Please wait...

<< Back

มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศแห่งหนึ่ง[1]
ขณะนี้มหาวิทยาลัยปักกิ่งมีโครงการบัณฑิตอาสาคือ บัณฑิตที่จบใหม่ๆ ยังไม่เริ่มเรียนปริญญาโท ส่งไปชนบทเพราะว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักความลำบากเหมือนคนสมัยก่อน ปีที่แล้วส่งไปชิงไห่[2]
ถามถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อธิการบดีตอบว่าได้ติดต่อกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศถึง 150 แห่ง มีนักศึกษาต่างประเทศมาเรียนทั้งในระยะยาวและระยะสั้นรวมแล้ว 2,000 กว่าคน มีนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเรียนระยะสั้น มีการศึกษาวิชาเกี่ยวกับประเทศต่างๆ เช่น ไทยคดีศึกษา การศึกษาปัญหาเกี่ยวกับอเมริกาและญี่ปุ่น มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และจัดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอกร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ Kelloggs School ของ Northwestern University ส่วนบริษัทที่สนับสนุนการศึกษาทางด้านวิศวกรรมก็มีหลายแห่ง เช่น Motorolla และ IBM พวกนักศึกษาจากต่างประเทศที่มาเรียนส่วนใหญ่จะมาเรียนด้านภาษาจีน วรรณคดีจีน เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิศวกรรมมีน้อย [3]

ที่ตั้ง

ทางเหนือติดกับอุทยานหยวนหมิงหยวน ทางตะวันตกติดพระราชวังฤดูร้อนอี้เหอหยวน[4]

ประวัติ

ประวัติมหาวิทยาลัยปักกิ่งว่ามีอายุถึง 102 ปีแล้ว เริ่มก่อตั้งใน ค.ศ. 1898 ในรัชสมัยของจักรพรรดิกวางซวี่ เดิมมีชื่อว่า จิงซือต้าเสวียถัง (โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งนครหลวง) เดิมตั้งอยู่ที่ ซาทาน ซึ่งอยู่ระหว่างเทียนอันเหมินและจงหนานไห่ หลังจากปลดแอกย้ายมาที่ตั้งปัจจุบัน ที่นี่เดิมเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเยี่ยนจิง (เป็นชื่อเก่าชื่อหนึ่งของปักกิ่ง) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งและดำเนินงาน เมื่อสองมหาวิทยาลัยมารวมกันแล้ว ก็เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แถวนี้มีทิวทัศน์สวยงาม [5] ประวัติของมหาวิทยาลัยปักกิ่งมีความผูกพันกับการพัฒนาของประเทศจีนยุคใหม่ ถือว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมใหม่ เป็นสถานที่ก่อกำเนิดขบวนการ 4 พฤษภาคม เป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิมาร์กซิสม์ เป็นแหล่งกำเนิดความคิดประชาธิปไตย เป็นสถาบันที่บุกเบิกความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นสถานศึกษาระดับสูงในจีน จึงดึงดูดนักวิชาการที่มีชื่อเสียง และผู้เชี่ยวชาญทุกยุคทุกสมัยให้มาถ่ายทอดวิทยาการแก่นักศึกษาสมองเลิศรุ่นแล้วรุ่นเล่า ดีเด่นในศาสตร์หลายสาขา
ยุคที่ 1 เป็นมหาวิทยาลัยหลวงแห่งปักกิ่ง (ค.ศ. 1898-1912)
ขณะนั้นเป็นช่วงปลายราชวงศ์ชิง ระหว่างที่มีการปฏิรูปบ้านเมือง ค.ศ. 1898 มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่รวมวิทยาการหลากหลายสาขา ถือเป็นหน่วยราชการ เทียบปัจจุบันใกล้เคียงกับกระทรวงศึกษาธิการ ผู้นำของมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งเป็นเสนาบดี ปรัชญาการศึกษาของยุคนี้คือ นำนักศึกษาให้คิดให้ถูกแนว เที่ยงตรง ฝึกให้รู้รอบกว้างไกล ความรู้พื้นฐานต้องเป็นความรู้แบบจีน แต่ต้องเรียนวิทยาการตะวันตกเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
ยุคที่ 2 คือ ช่วงต้นของสมัยสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912-1916)
เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยหลวงแห่งปักกิ่ง (Imperial University of Peking) เป็นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) อธิการบดีชื่อ เหยียนฟู่ (ค.ศ. 1854-1921) พยายามใช้ระบบประชาธิปไตย ปรับปรุงการบริหารและการเรียนการสอน แต่ติดอยู่ที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินขณะนั้นคือหยวนซื่อไข่ (Yuan Shikai) ไม่สนับสนุน จึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
ยุคที่ 3 มหาวิทยาลัยปักกิ่งช่วงระยะก่อน-หลังการเกิดขบวนการ 4 พฤษภาคม (May Fourth Movement – ค.ศ. 1919) ยุคนี้คือ ช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1916-1927
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 อธิการบดีชื่อ ไช่หยวนเผย์ (Cai Yuanpei) ปฏิรูปการศึกษาให้เป็นอิสระตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพิ่มจำนวนนักศึกษาให้มากขึ้น เป็นสมัยที่ออกแบบตรามหาวิทยาลัยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ (รูปคน 3 คน) ออกแบบธงมหาวิทยาลัย เชิญคนที่มีความสามารถสูงมาเป็นอาจารย์ เช่น หลู่ซุ่น เฉินตู๋ซิ่ว หลี่ต้าเจา เป็นต้น ส่งเสริมความคิดแนวทางต่างๆ มีวารสารออกมาจำนวนมาก เน้นการแลกเปลี่ยนวิทยาการกับชาวต่างประเทศ จัดปาฐกถาบ่อยครั้ง ผู้บรรยายมีทั้งชาวจีนและชาวต่างประเทศ เช่น จอห์น ดิวอี้ (John Dewey ค.ศ. 1859-1952) นักการศึกษาคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งถึง 2 ปี
ยุคที่ 4 มหาวิทยาลัยปักกิ่งในทศวรรษ 1930 (ค.ศ. 1927-1937)
รัฐบาลพยายามรวมมหาวิทยาลัยปักกิ่งกับมหาวิทยาลัยอื่น แต่มหาวิทยาลัยปักกิ่งไม่ต้องการ อธิการบดีชื่อ เจี่ยงเมิ่งหลิน (ค.ศ. 1886-1964) เรียนจบมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ช่วงนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งมาจากโคลัมเบียหลายท่าน อธิการบดีท่านนี้ตั้งหลักการว่า อาจารย์ต้องสอนและค้นคว้าวิจัย นักศึกษาต้องเล่าเรียน เจ้าหน้าที่ต้องทำงาน อธิการบดีต้องบริหาร นักศึกษาทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายอักษรศาสตร์ควรมีความรู้พื้นฐานข้ามสาขา
ยุคที่ 5 สมัยสหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ (National Southwest Association University) ค.ศ. 1937-1946
เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนถูกญี่ปุ่นรุกราน เมื่อเกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (เริ่ม 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937) เริ่มที่สะพานมาร์โคโปโล รวมมหาวิทยาลัยหนานไค (ที่เทียนสิน) มหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหัวอพยพไปที่นครฉางซา มณฑลหูหนาน ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉพาะกาล ในที่สุดอพยพไปอยู่ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงได้ชื่อว่า สหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ ยุคนี้เป็นยุคที่น่าศึกษา เพราะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จมาก ถึงจะยากลำบากเพราะการย้ายสถานที่ ขาดแคลนอุปกรณ์ เขาแสดงรูปห้องสมุดสมัยนั้น เอาหนังสือใส่หีบตั้งซ้อนๆ กัน สมัยนั้นมีศาสตราจารย์ที่มีชื่อหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์เหวินยี่ตัว นอกจากสอนมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องไปสอนโรงเรียนมัธยม และหารายได้เพิ่มเติมด้วยการแกะตรา มหาวิทยาลัยมีผลงานมากมาย เช่น สร้างบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ 163 คน นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ หลี่เจิ้งเต้า และหยังเจิ้นหนิง ได้รับรางวัลโนเบล
ยุคที่ 6 มหาวิทยาลัยปักกิ่งกลับคืนสู่ปักกิ่ง (ค.ศ. 1946-1949)
อธิการบดีชื่อ หูซื่อ ขยายสาขาวิชาจากที่มีอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์และกฎหมาย เพิ่มสาขาวิชาแพทย์ และเกษตร
ยุคที่ 7 สมัย 17 ปีแรกของสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949-1966)
ใน ค.ศ. 1952 ปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มภาควิชาต่างๆ เนินวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน รวมกับมหาวิทยาลัยเยี่ยนจิง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของอเมริกัน ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาการ รวมทั้งการผลิตอาวุธนิวเคลียร์
ยุคที่ 8 ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976)
มหาวิทยาลัยถูกเหตุการณ์ทางการเมืองกระทบมาก แต่พยายามสร้างผลงานดีเด่นสืบเนื่องต่อมา เช่น มีหนังสือ 5,000,000 เล่ม เป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยของจีน สร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ สถานีรับสัญญาณดาวเทียม
ยุคที่ 9 ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ (ค.ศ. 1976-2001)
มหาวิทยาลัยพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มีนักศึกษาปริญญาตรี 12,657 คน พยายามเพิ่มจำนวนนักศึกษาปริญญาโทและเอก เพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติเป็น 1,374 คน มากที่สุดในจีน ติดต่อกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ สร้างหอสมุดใหญ่หลังใหม่ มีรายชื่อผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1983 ถึงปัจจุบันมี 21 คน (ข้าพเจ้าเป็นคนที่ 21) ก่อน ค.ศ. 1983 มี 3 คน[6]

บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการพัฒนาประเทศ

บทบาทของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจะพัฒนาประเทศสู่ศตวรรษใหม่ อธิการบดีตอบว่าในด้านเศรษฐกิจมีส่วนร่วมคิดเรื่องการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ได้ศึกษาปัญหาวิกฤติการณ์ทางด้านการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นบทเรียนในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน[7] ความพยายามในการปรับปรุงการอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เช่น อาจจะต้องรวมภาควิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือเลิกบางภาควิชาไปเลย และต้องเปิดสอนวิชาใหม่ๆ ในสภาพสังคมปัจจุบันคนที่ทำงานทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีความรู้ทางศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ ส่วนคนที่เรียนเน้นหนักทางศิลปศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ก็ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์บ้าง เวลานี้ผู้นำสนใจเรื่องการศึกษามาก เพราะประเทศจะเจริญเข้มแข็งต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถ ทางการจีนจึงพยายามปรับปรุงคุณภาพชีวิตของครูอาจารย์ให้ดีขึ้น สร้างบ้านพักให้ใหม่ ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี จะได้มีกำลังใจในการค้นคว้าวิจัยและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีเรื่องที่จะต้องจัดการอีกหลายเรื่อง [8]

ภาควิชาภาษาและวรรณคดีจีน

เปิดสอนวิชา 3 สาขาคือ วรรณคดีจีน ภาษา จารึกอักษรโบราณ (บันทึกข้อมูล) มีศาสตราจารย์ 51 คน (ทำไมแยะอย่างนี้) รองศาสตราจารย์ 40 คน นักศึกษา 800 คน ในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างประเทศ 200 คน ในช่วงเวลา 90 ปี ภาควิชาได้ผลิตบัณฑิตมากมาย ทำงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศและในต่างประทศ มีการแลกเปลี่ยนนักวิชาการและอาจารย์กับต่างประเทศประมาณปีละ 40 คน ทุกปีจะส่งอาจารย์ไปสอนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างประเทศปีละ 15 คน ไปสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ในประเทศไทย ได้ส่งอาจารย์ไปสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังว่า ต่อไปจะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยมากขึ้น ศูนย์ภาษาจีนสำหรับชาวต่างประเทศมีหน้าที่สอนภาษาจีนให้ชาวต่างชาติ เปิดตั้งแต่ ค.ศ. 1984 จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษามาจากต่างประเทศจำนวนมาก จาก 40 กว่าประเทศ มีนักศึกษาเรียนแบบระยะยาว 300 กว่าคน มีอาจารย์ 54 คน ส่งอาจารย์ไปสอนต่างประเทศหลายประเทศ ประเทศไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ขณะนี้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา การเรียนการสอนในศูนย์เริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน คณาจารย์ของศูนย์เรียบเรียงและผลิตตำรา จัดการเรียนเป็น 20 ระดับ จัดให้เรียนตอนเช้าเป็นวิชาเฉพาะ วิชาเลือกในตอนบ่าย จัดสันทนาการให้นักศึกษาออกไปทัศนศึกษาแถบชานเมือง เพื่อให้มีโอกาสฝึกฝนภาษาในสถานการณ์จริงในโอกาสต่างๆ มีการเปิดสอนระดับปริญญาโทด้านภาษาจีนปัจจุบันและการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ นักศึกษาไทยสำเร็จการศึกษาจากที่นี่หลายคนแล้ว มีห้องปฏิบัติการภาษาและห้องคอมพิวเตอร์ [9]

ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

ภาควิชาได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และมีการวิจัยของภาควิชาเอง การวิจัยบางอย่างก็ร่วมกับภาคเอกชน เช่น มีการปลูกถ่ายยีนที่ป้องกันโรคได้และทำให้มีผลผลิตสูงขึ้นในข้าว มีการปลูกถ่ายยีนป้องกันเชื้อไวรัส CMV ในพริกลูกใหญ่ เป็นการเพิ่มผลผลิต การทดลองภาคสนามทำที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และในมณฑลยูนนาน การผลิตยารักษาโรคร่วมกับบริษัท Kexing ใช้วิธี cloning และตัดต่อยีนพืช โรงงานอยู่ที่เซินเจิ้น (พัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้เป็นระดับการค้า) เช่น ผลิตยาด้วยการ clone เม็ดเลือดขาว รักษาไวรัสในตับทั้งชนิด A และ B ทั้งยังมีส่วนรักษามะเร็งในตับ ผลิตยาซึ่งมีสรรพคุณรักษาโรคเอดส์ มีโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการอนุรักษ์หมีแพนด้า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมีแพนด้าของภาควิชาได้รับเชิญไปบรรยายที่ต่างประเทศหลายแห่ง หมีแพนด้าพวกนี้ชอบอยู่ในป่าไผ่ กินใบไผ่ (ฉะนั้นต้องอนุรักษ์ป่าไผ่ด้วย?) โครงการอนุรักษ์ลิงหัวขาว ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศแบบคาร์สต์ (Karst - ภูมิประเทศแบบหินปูน) ที่มณฑลก่วงซี (กวางสี) เป็นลิงกินใบไม้ (ซึ่งเรียกว่าลิงใบไม้หัวขาว แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นลิงกินใบไม้ เคยเห็นแต่ลิงกินผลไม้) ลิงประเภทนี้ตัวผู้ตัวเดียวมีเมียหลายตัว โครงการอนุรักษ์ภูมิประเทศชื้นแฉะ (Wetland) อยู่ตอนกลางของลุ่มแม่น้ำฉังเจียงแถบมณฑลหูหนานและมณฑลหูเป่ย บริเวณนั้นเป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์ต่างๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนก ภาควิชามีโครงการออกไปเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนในที่ต่างๆ การขยายการทำงานของภาควิชา มีการสร้างอาคารใหม่ๆ เดือนสิงหาคมจะเปิดอีกอาคารหนึ่ง การศึกษาเรื่องโรคข้าว การตัดยีนที่เป็นโรคออก สร้างพันธุ์ดี มีพันธุ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ปล่อยออกสู่ท้องตลาดเผยแพร่ให้ประชาชน เพราะต้องระมัดระวังมาก ขณะนี้ทดลองในแปลงเล็กๆ ที่มณฑลยูนนาน ทำงานด้านการถอดรหัสพันธุกรรมพืช ทำ DNA sequencing ศึกษาส่วนที่เป็นปัญหาในแต่ละพันธุ์ การทดลองด้านนี้ใช้พืชขนาดเล็กชนิดหนึ่งเรียกว่า Arabidopsis thaliana โตเร็ว เป็นพืชล้มลุก วงจรชีวิตสั้น ทำให้ประหยัดเวลา พืชชนิดนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่มีราคา ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกถ่าย tissue การศึกษาพืชด้วยการใช้รังสีช่วงคลื่นแสงที่ต่างกัน พืชแต่ละชนิดมี light signal ต่างกัน การศึกษาเรื่องยาสมุนไพรจีน เช่น เทียนฮวาเฝิ่น เป็นรากของต้นกัวโหลว เอามาหั่นเป็นแว่นๆ แล้วเอามาทำยา เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้กันมาแต่โบราณ ใช้รักษาเชื้อ HIV ได้ ขณะนี้ยังมีผลข้างเคียงคือ ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง กำลังแก้ปัญหา ต้นเทียนหมา (Gastrodia elata) เป็นยาระงับประสาท (Tranquilizer) มีมากที่มณฑลยูนนานและมณฑลเสฉวน มีสรรพคุณบำรุงสมอง แก้ปวดศีรษะ ลงไปชั้นล่างของอาคาร มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องทำห้องใต้ดินเพราะว่าบริเวณนี้เป็นเขตอนุรักษ์ไม่อนุญาตให้สร้างอาคารสูง มีเครื่องมือวิจัย เช่น เครื่องแยก DNA อัตโนมัติ (Biomek 2000) ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ มีห้อง lab ที่ให้นักศึกษามาใช้ศึกษา DNA ยีน ห้อง lab ที่ทำเรื่อง gene transformation ศึกษาพืช Arabidopsis thaliana ซึ่งมียีนที่มีลักษณะซ้ำกัน ใช้ในการศึกษาเรื่องการกลายพันธุ์ได้ เขาศึกษาหน้าที่ของยีนต่างๆ มีการเลี้ยงพืชชนิดนี้ไว้มากมาย ทำ lab ด้าน DNA sequencing lab การเพาะเนื้อเยื่อ ศึกษาเรื่องจีโนมของข้าว ผลิตข้าวพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานโรค เมื่อพืชออกจากห้อง lab แล้วเอาไปปลูกใน greenhouse และนำลงไปแปลงทางภาคใต้ของจีนในภายหลัง ห้อง lab เหล่านี้ควบคุมอุณหภูมิ (22◦c) ควบคุมแสงและควบคุมความชื้น ยังมีอยู่อีกโครงการคือ การปลูกถ่ายคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนของพืชตระกูลถั่วไปให้พืชชนิดอื่น [10]

สถานที่อื่นๆภายในมหาวิทยาลัย

หอแสดงประวัติมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
โรงเรียนประถมศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
โรงเรียนอนุบาลของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณคดีอาเธอร์ เอ็ม.แซคเกลอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง


อ้างอิง

1. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 191
2. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 247
3. เจียงหนานแสนงาม หน้า70
4. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 191
5. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 191
6. เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 11,13,14,15
7. เจียงหนานแสนงาม หน้า70
8. เจียงหนานแสนงาม หน้า78
9. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 192,193
10. เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า181,182,183,184,185,186