Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติกรุงปักกิ่ง

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 20-31

(น. 20)


รูป 8 พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติกรุงปักกิ่ง
Natural History Museum in Beijing.


รูป 9 วิวัฒนาการของพืชและสัตว์
Picture depicting the evolution of plants and animals.


รูป 10 ไดโนเสาร์กินพืช
Herbivorous dinosaur.

(น. 21) หลังอาหารเช้าไปพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติกรุงปักกิ่ง รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชื่อ ไอ้ฉุนชู ต้อนรับ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์พาชม นิทรรศการรอยเท้าของชีวิตก่อนประวัติศาสตร์ มีตารางบอกเวลาทางธรณีวิทยาและมีรูปว่ามีต้นไม้และสัตว์อะไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา นิทรรศการแสดงซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์และเรื่องต่างๆ มีกระดูกไดโนเสาร์ Mamenchisaurus hechuanensis พบที่เหอฉวน มณฑลเสฉวน เมื่อ ค.ศ. 1957 ที่แปลกคือคอมันยาวถึง 11 เมตร เป็นพวกไดโนเสาร์กินพืช กะว่าตอนมีชีวิตอยู่น้ำหนักคงจะถึง 40-50 ตัน (ข้าพเจ้าว่าน่าจะมากกว่านี้) กินพืชวันละ 300 กิโลกรัม เกิดและอยู่ปลายยุคจูราสสิก ประมาณ 130-140 ล้านปีมาแล้ว ถ้าหากว่าสมัยนี้ไปเที่ยวเดินป่าแล้วเจอตัวแบบนี้กลางทางเห็นจะแย่
(น. 22) เห็นไข่ไดโนเสาร์อยู่ในรังยุคครีเตเชียส (Cretaceous) ตอนปลาย ประมาณ 65-95 ล้านปีมาแล้ว พบที่อำเภอหนานสง มณฑลกวางตุ้ง ขณะนี้ถือว่าเป็นรังไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก มีอยู่ 2 รัง 2 ชนิด คือ Golithes Nyustus และ Golithes Elongatus ในรังที่สองมีไข่ 29 ฟองเรียงกัน 3 ชั้น ไข่ฟองโตที่สุดยาว 22 เซนติเมตร มีคนมาขอซื้อไข่ฟองละ 6 แสนเหรียญสหรัฐ ทั้งรังมีมูลค่า 10 กว่าล้านเหรียญ มีหัวไดโนเสาร์ T-Rex มาจากรัฐมอนตานา สหรัฐอเมริกา วางไว้สำหรับเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ของจีน Tsintaosaurus spinorhinus มีเขาขึ้นมาที่จมูก อายุปลายยุคครีเตเชียส ระหว่าง 65-95 ล้านปี เป็นสัตว์กินพืช พบที่อำเภอไหลหยัง มณฑลซานตง ยาว 7 เมตร สูง 5.5 เมตร Tuojiangosaurus เป็นพวก stegosaurus เป็นไดโนเสาร์กินพืช อยู่ยุคจูราสสิก (Jurassic) ตอนปลาย (140 ล้านปี) บนหลังมีแผ่นกระดูกแหลมๆ (สามเหลี่ยม 15 คู่) นักวิชาการบางคนก็ว่าใช้สำหรับป้องกันตัวจากไดโนเสาร์กินเนื้อ แต่บางคนคิดว่าสำหรับระบายอากาศ เพราะปิดเปิดได้ และมีหลอดเลือดอยู่ตามแนวหลัง พบที่เมืองซิกง มณฑลเสฉวน เป็นฟอสซิลที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย


(น. 22) รูป 11 หัวไดโนเสาร์ T-Rex จากสหรัฐอเมริกา
T-Rex head from the USA.


(น. 23) รูป 12 ลูกไดโนเสาร์
Baby dinosaur.

(น. 23) Mamenchisaurus constructus ขุดพบใน ค.ศ. 1952 ขณะสร้างถนนที่หม่าเหมินซี มณฑลเสฉวน เป็นยุคจูราสสิกตอนปลาย (140 ล้านปี) ต่อมาผู้บรรยายไปขุดเจอกระดูกเมื่อ ค.ศ. 1995 กำลังวิจัยกระดูกนี้ว่ารูปร่างเปลี่ยนไปจากกระดูกไดโนเสาร์ทั่วๆไปหรือไม่ จะเป็นเพราะการทับถมของดินหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ไม่มีใครทราบ Synohydrosaurus lingyuanensis ตัวที่พบเป็นลูกยังไม่โตนัก มีความยาว 116 เซนติเมตร พบที่หลิงหยวน มณฑลเหลียวหนิง เมื่อปีที่แล้ว เกิดยุคจูราสสิกตอนปลาย ลักษณะคล้ายๆตัวเงินตัวทอง ตัวเล็กฟันคม ที่น่าสนใจคือแผ่น fossil ที่สัตว์ตัวนี้ติดอยู่และที่ใกล้ๆ ปากไดโนเสาร์มีปลาตัวเล็กๆ คงจะตายพร้อมกัน เข้าใจว่าเป็นเพราะภูเขาไฟระเบิด (ในมณฑลเหลียวหนิงพบสัตว์โบราณมาก) นกดึกดำบรรพ์ Archaeopteryx lithographica อายุราว 125 ล้านปี ซากที่เห็นเป็นซากเก่าที่สุดที่ถือว่าเป็นนก เดิมคิดว่าบินไม่ได้ เพราะหางมีกระดูกยาว ผิดกับนกในปัจจุบันซึ่งกระดูกหางสั้น ที่เห็นว่าเป็นนกเพราะเคยพบขนนกแบบนี้ที่บาวาเรียในเยอรมนี


(น. 24) รูป 13 ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammal skeletons.

(น. 24) นกดึกดำบรรพ์อีกชนิดหนึ่งเป็น Sinornis santonensis พบที่เฉาหยัง มณฑลเหลียวหนิง ใน ค.ศ. 1988 อายุ 125 ล้านปี มีลักษณะเป็นนกมากกว่าชนิดแรกที่กล่าวมา นักวิจัยชาวอเมริกันคิดว่าเป็นนกที่บินได้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านวิวัฒนาการของนก ฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณ Shanxi thorium tateli คนเยอรมันพบส่วนหัวใน ค.ศ. 1922 ใน ค.ศ. 1994 ได้พบทั้งตัวที่เฟกุ มณฑลส่านซี จึงมองเห็นว่าเป็นยีราฟโบราณ มีเขา 2 ข้าง ข้างละ 2 กิ่ง คอสั้นกว่ายีราฟปัจจุบัน ซากช้าง Stegodon herunghensis หรือช้างงากระบี่ เป็นช้างดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง พบใน ค.ศ. 1973 ขณะที่ทำระบบชลประทาน อายุประมาณ 2-5 ล้านปี พบที่เหอสุ่ย มณฑลกานซู ยาว 8 เมตร สูงถึง 4.3 เมตร ได้พิมพ์เรื่องนี้ในตำราเรียนของเด็ก ทำวีดีโอเทปประกอบด้วย อยู่ในสมัยไพลส์โตซีน (Pleistocene) ตอนต้น แรดโบราณ Chilotherium พบใน ค.ศ. 1994 เป็นสัตว์สมัยไมโอซีน (Miocene) ตอนปลาย
(น. 25) กำแพงฟอสซิลมีซากสัตว์รูปร่างคล้ายตุ่น แต่ตัวใหญ่ เรียกว่า Parakannemeyria brevivostris Sun พบใน ค.ศ. 1964 ที่ภูมิภาคการปกครองตนเองซินเกียง มีอยู่ 9 ตัว คนอธิบายบอกว่าเสียชีวิตขณะที่กำลังไปเที่ยวกัน ถามว่าทำไมทราบ เขาว่าดูจากซากไม่มีลักษณะว่าทะเลาะกัน สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์เลื้อยคลานยังไม่ทันวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในยุคไตรแอสสิก (Triassic) ตอนกลาง ฟอสซิลของพืชโบราณ มีลักษณะคล้ายปาล์ม ในมหายุคมีโสโซอิก (Mesozoic) ยุคไตรแอสสิก สมัยนั้นสภาพอากาศต่างจากสมัยนี้ อากาศอย่างหนึ่งจะมีพืชชนิดต่างกัน สมัยนั้นยังไม่มีไม้ดอก มีแต่เฟิร์นและพวก gymnosperms เช่น ปรง แปะก๊วย ต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายๆสน ฟอสซิลกรามช้างขนาดต่างๆ ช้างพวกนี้เปลี่ยนฟัน 6 ชุดในชีวิต ฟันงอกจากข้างในมาข้างนอก มีทั้งฟันเก่าใหม่อยู่ในชุดเดียวกัน ที่เอามาแสดงเป็นฟันช้าง Stegodon zhaotungonrusis อายุราว 60 ล้านปี เริ่มแรกช้างโบราณมีลักษณะคล้ายหมู เปลี่ยนรูปร่างมา 350 แบบแล้ว ขณะนี้เหลือเพียง 2 ชนิด คือ ช้างแอฟริกาและช้างเอเชีย


(น. 25) รูป 14 ฟอสซิลงาช้าง
Elephant's tusk.

(น. 26) งาช้าง Mammoth พบที่มณฑลเฮยหลงเจียง ส่วนที่ไซบีเรียในรัสเซียพบช้าง Mammoth ที่มีขนด้วย เรียกว่า Mammuthus Premegentius ในห้องมีการสรุปด้วยภาพเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต อธิบายว่ามีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมาก ท่านผู้ชมทุกท่านมีหน้าที่ที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประวัติวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ผู้ที่อธิบายเรื่องไดโนเสาร์ชื่อรองศาสตราจารย์จังเป่าคุน อยู่แผนก Paleontology ของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการต่อมาว่าด้วย วิวัฒนาการ ประวัติ และการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ผู้อธิบายเป็นผู้หญิงชื่อ หวังหยัง นิทรรศการอยู่ชั้นสองปีกด้านขวา มี 2 ห้อง ห้องแรกอธิบายถึงเรื่องมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีกระดูกสันหลัง เลี้ยงลูกด้วยนม มีภาพเปรียบเทียบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ มีกระดูกสันหลังต่างกัน สัตว์ประเภท primate (ลิง) มีนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วอื่นกำมือได้ คนมีความแตกต่างจากลิงคือ สามารถทำเครื่องมือใช้ได้ มีมวลสมองมากกว่าลิง ยืนตัวตรงได้
วิวัฒนาการของมนุษย์มี 3 ขั้นตามลำดับดังนี้
1.มนุษย์วานร Australopithecus
2.มนุษย์ที่เริ่มยืนตรงได้ Homo erectus
3.มนุษย์ที่มีสติปัญญา Homo sapiens

Next >>