<< Back
พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน
จัดหมวดหมู่สารสนเทศ
พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน
สร้างมานานแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 กว่าๆ เล็กและคับแคบไปแล้ว อยากจะสร้างใหม่ [1]
วิถีชีวิตชนส่วนน้อยในยูนนาน
ชนชาติส่วนน้อยในมณฑลยูนนาน 25 ชนชาติ มีแผนที่มณฑลแสดงว่าเผ่าต่างๆ อยู่ที่ไหน มีชนกลุ่มน้อยรวมกันประมาณ 13.7 ล้านคน เป็นจำนวนหนึ่งในสามของประชากรในมณฑล เขาจัดพิพิธภัณฑ์ได้ดีทีเดียว มีสิ่งของต่างๆ ของชนชาติต่างๆ แบ่งเป็นประเภทและมีภาพถ่ายให้ดูว่าใช้ของนั้นทำอะไร เช่น กลองต่างๆ มีมโหระทึก กลองยาวของพม่า เผ่าจิ่งพอ เหมียว (ม้ง, แม้ว) น่าซี อี๋ ไต่ กลองรูปปลาของเผ่าจ้วง กลองหกเหลี่ยมของพวกไป๋ กลองพระอาทิตย์ของพวกเผ่าจีหนัว แตรยาวของชนชาติอี่ แตรชนิดนี้เป่าแล้วเสียงดังมาก ฟังได้ยินข้ามภูเขา เครื่องสาย (ดีด) ของเผ่าอี๋[2]
น่าซี
ชนชาติน่าซี เป็นเผ่าที่ไม่มีในมณฑลอื่น อยู่เฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนาน มีวัฒนธรรมพิเศษคือมีคนกลุ่มหนึ่งเรียกว่าตงปา ดูเหมือนว่าจะเป็นพระหรือเป็นหมอผีประจำเผ่า เป็นผู้มีความรู้มากกว่าคนอื่น รู้จักการเขียนหนังสือด้วยอักษรภาพ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงหนังสือที่ตงปาในสมัยราชวงศ์หมิงเขียน ตงปายังทำหน้าที่เป็นหมอรักษาโรคโดยการเต้นระบำไปรอบๆ (เรื่องเต้นรำรักษาโรคแบบนี้ข้าพเจ้าเคยเห็นหมอผีของชาวเขาในเมืองไทยทำ) ปัจจุบันได้ความว่ายังมีตงปาอยู่ แต่ว่าอายุมากๆ 70 กว่าไปแล้ว คนหนุ่มกว่านั้นไม่มีใครถ่ายทอดวิชาการเอาไว้[3]
ชนเผ่าเหมียว
หน้ากากของเผ่าต่างๆ ส่วนใหญ่จะทำขึ้นเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจที่ประสงค์ร้าย หรือกันภัยอันตรายต่างๆ มีทั้งชนิดที่ทำเพื่อสวมหน้าและชนิดแขวน มีขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก หน้ากากใหญ่ๆ ดูเหมือนหน้ากากผีตาโขนที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ของเรา อันเล็กๆ ดูเหมือนช้อน มีหน้ากากสำหรับสวมเล่นงิ้ว งิ้วชนิดนี้เล่นในพิธีการความเชื่อ ปีหนึ่งเล่นเพียง 15 วันเท่านั้น หน้ากากสลักไม้ของชนเผ่าเหมียว (ไทยเรียกว่าม้งหรือแม้ว) ไม่เคยเห็นคนม้งบ้านเราสลักไม้แบบนี้ กลับไปคงจะต้องศึกษา หน้ากากไม้นี้น่าสนใจมาก สลักด้วยฝีมือประณีตแต่ละหน้าไม่เหมือนกันเลย[4]
ชนชาติไท
ภาพพิธีสงกรานต์ของชนชาติไต่ (ไท) มีการสาดน้ำและแข่งเรือในแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขง มีกระเป๋าใบเล็กๆ เป็นผ้าปักที่พวกผู้หญิงชาวไต่มักทำให้ชายคนรัก สมัยก่อนมักใส่เครื่องหอม ปัจจุบันกลายเป็นของสำหรับขายนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน
ภาพที่แสดงวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การเล่นสงกรานต์ อยู่บริเวณแม่น้ำล้านช้าง แทนที่จะเอาน้ำสาดกัน ในภาพถ่ายใช้ใบไม้จุ่มน้ำสะบัดๆ คล้ายๆ กับพระพรมน้ำมนต์ ภาพการปล่อยโคมลอย การยิงบั้งไฟ การร่วมวงกินเหล้าอุหรือเหล้าไห ภาพตอนที่อดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไลไปฉลองสงกรานต์ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมืองของชาวไต่
สิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องเงินของชนชาติไต่ เป็นกล่องใส่หมากพานและขันหลายชนิดเหมือนของลาว เครื่องเขินของชนชาติไต่ มีลักษณะคล้ายๆ กับเครื่องเขิน และเครื่องกำมะลอของพม่า[5]
จิ่งพอ
ธรรมเนียมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของเผ่าจิ่งพอซึ่งไม่มีภาษาเขียนคือ การใช้ใบไม้เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายต่างๆ เรียกว่า จดหมายใบไม้ มีหลายอย่างที่เขาอธิบายให้ฟัง แต่ข้าพเจ้าจดไม่ทัน จะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่จดได้
รากไม้ชนิดหนึ่ง แปลว่า ฉันรักเธออย่างลึกซึ้ง
หญ้าคา แปลว่า คิดถึง
ราชาวดีป่า (Buddleja) แปลว่า ชวนคุณมา
ปอหมัน (Cordia) แปลว่า แน่นอน
เฉียงพร้านางแอ (Carallia) แปลว่า เห็นด้วยไหม
รูปและเรื่องพิธีแต่งงานของเผ่าต่างๆ สิ่งของที่ใช้ในงานแต่งงาน เช่น เครื่องเงิน[6]
ชนเผ่าอื่นๆ
เทศกาลของเผ่าต่างๆ เช่น เผ่าอี๋ เผ่าไป๋ (มีหั่วป่า หรือบั้งไฟ คล้ายๆ ไต้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมีทางภาคเหนือของไทย) เผ่าเย้า เผ่าตู๋หลง
ชนชาติไป๋มีการเซ่นไหว้เมื่อปลูกข้าวโดยการตั้งหลักไม้ไผ่ ประดับธง ตรงยอดคล้ายๆ กับมีตะกร้า แต่ไม่ได้ใส่อะไร[7]
ศิลปะการทอผ้าของชนเผ่าต่างๆ
มีหลักฐานว่าในสมัยฮั่นตะวันตกก็มีการทอผ้าแบบที่เราเห็นชาวเขาทอกันในปัจจุบัน คือนั่งกับพื้นและยืดเท้าไปข้างหน้า กี่ผูกเอว
ที่ฝาผนังห้องมีผ้าขนาดยักษ์แขวนไว้ เป็นลายปักของพวกชนชาติอี๋ และชนชาติฮาหนี (อีก้อ ก้อ อาข่า) ปักเป็นแบบครอสติช ข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมชาวเขาทำใหญ่เช่นนี้ ถามไปถามมาได้ความว่าทางพิพิธภัณฑ์ขยายลายเพื่อมองเห็นชัด
ตามฝาผนังยังมีภาพต่างๆ แสดงวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ที่เกี่ยวกับการถักทอ การตัดปอเอามาแช่น้ำในแม่น้ำ ก่อนมาปั่นเป็นเส้นใยเพื่อทอ การหีบฝ้าย ผ้าที่ทอออกมาเป็นผ้าหน้าแคบมาก
ข้างฝาติดกระโปรงพลีทของผู้หญิงเหมียวหรือม้ง ผ้าของชนชาติอี๋ในตู้มีรองเท้าของเด็กชาวอี๋ ผ้าใยกัญชงของพวกเหมียว การเขียนลายด้วยขี้ผึ้ง บางผืนก็เป็นแบบมัดย้อม ย้อมสีน้ำเงิน
สีต่างๆ ที่ใช้ย้อมเท่าที่จดมาได้มีดังนี้
สีแดง ใช้พืช Rubia cordifolia
สีน้ำตาล ใช้พืช Juglans regia มันฮ่อ (ใช้เปลือก)
สีเหลืองเข้ม ใช้พืช Dalbergia hupeana จำพวกไม้พะยูงชิงชัน (ใช้เปลือก)
สีเหลือง ใช้พืช Coptis chinensis
สีน้ำเงิน ใช้พืชที่ภาษาจีนเรียกว่า เฮยสุยกว่อ แปลว่า ผลไม้ดำ
อีกอย่าง ใช้พืชที่จีนเรียกว่าต้าเตี้ยน ไทยเรียกว่า ต้นฮ่อม ที่ใช้ย้อมเสื้อม่อฮ่อม ขณะนี้การใช้สีธรรมชาติย้อมผ้ากำลังเป็นที่นิยม เพราะถือว่าเมื่อสวมใส่แล้วสีธรรมชาติไม่ทำให้ผิวเสีย
การมัดผ้าและย้อมนั้นเขาว่ามีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง
ผ้าทอของชาติไต่และชนชาติจ้วง ลักษณะคล้ายผ้าจกและผ้าขิด มีหลายลายแปลกๆ กว่าที่เคยเห็นและมีหลายสี ตุงผ้าลายต่างๆ ของชนชาติไต่ ผ้าห่มทำด้วยพืชจำพวกหญ้าชนิดหนึ่งเรียกว่าหญ้าไฟ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นพืชชนิดใด เขาบอกว่าข้างด้านหน้าใบเป็นสีขาวด้านหลังเป็นสีเขียว ไม่มีตัวอย่างให้ดู
หมวกชนิดต่างๆ หลายขนาด
มีตุ๊กตาขนาดเท่าคนจริง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของชนเผ่าต่างๆ ทั้ง 25 เผ่า มีป้ายติดไว้ว่าเป็นชนเผ่าอะไรบ้าง[8]
หลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยชุนชิวและจ้านกว๋อ
ความเชื่อหลังความตาย
ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์กาล สมัยชุนชิวและสมัยจ้านกว๋อ มีภาพแสดงว่าเครื่องสำริดรุ่นแรกๆ ขุดพบพร้อมกับโครงกระดูกที่อำเภอเจี้ยนชวน คล้ายๆ กับว่าเป็นสิ่งของของผู้ตาย หรือของที่จะให้ผู้ตายนำไปใช้ในปรโลก ดูจากภาพถ่ายโครงกระดูก บางโครงฝังแบบนอนคุดคู้ บางโครงก็นอนเหยียดยาวนักวิชาการเชื่อว่าอยู่ในสมัยชุนชิวและสมัยจ้านหว๋อ มีการพบสุสานที่เต็มไปด้วยเครื่องสำริด เช่น เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพและอาวุธต่างๆ กลองมโหระทึกที่มีรูปภาพลอยตัว เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน กลองนี้มีขนาดเล็ก ข้าพเจ้ามองไม่ออกว่าเป็นรูปอะไรบ้าง ดูในคำอธิบายบอกว่ามีรูปนายทรมานทาส รูปคนจูงควาย ภาพจูงวัวควายแพะแกะไปบูชายัญเทพเจ้า
หอยเบี้ยชนิดที่ใช้เป็นเงินมีอยู่มากมายในสุสาน คนอธิบายบอกว่าหอยชนิดนี้พบในมหาสมุทรแปซิฟิก ข้าพเจ้าคิดว่าที่มีอยู่มากตามสุสานย่อมเป็นเครื่องชี้บ่งว่ามีการติดต่อการค้ากันด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน และพวกที่อยู่บริเวณชายทะเลหอยเบี้ยเหล่านี้พบอยู่รวมกับโมราซึ่งเป็นหินมีค่าที่พบอยู่ในมณฑลยูนนานนี้เอง ใช้เป็นเครื่องประดับ[9]
เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ของบางอย่างมีลักษณะแปลกไม่เหมือนของที่พบในมณฑลอื่นๆ เช่น ร่ม รูปร่างคล้ายๆ ใบไม้ใหญ่ๆ ทำด้วยสำริด ของใช้ในชีวิตประจำวันสลักลวดลายสวยงาม (สมัยจ้านกว๋อ) ที่แปลกคือภาชนะรูปวัว (วัวที่นี่มีมากและมักจะมีเขายาว) ที่หางมีเสือกระโจนขึ้นมางับหลัง ใต้ท้องมีวัวอีกตัว จะว่าเป็นลูกวัวก็ไม่ได้ เพราะว่ามีเขาเหมือนกัน คนอธิบายบอกว่าตั้งชื่อรูปสำริดนี้ว่าความรักของแม่ ข้าพเจ้ายังข้องใจว่าจะใช่หรือเปล่าแต่ก็ไม่ได้โต้แย้งอะไร
ที่จังหวัดฉู่ฉยง ขุดพบของต่างๆ เป็นเครื่องสำริดสมัยจ้านกว๋อมีระฆังที่สันนิษฐานว่าสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องดนตรี เพราะมีขนาดต่างๆ กัน ตีแล้วน่าจะมีเสียงไพเราะกังวาน ของทั้งหมดที่ขุดพบบริเวณนี้มีประมาณ 100 กว่าชิ้น กลางห้องมีมโหระทึกสำริดขนาดต่างๆ มีที่เป็นกลองกบด้วย มีมาตั้งแต่สมัยชุนชิว คนอธิบายบอกว่าสมัยก่อนบางทีแยกไม่ออกระหว่างกลองกับหม้อข้าว ฟังดูแล้วเหมือนกับ “เครื่องดนตรี” ของวงดนตรีวงหนึ่งที่โฆษณาในโทรทัศน์
รูปสำริดลอยตัวรูปวัวเขายาวมีอยู่มาก ขนาดต่างๆ รูปร่างแต่ละตัวตนดูแข็งแรงสมบูรณ์ดี สันนิษฐานว่าที่มีรูปวัวมากมายเช่นนี้ เพราะถือกันว่ามีวัวควายมากแปลว่าร่ำรวย นอกจากรูปวัวมีรูปหมูป่า รูปปลา รูปม้า มีขวดสำหรับใส่เครื่องเย็บ เครื่องมือที่ใช้ในการปั่นทอซึ่งก็มีปรากฏพบในสุสาน ภาชนะ-หีบเล็กๆ สำหรับใส่หอยเบี้ย รูปบ้านจำลองเล็กๆ สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยฮั่นตะวันตก บ้านจำลองนี้มีขนาดเล็กมาก แต่มีรายละเอียด ผู้อธิบายว่าเป็นภาพพิธีบูชายัญมนุษย์
ภาพการแต่งผมของชนชาติต่างๆ ในสมัยโบราณ เขาวาดภาพทรงผมเหล่านี้จากภาพจิตรกรรม ประติมากรรมโลหะ ทรงผมเหล่านี้บางทรงยังมีผู้นิยมทำ ส่วนบางทรงไม่เป็นที่นิยมแล้ว
เครื่องประดับทำด้วยหยกลูกปัดหยก
เหรียญเงินเรียกว่า อู่จูเฉียน (Wuzhu-qian) เป็นเงินสมัยฮั่น
ภาพแผนที่โบราณแสดงว่ายูนนานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในแผนที่ราวปี 109 ก่อนคริสต์กาล ตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่น [10]
อ้างอิง
1. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 5
2. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 5-6
3. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 6
4. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 7
5. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 8,11
6. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 8-9
7. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 9,11
8. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 11-13
9. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 14
10. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 14,15,16,17