Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์ต่อต้านญี่ปุ่น


(น. 47) รูป 33 โต๊ะที่ใช้ในการลงนามที่ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อจีน
Tables used at the signing of Japan's surrender to China.

(น. 47) ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 จักรพรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข มีการลงนามยุติสงครามกับฝ่ายพันธมิตรในเรือรบมิสซูรี่ ซึ่งจอดที่อ่าวโตเกียว ในวันที่ 2 กันยายน วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1945 มีพิธีลงนามญี่ปุ่นยอมจำนนต่อจีน โต๊ะที่จัดพิธีลงนามยอมจำนนนั้นฝ่ายจีนกับฝ่ายญี่ปุ่นมีขนาดไม่เท่ากัน โต๊ะจีนใหญ่กว่า นาฬิกาบอกเวลาที่ลงนามตรงกับ 9 นาฬิกา ลงนามกันที่เมืองนานกิง ภาพประชาชนฉลองชัยชนะ กล่าวโดยสรุปทหารจีนและประชาชนบาดเจ็บเสียชีวิตไป 35 ล้านคน ทรัพย์สินเสียหาย 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ฝ่ายจีนและฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์กันจนถึงวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1972 เมื่อท่านประธานเหมาจับมือกับนายกรัฐมนตรีทานากะ และได้รับสถาปนาความสัมพันธ์ต่อกันอีกครั้งหนึ่ง


(น. 48) รูป 34 บ้านจำลอง
Model of a house.

(น. 48) ห้องที่ 3 แสดงพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม เวลาญี่ปุ่นจะบุกโจมตีจะทิ้งระเบิดล่วงหน้าก่อน ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ และที่ฉงชิ่ง (จุงกิง) ระหว่าง ค.ศ. 1939 – ค.ศ. 1941 ทิ้งระเบิดที่ฉงชิ่ง 124 ครั้ง ผู้คนหนีระเบิดลงหลุมหลบภัยจำนวนมากเกินไปจนไม่มีอากาศหายใจตายไป 9,000 คนในคราวเดียว ญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็กไม่มีทรัพยากรอะไร ต้องมายึดจีนแล้วกวาดเอาทรัพยากรไป เช่น ถ่านหิน เหล็ก ไม้ อาหาร เพื่อไปทำสงคราม


(น. 49) รูป 35 บ้านจำลอง
Model of a house.

(น. 49) ความทารุณกรรมต่างๆ หลังจากบุกนานกิงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1937 มีการฆ่าหมู่ 300,000 กว่าคน ข่มขืนสตรี ปล้นชาวบ้าน กองทัพญี่ปุ่นตั้งสถานปลอบขวัญทหาร นำผู้หญิงจีนและเกาหลีมาบริการทางเพศ เอาคนจีนมาทดลองวิทยาศาสตร์หาทางทำสงครามเชื้อโรค ตั้งหน่วย 737 ที่ฮาร์บิน (ดังที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ใน เกล็ดหิมะในสายหมอก)


(น. 49) รูป 36 อุโมงค์จำลอง
During the war a tunnel was secretly built in the house as a hiding place.


(น. 50) รูป 37 อนุสาวรีย์ทหารนิรนาม
The room in memory of unknown soldiers.

(น. 50) ห้องที่ 4 แสดงการต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีน ประชาชนทำสงครามใต้ดิน และหาวิธีการอื่นๆ ต่อต้านญี่ปุ่น พยายามโจมตีตัดการคมนาคม เช่น ทำลายทางรถไฟ พิพิธภัณฑ์จำลองหมู่บ้านที่ซ่อนทางลงใต้ดินเอาไว้ใต้เตียงหรือในตู้เสื้อผ้า ทำอุโมงค์จำลองซึ่งเดินลงไปได้ จำลองเหมือนที่ประชาชนทำ มีที่เก็บอาหาร ที่เก็บอาวุธและเครื่องซ่อมต่างๆ ข้าพเจ้าและคณะลองเดินไปในอุโมงค์ สนุกดี ห้องที่ 5 แสดงภาพอนุสาวรีย์ทหารนิรนามและเรื่องเกี่ยวเนื่อง สลักชื่อวีรบุรุษวีรสตรีในสงครามนี้บนหินสีชมพู เป็นพวกทหารระดับผู้บังคับกรม แต่จารึกไว้ไม่หมด เพราะมีส่วนที่ไม่ทราบชื่อ จึงทำสมุดหินอ่อน 14 เล่มตั้งไว้เพื่อแสดงว่ายังมีรายชื่ออีกมากที่ไม่ได้บันทึกไม่ได้จารึกไว้


(น. 51) รูป 38 ห้องฉายหนังจอผ่าโลก แสดงเหตุการณ์วันที่ญี่ปุ่นยึดสะพานหลูโกวเฉียว
Film show on panoramic screen about the day when Lugouqiao Bridge was occupied by Japanese soldiers.

(น. 51) ห้องที่ 6 เป็นห้องฉายหนังแบบจอผ่าโลก แสดงแสงเสียงเหตุการณ์วันที่ญี่ปุ่นยึดสะพานหลูโกวเฉียว และยึดเมืองหว่านผิง เริ่มภาพสะพานหลูโกวเฉียวใต้แสงจันทร์ ร่ายบทกวีชมสะพาน เล่าเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นบุก สร้างภาพยนตร์ได้สมจริงดี ป้าจันบอกว่าทำเสียงระเบิดได้เหมือนมาก เราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าเพราะเกิดไม่ทัน


(น. 52) รูป 39 สะพานหลูโกวเฉียว หัวเสาสะพานสลักรูปสิงโต
Lugouqiao Bridge with lion-shaped posts.