Please wait...

<< Back

โบสถ์เซนต์ปอล

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 266,267,268,269


(น.266) รูป 203 ซากโบสถ์เซนต์ปอล

(น.266) ที่หมายที่ 2 คือ ซากโบสถ์เซนต์ปอล (Basilica of Sao Paulo) โบสถ์นี้เรียกอีกชื่อว่า The Church of the Mother of God (Mater Dei) สันนิษฐานว่าผู้ออกแบบเป็นบาทหลวงเจซูอิตชาวอิตาเลียน สมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ก่อสร้างเป็นชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งหนีมาจากเมืองนางาซากิ สร้างในช่วง ค.ศ. 1602-1637 ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนาโรมันคาทอลิกทางตะวันออกไกล ใหญ่กว่าโบสถ์ที่มะละกา (เป็นที่ 2 รองจากศูนย์ที่กัวในอินเดีย) เป็นแหล่งอารยธรรมตะวันตก กล่าวกันว่าความโออ่าของอาคารแห่งนี้ทำให้ขุนนางจีนระแวงว่าโปรตุเกสจะใช้เป็นป้อมปราการเอาไว้บุกรุกจีน ต่อมามีการสร้างวิทยาลัยเจซูอิต สอนวิทยาการหลายอย่าง เช่น
(น.267) วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ จีนคลายความระแวงและตั้งให้บาทหลวงเจซูอิตของโบสถ์และวิทยาลัยมีตำแหน่งเป็นขุนนางจีนด้วย ด้านซ้ายมือของหน้าจั่ว มีแผ่นหินมีรู ซึ่งเคยเป็นที่ปักธงขุนนางจีนของบาทหลวงในขบวนพิธี แต่ทั้งโบสถ์และวิทยาลัยถูกเพลิงไหม้ใน ค.ศ. 1835 (ตอนนั้นนิกายเจซูอิตหมดไปจากดินแดนแถบนี้แล้ว นิกายนี้ก่อตั้งใน ค.ศ. 1540 เลิกไปในราว ค.ศ. 1773 ฟื้นฟูใน ค.ศ. 1814 แต่เป็นนิกายเล็กๆ และไม่มีบทบาทในตะวันออกอีก) คงเหลือแต่ซุ้มประตู หน้าบ้าน บันได พื้นโมเสก และกำแพงบางส่วนเท่านั้น ไฟเริ่มไหม้จากในครัวขณะมีพายุจึงดับไม่ได้ งานบูรณะเริ่มวิจัยใน ค.ศ. 1990 เสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1991 ที่บริเวณโบสถ์มีคนไทยมาต้อนรับอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งคนที่มาเที่ยว และคนที่มาอยู่หรือประกอบอาชีพ ที่นี่มีร้านอาหารไทย มีร้านขายยาจีนที่คนไทยทำงาน เชิญอุดหนุนได้ ไกด์อธิบายเป็นสถาปนิก จึงบรรยายเรื่องลักษณะทางสถาปัตยกรรมซึ่งข้าพเจ้าจำได้ไม่หมด กล่าวถึงซุ้มประตูที่ทำเป็นวงโค้ง(arch) ซึ่งเป็นเทคนิคที่จีนไม่ทำ ด้านบนของหน้าบันทำเป็นรูปกางเขนแห่งเจรูซาเล็ม ใต้กางเขนมีสามชั้น มีซุ้มบรรจุรูปสำริดหล่อ ในโรงงานหล่อปืนใหญ่และระฆังในมาเก๊า มีรูปนกพิราบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระจิต ล้อมรอบด้วยหินสลักเป็นรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว ในตำแหน่งช่วงเวลาที่พระเยซูประสูติ ใต้รูปนกพิราบเป็นรูปพระกุมารเยซู ล้อมรอบด้วยรูปการตรึงไม้กางเขน ตรงกลางของชั้นที่ 3 มีรูปพระแม่มารีอยู่ท่ามกลางเทวดา และดอกไม้สองชนิดคือ ดอกพุดตานเป็นสัญลักษณ์ของจีน และดอกเบญจมาศอันเป็น


(น.268) รูป 204 ที่เก็บกระดุกของผู้สละชีวิตเพื่อศาสนา

(น.268) สัญลักษณ์ของญี่ปุ่น ด้านซ้ายมีรูปสลักน้ำพุแห่งชีวิตรูปเรือใบของโปรตุเกสและปีศาจ ด้านขวาเป็นรูปต้นไม้แห่งชีวิต ปีศาจที่ถูกพระแม่มารีเอาชนะ และโครงกระดูกถูกแทง เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะต่อความตาย ชั้นที่ 4 มีซุ้มรูปปั้นนักบุญในนิกายเจซูอิต 4 ท่าน ประตูมี 3 ช่อง เหนือประตูกลางมีจารึกว่า Mater Dei อีกสองประตูจารึกเครื่องหมายของเจซูอิต ด้านในกำแพงมีที่เก็บกะดูกของผู้ที่เสียชีวิตเพื่อพิทักษ์ศาสนา (Matyr) ชาวญี่ปุ่น (คงเป็นพวกที่มาสร้างโบสถ์) ไกด์บอกว่ายังมีพวกเจซูอิตจากสหรัฐอเมริกามาสวดมนตร์ พวกเจซูอิตเป็นมิชชันนารีที่มีผลงานดีเด่นในการรเผยแพร่ศาสนาทางตะวันออก ผู้ที่มีชื่อเสียงเช่น นักบุญฟรานซิส ซาเวียร์ ในอินเดียและญี่ปุ่น ช่วง ค.ศ. 1542-1552 กลุ่มที่มาเผยแพร่ศาสนาพร้อมกับถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มาทีโอ ริชชี่ เข้ามาในจีนแถบตะวันออกเฉียงใต้ใน ค.ศ. 1583 และเผแพร่ศาสนาอยู่แถบนี้ ในต้น ค.ศ. 1601 ได้รับการยอมรับจากจักรพรรดิจีน และตั้งมั่นในปักกิ่งได้ บาทหลวงริชชี่ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1610
(น.269) งานสำคัญอีกอย่างของพวกเจซูอิตคือ การจัดการศึกษาของเยาวชนเป็นระบบ ภายหลังนิกายนี้มีความขัดแย้งกับนิกายอื่นๆ จึงถูกกวาดล้างในโปรตุเกส ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ยังคงมีอยู่แต่ในรัสเซียหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้นใหม่ และเผยแพร่ในยุโรปและอเมริกาอีกครั้งโดยเริ่มงานด้านการศึกษาต่อไป มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เก็บของที่ขุดค้นได้ทางโบราณคดีและของเกี่ยวกับศาสนา เช่น รูปการเผยแพร่ศาสนาในกัว รูปนักบุญไมเคิล รูปบาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน เกี้ยวจำลองทำด้วยเงิน ภาพการสละชีวิตเพื่อศาสนาในนางาซากิ เขียนชื่อผู้เสียชีวิต กำลังจัดนิทรรศการชั่วคราวเรื่องเครื่องเซรามิกจีนสีขาว


(น.269) รูป 205 มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ