Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2545 "




(น.196) รูป

(น.197) วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2545
ไปมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูไห่หนาน (ไหหลำ) เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1949 ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของมณฑล เมื่อ ค.ศ. 1952 ตั้งเป็นวิทยาลัยฝึกหัดครู ต่อมาใน ค.ศ. 1962 ได้ผนวกโรงเรียนอุตสาหกรรมไห่หนานเข้ามาอยู่ด้วย ใน ค.ศ. 1983 รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งรวมวิทยาลัยฝึกหัดครู วิทยาลัยแพทยศาสตร์ และวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัย ที่เราไปเยี่ยมชมเป็นส่วนฝึกหัดครูประถมและมัธยม มีนักศึกษาไทยมาเรียนอยู่ 3 คน เมื่อไปถึงเลขาการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหาวิทยาลัยกล่าวต้อนรับ และมีการแสดงของนักศึกษาที่เขาว่าเป็นการแสดงแบบจีน แต่ที่เห็นเหมือนกับบัลเล่ต์ และมีนักศึกษาออกมาอ่านบทกวีที่ข้าพเจ้าแต่งและมีการแปลเป็นภาษาจีน เมื่อจบการแสดง คุณวันชัย จิราธิวัฒน์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมไหหลำบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัย


(น.198) รูป

(น.198) ออกมาปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึก แล้วไปที่ Hainan Biodiversity Museum มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมแห่งแรกของไหหลำ ผู้สร้างคือมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูไห่หนานใน ค.ศ. 2000 พิพิธภัณฑ์นี้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีววิทยาและด้านวัฒนธรรมในเกาะไหหลำ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการศึกษา เป็นแหล่งสันทนาการ และสร้างสำนึกในด้านการอนุรักษ์ให้ประชาชนทั่วๆ ไป ทางพิพิธภัณฑ์พยายามจัดกิจกรรมให้เป็นที่สนใจของผู้มาชม มีการสาธิตต่างๆ เช่น สาธิตการปั้นหม้อ การแสดงดนตรีและการเล่นเกม มีการเปลี่ยนข้าวของที่แสดง จัดใหม่เป็นระยะๆ และยังติดต่อพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ให้มาจัดนิทรรศการพิเศษเป็นครั้งคราว


(น.199) รูป

(น.199) ที่เราดูเริ่มต้นด้วยภาพถ่ายดาวเทียมของทะเลจีนใต้ มีเกาะต่างๆ อยู่หลายเกาะ เช่น ซีซา หนานซา จงซา ไหหลำเป็นเกาะใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 34,380 ตารางกิโลเมตร มีระบบนิเวศน์แบบต่างๆ เช่น ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น หาดปะการังที่ซานย่า พืชสัตว์สปีชีส์ต่างๆ ที่เราได้ศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ (genetics) มีทั้งชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ ฟอสซิลที่สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่สมัย Cretaceus ปะการังในเกาะนี้ หอยสังข์ หอย nautilus (ดูคล้ายๆ กับหอยกิ้งกือ แต่ตัวโตกว่า) หอยมือเสือ (giant clams) แมงดา (king crab) หอยเบี้ย ปลา แมลง ผีเสื้อ และตัวด้วงชนิดต่างๆ ผีเสื้อที่แปลก เช่น leopard butterfly (Kalima inactus) ดูลักษณะเหมือนใบไม้ ตัวด้วงที่มีรูปร่างลวดลายเหมือนงิ้ว


(น.200) รูป

(น.200) สัตว์ใหญ่ เช่น ตะกวด เสือดาว แพนด้าชนิดเล็ก (lesser panda) แร้ง กระรอกบิน หมาป่าที่มาจากมองโกเลียใน กวาง springbock นกต่างๆ เช่น นกไก่ฟ้า (pheasent) ชนิดขนยาวๆ ที่ใช้ปักหมวกขุนนางจีนสมัยโบราณ (นกหว้า?) นก warship bird นกชนิดนี้ดุมากถึงกับแย่งอาหารในปากนกตัวอื่นๆ มีส่วนที่สะสมนกไก่ฟ้าจากทั่วโลก นกกระสา เรื่องเกี่ยวกับระบบนิเวศทั้งเรื่องภูมิอากาศ คน สัตว์ และดิน ระบบนิเวศของพื้นที่ต่างๆ เช่น ทะเลลึก ทะเลตื้น แถบที่มีปะการัง ป่าชายเลน แสดงปัญหาที่ป่าชายเลนถูกทำลายด้วยการทำนากุ้ง ส่วนที่เรียกว่า artificial ecosystem ไม่ทราบว่าทำไมเรียกอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น บริเวณทุ่งหญ้า savannah สวนกล้วย พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากร

(น.201) ระบบนิเวศในป่า เช่น ป่าสน ไม้ผลัดใบ ไม้ในป่าดิบ (evergreen) การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น เรื่องการเพิ่มอุณหภูมิของโลก (global warming) และการที่โอโซนลดน้อยลง (ozone depletion) การแก้ภาวะเสื่อมโทรมของระบบนิเวศด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ถึงแม้ว่าไหหลำจะเป็นเกาะที่อยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น มีพื้นที่ป่าปกคลุมมาก แต่ภาคตะวันออกเริ่มกลายสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) ไปบ้างแล้ว วิธีแก้ไขก็คือ ปลูกเตย (pandanus) ให้เกาะยึดดินเอาไว้ ไม่ให้ปลิวไป การเกิดน้ำเสียในทะเลจีนใต้ (contamination of South China Sea) เนื่องจากสารเคมี เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ทำให้สาหร่ายสีแดง (red algae) ซึ่งเป็นพืชเซลล์เดียวเจริญเติบโตมากเกินไป พิพิธภัณฑ์มีห้องดูวิดีโอ (แต่เราไม่มีเวลาดู) มีการ์ตูนส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม (ภาควิชาสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยนี้มีผู้เรียนประมาณ 400 คน) อีกห้องหนึ่งมีนิทรรศการเกี่ยวกับสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น แมวน้ำ ปลาพะยูน (มีในเกาะไหหลำ) พฤติกรรมต่างๆ ของปลาวาฬชนิดต่างๆ (ถ่ายรูปมาให้ดู) เช่น การพ่นน้ำ


(น.201) รูป


(น.202) รูป

(น.202) ใน ค.ศ. 2000 มีปลาวาฬ ยาว 10 เมตร หนัก 11 ตัน มาตายเกยตื้น เขาจึงเอากระดูกปลานี้มาต่อกัน ส่วนเครื่องในเอามาดองไว้ เช่น ลิ้น หัวใจ ปอด ลำไส้ กระเพาะ ตับ รังไข่ (พอดีเป็นปลาวาฬตัวเมีย) เป็นซากปลาวาฬที่มีครบถ้วนชุดเดียวในประเทศจีน เป็นประโยชน์มากในการวิจัย ปลาวาฬชนิดนี้มีชื่อว่า Bryde’s whale หรือ Balaenoptera edeni เมื่อดูได้แค่นี้ เข้าห้องน้ำแล้วเดินทางไปที่หมายต่อไป

(น.203) ที่หมายที่ 2 คือ อู่กงฉือ เป็นหอบรรพบุรุษผู้มีชื่อเสียง 5 ท่าน เป็นอาคารแรกที่สร้างในเกาะไหหลำ สร้างสมัยจักรพรรดิกวางสู ปีที่ 15 (ค.ศ. 1889) เป็นสถานที่แสดงความเคารพ เสนาบดีผู้มีความรู้สมัยราชวงศ์ถังและซ่งใต้รวม 5 ท่าน ที่ถูกเนรเทศมาอยู่เกาะไหหลำ ที่สร้างอาคารชื่อ จูไฉ่ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในเกาะไหหลำสมัยนั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง 5 คือ
1. หลี่เต๋ออวี้ (ค.ศ. 787-850) เป็นขุนนางจากมณฑลเหอเป่ยสมัยราชวงศ์ถัง เคยเป็นอัครมหาเสนาบดี (ไจ่เซี่ยง-นายกรัฐมนตรี) ถึง 2 ครั้ง ในสมัยนั้นท่านขัดแย้งกับนักการเมือง กลุ่มหนิวเซิงหรู ในด้านการปฏิรูปการปกครองและระบบสอบรับราชการ ท่านหลี่เต๋ออวี้และพวกต้องการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลกลางด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ให้คุมอิทธิพลท้องถิ่นได้ แต่พวกกลุ่มหนิวเซิงหรูมีนโยบายกระจายอำนาจ ต้องการให้ทหารระดับภูมิภาคปกครองตนเอง ทั้งสองกลุ่มขัดแย้งกัน 40 ปี เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิเชื่อกลุ่มหนิวเซิงหรู หลี่เต๋ออวี้จึงถูกเนรเทศไปเกาะไหหลำ สมัยนั้นเรียกว่า หยาโจว (涯州) และไปตายที่นั่น
2. หลี่กัง (ค.ศ. 1083-1140) เป็นคนมณฑลฮกเกี้ยน รับราชการในสมัยราชวงศ์ซ่ง แต่แรกจักรพรรดิตั้งเป็นขุนนางระดับสูงถึงอัครมหาเสนาบดี ตอนที่มีแผนจะรบกับพวกจิน (กิมก๊ก) แต่ต่อมาจักรพรรดิคิดจะยอมแพ้ก็เลยเนรเทศหลี่กังมาที่เกาะไหหลำ เมื่อเนรเทศได้ 3 วัน จักรพรรดิก็ยกโทษให้ (ค.ศ. 1129)
3. เจ้าติ่ง (ค.ศ. 1085-1147) เป็นคนมณฑลซานซี สอบเป็นขุนนางได้ ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี เป็นฝ่ายที่สนับสนุนเย่วเฟย (งักฮุย) ให้รบกับพวกกิมก๊ก ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองแต้จิ๋วใน ค.ศ. 1138 หลังจากนั้นถูกเนรเทศไปเกาะไหหลำใน ค.ศ. 1144 เพราะฉินฮุ่ย เสนาบดีผู้ใหญ่ที่ฝักใฝ่พวกกิมก๊ก (คนไทยรู้จักในนามฉินกุ้ย) ไม่ชอบ เสียชีวิตใน ค.ศ. 1147 เพราะอดอาหารประท้วง

(น.204)

4. หลี่กวง (ค.ศ. 1078-1159) เป็นคนอำเภอซ่างอวี๋ มณฑลเจ้อเจียง เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ถูกเนรเทศใน ค.ศ. 1141 เพราะฉินฮุ่ยแค้นที่ไปวิจารณ์ซึ่งๆ หน้าตอนเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ เมื่อมาที่เกาะไหหลำ ได้สร้างโรงเรียนเผยแพร่วัฒนธรรมจีน
5. หูฉวน (ค.ศ. 1102-1180) เป็นพวกที่เสนอให้ต่อสู้กับพวกจิน เขียนหนังสือว่าถ้าตัดหัวฉินฮุ่ยแล้วประเทศจึงจะมีเสถียรภาพ เป็นเหตุให้ถูกเนรเทศ แต่แรกถูกเนรเทศไปมณฑลเจียงซีแล้วต่อไปที่เกาะไหหลำใน ค.ศ. 1148 อยู่ที่ซานย่า ได้สร้างโรงเรียนเผยแพร่วัฒนธรรมจีนภาคกลาง


(น.204) รูป

(น.205) ทั้ง 4 ท่านนี้เป็นพวกที่ต้องการรบกับพวกจิน ต้านฉินฮุ่ย ถึงจะถูกขับไล่ไปอยู่ไกล แต่ยังคงซื่อสัตย์และทำงานเป็นประโยชน์ต่อประเทศไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะเผยแพร่วัฒนธรรมส่วนกลางแล้ว ยังทำคุณประโยชน์ให้ท้องถิ่นไหหลำด้วย อาคารเสวียผู่ถัง สร้างในราชวงศ์ชิง สมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง รัชศกปีที่ 14 ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สร้างโรงเรียนนี้ เพื่อคัดสรรคนที่มีสติปัญญาดีเยี่ยมของไหหลำไปสอบรับราชการในภาคกลาง เชิญอาจารย์ที่เก่งๆ มาสอนที่โรงเรียนนี้ ขณะนี้เก็บวัสดุโบราณ เช่น ฐานตั้งปืนใหญ่ที่เคยตั้งไว้ที่ชายหาดไหโข่ว ระฆังที่ผู้บัญชาการทหารบริจาคเงินสร้าง

Next >>