Please wait...

<< Back

เจดีย์เสี่ยวเยี่ยนถ่า

จากหนังสือ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 118-123

(น.118) ก่อนจะกลับเขาให้ข้าพเจ้าเซ็นชื่อ ข้าพเจ้าเขียนอวยพรให้เขาทำงานสำเร็จอีก อาจารย์หยวนให้หนังสือรายงานการขุดค้น 2 เล่ม หนังสือภาพเกี่ยวกับรถม้าเล่มหนึ่ง ขากลับท่านรองฯ ไม่ได้มานั่งด้วยข้าพเจ้าเลยคุยกับหนูดอกบ๊วยตลอดทาง โดยซ้อมทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เขาเล่าว่าเรียนภาษาอังกฤษเมื่ออยู่ชั้นมัธยมเลยยังไม่ดีนัก เมื่อจบมัธยมแล้วก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยตำรวจ ทั้งรุ่นมีผู้หญิงอยู่แค่ 3 คน การเรียนหนักมาก เปียนเหมย (ดอกบ๊วย) ชอบกวีสมัยราชวงศ์ถังมาก ถามว่าข้าพเจ้าท่องได้ไหม แต่ก่อนข้าพเจ้าท่องได้หลายบทเดี๋ยวนี้ก็จำได้อยู่บทเดียวของหลี่ไป๋ หน้าเตียงแสงจันทร์กระจ่าง ประดุจว่าน้ำค้างแข็งบนพื้นดิน เงยหน้ามองดูจันทร์สว่าง ก้มหน้านึกถึงบ้านเกิด ความจริงเพิ่งมาไม่กี่วัน ยังต้องอยู่เมืองจีนอีกนาน ยังคิดถึงบ้านเกิดไม่ได้ กลับมารับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม ตอนบ่ายสองโมงคุณหันมารับไปเจดีย์ห่านฟ้าเล็ก จีนเรียกว่า เสี่ยวเยี่ยนถ่า วันนี้ลมแรงมาก มีไก๊ด์มาอธิบายว่าในปี ค.ศ. 1961 รัฐบาลจีนตั้งเป็นโบราณสถานรุ่นแรกที่จะต้องอนุรักษ์ เมื่อคราวที่มาซีอาน 9 ปีก่อนข้าพเจ้าได้ขึ้นไปชั้นบนสุดของเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่มาแล้ว คราวนี้ก็อยากพิชิตเจดีย์ห่านฟ้าเล็กบ้าง ไก๊ด์เขาบอกว่าขึ้นได้ แต่แรกทางก็กว้างดีอยู่ แต่ขึ้นไปสูง ๆ แล้วทางแคบลง บนยอด (ชั้น 15) มองเห็นวิวได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่
(น.119) รูป86. เจดีย์ห่านฟ้าเล็ก
(น.120) รูป87. ขึ้นไปถึงยอดเจดีย์ห่านฟ้าเล็ก ไก๊ด์อธิบายว่าวัดที่นี่สร้างขึ้นในค.ศ. 684 เพื่อเป็นที่ทำพิธี 100 วัน พระบรมศพพระจักรพรรดิถังเกาจง ชื่อว่าวัดเซี่ยนฟู่ หมายถึงวัดสำหรับทำพิธีบูชาเพื่อให้ความสุข ตอนนั้นพระจักรพรรดิถังจงจงยังครองราชย์อยู่ครองได้ไม่นานจักรพรรดิอู่เจ๋อเทียนพระมารดาก็ขึ้นครองแทน และให้วัดนี้เป็นวัดหลวง สำหรับเจดีย์ห่านฟ้าเล็กเป็นของหลวงจีนอี้จิงซึ่งไปจาริกแสวงบุญและไปสืบหาพระคัมภีร์ที่อินเดีย ในตอนนั้นพระถังซำจั๋งกลับมาแล้ว หลวงจีน
(น.121) อี้จิงไปลงเรือที่กวางตุ้ง ใน ค.ศ. 671 เดินทางผ่านมะละกาไปอินเดีย เรียนอยู่ทีอินเดียเป็นเวลาถึง 25 ปี แสดงให้เห็นว่าสมัยราชวงศ์ถังน่าจะมีเส้นทางแพรไหมทั้งทางบกและทางทะเล บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เดินทางตามเส้นทางแพรไหมทางบกได้แก่ พระถังซำจั๋ง ส่วนผู้ที่เดินทางเรือที่สำคัญคือ หลวงจีนอี้จิง เมื่อท่านกลับมาถึงประเทศจีนใน ค.ศ. 695 ท่านได้เดินทางไปที่ลั่วหยาง ขณะนั้นพระจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียนประทับอยู่ลั่วหยาง ไปรับพระอี้จิงด้วยพระองค์เอง พระอี้จิงได้ตามเสด็จกลับมาเมืองฉางอานเพื่อแปลคัมภีร์ในวัดนี้ เมื่อ ค.ศ. 705 จักรพรรดิอู่เจ๋อเทียนสวรรคต จักรพรรดิจงจงได้ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง หลวงจีนอี้จิงแปลคัมภีร์ไปได้ 56 ม้วน 230 เล่ม ถึง ค.ศ. 707 จึงได้สร้างเจดีย์ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี การก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กใช้วัสดุคล้ายคลึงกับเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่ของพระถังซำจั๋ง แต่รูปแบบต่างกัน และการก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กทำอย่างประณีตกว่า เจดีย์ห่านฟ้าเล็กชำรุด เพราะมีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง สมัยราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1487 แผ่นดินไหว ระดับ 6 (ทราบได้อย่างไร) แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดรอยร้าวตรงกลาง ค.ศ. 1521 แผ่นดินไหวอีกครั้ง รอยร้าวที่มีอยู่เลยปิดสนิทไปเองโดยธรรมชาติ ทำให้มีการเล่าลือกันในหมู่ประชาชนว่าเทวดามาช่วยปิด ค.ศ. 1556 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ระดับ 8 ยอดเจดีย์พังลงมา เจดีย์นี้จึงไม่มียอด ไม่ได้บูรณะมา 400 ปีแล้ว น้ำฝนไหลมาตามช่อง ช่องจึงโตขึ้นจนเกือบเหมือนช่องหน้าต่าง สมัยนี้ได้มีการสำรวจดู ปรากฏว่าเจดีย์นี้ไม่มีการเอียงข้าง ยังตรงดี ๆ อยู่ ตามที่นักโบราณคดีสำรวจอิฐ บอกว่า 99% เป็นของสมัยราชวงศ์
(น.122) ถัง ในรอยต่อใช้สอด้วยดินเหลืองอย่างละเอียด ไม่ได้ผสมอย่างอื่น แสดงว่าคนโบราณวางโครงการอย่างละเอียด ทำให้เจดีย์นี้อยู่ได้พันกว่าปี ต้น 1965 รัฐบาลให้งบประมาณพิเศษซ่อมแซม ใช้เหล็กเสริมไปในชั้นที่ 2,5,7,9 และ 14 ได้สร้างบันไดทางขึ้นให้สะดวก เพราะของเดิมนั้นพังไปแล้ว ในการบูรณะครั้งนี้ รัฐบาลจะรักษาสภาพเก่าไม่ให้มีการเพิ่มเติมโบราณสถาน เราไม่ได้มีรูปเขียนไว้ว่าแต่ก่อนเป็นอย่างไรจึงไม่สามารถซ่อมได้ ต้องทิ้งไว้อย่างนี้เพื่อรักษาความสมดุลรอบ ๆ เจดีย์ ฉะนั้นจึงไม่ได้ซ่อมให้ตัวเจดีย์เป็นของใหม่ เพราะถ้าซ่อมก็จะเหมือนกับคนใส่เสื้อใหม่แต่ใส่หมวกเก่า (เข้าใจเปรียบเทียบดี!) อาคารข้าง ๆ เขาใช้เป็นที่เก็บภาพของจิตรกรส่านซีที่มีชื่อ และการเขียนลายมือ เมืองนี้มีวัฒนธรรม มีกวีนิพนธ์ การเขียนภาพ ปัจจุบันยังรักษาประเพณีไว้ เดินดูอาคารต่าง ๆ รอบ ๆ บริเวณมีต้นไหว (Chinese scholar tree) อายุประมาณ 1,000 ปี เป็นต้นไม้ที่เทศบาลเมืองซีอานขึ้นทะเบียนไว้ วัดนี้ไม่มีพระพุทธรูป ถูกทำลายไปหมดแล้วระหว่างการสู้รบ (ปี 1924 มีสงครามกลางเมือง ซีอานเป็นที่ขุนศึกต่าง ๆ มาสู้รบกัน) หอระฆังเป็นโบราณสถานมีชื่อ สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่ง เกือบ 800 ปีมาแล้ว ระฆังใบนี้มีน้ำหนัก 10 ตัน ตอนนี้แตกแล้ว แต่ตอนที่ยังดีอยู่ตีได้ยินไปไกล 10 กว่าลี้ ข้างบนทำเป็นรูปมังกร พระจะตีระฆังนี้ทุกวัน ตอนเช้าชาวบ้านได้ยินเสียงระฆังก็รีบออกมาทำนา สำหรับกวีบอกว่าเสียงระฆังทำให้มีบรรยากาศในการเขียนบทกวีดีขึ้น
(น.123) รูป88. ระฆังโบราณอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ เจดีย์ห่านฟ้าเล็ก มีบทกวีจารึก บนระฆังมีจารึกแสดงความเป็นมาของระฆัง มีบทกวี ข้าพเจ้าจดคำภาษาจีนไว้ไม่ทัน แต่แปลคร่าว ๆ ได้ว่า
ขอให้จักรพรรดิมีพระชนม์ยืนนาน
ให้เสนาบดี ขุนนาง รับใช้อารักขาให้จักรพรรดิ
ครองราชย์ตลอดกาล
ให้ประชาชนผาสุก บ้านเมืองสงบ
ให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่ได้ไม่หยุด
ถือว่าบทกวีนี้แสดงความมุ่งหวังของประชาชน
มีกลองลักษณะคล้ายกลองเพล เป็นของสร้างใหม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาใช้ประโยชน์อะไร นอกจากให้นักท่องเที่ยวตีเล่น