Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ต้าหลี่

(น.48) แผนภูมิแสดงกษัตริย์ของอาณาจักรน่านเจ้า ระบบเรียกชื่อกษัตริย์ของน่านเจ้า ใช้ชื่อคำหลังของพ่อเป็นชื่อหน้าของลูก เช่น พีล่อโก๊ะ โก๊ะล่อฝง ฝงกาอี้ (คนนี้ตายไปก่อนเลยไม่ได้เป็นกษัตริย์) สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา ต้องท่องจำชื่อพวกนี้ เพราะเขาบอกว่าเป็นอาณาจักรไทยโบราณ ยังสงสัยอยู่เลยว่าทำไมถึงชื่อผิดมนุษย์มนาแบบนี้ ต่อมาคิดเสียว่าท่านพวกนี้อาจจะชื่ออย่างอื่นแบบไทย แต่ว่าจีนใช้อักษรจีนเขียนเลยเป็นแบบนี้ อย่างอาณาจักรทวารวดี บันทึกจดหมายเหตุจีนยังเรียกว่าโตโลโปตี้ ได้ทราบว่าสมัยนี้นักวิชาการเขาพิสูจน์ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ค้นพบใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ ว่าพวกนี้คงจะเป็นคนเชื้อชาติไป๋ไม่ใช่คนไทย เป็นอันว่าตัดออกได้ ถึงเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ายังเชื่ออยู่ว่าคนเผ่าไทย (ไท) ได้อยู่อาศัยในดินแดนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบยูนนาน กวางสี ในอินเดีย พม่า เวียดนาม มาเป็นเวลาพัน ๆ ปีแล้วเพียงแต่ไม่มีอำนาจรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ มีหลักฐานทางโบราณคดี ภาษา มานุษยวิทยาสนับสนุน นอกนั้นยังมีพระนามกษัตริย์โบราณ ต้าฉางเหย ต้าเทียนซิง ต้าอี้หนิง โบราณวัตถุที่จัดว่าอยู่ในสมัยนี้มีหลายอย่าง เช่น เครื่องเคลือบมีตัวหนังสือจารึก ตัวหนังสือที่เห็นดูเหมือนจะเป็นภาษาจีน แต่ข้าพเจ้าอ่านไม่ออก
(น.49) ในสมัยนี้มีเมืองหลายเมือง มีภาพแสดงให้ดู เช่น เมืองไท่เหอ (มีภาพถ่ายสภาพปัจจุบัน) ตั้งตามแนวแม่น้ำที่ไหลลงทะเลสาบ (7 กิโลเมตรจากพิพิธภัณฑ์นี้) เมืองหยางจีหมี เมืองต้าหลี่ (สมัยราชวงศ์ หมิง) เมืองหลงเหว่ยเฉิงหรือเซี่ยกวนคือบริเวณที่เรายืนอยู่ขณะนี้ มีแผนที่ของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ซึ่งด้านหนึ่ง (ตะวันตก) เป็นเขาชางซาน มียอดที่สำคัญ 19 ยอด มีห้วย 18 สาย หิมะที่อยู่บนยอดเขาเหล่านี้ บางส่วนจะละลายลงมาในทะเลสาบ นอกจากทะเลสาบเอ๋อร์ไห่แล้วยังมีแหล่งน้ำอื่น ๆ เช่น ซื่อปี๋หู ในด้านโบราณวัตถุที่แสดงความเชื่อถือของคนในอาณาจักรนี้ เช่น บริเวณเมืองเก่าไท่เหอมีรูปกวนอิมหยู่ถง (คำว่าหยู่ถงนี้เข้าใจว่าเป็นทองแดงที่มีวิธีหล่ออย่างหนึ่ง) สิ่งของต่าง ๆ ที่ขุดพบในพระเจดีย์ต่าง ๆ เช่น รูปเจดีย์ทำด้วยทองเหลืองอยู่ในเจดีย์ พระพุทธรูป จารึกต่าง ๆ รูปนกต้าเผิง เป็นสัตว์ที่ชนชาติเหล่านั้นนับถือ จารึกที่มีข้อความบรรยายว่าเป็นจารึกสันสกฤตมีเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าดูแล้วคิดว่าอาจจะไม่เป็นภาษาสันสกฤตก็ได้ ต้องพิจารณาตัวอักษรอีกครั้งหนึ่ง รูปถ่ายเจดีย์สามองค์ที่เราจะไปดูกันบ่ายนี้ อายุพันกว่าปีแล้ว มีตู้แสดงสิ่งของต่าง ๆ ทางศาสนา มีวัชระ รูปเจดีย์วัดหงเซิง สมัยราชวงศ์ซ่ง วัดฝูกูสมัยราชวงศ์ถัง สิ่งของที่พบในสุสาน เช่น หอยเบี้ย กระจก สำริด (ถึงตอนนี้เข้าใจว่าคนแถวนั้น หรือกษัตริย์ที่ปกครองเมืองหรืออาณาจักรในแถบนี้นับถือพุทธศาสนามหายานที่เป็นแบบตันตระ หรือลัทธิลามะแบบทิเบต) อีกด้าน

หนึ่งของห้องมีตารางแสดงพระนามกษัตริย์ต้าหลี่ซึ่งเป็นคนแซ่ต้วน ส่วนพวกน่านเจ้านั้นเขาว่าเป็นคนแซ่เหมิง น่านเจ้าเคยทำสงครามกับราชวงศ์ถัง ต่อมามีการทำสัญญาตกลงกันยอมอยู่ในอิทธิพล


(น.50) รูป 50 จำลองพระพุทธรูปจากถ้ำ

(น.50) ของราชวงศ์ถัง กษัตริย์จีนราชวงศ์ถังตั้งเจ้าเมืองที่ปกครองแถบนี้ (มีจารึก) จารึกที่น่าสนใจคือจารึกที่เขียนในรัชสมัยพระนางอู๋เสอเทียน (บูเช็กเทียน) คือคำว่า กว๋อ ที่แปลว่า ประเทศ ใช้ตัวอักษร 圀แทนตัว 國 ซึ่งใช้เช่นนี้จนสิ้นราชวงศ์หมิง ที่ให้ใช้ตัว 固 เพราะอักษร 方 ที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม หมายถึง ทิศ คือ การคุมอำนาจได้ 4 ทิศ จารึกปี ค.ศ. 766 เล่าประวัติอาณาจักรน่านเจ้าอยู่ที่เต๋อหัวเหนือไท่เหอ 5 กิโลเมตรจากพิพิธภัณฑ์นี้ อีกห้องแสดงศิลปะน่านเจ้าและต้าหลี่ มีรูปโบราณสถาน ในแถบถ้ำบริเวณอำเภอเจี้ยนชวน มีถ้ำที่สำคัญอยู่ 16 แห่ง มีพระพุทธรูป 130 รูป มีรูปพระอินเดียที่เล่าเรื่องกันมาว่าเป็นกวนอิมแปลงกายมา ถือแจกันและก้านต้นหลิว มีพระพุทธรูปพระศากยมุนีและพระสาวก รูปแม่ทัพ รูปวิมลเกียรติ


(น.51) รูป 51 รูปกองทัพสมัยน่านเจ้า

(น.51) ทางพิพิธภัณฑ์จำลองรูปในถ้ำมาให้ประชาชนดู กล่าวกันว่าเป็นภาพกษัตริย์น่านเจ้าชื่อโก๊ะผี เป็นน้องของโก๊ะล่อฝง นับถือศาสนาพุทธ รูปพระพุทธเจ้าและพระแถบนี้ รูปคนขี่ช้าง รูปกษัตริย์สีนุโล พระมเหสี ตรงกลางเป็นพระโอรส (เป็นภาพครอบครัว) เสาน่านเจ้า ตรงยอดมีรูปมังกร 3 ตัว มีจารึกประกอบ บางเสาเป็นรูปนก อยู่ในวัดเที่ยจู้ (วัดเสาเหล็ก) รูปกษัตริย์ของน่านเจ้าขี่ม้าออกไปรับกองทัพ (ขี่ม้าเหมือนกัน) มีสุนัขเดินนำ รูปกษัตริย์ต้าหลี่ทรงพระนามว่ากษัตริย์หลี่เจิน รัชสมัยของพระองค์อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง วิวด้านหลังเขาว่าเป็นทิวทัศน์เทือกเขาชางซาน


(น.52) รูป 52 เส้นทางแพรไหมทางใต้

(น.52) เดินไปอีกห้อง มีหินสลักรูปกวนอิม หม้อเก็บกระดูกสมัยราชวงศ์หยวน พบในต้าหลี่ มีเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีต่างๆ สีเขียวไข่กาบางชนิดคล้ายๆ กับสังคโลก หรือเครื่องปั้นทางเมืองเหนือของไทยมีลายครามกังไส รูปถ่ายเส้นทางแพรไหมทางใต้ มีพวกตุ๊กตาม้า และหน้าบุคคล ศุภรัตน์ผู้สนใจเส้นทางแพรไหมเป็นพิเศษถามว่า เส้นทางนี้เริ่มอย่างไรผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บอกว่าเริ่มจากเฉิงตู ยูนนาน พม่า และอินเดีย ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมาจากซีอานเมืองหลวงในสมัยนั้น เหลือบไปดูในแผนที่เห็นชื่อเมือง Bonan คืออะไร ได้ความว่า เป็นอำเภอโป๋หนาน (สมัยราชวงศ์ถังเรียกว่า หย่าผิง)


(น.53) รูป 53 ต้นชา


รูป 54 ต้นชา

(น.53) ภาพวัดต่างๆ ในแถบนี้มีทั้งพุทธศาสนาลัทธิต่างๆ ขงจื๊อ อิสลาม เต๋า คริสต์ สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร อาคารที่เป็นศาสนสถานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์คริสต์ศาสนา มัสยิด วัด ศาลเจ้า พวกถือบรรพบุรุษ ใช้การก่อสร้างแบบเดียวกันหมดคือเป็นแบบจีน จารึกซึ่งพบอยู่ที่สุสาน ด้านบนเป็นอักษรจีนเขียนภาษาจีน ข้างล่างอักษรแขกจากอินเดีย นอกนั้นมีภาพสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพพุทธประวัติพระพุทธเจ้าแต่งกายแบบจีนสมัยราชวงศ์หมิง ภาพชนชาติอี๋เต้นรำอยู่ใต้ต้นสนภาพต้นสนสวยมากมีลูกสนด้วย เดินออกมาข้างนอกเขาจัดเป็นสวนสวยงาม มีดอกชา (ฉาฮัว) ดอกสีชมพู ฝรั่งเรียกว่า ดอกคาเมเลีย (Camellia) ไม่ใช่ชาที่เอาใบมาชงน้ำ


(น.54) รูป 55 ห้องแสดงหินอ่อน


รูป 56 รากไม้

(น.54) ห้องแสดงหินอ่อนต่างๆ ของต้าหลี่ เป็นหินสีขาวมีลายดำหรือเทา บางทีออกมาสีแดงๆ พวกศิลปินมองดูแล้วเห็นว่าเป็นอะไรๆ ก็ตัดมาเข้ากรอบขาย มีรูปที่มีคำบรรยายว่าเป็นฤดูกาลต่างๆ ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง รูปเห้งเจีย ตือโป๊ยก่ายและซัวเจ๋ง รูปไป๋กู่จิง ปีศาจกระดูกขาว มีหินอ่อนอยู่แผ่นหนึ่ง ตัดเป็น 2 ชิ้น เป็นรูปม้า 2 ตัว มีศิลปะอีกแบบคือการเก็บรากไม้เก่าๆ มาสลัก ไม้ที่แกะและประกอบกับหินอ่อนเรียกว่าหยุนมู่เจียจู้ คือเฟอร์นิเจอร์หินประกอบไม้ ต้นไม้ต่างๆ ที่ใช้มี ต้นจู้ชวน ต้นชิงผี ไม้หนักคล้ายๆ กับไม้โอ๊ก มีไม้สักหรือ


(น.55) รูป 57 บ้านชนกลุ่มน้อยจำลอง

(น.55)ไม้หนานมู่ ไม้แดง ห้องนั้นยังมีที่ขายของกระจุกกระจิก เช่น ไม้สลัก หินสลัก รูปหน้ากากหินสลัก เป็นต้น เข้าไปดูห้องชนชาติส่วนน้อย ชนชาติใหญ่ๆ มีพวกอี๋ ลีซอ พวกไป๋ เขาทำเป็นบ้านจำลองแสดงเครื่องมือต่างๆ บ้านทำด้วยต้นสนและต้นลี่ เป็นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สาลี่ที่กินลูกได้ แสดงเครื่องมือทำการเกษตรและเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ครกตำข้าว เครื่องมือทอผ้า เครื่องปั่นด้าย โม่ ไถ แห หั่วป่า (คล้ายๆ กับคบไฟขนาดใหญ่) ธนู เขาควาย เป็นต้น รูปบ้านจำลองชาวไป๋ที่อยู่ในเขตภูเขา บ้านทำด้วยไม้ มุงกระเบื้องไม้ รูปจำลองสะพานแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง

Next >>