Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน

จากหนังสือ

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 5-17


(น.5) รูป 4 พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน เก็บสิ่งของที่เกี่ยวกับชนชาติส่วนน้อยในยูนนาน
(น.5) ชานตงต้าฮั่นเจ้าเก่าตั้งแต่ท่องเที่ยวเส้นทางแพรไหมเมื่อ พศ. 2533 ห้องในโรงแรมนี้สบายดี หน้าห้องมีเฉลียง มีกุหลาบพันปีสีแดงและชมพู แต่อีกด้านหนึ่งโผล่หน้าต่างออกมาเห็นแต่ตึกและการก่อสร้างใหม่ๆ เขาให้ทหารยืนยามหน้าห้องคนหนึ่ง เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ออกไปพิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน มาดามเฉินลี่ยิงนั่งรถไปด้วย มาดามเคยเป็นวิศวกรโรงงานทอผ้า ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการมณฑล ปัจจุบันนอกจากเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง มณฑลยูนนานแล้ว ยังเป็นประธานสภากาชาดมณฑล และกรรมการบริหารสภากาชาดจีนด้วย รวมทั้งเป็นประธานมูลนิธิสวัสดิการข้าราชการครูดีเด่นของโรงเรียนระดับอนุบาล ประถม และมัธยมของยูนนาน ตอนที่คณะของท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ จากสภากาชาดไทยมาคุนหมิง มาดามก็เป็นคนต้อนรับ ไปถึงพิพิธภัณฑ์ มาดามว่าสร้างมานานแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 กว่าๆ เล็กและคับแคบไปแล้ว อยากจะสร้างใหม่ มีหัวหน้าพิพิธภัณฑ์กับอธิบดีวัฒนธรรมของมณฑลมาต้อนรับ ห้องแรก ที่ดู แสดงชีวิตชนชาติส่วนน้อยในมณฑลยูนนาน 25 ชนชาติ มีแผนที่มณฑลแสดงว่าเผ่าต่างๆ อยู่ที่ไหน มีชนกลุ่มน้อยรวมกันประมาณ 13.7 ล้านคน เป็นจำนวนหนึ่งในสามของประชากรในมณฑลเขาจัดพิพิธภัณฑ์ได้ดีทีเดียว มีสิ่งของต่างๆ ของชนชาติต่างๆ แบ่ง


(น.6) รูป 5 เครื่องดนตรีชนเผ่า มีภาพประกอบให้เห็นวิธีใช้

(น.6) เป็นประเภทและมีภาพถ่ายให้ดูว่าใช้ของนั้นทำอะไร เช่น กลองต่างๆ มีมโหระทึก กลองยาวของพม่า เผ่าจิ่งพอ เหมียว (ม้ง, แม้ว) น่าซี อี๋ ไต่ กลองรูปปลาของเผ่าจ้วง กลองหกเหลี่ยมของพวกไป๋ กลองพระอาทิตย์ของพวกเผ่าจีหนัว แตรยาวของชนชาติอี่ แตรชนิดนี้เป่าแล้วเสียงดังมาก ฟังได้ยินข้ามภูเขา เครื่องสาย (ดีด) ของเผ่าอี๋ ชนชาติน่าซี เป็นเผ่าที่ไม่มีในมณฑลอื่น อยู่เฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน มีวัฒนธรรมพิเศษคือมีคนกลุ่มหนึ่งเรียกว่าตงปา ดูเหมือนว่าจะเป็นพระหรือเป็นหมอผีประจำเผ่า เป็นผู้มีความรู้มากกว่าคนอื่น รู้จักการเขียนหนังสือด้วยอักษรภาพ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงหนังสือที่ตงปาในสมัยราชวงศ์หมิงเขียน ตงปายังทำหน้าที่เป็นหมอรักษาโรคโดยการเต้นระบำไปรอบๆ (เรื่องเต้นรำรักษาโรคแบบนี้ข้าพเจ้าเคยเห็นหมอผีของชาวเขาในเมืองไทยทำ) ปัจจุบันได้ความว่ายังมีตงปาอยู่ แต่ว่าอายุมากๆ 70 กว่าไปแล้ว คนหนุ่มกว่านั้นไม่มีใครถ่ายทอดวิชาการเอาไว้


(น.7) รูป 6 หน้ากากของเผ่าใช้ป้องกันผีร้าย

(น.7) หน้ากากของเผ่าต่างๆ ส่วนใหญ่จะทำขึ้นเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจที่ประสงค์ร้าย หรือกันภัยอันตรายต่างๆ มีทั้งชนิดที่ทำเพื่อสวมหน้าและชนิดแขวน มีขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก หน้ากากใหญ่ๆ ดูเหมือนหน้ากากผีตาโขนที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ของเรา อันเล็กๆ ดูเหมือนช้อน มีหน้ากากสำหรับสวมเล่นงิ้ว งิ้วชนิดนี้เล่นในพิธีการความเชื่อ ปีหนึ่งเล่นเพียง 15 วันเท่านั้น หน้ากากสลักไม้ของชนเผ่าเหมียว (ไทยเรียกว่าม้งหรือแม้ว) ไม่เคยเห็นคนม้งบ้านเราสลักไม้แบบนี้ กลับไปคงจะต้องศึกษา หน้ากากไม้นี้น่าสนใจมาก สลักด้วยฝีมือประณีตแต่ละหน้าไม่เหมือนกันเลย


(น.8) รูป 7 เรือของเผ่าไต่

(น.8) ภาพพิธีสงกรานต์ของชนชาติไต่ (ไท) มีการสาดน้ำและแข่งเรือในแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขง มีกระเป๋าใบเล็กๆ เป็นผ้าปักที่พวกผู้หญิงชาวไต่มักทำให้ชายคนรัก สมัยก่อนมักใส่เครื่องหอม ปัจจุบันกลายเป็นของสำหรับขายนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน ธรรมเนียมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของเผ่าจิ่งพอซึ่งไม่มีภาษาเขียนคือ การใช้ใบไม้เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายต่างๆ เรียกว่า จดหมายใบไม้ มีหลายอย่างที่เขาอธิบายให้ฟัง แต่ข้าพเจ้าจดไม่ทัน จะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่จดได้
รากไม้ชนิดหนึ่ง แปลว่า ฉันรักเธออย่างลึกซึ้ง
หญ้าคา แปลว่า คิดถึง
ราชาวดีป่า (Buddleja) แปลว่า ชวนคุณมา


(น.9) รูป 8 ตู้แสดงของ


(น.9)
ปอหมัน (Cordia) แปลว่า แน่นอน
เฉียงพร้านางแอ (Carallia) แปลว่า เห็นด้วยไหม
รูปและเรื่องพิธีแต่งงานของเผ่าต่างๆ สิ่งของที่ใช้ในงานแต่งงาน เช่น เครื่องเงิน
เทศกาลของเผ่าต่างๆ เช่น เผ่าอี๋ เผ่าไป๋ (มีหั่วป่า หรือบั้งไฟ คล้ายๆ ไต้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมีทางภาคเหนือของไทย) เผ่าเย้า เผ่าตู๋หลง


(น.10) รูป 9 ผ้าชนิดต่างๆ


รูป 10 ลายผ้าของชนเผ่า

(น.11) ชนชาติไป๋มีการเซ่นไหว้เมื่อปลูกข้าวโดยการตั้งหลักไม้ไผ่ ประดับธง ตรงยอดคล้ายๆ กับมีตะกร้า แต่ไม่ได้ใส่อะไร สิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องเงินของชนชาติไต่ เป็นกล่องใส่หมากพานและขันหลายชนิดเหมือนของลาว เครื่องเขินของชนชาติไต่ มีลักษณะคล้ายๆ กับเครื่องเขิน และเครื่องกำมะลอของพม่า ภาพที่แสดงวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การเล่นสงกรานต์ อยู่บริเวณแม่น้ำล้านช้าง แทนที่จะเอาน้ำสาดกัน ในภาพถ่ายใช้ใบไม้จุ่มน้ำสะบัดๆ คล้ายๆ กับพระพรมน้ำมนต์ ภาพการปล่อยโคมลอย การยิงบั้งไฟ การร่วมวงกินเหล้าอุหรือเหล้าไห ภาพตอนที่อดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไลไปฉลองสงกรานต์ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมืองของชาวไต่ ห้องที่ 2 ที่ดู เก็บเรื่องของศิลปะการทอผ้าของชนชาติต่างๆ มีหลักฐานว่าในสมัยฮั่นตะวันตกก็มีการทอผ้าแบบที่เราเห็นชาวเขาทอกันในปัจจุบัน คือนั่งกับพื้นและยืดเท้าไปข้างหน้า กี่ผูกเอว ที่ฝาผนังห้องมีผ้าขนาดยักษ์แขวนไว้ เป็นลายปักของพวกชนชาติอี๋ และชนชาติฮาหนี (อีก้อ ก้อ อาข่า) ปักเป็นแบบครอสติช ข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมชาวเขาทำใหญ่เช่นนี้ ถามไปถามมาได้ความว่าทางพิพิธภัณฑ์ขยายลายเพื่อมองเห็นชัด ตามฝาผนังยังมีภาพต่างๆ แสดงวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ที่เกี่ยวกับการถักทอ การตัดปอเอามาแช่น้ำในแม่น้ำ ก่อนมาปั่นเป็นเส้นใยเพื่อทอ การหีบฝ้าย ผ้าที่ทอออกมาเป็นผ้าหน้าแคบมาก



Next >>