forest.

(น.5) อากาศช่วงนี้เป็นฤดูชิวเทียนหรือฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดสำหรับจีนภาคเหนือ ส่วนจีนภาคใต้นั้นฤดูชุนเทียนหรือฤดูใบไม้ผลิจึงจะดี เมื่อเข้าเขตอำเภอมี่หยุน ซึ่งอยู่ชานกรุงปักกิ่ง หยุดรถ มาดามเจิ้งยาจวน (เป็นรองนายอำเภอ) ข้าพเจ้าเรียกง่ายๆ ว่าปลัดอำเภอ มานั่งในรถแทนมาดามเซี่ย บอกว่าตอนนี้นายอำเภอไม่อยู่ ไปภาคใต้ ให้ปลัดเจิ้งมารับแทน ปลัดเจิ้งเล่าเรื่องของอำเภอนี้ว่าเป็นอำเภอขนาดกลาง มีเขื่อนกั้นน้ำซึ่งสร้างขึ้นแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปี 1959 (ช่วงที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดไกล) ระดมคนจากอำเภอใกล้เคียงมาหลายอำเภอ จึงสร้างสำเร็จภายในปีเดียว ท่านโจวเอินไหลมาตรวจงานถึง 6 ครั้งจึงตัดสินใจสร้าง ท่านประธานเหมาเซตุงเคยมา

(น.6) ดูงานและว่ายน้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ในเดือนกันยายน อากาศคงจะเย็นราวๆ ตอนนี้แน่ๆ ข้าพเจ้าเห็นจะไม่กล้าลงว่ายน้ำ กลัวเป็นปอดบวม ในน้ำเขายังกันที่ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นรายได้ที่ดี ปลาที่เลี้ยงมีหลายชนิด เช่น ปลาหลีฮื้อ เฉาฮื้อ เป็นต้น ที่บริเวณนี้เป็นที่สูงมีภูเขา 85% เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วยิ่งทำให้มีพื้นที่ทำกินน้อยลง เนื่องจากเป็นที่อากาศดี สวยงาม ก็มีหน่วยราชการมาสร้างรีสอร์ตมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสวนสนุกขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเบา เช่น โรงงานทำเบียร์ น้ำผลไม้ โรงงานแปรรูปอาหาร เช่น ถั่วลิสงกระป๋อง โรงงานทำวัสดุก่อสร้าง มีการลงทุนร่วมกับญี่ปุ่น ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ประชากร 2 ใน 3 ทำงานอยู่ภาคอุตสาหกรรมบนภูเขามีการปลูกต้นไม้หลายประเภท ที่ภูเขาสูงๆ ใช้วิธีหว่านเมล็ดพืชจากเครื่องบิน ต้นไม้ป่าที่ปลูก มีต้นสน ต้นหลิว ต้นหยาง ต้นไป๋ (คล้ายๆ สน) ต้นหวย ต้นเกาลัด ไม้ผลมีต้นแอปเปิ้ล (เขาปลูกพันธุ์ฟูจิมาจากญี่ปุ่น) สาลี่ ลูกหง (คล้ายๆ พุทรา) รวมปลูกต้นไม้ 52% ของเนื้อที่ ทำให้นายอำเภอได้เป็นนายอำเภอตัวอย่างเพราะปลูกต้นไม้ได้มาก รถไปหยุดบนสันเขื่อน ผู้อำนวยการปลูกป่าชื่อ โหเหวินกวง มาอธิบายเรื่องเขื่อน ชี้ให้ดูโรงกำเนิดไฟฟ้า เมื่อใช้ทำไฟฟ้าเสร็จแล้วก็ต่อน้ำไปที่ปักกิ่ง ทำน้ำประปา ฉะนั้นแหล่งน้ำแห่งนี้จึงเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชาวปักกิ่ง รวมทั้งสถานทูตไทยด้วย (หันมาทางพวกเรา) ดังนั้นเป็นหน้าที่ของชาวมี่หยุนที่จะดูแลให้น้ำสะอาด



(น.7) รูป 4 ลูกหงสดอยู่ในตะกร้า
A basket of Chinese fresh fruits.

(น.7) ฉะนั้นจึงต้องระวัง แม้แต่การปราบศัตรูพืชเขาไม่ใช้สารเคมี ใช้นกกับแมลงชนิดหนึ่ง< สุดท้ายไปที่สำนักงานของกรมป่าไม้ ดื่มน้ำชา น้ำลูกหง รสชาติเหมือนพุทราแผ่นแดงๆ ที่ข้าพเจ้าชอบรับประทานตอนเด็กๆ กินแอปเปิ้ลกับสาลี่ มาดามเซี่ยบอกว่าเวลาไอ ต้องปอกคว้านแล้วต้มกับน้ำตาลกรวด ขากลับมาถึงเตี้ยวหยูวไถ คราวนี้อยู่ที่เรือนหลังที่ 16 ที่ย้ายมาอยู่หลังนี้ เพราะเรามากันมาก เรือนที่อยู่กันคราวก่อนมีห้องไม่พอ



(น.8) รูป 5 เซ็นชื่อที่สำนักงานกรมป่าไม้ที่เราไปเยี่ยม
Signing my name in Chinese at the Forestry Department of Miyun.

(น.8) เนื่องจากเรากลับมาช้ากว่ากำหนด จึงขอเลื่อนการพบรองนายกรัฐมนตรีเถียนจี้หยุนไปอีก 15 นาที (18.15 น.) ไม่มีเวลาเปลี่ยนเสื้อผ้า ท่านรองนายกฯ รออยู่ที่ห้องฟางเฟยหยวนซึ่งอยู่อีกอาคารหนึ่ง เราเดินไปเนื่องจากระยะทางไม่ไกลนัก ท่านรองนายกฯท่านนี้รับผิดชอบด้านการเกษตรและพัฒนาชนบท ท่านเคยมาเมืองไทยในปี 1986 ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ท่านเล่าถึงโครงการอ่างเก็บน้ำมี่หยุนที่เราไปชมเมื่อบ่ายนี้ว่าบางปีมีน้ำน้อย น้ำเกือบไม่พอใช้ ฉะนั้นทางการจีนจึงมีความคิดจะชักแม่น้ำแยงซีเกียงมาใช้ โดยส่งผ่าน

(น.9) คลองใหญ่ (ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย) แต่คงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะปฏิบัติได้ เพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมาก และเล่าถึงบริษัทของไทยที่มาลงทุนในจีนขณะนี้มีอยู่หลายบริษัท นอกจากท่านรองนายกฯ แล้ว แขกท่านอื่นๆ มีท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการสูตุนซิ่นและภริยา ท่านอดีตเอกอัครราชทูตไฉเจ๋อหมิง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสิ่งทอ (มาดามอู๋เหวินอิง) หลังจากสนทนากันได้ครู่หนึ่ง (มีคุณหลิวและคุณจิ้นอี้หลิงทำหน้าที่เป็นล่าม) ก็เข้าไปรับประทานอาหาร เป็นอาหารจีน ถึงจะค่อนข้างจืดและไม่มีพริกตำแถมก็อร่อย และไม่มันเลี่ยนเกินไป เครื่องดื่มมีไวน์และเหล้าเขาชิงแช่บ๊วย ท่านรัฐมนตรีเล่าถึงอุตสาหกรรมทอผ้าของจีน ท่านเองได้มาดูงานโรงงานทอผ้าของไทย ภายหลังถ้าข้าพเจ้ามีเวลาให้ไปดูโรงงานได้ ท่านรองนายกเล่าถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ เดี๋ยวนี้การค้าของจีนก้าวหน้าขึ้นมาก ร้านสรรพสินค้าที่เปิดใหม่ล่าสุดร่วมทุนกับเยอรมนีและเกาหลีใต้ เปิดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง รู้สึกจะเป็นแห่งที่ป้าจันกับอึ่งแวะไปซื้อของ โครงการชลประทานที่เพิ่งผ่านมติสภาไป คือ โครงการกั้นช่องแคบสามแห่งในแม่น้ำแยงซีเกียง จะเริ่มต้นโครงการในปี 1996 จุดประสงค์หลักของโครงการ คือป้องกันน้ำท่วม และผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือปัญหาในการโยกย้ายประชากรจำนวนมาก มีคนคัดค้านเรื่องการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางคนก็ว่าการเก็บน้ำปริมาณมากเช่นนี้จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้

(น.10) เมื่อรับประทานเสร็จแล้วเดินกลับที่พัก ภริยาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน (เฉียนชีเฉิน) ชื่อมาดามโจวหันฉงมากับเพื่อน 2 ท่าน ท่านหนึ่งเป็นภริยาของเอกอัครราชทูตจีนประจำอียิปต์ อีกท่านเป็นอาจารย์ด้านพัฒนาการศึกษา ทั้ง 3 ท่านทำงานองค์การพิทักษ์เด็ก ซึ่งเป็นองค์การกุศลเอกชน ท่านเล่าว่าปัญหาเรื่องเด็กในจีนมีมาก องค์การของเขาพยายามแก้ปัญหาหลายๆ เรื่อง เช่น อยากให้เด็กมีหนังสืออ่านมากขึ้น ร่วมโครงการศูนย์รวบรวมหนังสือระหว่างประเทศ ให้การศึกษาเด็กปัญญาอ่อนและป้องกันการเป็นโรคปัญญาอ่อน ไม่ให้เด็กสูบบุหรี่ ฟื้นฟูเด็กปัญญาอ่อนด้วยการใช้ของเล่นกระตุ้น การแก้ปัญหาอาหาร โภชนาการ เขาติดต่อกับศาสตราจารย์นายแพทย์ อารี วัลยเสวี สถาบันโภชนาการ มหาวิยาลัยมหิดล และส่งคนไปเรียนที่ไทย 3 คน เขาบอกว่าถ้ามีเวลาให้ไปดูโรงเรียนของจีน และโครงการของเขาที่มี่หยุน ที่ชานตง (เขาไท่ชาน) เดือนกรกฎาคม 1993 จะจัดสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับการศึกษาในหัวข้อครอบครัว สังคม และโรงเรียน มีผลอย่างไรต่อการศึกษาของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับปีครอบครัวระหว่างประเทศ 1994 ถ้าข้าพเจ้าว่างก็ขอให้มาด้วย โฆษณาว่าเดือนกรกฎาคมอากาศสบาย เมื่อคุยกับมาดาม 3 ท่านเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าขึ้นมาอาบน้ำและทดสอบสไลด์กับบทคำบรรยาย ที่จะใช้ในงานประชุมที่มองโกเลีย