Please wait...

<< Back

พิธีซานเต้าฉา

จากหนังสือ

ใต้เมฆที่เมฆใต้

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 66-70


(น.66) รูป 72 ท่องทะเลสาบเอ๋อร์ไห่

(น.66) เราออกมาชมวิว มองไปไกลๆ พวกหนึ่งก็ว่าเหมือนวิวทะเลสาบเจนีวา มีภูเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะสีขาว ตอนนี้หิมะกำลังตกบนยอดเขามีเมฆดูเหมือนจะเป็นเมฆดูสามี ถ่ายรูปกันใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นเพราะเรือเราแล่นอยู่ใกล้ฝั่งนี้) ดูเห็นแห้งแล้งคล้ายๆ ภูเขาในมองโกเลียที่เราไปตอนเดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 เลยว่าที่นี่ดีมากข้างหนึ่งเป็นเจนีวา อีกข้างเป็นมองโกเลีย ลงมาชั้นล่าง มีพิธีกรเป็นสาวชาวไป๋อธิบายเรื่องพิธีซานเต้าฉา ว่าเป็นพิธีของชาวไป๋สำหรับรับแขกผู้มีเกียรติ โดยให้ดื่มชา 3 ถ้วย 3 วิธี ชาถ้วยแรกค่อนข้างขม เหมือนชีวิตคนเกิดมาก็ต้องประสบความยากลำบาก ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ถ้วยต่อมาหวาน หมายความถึงชีวิตต้องลำบากก่อน เมื่อพยายามจนได้รับผลสำเร็จ ชีวิตก็หวาน เมื่อ


(น.67) รูป 73 พิธีชา 3 ถ้วย 3 วิธี ในเรือ
(น.67) อายุมากก็ต้องคิดถึงอดีตของตนว่าเป็นอย่างไร ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นความทรงจำของชีวิต ดื่มสามครั้งรสชาติไม่เหมือนกัน คือ ขมหวาน และสุดท้ายรสชาติยากที่จะลืม วิธีทำชา 3 ถ้วยนี้ต่างกัน ก่อนอื่นแจกผลไม้เชื่อม : แตงกวาเชื่อม ลูกบ๊วย ฯลฯ และเต้นระบำต้อนรับ ผู้หญิงที่เต้นถือไม้ เขาบอกว่าไม้นี้เรียกว่าไม้ป้าหวัวเปี้ยน มีเหล็กอยู่ข้างใน ถามว่ามีความหมายอย่างไรก็ตอบไม่ได้ ส่วนผู้ชายถือกลองแทมโบรีน พอเต้นจบแล้วโฆษกออกมาประกาศว่าการมาเยือนที่เขตปกครองตนเองของพวกไป๋นี้ ถ้ายังไม่ดื่มน้ำชาซานเต้าฉาก็เหมือนกับมาไม่ถึง เป็นธรรมเนียมการต้อนรับที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยกษัตริย์น่านเจ้าต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยือน ชาที่เอามาเลี้ยงของที่นี่เป็นชาก้อนที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 3 ครั้ง ดื่มแล้วทำให้เป็นหนุ่มสาวตลอดไป


(น.68) รูป 74 การแสดงในเรือ

(น.68) จากนั้นให้ดื่มชาถ้วยแรกซึ่งเป็นชาขม ก่อนที่จะดื่มชาถ้วยที่ 2 มีนักร้องหญิงมาร้องเพลง คลอด้วยพิณสามสายชื่อเพลง ยินดีต้อนรับสู่ต้าหลี่ของเรา กับเพลงชนชาติไป๋แห่งภูเขาซีซาน นักร้องเสียงสูงเหมือนนางเอกงิ้ว หรือนักร้องเสียงโซปราโนในอุปรากรฝรั่ง จากนั้นมีระบำหมวกใบลาน ร้องเพลงมีเนื้อหาว่า บ้านเมืองของเขานั้นมีเขาสวย น้ำใส สาวงามยิ่งกว่าดอกชา พอจบแล้วโฆษกออกมาสอนภาษาไป๋ 2-3 คำแต่ข้าพเจ้าฟังไม่ออก จับได้แต่คำว่า น่าเวนิ แปลว่า ขอบคุณ แล้วเขาสั่งเอาไว้ว่าเวลาเอาชาถ้วย 2 มาให้ ทุกคนต้องขอบคุณว่า น่าเวนิ ชาถ้วยที่ 2 ใส่ลูกวอลนัท น้ำตาลทรายแดง และนม โฆษกออกมาบอกว่าเคยมีภาพยนตร์เรื่อง อู๋ตั่วจินฮัว หรือดอกจินฮัว 5 ดอก ในเรื่องกล่าวถึงสาวงามชื่อจินฮัว 5 คน เพลงที่จะแสดงต่อไปนี้เป็นเพลงคู่รักเกี้ยวกันที่ทะเลสาบหูเตี๋ยฉวน ผู้ชายออกมาร้องก่อน ทำนองเพลงฟังแปลกหู ผู้หญิงออกมาร้องเสียงแหลมๆ ตาม


(น.69) รูป 75 การแสดงในเรือ


รูป 76 การแสดงในเรือ


(น.70) รูป 77 ถ่ายรูปกับนักแสดง

(น.70) แบบฉบับคลาสสิกของที่นี่ เป็นภาษาไป๋ว่า “ได้ยินไหมคะ” ข้าพเจ้าฟังแล้วนึกในใจว่าเสียงทั้งดังทั้งแหลม ถ้าไม่ได้ยินเห็นจะเป็นคนหูหนวก เสียงผู้ชายเรียก “น้องสาว” ร้องไปร้องมาข้าพเจ้าเกิดรู้สึกว่าฟังเข้าใจ เพราะกลายเป็นภาษาจีนตอนท้ายๆ เพลงมีการร้องประสานเสียงกัน ฝ่ายชายคืออาเผิง ฝ่ายหญิงคือจินฮัว สุดท้ายผู้หญิงผู้ชายแลกของกัน ฝ่ายหญิงให้กระเป๋า ฝ่ายชายให้เครื่องดนตรีเป่า แสดงความ “ชิชิเก่าเก่า” แปลว่า สนิทสนมกัน ชาถ้วยที่ 3 คือชาไม่รู้ลืม เป็นชาผสมด้วยเปลือกต้นกุ้ย (อบเชย) น้ำผึ้ง การปลูกชาที่ต้าหลี่ทำมาพันกว่าปีแล้ว


จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

พิธีซานเต้าฉา

เป็นพิธีของชาวไป๋สำหรับรับแขกผู้มีเกียรติ โดยให้ดื่มชา 3 ถ้วย 3 วิธี ชาถ้วยแรกค่อนข้างขม เหมือนชีวิตคนเกิดมาก็ต้องประสบความยากลำบาก ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ถ้วยต่อมาหวาน หมายความถึงชีวิตต้องลำบากก่อน เมื่อพยายามจนได้รับผลสำเร็จ ชีวิตก็หวาน เมื่ออายุมากก็ต้องคิดถึงอดีตของตนว่าเป็นอย่างไร ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นความทรงจำของชีวิต ดื่มสามครั้งรสชาติไม่เหมือนกัน คือ ขม หวาน และสุดท้ายรสชาติยากที่จะลืม วิธีทำชา 3 ถ้วยนี้ต่างกัน[1]

ขั้นตอนในพิธี

ก่อนอื่นแจกผลไม้เชื่อม : แตงกวาเชื่อม ลูกบ๊วย ฯลฯ และเต้นระบำต้อนรับ ผู้หญิงที่เต้นถือไม้ เขาบอกว่าไม้นี้เรียกว่าไม้ป้าหวัวเปี้ยน มีเหล็กอยู่ข้างใน ถามว่ามีความหมายอย่างไรก็ตอบไม่ได้ ส่วนผู้ชายถือกลองแทมโบรีน พอเต้นจบแล้วโฆษกออกมาประกาศว่าการมาเยือนที่เขตปกครองตนเองของพวกไป๋นี้ ถ้ายังไม่ดื่มน้ำชาซานเต้าฉาก็เหมือนกับมาไม่ถึง เป็นธรรมเนียมการต้อนรับที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยกษัตริย์น่านเจ้าต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยือน ชาที่เอามาเลี้ยงของที่นี่เป็นชาก้อนที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 3 ครั้ง ดื่มแล้วทำให้เป็นหนุ่มสาวตลอดไป จากนั้นให้ดื่มชาถ้วยแรกซึ่งเป็นชาขม ก่อนที่จะดื่มชาถ้วยที่ 2 มีนักร้องหญิงมาร้องเพลง คลอด้วยพิณสามสายชื่อเพลง ยินดีต้อนรับสู่ต้าหลี่ของเรา กับเพลงชนชาติไป๋แห่งภูเขาซีซาน นักร้องเสียงสูงเหมือนนางเอกงิ้ว หรือนักร้องเสียงโซปราโนในอุปรากรฝรั่ง จากนั้นมีระบำหมวกใบลาน ร้องเพลงมีเนื้อหาว่า บ้านเมืองของเขานั้นมีเขาสวย น้ำใส สาวงามยิ่งกว่าดอกชา พอจบแล้วโฆษกออกมาสอนภาษาไป๋ 2-3 คำแต่ข้าพเจ้าฟังไม่ออก จับได้แต่คำว่า น่าเวนิ แปลว่า ขอบคุณ แล้วเขาสั่งเอาไว้ว่าเวลาเอาชาถ้วย 2 มาให้ ทุกคนต้องขอบคุณว่า น่าเวนิ ชาถ้วยที่ 2 ใส่ลูกวอลนัท น้ำตาลทรายแดง และนม โฆษกออกมาบอกว่าเคยมีภาพยนตร์เรื่อง อู๋ตั่วจินฮัว หรือดอกจินฮัว 5 ดอก ในเรื่องกล่าวถึงสาวงามชื่อจินฮัว 5 คน เพลงที่จะแสดงต่อไปนี้เป็นเพลงคู่รักเกี้ยวกันที่ทะเลสาบหูเตี๋ยฉวน ผู้ชายออกมาร้องก่อน ทำนองเพลงฟังแปลกหู ผู้หญิงออกมาร้องเสียงแหลมๆ ตามแบบฉบับคลาสสิกของที่นี่ เป็นภาษาไป๋ว่า “ได้ยินไหมคะ” ข้าพเจ้าฟังแล้วนึกในใจว่าเสียงทั้งดังทั้งแหลม ถ้าไม่ได้ยินเห็นจะเป็นคนหูหนวก เสียงผู้ชายเรียก “น้องสาว” ร้องไปร้องมาข้าพเจ้าเกิดรู้สึกว่าฟังเข้าใจ เพราะกลายเป็นภาษาจีนตอนท้ายๆ เพลงมีการร้องประสานเสียงกัน ฝ่ายชายคืออาเผิง ฝ่ายหญิงคือจินฮัว สุดท้ายผู้หญิงผู้ชายแลกของกัน ฝ่ายหญิงให้กระเป๋า ฝ่ายชายให้เครื่องดนตรีเป่า แสดงความ “ชิชิเก่าเก่า” แปลว่า สนิทสนมกัน ชาถ้วยที่ 3 คือชาไม่รู้ลืม เป็นชาผสมด้วยเปลือกต้นกุ้ย (อบเชย) น้ำผึ้ง การปลูกชาที่ต้าหลี่ทำมาพันกว่าปีแล้ว[2]


อ้างอิง

1. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 66-67
2. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 67-70