Please wait...

<< Back

" เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2545 "




(น.246) รูป

(น.247) วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2545
ตั้งแต่เช้าเดินทางไปสนามบิน มีคณะสมาคมไหหลำไทยมาส่งกัน ที่จริงข้าพเจ้ากลับแล้ว พวกเขาก็ต้องกลับเหมือนกัน เพราะต่างก็มีภาระการงานมาก ขึ้น China Southern Airlines อ่านหนังสือพิมพ์มีข่าวเรื่องผู้เชี่ยวชาญมาพูดถึงบทบาทเกษตรกรเมื่อประเทศเข้าเป็นสมาชิก WTO เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีโอกาสน้อยมากในการออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้า WTO แต่เมื่อเข้าแล้วจะถูกกระทบมาก จึงต้องสร้างกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถ รู้จักปรับตัว และเข้าใจระบบ มีผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกามาแนะนำเรื่องนี้ เขาบอกว่างานด้านที่เกษตรกรจีนจะได้โอกาสดีคือ ด้านการเกษตรอินทรีย์ ต้องศึกษาตลาดสหรัฐอเมริกาไว้ด้วย เกษตรกรจีนต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และกฎระเบียบต่างๆ ทั้งนี้เกษตรกรรายย่อยของจีนเสียเปรียบฟาร์มใหญ่ๆ ไปถึงสนามบินก่วงโจว (กวางโจว) แล้วนั่งรถต่อไปสถาบันวิทยาศาสตร์ เกษตร สถาบันวิจัยไม้ดอก ไปดูการเตรียมจัดประชุมวิจัยนานาชาติเรื่องหญ้าแฝก ซึ่งจะจัดในปีหน้า (พ.ศ. 2546) ที่ก่วงโจว (ครั้งแรกจัดที่เชียงราย ครั้งที่ 2 ที่ชะอำ เพชรบุรี ประชุมทุก 3 ปี)

(น.248) ดร. เซี่ย (Xia) และคณะนำชมนิทรรศการเกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝก ประเทศจีนที่มณฑลกวางตุ้งเริ่มมีการปลูกหญ้าแฝกกัน ครั้งแรกปลูกเพื่อใช้น้ำมัน ชาวจีนเรียกหญ้าแฝกว่า หญ้ารากหอม สมัยก่อนเคยใช้เป็นอาหารสัตว์ใน ค.ศ. 1991 เริ่มปลูกเป็นเรื่องเป็นราว ค้นคว้าวิจัย และพัฒนา มีบริษัทปลูกหญ้าแฝกขาย มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าหญ้าแฝกช่วยกำจัดน้ำเสีย ป้องกันน้ำท่วมได้ เป็นพืชทนน้ำ แช่น้ำอยู่ 10 วันยังไม่ตาย คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของหญ้าแฝกคือ รากงอกเร็ว 340 วันงอกได้ 2.1 เมตร ใช้ป้องกันดินถล่ม ใน ค.ศ. 1994 ที่กวางตุ้งใช้ป้องกันดินถล่ม ถ้าใช้ปูนซีเมนต์กันดินถล่มทั้งหมดเสียเงินประมาณ 5 ล้านหยวน แต่ถ้าก่อปูนเป็นช่องๆ ใส่ดินปลูกหญ้าแฝก ใช้เพียง 6 แสนหยวนเท่านั้น อีกโครงการใช้ป้องกันฝั่งแม่น้ำที่เรือสัญจรผ่านไปมา คลื่นจากเรือมักเซาะตลิ่งพัง หญ้าแฝกช่วยป้องกันได้ เรื่องการทำสวนและปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นพืชประดับและรักษาคุณภาพน้ำ คุณภาพดิน โดยเฉพาะอย่างที่ในบริเวณที่ฝังทำลายขยะ


(น.248) รูป


(น.249) รูป

(น.249) ในสวนสาธารณะจูเจียง ทำสวนหญ้าแฝก ดูสวยงามดี นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูปคณะ ดร. สุเมธ จากเมืองไทย Richard Grimshaw จากสหรัฐอเมริกามาเยี่ยมชม กล่าวโดยสรุปแล้ว หญ้าแฝกเป็นพืชที่ทนทาน ที่กวางตุ้งมี 3 พันธุ์ (คัดพันธุ์จาก 13 พันธุ์) หนาวที่สุด 0˚C ถึงร้อน 40˚C ก็อยู่ได้ ทดลองปลูกระดับ 1,000 เมตรก็อยู่ได้ ที่มณฑลยูนนานทดลองปลูก 2,000 เมตรขึ้นได้ดี และเป็นมณฑลที่สนใจเรื่องหญ้าแฝกเช่นกัน


(น.249) รูป

(น.250) หญ้าแฝกช่วยกำจัดน้ำเสียที่มาจากบ้านชาวบ้านที่อยู่รอบๆ สระน้ำ 1,300 ครอบครัว ใช้วิธีปลูกหญ้าบนแผ่นหิน ให้น้ำไหลผ่านรากหญ้าแฝก หญ้าแฝกไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำเสียจากไนโตรเจน (ต้องใช้ผักตบชวา) แต่พอจะแก้ไขฟอสฟอรัสได้ มีการแลกเลี่ยนความรู้และการฝึกงาน คนที่มาช่วยเตรียมการจัดประชุมมี Grimshaw Paul Troung (จากออสเตรเลีย) ดร. ดิถี ของไทยก็มาร่วมประชุมด้วย ผู้นำมณฑลกวางตุ้งสนใจมาก ทั้งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ว่าราชการมณฑล สภาวิทยาศาสตร์แห่งจีน (Chinese Academy of Science) เทศบาล กระทรวงชลประทานแห่งชาติ มณฑลต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม มีเจียงซี ฮกเกี้ยน เสฉวน กุ้ยโจว ยูนนาน



ไปดูที่สระน้ำ เพื่อดูการใช้หญ้าแฝกกำจัดน้ำเสีย เขาใช้วิธีปลูกไม้ไผ่เป็นแพ แล้วปลูกหญ้าแฝกไปบนแพนั้น การแก้น้ำเสียนี้ฟาร์มหมูนำวิธีการไปใช้แล้ว ยิ่งทำให้กิจการดีขึ้น


(น.251) รูป

(น.251) ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นร่วมมือกับบริษัทเอกชนขยายพันธุ์หญ้าแฝกพวกที่มาทำงานนี้ได้ไปประชุมหญ้าแฝกที่เมืองไทยทั้งครั้งที่ 1 และ 2 มณฑลกวางตุ้งมีภูเขาราว 65% คณะกรรมการคอมมิวนิสต์ของกวางตุ้งจึงมีนโยบายพัฒนาเขตภูเขา ตัดถนนไปทุกหมู่บ้าน โครงการเหล่านี้มีงบประมาณไม่มากนัก จึงนิยมใช้หญ้าแฝกป้องกันดินถล่ม การเตรียมการประชุมครั้งที่ 3 เป็นไปด้วยดีทั้งด้านสถานที่ ตั้งหัวเรื่องว่า “หญ้าแฝกและน้ำ” จะประชุมระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ประมาณว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 300-400 คน เป็นชาวต่างประเทศประมาณ 100 คน มีทั้งฝ่ายรัฐบาล สภาวิทยาศาสตร์ งานวิจัยหญ้าแฝกนานาชาติ (International Vetiver Research) ได้ร่างกำหนดการประชุมไว้เรียบร้อยแล้ว มีพิธีเปิดวันที่ 5 ตุลาคม พิธีปิดวันที่ 9 ตุลาคม ระหว่างนั้นมีการประชุมและมีการดูงานด้วย ประชุมเป็นภาษาจีนและอังกฤษ มีคนแปล


(น.252) รูป

(น.252) ดูท่าเขาจะจัดเตรียมได้เรียบร้อยดี การประชุมนี้เราพยายามจัดให้เป็นระดับนานาชาติ ไทยเป็นเจ้าภาพมา 2 ครั้งแล้ว เมื่อ 3 ปีก่อนข้าพเจ้าพยายามพูดคุยกับประเทศสมาชิกให้ลองรับจัดบ้าง ในที่สุดจีนรับเป็นเจ้าภาพ แต่ขอให้ไทยคอยช่วยแนะนำ เพราะมีประสบการณ์ดีในการประชุมวิชาการเรื่องหญ้าแฝก ก่อนลากลับเขาเลี้ยงน้ำลูกหม่อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สถาบันค้นคว้าและสอนให้ประชาชนทำ ขณะนี้เป็นเครื่องดื่มอย่างหนึ่งที่มีบริการในสายการบิน China Eastern Airlines และ China Southern Airlines ที่จริงยังมีกิจการอื่นๆ เช่น การส่งเสริมการผลิตหญ้าแฝกเพื่อใช้ในการต่างๆ รวมทั้งการนำหญ้าแฝกไปประดิษฐ์เป็นงานศิลป์พื้นบ้าน เช่น หมวก เครื่องใช้สอยต่างๆ รับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม Garden ให้ของที่ระลึกใครๆ ตอนบ่ายไปสวนหยุนไถ เป็นสวนสาธารณะของเทศบาล ทำได้ดีมาก แต่ไม่มีเวลาดูนาน ต้องรีบไปสนามบิน กลับเมืองไทย