Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์หยังโจว

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 173-181

(น.173)


รูป 134 พิพิธภัณฑ์หยังโจว
Yangzhou Museum.

(น. 173) ตอนเช้ารับประทานซาละเปา ซึ่งทำแป้งได้ดีมาก ไม่เหมือนซาละเปาที่ขายทั่วๆ ไปในเมืองไทยที่ใส่ผงฟูจนเป็นสีขาวและแข็งไปหมด รายการแรกวันนี้ไปพิพิธภัณฑ์หยังโจว เดิมเป็นวัดในสมัยราชวงศ์ชิง ต่อมาเป็นโรงพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์ไม้ แล้วเป็นพิพิธภัณฑ์
(น. 174) “วิหาร” หลังใหญ่เป็นที่เก็บโบราณวัตถุที่พบในเมืองหยังโจว เมืองนี้มีประวัติมายาวนานมาก มี 3 ช่วงที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งคือสมัยราชวงศ์ฮั่น ถัง และชิง จึงเป็นเมืองหนึ่งใน 24 เมืองที่รัฐบาลประกาศเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้ดูของต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ตามลำดับเวลาดังนี้ สมัยราชวงศ์ฮั่น หยังโจวมีฐานะเป็นแคว้นชื่อว่า ก่วงหลิง ขุดพบสิ่งของในสุสานของหลิวลี่หวัง อยู่บนเขาเกาฉวน ของที่พบมีกระเบื้อง เครื่องใช้ในสุสาน ตราลัญจกรรูปเต่า เครื่องประดับทองคำและอาวุธ สมัยนั้นมีการขุดบ่อน้ำ มีการใช้วงท่อคล้ายๆ กับที่เราใช้กรุบ่อน้ำสมัยนี้ นอกจากนั้นมีเครื่องสำริด เครื่องเขินสีแดง (เวลาจัดแสดงต้องแช่น้ำเพื่อกันเสีย) เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ทำเป็นรูปเล้าหมู เสื้อสำหรับสวมให้ศพราวๆ สมัยกลางราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ทำด้วยกระจกเคลือบ (ไม่ได้ทำด้วยหยก) กระจกพวกนี้ผู้บรรยายว่านำเข้าจากโรม บางส่วนทำเองในประเทศจีนสีเหมือนหยก ทำลวดลายมังกร เครื่องไม้ต่างๆ ก็ต้องแช่น้ำกันเสียเช่นเดียวกับเครื่องเขิน สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 – 317) มีคัมภีร์ทางพุทธศาสนา (อวตังสกสูตร) สมัยหกราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ที่เรียกว่า หกราชวงศ์ นั้น หมายถึง ราชวงศ์ทางใต้ห้าราชวงศ์ (จิ้นตะวันออก หลิวซ่ง ฉีใต้ เหลียง และเฉิน) ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ ซึ่งอยู่ในช่วง ค.ศ. 317 – 589 ทั้ง 5 ราชวงศ์นี้ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หนานจิงหรือนานกิง เมื่อรวมกับราชวงศ์อู๋ (ค.ศ. 222 – 280) ของซุนกวน


(น. 175) รูป 135 ดูเสื้อหยกสำหรับสวมให้ศพ
Jade funeral suit.

(น. 175) ในสมัยสามก๊ก ซึ่งตั้งเมืองหลวงที่นานกิงเหมือนกัน จึงเป็นหกราชวงศ์ บางครั้งจึงเรียกราชวงศ์ทางภาคใต้ว่า หกราชวงศ์ ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 - 618) ซึ่งเป็นสมัยที่ขุดคลองใหญ่จากทางเหนือลงมาทางใต้ ทำให้เมืองหยังโจวเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ พบเรือขุดที่บริเวณคลองใหญ่ ทำจากไม้หนานมู่ขนาดใหญ่ต้นเดียว มีผู้กล่าวว่าสุสานของจักรพรรดิสุยหยังตี้ก็อยู่ในเมืองนี้ ของที่พบมีแท่นฝนหมึกรูปกลม เครื่องกระเบื้อง กระเบื้องมุงหลังคา แสดงว่าบริเวณนี้มีการสร้างวัดกันมาก


(น. 176) รูป 136 ของที่แสดง
Artefacts on display.

(น. 176) ราชวงศ์ถัง มีเครื่องปั้นดินเผา รูปหุ่นคนแบบต่างๆ เป็นคนต่างชาติก็มี สมัยนั้นหยังโจวใหญ่เป็นที่ 2 รองจากฉังอานหรือซีอาน ความเจริญของหยังโจวในสมัยนั้นเห็นได้จากสิ่งต่างๆ ดังนี้
การเกษตร มีเครื่องมือไถนา และมีร่องรอยของการทำชลประทาน
ศิลปหัตถกรรม มีเครื่องประดับ เช่น ตุ้มหู หวีเงินชุบทอง คันฉ่องลายต่างๆ
(น. 177) การวางผังเมือง เป็นเมืองใหญ่ที่จัดส่วนต่างๆ ของเมืองไว้อย่างเป็นระเบียบ ของอื่นๆ ที่จัดแสดงไว้มีเครื่องเคลือบสามสีแบบราชวงศ์ถัง ในสมัยนั้นหยังโจวเป็นเมืองค้าขายที่สำคัญ เป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้า จึงมีสิ่งของต่างๆ เหลือให้เห็นมาก มีของต่างชาติ เช่น ของจากเปอร์เซีย รูปเจดีย์ เป็นของจำลองทำในสมัยใหม่ แต่รูปปั้นพระโพธิสัตว์และรูปอื่นๆ ที่ประดับอยู่เป็นของเดิมสมัยราชวงศ์ถัง มีเรื่องพระเจี้ยนเจิน (ค.ศ. 688 – 763) นั่งเรือไปญี่ปุ่น มีสิ่งของในสมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 907 – 960) เป็นราชวงศ์ที่อยู่ทางภาคเหนือของจีน แต่ละราชวงศ์ดำรงอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ ได้แก่ ราชวงศ์เหลียงภาคหลัง ราชวงศ์ถังภาคหลัง ราชวงศ์จิ้น


(น. 177) รูป 137 เจดีย์จำลอง
Model of a stupa.


(น. 178) รูป 138 ห้องแสดงภาพเขียนจีน
Exhibition of Chinese paintings.

(น. 178) ภาคหลัง ราชวงศ์ฮั่นภาคหลัง และราชวงศ์โจวภาคหลัง ราชวงศ์เหล่านี้เอาชื่อราชวงศ์ในอดีตมาเป็นชื่อราชวงศ์ของตน นักประวัติศาสตร์จึงเติมคำว่า โฮ่ว เข้าไป เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เป็นโฮ่วเหลียง โฮ่วถัง โฮ่วจิ้น โฮ่วฮั่น โฮ่วโจว คำว่า โฮ่ว แปลว่า หลัง ข้างหลัง ภาคหลัง ราชวงศ์เหล่านี้ต่างตั้งเมืองหลวงที่ไคเฟิง (เมืองไคฟง) จากนั้นได้เข้าสู่สมัยราชวงศ์ซ่ง ใน ค.ศ. 960 แต่รวมจีนได้ทั้งประเทศใน ค.ศ. 979 ที่วิหารกลาง จัดเป็นหอนิทรรศการแสดงภาพเขียน มีภาพเขียนฝีมือจิตรกรแปดประหลาด ซึ่งอยู่ที่หยังโจวเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 จิตรกรเหล่านี้เป็นคนยากจน แต่มีคุณธรรมสูง ฝีมือล้ำเลิศ ลีลาแปลกไม่เหมือนแบบเดิม จึงทำให้มีคนตั้งฉายาให้ว่าเป็น แปดประหลาดแห่งเมืองหยังโจว ภาพที่วาดใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนธรรมดา จึงเป็นที่นิยมมาก จิตกรเอก 8 คนที่เป็นหัวหน้ากลุ่มจิตรกรที่มีลีลาใหม่นี้ แต่ละตำราระบุชื่อบางคนต่างออกไปบ้าง เมื่อรวมทั้งหมดที่ระบุไว้ในตำราต่างๆ จึงมีเกิน 8 คน
(น. 179) จินหนง เสียชีวิตเมื่ออายุ 77 ปี ภาพที่แสดงนี้วาดเมื่ออายุได้ 75 ปี เป็นภาพดอกเหมยที่จิตรกรผู้นี้มีความสามารถพิเศษในการวาด การจัดสัดส่วนของภาพมีความเด่นตรงที่มีระยะใกล้ไกลของต้นไม้ กิ่งแก่กิ่งอ่อน จินหนงยังมีความสามารถในด้านการเขียนตัวหนังสืออีกด้วย เขาเขียนตัวหนังสือลงในภาพ เป็นการเพิ่มมูลค่าของภาพที่วาด
ภาพดอกเหมย ฝีมือ หวังซื่อเซิ่น จะต่างจากของจินหนง ซึ่งจะดูงามสง่า แต่ของหวังซื่อเซิ่นจะสื่อมาทางสุนทรียภาพและความคิด ภาพดอกเหมยท่ามกลางหิมะแปลว่า ไม่กลัวความหนาว เทียบกับคุณธรรมที่สูงส่ง ก็คือไม่กลัวความลำบาก
ภาพดอกเหมย ฝืมือ หวงเซิ่น เขามีความสามารถพิเศษในการวาดภาพดอกเหมยและดอกท้อ วาดภาพกิ่งอ่อนกิ่งแก่ปนกัน เปรียบเทียบระหว่างกิ่งใหญ่ กิ่งเล็ก กิ่งอ่อน กิ่งแก่ ท่านผู้นี้มีอิทธิพลต่อฉีไป๋สือ จิตรกรมีชื่อสมัยหลัง ผู้ซึ่งชื่นชมหวงเซิ่นว่า ภาพดอกเหมยนี้มีความเด่นตรงที่เหมือนกับไม่เหมือน ความต่างของท่านหวงเซิ่นกับตัวข้าพเจ้า (ฉีไป๋สือ) ก็คือ ของข้าพเจ้าเหมือนเกินไป
ภาพต้นไผ่กลางสายฝน ของ หลี่ซ่าน ท่านผู้นี้เคยเป็นจิตรกรในราชสำนัก แต่ถูกกีดกันเพราะลีลาการวาดไม่เหมือนคนอื่น จึงต้องออกมาขายภาพหาเลี้ยงชีพอยู่ที่หยังโจว ความเด่นของเขาคือลายเส้นน้ำหมึกเข้ากันสนิท เขียนภาพไผ่กลางสายฝนได้ แม้เวลาจะผ่านไป 200 กว่าปี ภาพดูเก่าแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกถึงน้ำฝนบนใบไผ่ และยังสัมผัสความชื้นของอากาศได้


(น. 180) รูป 139 ห้องแสดงภาพเขียนจีน
Exhibition of Chinese paintings.

(น. 180) ภาพดอกบัวในสระ ของ เปียนโซ่วหมิง ท่วงทีของใบบัวมีหลายลักษณะ ทั้งหันหน้า หันหลัง บัวบานเพียงดอกเดียว แต่ไปหลบอยู่หลังใบบัว ไม่เด่น มีคำโคลงเขียนบอกว่า แม้ดอกบัวจะถูกบังอยู่ แต่กลิ่นหอมส่งออกมาอย่างเงียบๆ กระจายไปทั่ว ดอกบัวเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่จิตรกรจีนชอบวาด และเทียบกับคุณสมบัติที่ดีงาม ดอกไม้ที่จิตรกรจีนชอบมีเหมย บัว และกล้วยไม้ ภาพกล้วยไม้บนหิน ของ เจิ้งป่านเฉียว เขามีชื่อในการวาดดอกกล้วยไม้มากกว่าคนอื่นในแปดประหลาด เรื่องเล่าเกี่ยวกับแปดประหลาดเป็นเรื่องของจิตรกรคนนี้มากที่สุด ผู้บรรยายอยากจะเล่าเรื่องต่ออีกมากมาย แต่ว่าผู้ดำเนินรายการบอกว่าไม่มีเวลาแล้ว เล่ามากไม่ได้ ผู้บรรยายจึงอธิบายคร่าวๆ ดังนี้ ภาพคน ของ เจิ้งเซี่ย (เจิ้งป่านเฉียว) ภาพเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกัน ของหมิ่นเจิน ได้รับอิทธิพลจากหวงเซิ่น ภาพดอกบัวกับนกลู่ซือ (นกกินปลา) ของหัวเหยียน ภาพดอกบัว ของ หลีเหมี่ยน ภาพบ้านและทิวทัศน์รอบบ้าน ของ เกาเหมยซี จิตรกรผู้นี้เก่งในเรื่องการวาดภาพทิวทัศน์ ตัวอักษรลายมือจินหนงซึ่งมีเอกลักษณ์คือ การใช้หมึกเข้ม


(น. 181) รูป 140 เครื่องปั้นดินเผารูปอูฐ
Earthen camel.


รูป 141 งาแกะเป็นรูปตั๊กแตนในผักกาดและปูแกะสลัก
lvory carved in the shape of a grasshopper on lettuce leaves and a crab carving.

(น. 181) อาคารนี้ยังมีสิ่งของอื่นๆ จัดแสดงไว้ ตั้งแต่เครื่องสำริดสมัยต่างๆ เช่น กลองมโหระทึกมีอักษรจารึก เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ เช่น ตุ๊กตาอูฐ ม้าสมัยราชวงศ์ถัง เครื่องเคลือบ 5 สี สมัยราชวงศ์หมิง เครื่องประดับเงิน ไม้แกะสลัก สมัยราชวงศ์ชิง มีการสลักรากไผ่อย่างละเอียดประณีต แกะงาเป็นรูปตั๊กแตนในผักกาด แกะรูปปู นอกจากนั้นยังมีเครื่องหยก หินแกะสลัก และเครื่องเขิน