Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ต้าหลี่


รูป 59 ที่บูชาบรรพบุรุษของพวกไป๋


(น.57) รูป 60 ภาพชีวิตชาวไป๋

(น.57) หุ่นแสดงเผ่าต่างๆ เช่น เผ่าลาฮู แม้ว ไป๋ อี๋ หุย ไต่ ทิเบต ลีซอ น่าซี เข้าประตูแบบหมู่บ้านไป๋ไปอีกห้อง แสดงเครื่องแต่งตัวสตรีไป๋ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ละถิ่นแต่งไม่เหมือนกัน เช่น ในต้าหลี่เป็นเขตภูเขามีพวกเอ๋อเหยียน เหอจิ่น การแต่งกายเจ้าสาวเหอชิ่ง จำลองบ้านชาวไป๋ในสี่โจว (ที่เราจะไป) ตรงกลางเป็นห้องรับแขกหรือห้องที่ตั้งป้ายบูชา เรียกว่า จุงถัง ซ้ายเป็นห้องที่พ่อแม่อยู่ ด้านขวามือเป็นห้องเจ้าบ่าวเจ้าสาว ภาพถ่ายพิธีแต่งงานของชาวไป๋ เจ้าสาวต้องสวมแว่นดำเพื่อป้องกันภัย (ประยุกต์จากผ้าคลุมหน้า ?) มีลูกก็เอาลูกใส่ตะกร้า ภาพรูปตลาดในเดือนมีนาคม


(น.58) รูป 61 ถ่ายรูปกับสาวๆ ชาวไป๋


รูป 62 ถ่ายรูปกับสาวๆ ชาวไป๋

(น.58) เดินออกมาที่ลานตรงกลางหมู่อาคาร จัดเป็นสวนไม้กระถาง มีดอกท้อ ดอกยู่หลาน หรือที่เรียกว่าดอกแมกโนเลีย (Magnolia) หรือมณฑา ดอกตู้จวน เขามีดอกตู้จวนสีเหลืองซึ่งหายาก ดอกตู้จวนขาวก็มี ฝรั่งเรียกดอกตู้จวนขาวว่า โรโดเดนดรอน (Rho-dodendron) ถ้าผลัดใบเรียก Azalea


(น.59) รูป 63 เซ็นสมุดเยี่ยม

(น.59) เป็นอันว่าจบการชมพิพิธภัณฑ์ ไปเซ็นชื่อในสมุดเยี่ยม และขึ้นรถกลับโรงแรม ในรถมาดามเฉินเล่าว่ามีเมฆชนิดหนึ่งเรียกว่า เมฆมองดูสามี หรือหยุนว่างฟู และบอกให้ข้าพเจ้าไปถามผู้ว่าต้าหลี่ว่ามีความเป็นมาอย่างไร แล้วเล่าต่อเรื่องเมืองเซี่ยกวนว่าเรียกกันว่าเป็นฟงเฉิงหรือเมืองลม มีนิทานเล่าประวัติว่า กวนอิมแต่งตัวเป็นคนแก่เดินไปถึงด่านนายด่านจะมาตรวจของ คนแก่นี้ก็ไม่ยอมให้ตรวจ แต่นายด่านก็ตรวจจนได้ พอเปิดขวดก็มีลมพุ่งออกมา เมืองจึงกลายเป็นเมืองลม คือมีลมพัดแรงตลอดปี ถ้าไม่มีลมพัดคนที่นี่จะรู้สึกว่าไม่สบาย ฉะนั้นสิ่งก่อสร้างแถวนี้จะมีกำแพงกันลมอีกชั้น ส่วนมากจะทำบ้าน 3 ห้อง มีลานและกำแพง



จัดหมวดหมู่สารสนเทศ



พิพิธภัณฑ์เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ต้าหลี่

ในพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุ มีหินอ่อน ต้าหลี่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีของชนชาติ แสดงบุหรี่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของต้าหลี่ พิพิธภัณฑ์นี้มีห้องแสดง 9 ห้อง[1]

หลักฐานทางโบราณคดีสมัยหินและสำริด

ศิลปะสมัยหินและสมัยสำริด เริ่มต้นเมื่อ 4,000 ปีก่อน เมื่อสมัยหินใหม่แถบนี้ก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์อยู่แล้ว (ข้อสังเกตอีกอย่างคือ พิพิธภัณฑ์ที่คุนหมิงกับที่นี่มีคำอธิบายภาษาอังกฤษด้วย พิพิธภัณฑ์ที่เราไปในภาคอีสานเมื่อปีที่แล้วมีแต่ภาษาจีน) ที่เกาะจินซัวในทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ขุดพบเครื่องมือหิน ของที่แสดงไว้มีเครื่องมือหินต่าง ๆ มีเครื่องมือหินที่มีรูสองรู ซากข้าวเจ้าอายุ 3,700 กว่าปีมาแล้วกลายเป็นหิน (carbonized rice) ข้าพเจ้าถามเขาว่าข้าวนี้เป็นพันธุ์เดียวกับข้าวที่ปลูกในแถบนี้ในปัจจุบันหรือไม่ เขาบอกว่าเป็นข้าวเจ้าเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาได้เอาเศษจากเมล็ดข้าวนี้ไปวิเคราะห์อย่างจริงจังหรือเปล่า ถ้าทำน่าจะเป็นประโยชน์ นอกจากนั้นมีเครื่องปั้นต่าง ๆ เปลือกหอย สิ่งของสมัยสำริดประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว มีภาพถ่ายโบราณสถานไห่เหมินโข่ว อำเภอเจี้ยนฉวน ยังพบเบ้าหลอมขวานสำริด มีขวานที่ด้ามเป็นไม้ รูปถ่ายขณะขุดค้น กลองมโหระทึกสมัยจ้านกว๋อ ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ระฆังแขวนเปียนจงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เงินตราหลายประเภทที่พบในต้าหลี่ เช่น เงินอู่จู แสดงว่าต้าหลี่มีความสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของประเทศจีน รูปสุสานที่หมู่บ้านต้าจ่านถุน อยู่เชิงเขาชางซาน อายุประมาณ 1,900 ปีมาแล้ว เครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือถาดทำเป็นรูปนาขั้นบันได มีสัตว์ต่าง ๆ[2]

อาณาจักรน่านเจ้า

ดูนิทรรศการเรื่องน่านเจ้า (หนานเจา) ประเทศนี้อยู่ระหว่างปี ค.ศ 738 – 902 (ต้าหลี่ปี ค.ศ. 937 – 1253) ประชาชนของประเทศทั้งสองเป็นชนชาติส่วนน้อยคือพวกไป๋ มีภาพถ่ายแสดงแผนที่น่านเจ้าสมัยโบราณเป็นรูปงู 2 หัว หัวสองหัวไขว้กัน ด้านหนึ่งมีรูปปลา อีกด้านมีรูปหอยสังข์ เขาว่าพวกไป๋นับถือปลากับหอย มีแผนที่น่านเจ้าในตอนนั้นใหญ่กว่ายูนนานเดี๋ยวนี้ รวมพม่า ส่วนหนึ่งของไทย ส่วนหนึ่งของเสฉวน และกุ้ยโจว แผนที่ฉบับนี้กระทรวงการต่างประเทศของจีนอนุมัติแล้วให้เป็นแผนที่ประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเกี่ยวกับเรื่องโบราณ ๆ แบบนี้ เขาอธิบายว่าแผนที่เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเผยแพร่ (อาจมีปัญหาชายแดนได้)[3]

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับกษัตริย์ในอาณาจักรน่านเจ้า

แผนภูมิแสดงกษัตริย์ของอาณาจักรน่านเจ้า ระบบเรียกชื่อกษัตริย์ของน่านเจ้า ใช้ชื่อคำหลังของพ่อเป็นชื่อหน้าของลูก เช่น พีล่อโก๊ะ โก๊ะล่อฝง ฝงกาอี้ (คนนี้ตายไปก่อนเลยไม่ได้เป็นกษัตริย์) สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา ต้องท่องจำชื่อพวกนี้ เพราะเขาบอกว่าเป็นอาณาจักรไทยโบราณ ยังสงสัยอยู่เลยว่าทำไมถึงชื่อผิดมนุษย์มนาแบบนี้ ต่อมาคิดเสียว่าท่านพวกนี้อาจจะชื่ออย่างอื่นแบบไทย แต่ว่าจีนใช้อักษรจีนเขียนเลยเป็นแบบนี้ อย่างอาณาจักรทวารวดี บันทึกจดหมายเหตุจีนยังเรียกว่าโตโลโปตี้ ได้ทราบว่าสมัยนี้นักวิชาการเขาพิสูจน์ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ค้นพบใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ ว่าพวกนี้คงจะเป็นคนเชื้อชาติไป๋ไม่ใช่คนไทย เป็นอันว่าตัดออกได้ ถึงเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ายังเชื่ออยู่ว่าคนเผ่าไทย (ไท) ได้อยู่อาศัยในดินแดนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบยูนนาน กวางสี ในอินเดีย พม่า เวียดนาม มาเป็นเวลาพัน ๆ ปีแล้วเพียงแต่ไม่มีอำนาจรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ มีหลักฐานทางโบราณคดี ภาษา มานุษยวิทยาสนับสนุน นอกนั้นยังมีพระนามกษัตริย์โบราณ ต้าฉางเหย ต้าเทียนซิง ต้าอี้หนิง โบราณวัตถุที่จัดว่าอยู่ในสมัยนี้มีหลายอย่าง เช่น เครื่องเคลือบมีตัวหนังสือจารึก ตัวหนังสือที่เห็นดูเหมือนจะเป็นภาษาจีน แต่ข้าพเจ้าอ่านไม่ออก อีกด้านหนึ่งของห้องมีตารางแสดงพระนามกษัตริย์ต้าหลี่ซึ่งเป็นคนแซ่ต้วน ส่วนพวกน่านเจ้านั้นเขาว่าเป็นคนแซ่เหมิง น่านเจ้าเคยทำสงครามกับราชวงศ์ถัง ต่อมามีการทำสัญญาตกลงกันยอมอยู่ในอิทธิพลของราชวงศ์ถัง กษัตริย์จีนราชวงศ์ถังตั้งเจ้าเมืองที่ปกครองแถบนี้ (มีจารึก) จารึกที่น่าสนใจคือจารึกที่เขียนในรัชสมัยพระนางอู๋เสอเทียน (บูเช็กเทียน) คือคำว่า กว๋อ ที่แปลว่า ประเทศ ใช้ตัวอักษร แทนตัว 國 ซึ่งใช้เช่นนี้จนสิ้นราชวงศ์หมิง ที่ให้ใช้ตัว เพราะอักษร 方 ที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม หมายถึง ทิศ คือ การคุมอำนาจได้ 4 ทิศ จารึกปี ค.ศ. 766 เล่าประวัติอาณาจักรน่านเจ้าอยู่ที่เต๋อหัวเหนือไท่เหอ 5 กิโลเมตรจากพิพิธภัณฑ์นี้[4]

ศาสนาและความเชื่อในอาณาจักรน่านเจ้า

ในด้านโบราณวัตถุที่แสดงความเชื่อถือของคนในอาณาจักรนี้ เช่น บริเวณเมืองเก่าไท่เหอมีรูปกวนอิมหยู่ถง (คำว่าหยู่ถงนี้เข้าใจว่าเป็นทองแดงที่มีวิธีหล่ออย่างหนึ่ง) สิ่งของต่าง ๆ ที่ขุดพบในพระเจดีย์ต่าง ๆ เช่น รูปเจดีย์ทำด้วยทองเหลืองอยู่ในเจดีย์ พระพุทธรูป จารึกต่าง ๆ รูปนกต้าเผิง เป็นสัตว์ที่ชนชาติเหล่านั้นนับถือ จารึกที่มีข้อความบรรยายว่าเป็นจารึกสันสกฤตมีเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าดูแล้วคิดว่าอาจจะไม่เป็นภาษาสันสกฤตก็ได้ ต้องพิจารณาตัวอักษรอีกครั้งหนึ่ง รูปถ่ายเจดีย์สามองค์ที่เราจะไปดูกันบ่ายนี้ อายุพันกว่าปีแล้ว มีตู้แสดงสิ่งของต่าง ๆ ทางศาสนา มีวัชระ รูปเจดีย์วัดหงเซิง สมัยราชวงศ์ซ่ง วัดฝูกูสมัยราชวงศ์ถัง สิ่งของที่พบในสุสาน เช่น หอยเบี้ย กระจก สำริด (ถึงตอนนี้เข้าใจว่าคนแถวนั้น หรือกษัตริย์ที่ปกครองเมืองหรืออาณาจักรในแถบนี้นับถือพุทธศาสนามหายานที่เป็นแบบตันตระ หรือลัทธิลามะแบบทิเบต)[5]

ศิลปะของอาณาจักรน่านเจ้าและต้าหลี่

มีรูปโบราณสถาน ในแถบถ้ำบริเวณอำเภอเจี้ยนชวน มีถ้ำที่สำคัญอยู่ 16 แห่ง มีพระพุทธรูป 130 รูป มีรูปพระอินเดียที่เล่าเรื่องกันมาว่าเป็นกวนอิมแปลงกายมา ถือแจกันและก้านต้นหลิว มีพระพุทธรูปพระศากยมุนีและพระสาวก รูปแม่ทัพ รูปวิมลเกียรติ ทางพิพิธภัณฑ์จำลองรูปในถ้ำมาให้ประชาชนดู กล่าวกันว่าเป็นภาพกษัตริย์น่านเจ้าชื่อโก๊ะผี เป็นน้องของโก๊ะล่อฝง นับถือศาสนาพุทธ รูปพระพุทธเจ้าและพระแถบนี้ รูปคนขี่ช้าง รูปกษัตริย์สีนุโล พระมเหสี ตรงกลางเป็นพระโอรส (เป็นภาพครอบครัว) รูปกษัตริย์ของน่านเจ้าขี่ม้าออกไปรับกองทัพ (ขี่ม้าเหมือนกัน) มีสุนัขเดินนำ รูปกษัตริย์ต้าหลี่ทรงพระนามว่ากษัตริย์หลี่เจิน รัชสมัยของพระองค์อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง วิวด้านหลังเขาว่าเป็นทิวทัศน์เทือกเขาชางซาน เดินไปอีกห้อง มีหินสลักรูปกวนอิม หม้อเก็บกระดูกสมัยราชวงศ์หยวน พบในต้าหลี่ มีเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีต่างๆ สีเขียวไข่กาบางชนิดคล้ายๆ กับสังคโลก หรือเครื่องปั้นทางเมืองเหนือของไทยมีลายครามกังไส รูปถ่ายเส้นทางแพรไหมทางใต้ มีพวกตุ๊กตาม้า และหน้าบุคคล ศุภรัตน์ผู้สนใจเส้นทางแพรไหมเป็นพิเศษถามว่า เส้นทางนี้เริ่มอย่างไรผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บอกว่าเริ่มจากเฉิงตู ยูนนาน พม่า และอินเดีย ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมาจากซีอานเมืองหลวงในสมัยนั้น เหลือบไปดูในแผนที่เห็นชื่อเมือง Bonan คืออะไร ได้ความว่า เป็นอำเภอโป๋หนาน (สมัยราชวงศ์ถังเรียกว่า หย่าผิง) ภาพวัดต่างๆ ในแถบนี้มีทั้งพุทธศาสนาลัทธิต่างๆ ขงจื๊อ อิสลาม เต๋า คริสต์ สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร อาคารที่เป็นศาสนสถานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์คริสต์ศาสนา มัสยิด วัด ศาลเจ้า พวกถือบรรพบุรุษ ใช้การก่อสร้างแบบเดียวกันหมดคือเป็นแบบจีน จารึกซึ่งพบอยู่ที่สุสาน ด้านบนเป็นอักษรจีนเขียนภาษาจีน ข้างล่างอักษรแขกจากอินเดีย นอกนั้นมีภาพสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพพุทธประวัติพระพุทธเจ้าแต่งกายแบบจีนสมัยราชวงศ์หมิง ภาพชนชาติอี๋เต้นรำอยู่ใต้ต้นสนภาพต้นสนสวยมากมีลูกสนด้วย เดินออกมาข้างนอกเขาจัดเป็นสวนสวยงาม มีดอกชา (ฉาฮัว) ดอกสีชมพู ฝรั่งเรียกว่า ดอกคาเมเลีย (Camellia) ไม่ใช่ชาที่เอาใบมาชงน้ำ ห้องแสดงหินอ่อนต่างๆ ของต้าหลี่ เป็นหินสีขาวมีลายดำหรือเทา บางทีออกมาสีแดงๆ พวกศิลปินมองดูแล้วเห็นว่าเป็นอะไรๆ ก็ตัดมาเข้ากรอบขาย มีรูปที่มีคำบรรยายว่าเป็นฤดูกาลต่างๆ ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง รูปเห้งเจีย ตือโป๊ยก่ายและซัวเจ๋ง รูปไป๋กู่จิง ปีศาจกระดูกขาว มีหินอ่อนอยู่แผ่นหนึ่ง ตัดเป็น 2 ชิ้น เป็นรูปม้า 2 ตัว มีศิลปะอีกแบบคือการเก็บรากไม้เก่าๆ มาสลัก ไม้ที่แกะและประกอบกับหินอ่อนเรียกว่าหยุนมู่เจียจู้ คือเฟอร์นิเจอร์หินประกอบไม้ ต้นไม้ต่างๆ ที่ใช้มี ต้นจู้ชวน ต้นชิงผี ไม้หนักคล้ายๆ กับไม้โอ๊ก มีไม้สักหรือไม้หนานมู่ ไม้แดง ห้องนั้นยังมีที่ขายของกระจุกกระจิก เช่น ไม้สลัก หินสลัก รูปหน้ากากหินสลัก เป็นต้น[6]

ชนส่วนน้อยในต้าหลี่

เข้าไปดูห้องชนชาติส่วนน้อย ชนชาติใหญ่ๆ มีพวกอี๋ ลีซอ พวกไป๋ เขาทำเป็นบ้านจำลองแสดงเครื่องมือต่างๆ บ้านทำด้วยต้นสนและต้นลี่ เป็นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สาลี่ที่กินลูกได้ แสดงเครื่องมือทำการเกษตรและเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ครกตำข้าว เครื่องมือทอผ้า เครื่องปั่นด้าย โม่ ไถ แห หั่วป่า (คล้ายๆ กับคบไฟขนาดใหญ่) ธนู เขาควาย เป็นต้น รูปบ้านจำลองชาวไป๋ที่อยู่ในเขตภูเขา บ้านทำด้วยไม้ มุงกระเบื้องไม้ รูปจำลองสะพานแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง หุ่นแสดงเผ่าต่างๆ เช่น เผ่าลาฮู แม้ว ไป๋ อี๋ หุย ไต่ ทิเบต ลีซอ น่าซี เข้าประตูแบบหมู่บ้านไป๋ไปอีกห้อง แสดงเครื่องแต่งตัวสตรีไป๋ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ละถิ่นแต่งไม่เหมือนกัน เช่น ในต้าหลี่เป็นเขตภูเขามีพวกเอ๋อเหยียน เหอจิ่น การแต่งกายเจ้าสาวเหอชิ่ง จำลองบ้านชาวไป๋ในสี่โจว (ที่เราจะไป) ตรงกลางเป็นห้องรับแขกหรือห้องที่ตั้งป้ายบูชา เรียกว่า จุงถัง ซ้ายเป็นห้องที่พ่อแม่อยู่ ด้านขวามือเป็นห้องเจ้าบ่าวเจ้าสาว ภาพถ่ายพิธีแต่งงานของชาวไป๋ เจ้าสาวต้องสวมแว่นดำเพื่อป้องกันภัย (ประยุกต์จากผ้าคลุมหน้า?) มีลูกก็เอาลูกใส่ตะกร้า ภาพรูปตลาดในเดือนมีนาคม[7]


อ้างอิง

1. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 44
2. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 44-45
3. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 47
4. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 48-50
5. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 49
6. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 50-55
7. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 55,57