Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2545 "

(น.223) วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2545
ตอนเช้าอารยาสั่งข้าวมันไก่มารับประทานกัน เมื่อวานนี้หงเยี่ยนไม่สบายเข้าโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยท้องถิ่นมาคุยกับข้าพเจ้าแทน ก่อนออกเดินทางโทรศัพท์ไปเยี่ยมหงเยี่ยน ออกเดินทางไปซานย่า สองข้างทางเป็นทุ่งนาและต้นมะพร้าว ดูเหมือนว่าเขาจะสนใจเรื่องการพัฒนาการเกษตรมาก เดินทางไปชั่วโมงครึ่ง ไปถึงที่อนุสรณ์สถานทหารหญิง เมืองฉงไห่ กองทหารหญิงตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1931 ต่อมาได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้น เพื่อปลูกฝังคนรุ่นหลังให้เกิดความสำนึกรักชาติ และรำลึกถึงทหาร


(น.223) รูป

(น.224) หญิงเหล่านี้ เปิดให้ประชาชนเข้าชมใน ค.ศ. 2000 สถานที่นี้ประกอบด้วยสนามสันติภาพ สนามอนุสรณ์ สนามแสดงละคร และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของทหารหญิง บริเวณหน้าสวนมีประติมากรรมชื่อ “เพื่อสันติภาพ” และมีรูปปั้นทหารหญิง ที่ฐานของรูปปั้นมีลายมือหูเย่าปัง นายกเทศมนตรีเมืองฉงไห่ ซึ่งได้รับปริญญาเอกด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหนานไห่ อธิบายว่า บริเวณนี้เป็นที่มั่นของกองทัพแดงในช่วง 23 ปีของการปฏิวัติในไหหลำ เป็นกองทหารหญิงกองแรกของไหหลำ ทหารหญิงเหล่านี้มีส่วนช่วยให้การปฏิวัติของฉงไห่เป็นไปอย่างรวดเร็ว กองทหารหญิงนี้เป็นพวกชาวบ้านธรรมดาๆ นี่เอง แต่ตั้งใจฝึกดี ยิงปืนแม่น ปัจจุบันนี้ตามเจอ 140 คน จากที่เคยมีพันกว่าคน มีแผ่นหินสลักเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของทหารหญิงเหล่านี้


(น.224) รูป

(น.225) เขาภูมิใจว่าฉงไห่มีประวัติยาวนาน เป็นบ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเลมากมาย มีพื้นที่ 1,690 ตารางกิโลเมตร มีชาวจีนโพ้นทะเลตระกูลต่างๆ 554,000 คน ส่วนใหญ่ไปอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย มีแม่น้ำว่านฉวน เมืองชายทะเลโป๋อ๋าว ประชากร 10,000 คนเท่านั้น และมีศูนย์ประชุมซึ่งเร็วๆ นี้จัด Asia Forum ต่อไปจะสร้างหอประชุมนั่งได้ 3,000 คน และสร้างที่พักมากขึ้น ที่นี่มีตึกทำงานของทหารหญิงรุ่นปัจจุบัน อายุราว 20-30 ปี ร่วมฝึกทหารทุกปี หน้าที่ประจำวันคือ การพัฒนาชุมชน คนฉงไห่มีการศึกษาสูง เป็นที่แรกในไหหลำที่จัดการศึกษาฟรี 9 ปีสำเร็จ นักเรียนจากที่นี่ไปสอบเรียนต่อได้ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัวกันมาก ดูแผนที่สถานที่ท่องเที่ยว มีซานย่า หนานซาน และโป๋อ๋าว แผนที่แสดงสถานที่ปฏิวัติในเกาะไหหลำ มีผู้ที่สละชีวิตเพื่อการปฏิวัติ สภาพแวดล้อมที่นี่ดีมาก ธรรมชาติสวยงาม ประวัติศาสตร์น่าสนใจศึกษา มีที่ประชุม มีการลงทุนจากชาวจีนโพ้นทะเลทั้งมาเก๊า ฮ่องกง และที่อื่นๆ GDP สูงถึง 4,200 ล้านหยวน รายได้ต่อคน 3,800 หยวนต่อปีในชนบท ส่วนในเมืองได้ประมาณ 6,000 หยวน


(น.226) รูป

(น.226) มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ มีเด็กแต่งชุดทหารปฏิวัติอธิบาย เขาเก็บของเก่าเอาไว้ มีโม่หิน ภาชนะไม้เหมือนอ่างซักผ้า ไม่ทราบว่าเป็นอะไร ที่เก็บอาหาร เสื้อฝนและหมวกแบบโบราณ เสื้อผ้าเครื่องแบบทหารหญิง ในตู้อธิบายเรื่องราวอะไรไว้มากมาย แต่ไม่มีเวลาดูทั้งหมด เขาถ่ายรูปคนรุ่นแรกเอาไว้ได้ 32 คน และพยายามดูแลอย่างดี ขณะนี้มีชีวิตอยู่ 20 กว่าคน เชิญมาอยู่ที่อนุสรณ์สถาน 4 คน ยังแข็งแรงดี มักจะมาช่วยเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้ที่มาชมพิพิธภัณฑ์ฟัง ทั้งๆ ที่อายุ 90 กว่าแล้ว


(น.226) รูป


(น.227) รูป

(น.227) ในรูปมีหวังเชียนเหมยอายุ 92 ปี หลูเหย่เซียงอายุ 91 ปี หวังหยุ่นเหมย (ในภาพยนตร์กองทัพแดง มีทหารแดงอุ้มเด็กมาด้วยคือคนนี้) โอฮั้ว เป็นคนถือธงอายุ 91 ปี ยังแข็งแรง ทำงานบ้านได้ สายตายังดี เรื่องราวของทหารหญิงเหล่านี้มีการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ และเล่นเป็นบัลเลต์ ภาพทหารหญิงรุ่นต่อมาประมาณทศวรรษ 1950 และภาพตอนที่ทหารหญิงถูกพวกก๊กมินตั๋งจับไป แต่ไม่ได้ถูกประหารชีวิต ไปบริเวณที่พักอาศัย คุณยาย 4 คน มาต้อนรับถ่ายรูปด้วยกัน แล้วได้โอกาสขอเข้าห้องน้ำ เตรียมเดินทางต่อ


(น.228) นายกเทศมนตรีเล่าว่า ที่นี่เป็นพื้นที่การเกษตร มีพริก มะพร้าว หมาก คนทางนี้ไม่กินหมาก แต่ปลูกเพื่อขายพวกหูหนาน มีการทดลองเอาผลไม้ไทย เช่น ชมพู่ มาปลูก ถ้าออกดีจะได้ขายให้มณฑลอื่นๆ

(น.229) ฤดูหนาวกลับปลูกผักได้ดี จึงส่งขายไปมณฑลอื่นที่อากาศหนาว และที่นี่ทำนา 2 ครั้งได้ มีการทำอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น มีมะพร้าวมากจึงทำมะพร้าวผงสำเร็จรูป (เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ) บนภูเขาปลูกยางพารา คนที่อยู่ชายทะเลเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ได้ประมาณ 50,000 ตันต่อปี ถึงจะเพาะปลูกมาก แต่ก็อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ดี มีนักท่องเที่ยวมาประมาณปีละ 1,600,000 คน มีโรงแรม 3 ดาวขึ้นไป 40 กว่าแห่ง เตียงประมาณ 12,000 เตียง


(น.230) รูป

(น.230) เดินทางต่อไปอีกสองชั่วโมงครึ่งไปถึงเขตท่องเที่ยววัฒนธรรมหนานซาน เข้าใจว่าแต่เดิมคงจะไม่มีอะไร มีนักธุรกิจจีนไปเที่ยวเมืองไทย เห็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น สวนเสือศรีราชา จึงชวนกันมาลงทุนที่นี่ ก่อนอื่นรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเจหยวนฉี่โหลว แล้วเริ่มเที่ยวสวน เจอทัวร์คนไทยเป็นร้อยๆ คน

(น.231) ส่วนแรกทำเป็นสวนสวยๆ แต่ข้าวของที่แต่งสวนเป็นชื่อสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาจีน เช่น มีระฆังสิริมงคล พระอรหันต์ 18 องค์ คัมภีร์สิริมงคลทำด้วยปูนซีเมนต์ แต่ว่าเลียนแบบคัมภีร์ที่ทำด้วยไม้ไผ่และขยายใหญ่ เขียนมงคลสูตร อ่านออกมาเป็น “เอวมฺเม สุต˚ เอก˚ สมย˚ ภควา สาวตฺถิย˚ วิหรติ อนาถปิณฺฑิก อาระเม....” มีทางเดินคลุมด้วยเถาเฟื่องฟ้า ที่นี่มีเฟื่องฟ้า 6 สี แต่ยังออกดอกไม่ครบทุกสี จึงไม่เห็นว่ามีอะไรแตกต่างกัน มีอยู่ต้นหนึ่งออกดอกเป็นสีขาวและแดงในต้นเดียวกัน พวกที่จัดสมรสหมู่ชอบมาใช้สถานที่นี้ทำพิธี และให้คู่บ่าวสาวเดินคู่กันไปตามทางเฟื่องฟ้านี้ บอกว่าเป็นสิริมงคลเช่นเดียวกัน

Next >>