6.ด้านการสาธารณสุข
จากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดาร ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นถึงปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรในชนบท
พระองค์จึงมีพระราชดำริจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยของราษฎร โครงการแรกที่พระองค์ทรงเริ่ม ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน
ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้วยังช่วยให้นักเรียนมีความรู้ทางด้านโภชนาการและการเกษตรด้วย และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
นั่นคือการระบาดของโรคคอพอกเนื่องจากการขาดสารไอโอดีน พระองค์ทรงแก้ไขปัญหานี้โดยทรงริเริ่มโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนด้วยการรณรงค์ให้มีการใช้เกลือไอโอดีนหรือหยดไอโอดีนในการประกอบอาหารและอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขาดไอโอดีน
ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่เสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้พระองค์ยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดารด้วย โดยพระองค์ทรงตระหนักว่าคนเราจะภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่ดีนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา
พระองค์จึงเริ่มโครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร
เพื่อให้แม่และเด็กได้รับบริการทางด้านอนามัยอย่างเหมาะสม รวมทั้งได้รับโภชนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทานเพื่อออกตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดารที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมในแต่ละครั้ง
รวมทั้งทรงรับผู้ป่วยที่ยากจนเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ด้วย พระองค์เสด็จ ณ โรงพยาบาลต่าง ๆ ในเมืองมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและจักษุ โดยนำวิทยาการในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมาสู่ราชอาณาจักรไทย
7.ด้านศาสนา
เนื่องจากพระองค์ทรงได้รับการอบรมให้มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
โดยพระองค์มักจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชให้เสด็จฯ เป็นผู้แทนพระองค์เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียนที่พุทธมณฑล เนื่องในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น
พระองค์ทรงริเริ่มให้มีการฟื้นฟูประเพณีฉลองวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นประเพณีที่เคยมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
โดยได้ทรงประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันจุดโคมประทีป และส่งบัตรอวยพรที่มีข้อธรรมะ เพื่อเป็นการพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ทราบถึงประวัติและความสำคัญของวันวิสาขบูชา
รวมทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยพระองค์ยังได้พระราชทานโคลงข้อธรรมะเพื่อให้กระทรวงวัฒนธรรมพิมพ์แจกแก่พุทธศาสนิกชนในบัตรอวยพรวันวิสาขบูชาด้วยและพระองค์ยังทรงพระราชดำริให้ธรรมสถานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเทศน์มหาชาติร่ายยาวขึ้น
ซึ่งเป็นการเทศน์มหาชาติตามรูปแบบที่ถูกต้องตามตำรับหลวง เพื่อชี้นำให้คนไทยได้เข้าใจในคุณค่าของเรื่องมหาชาติและประเพณีการเทศน์มหาชาติที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ พระองค์ยังทรงเป็นแม่กองในการซ่อมแซมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เพื่อให้สำเร็จทันงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2525 ซึ่งงานบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากงบประมาณน้อย รวมทั้งขาดแคลนช่างในสาขาต่าง ๆ เป็นต้น
งานในครั้งนี้พระองค์ทรงดูแลอย่างใกล้ชิดและคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ด้วยพระราชหฤทัยที่เด็ดขาด รวมทั้งการได้รับเงินบริจาคจากพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนร่วมสมทบทุนจึงทำให้งานบูรณะในครั้งนี้จึงเสร็จทันกาล
นอกจากนี้พระองค์ทรงบูรณะวัดท่าสุทธาวาส จังหวัดอ่างทองและทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่เพื่อเป็นพระราชกุศลในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบและทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ด้วย
นอกจากพระพุทธศาสนาแล้วพระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอื่น ๆ โดยมิได้ทรงละเลย ซึ่งเมื่อพระองค์ได้รับคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปประกอบพิธีกรรมของศาสนาต่าง ๆ นั้น พระองค์ก็จะเสด็จฯ ตามคำกราบบังคมทูลเสมอ
8.ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
พระองค์มีพระราชดำริให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาพัฒนาประเทศหลายประการ
ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเป็นเลขานุการ
โดยมีพระราชดำริให้โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโครงการนำร่องและใช้เป็นตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้และมีพระราชประสงค์จะให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ๆ มารับช่วงต่อไป
พระองค์ทรงเริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนในชนบท ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 ในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงเรียนในชนบท
โดยพระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปรณ์ที่จำเป็นเพื่อจัดตั้งเป็นห้องเรียนขึ้นและพัฒนามาจนสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประกอบการเรียนการสอนในรายวิชา ต่าง ๆ
ปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการประมาณ 85 แห่ง โดยมีโรงเรียนในจังหวัดนครนายกเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพื่อนำแนวทางใหม่ไปทดลองใช้กับโรงเรียนในชนบทและทรงริเริ่มโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ
เพื่อให้คนพิการสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างความรู้ ความบันเทิง พัฒนาทักษะ และสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต พระองค์ทรงมีคณะทำงานที่จะศึกษาวิจัยเพื่อหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและวิธีการช่วยเหลือผู้พิการในแต่ละด้านอย่างเหมาะสม
ซึ่งโครงการนี้มีโรงเรียนศรีสังวาลย์เป็นหน่วยงานหลัก นอกจากนี้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำรินี้ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขังในทัณฑสถานได้รับการอบรมและฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างการถูกคุมขัง
เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปพัฒนาตนเองและนำไปประกอบอาชีพได้และมีโครงการสำหรับเด็กป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งอาจจะทำให้ขาดโอกาสทางด้านการศึกษาโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กที่ป่วยด้วย นอกจากนี้พระองค์ยังนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับงานทางด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย 76 จังหวัด ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลโครงการนี้
จากพระราชกรณียกิจทางด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ
ทำให้วารสารอินโฟแชร์ซึ่งเป็นวาสารของสำนักงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของยูเนสโกได้ตีพิมพ์บทความเฉลิมพระเกียรติการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ด้านสารสนเทศของเด็กและผู้ด้อยโอกาสของไทย รวมทั้งยังได้ถวายนาม “IT Princess” หรือ “เจ้าหญิง ไอที” แก่พระองค์อีกด้วย