Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 217-226

(น. 217) วันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2542
ฝนตกตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ท้องฟ้ามืดครึ้มไปหมด เช้านี้รายการแรกไปพิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นตึกฝรั่ง 2 หลัง หลังแรกเคยเป็นสถานกงสุลอังกฤษ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1890 มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นอาคารอนุรักษ์ ตั้งอยู่บนเนินเขา อาคารแรกแสดงเรื่องประวัติศาสตร์เจิ้นเจียง มีศิลปวัตถุที่ขุดพบแถบเจิ้นเจียงมากมาย เพราะขุดพบแหล่งโบราณคดีกว่า 10 แห่ง และสุสานอีก 10 กว่าแห่ง ชั้นล่างของอาคาร จัดแสดงหัวข้อต่างๆ ดังนี้
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงสมัยหินใหม่ แสดงเครื่องมือหินขัดแบบต่างๆ เข็มเย็บผ้า ไนปั่นฝ้าย ผานไถนา ซึ่งเป็นหินแผ่นใหญ่ ส่วนกว้างที่สุดเห็นจะกว่าฟุตหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผารูปร่างต่างๆ เครื่องหยก เครื่องประดับพวกกำไล ปิ่นปักผม และมีหลักฐานว่ามีการชลประทานแล้ว
2. ยุคราชวงศ์ซัง (ก่อน ค.ศ. 1766 – ก่อน ค.ศ. 1122) ราชวงศ์โจวตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 1122 – ก่อน ค.ศ. 770) และบางส่วนในสมัยชุนชิว (ก่อน ค.ศ. 770 – ก่อน ค.ศ. 476) การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ตามแบบของนักวิชาการจีนเรียกยุคนี้ว่า ยุคสังคมทาส แสดงเครื่องปั้นดินเผาลายเรขาคณิต ลายเกลียว
(น. 218) เชือก ซึ่งพบมากในภาคใต้ของจีน หม้อสามขา หม้อดินเผายังมีไข่อยู่ในหม้อนั้น
3. เครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ซังมีหม้อสี่หูรูปกลม สลักจารึกที่เห็นนี้เป็นของจำลอง ของจริงอยู่ที่ปักกิ่ง ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ (National Treasure) ภาชนะมีหู มีฝาปิด เมื่อขุดพบยังมีเหล้าอยู่ข้างใน และยังพบถาดมีล้อเลื่อน ผู้บรรยายอธิบายว่าสมัยก่อนคนนั่งรับประทานอาหารล้อมวงกับพื้น เอาอาหารใส่ถาดนี้ แล้วเลื่อนแจกกันไปทั่วๆ ไม่ต้องยก ส่วนอาวุธที่พบมีหอก ดาบ หัวลูกศร อาวุธเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาบนอกจากใช้สู้รบแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้ถือด้วย สิ่งของที่จัดแสดงไว้อีกอย่างหนึ่งคือ ระฆังสำริด ขึ้นไปชั้นบน จัดแสดงสิ่งของในสมัยต่างๆ ดังนี้
1. สมัยราชวงศ์ฮั่น จัดแสดงพวกบ้านเรือนจำลองทำด้วยดินเผาสำหรับใส่ในสุสานไว้ให้คนตายอาศัยอยู่ในปรโลก ทำนองเดียวกับบ้านและข้าวของต่างๆ ในพิธีกงเต๊ก รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนใต้ สังเกตได้ว่าบ้านเรือนนิยมสร้างบนเสาสูง มีใต้ถุนเพราะบริเวณทางใต้มีน้ำมาก บนหลังคามีรังไก่เพื่อระบายอากาศหรือระบายความชื้น มีหอสูง ใช้ดูไร่นา มีบ้านอีกแบบหนึ่งเป็นบ้านสองชั้น มีเฉลียงรอบบ้าน ใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคา สมัยนั้นยังไม่มีการใช้ดีบุก
2. ศิลาดลสมัยหกราชวงศ์ มีกาน้ำพวยรูปหัวไก่ สมัยแรกไม่มีหูจับ สมัยหลังจึงมีเพื่อให้รินน้ำได้สะดวก เครื่องปั้นดินเผาสมัยนี้สำหรับใส่ในสุสานเช่นเดียวกับสมัยก่อน การขุดค้น


(น. 219) รูป 160 เครื่องสำริด
Bronze artefacts.

(น. 219) โบราณคดีในสมัยนี้ทำให้ได้พบข้อมูลที่สำคัญคือ เดิมนักวิชาการคิดกันว่าป้ายหลุมศพเกิดในสมัยราชวงศ์ถัง แต่ที่นี่ในสมัยหกราชวงศ์ก็มีแล้ว รวมทั้งพบวิธีเขียนลายมือแบบที่เขาจัดแสดงอยู่
3. โบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ถัง รูปจำลองดินเผาสมัยนี้เป็นดินเผาเคลือบสี ใน ค.ศ. 1980 พบเครื่องเงินเครื่องทองของสมัยนี้ เขาเขียนภาพสันนิษฐานว่าในสมัยก่อนใช้เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้อย่างไรบ้าง เช่น เครื่องเล่นเกมพนันกินเหล้า ทำเป็นฉลากเงินมีอักษรจารึก มี 50 อัน ใส่ไว้ในกระบอกวางไว้บนเต่าสำริด
4. สมัยราชวงศ์ซ่ง มีรูปปั้นดินเผาสัตว์ประจำทิศสำหรับประดับหลังคาดังนี้
(น. 220)
ทิศตะวันออก มังกรสีเขียว
ทิศตะวันตก เสือสีขาว
ทิศเหนือ เต่าพันกับงูสีดำ
ทิศใต้ นกเฟิ่งแดง (หรือนกแดง)
นอกนั้นของที่แสดงไว้มี รูปปั้นดินเผารูปคนและสัตว์ คันฉ่อง กระปุกเครื่องสำอาง ถ้วยชา หมอนเซรามิก พัดที่ด้ามเป็นไม้ไผ่ ตัวพัดดูเหมือนกับเป็นใบตาล ลงรัก ได้จากสุสานสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 – 1279) ชั้นล่างอีกปีกหนึ่ง แสดงเรื่องไหม ผ้าไหม และของอื่นๆ ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง
1. ไหมต่างๆ ประดิษฐ์เป็นผ้าห่อสิ่งของ ถุงปัก ปลอกแว่นตา กระเช้า
2. เสื้อผ้าไหมปัก พื้นน้ำเงิน ลายทอง ของจักรพรรดิเฉียนหลงเมื่อคราวเสด็จมาเจิ้นเจียง เสื้อตัวนี้เป็นของเจ้าอาวาสวัดจินซานให้พิพิธภัณฑ์
3. ภาพสลักไม้เป็นรูปดอกเหมย ไม้ไผ่ ดอกกล้วยไม้ และดอกเบญจมาศ
4. เสื้อผ้ารากไผ่ เอามาทำเป็นท่อนเล็กๆ เหมือนก้านไม้ขีดแล้วร้อยเป็นเสื้อใส่ในหน้าร้อน
5. เครื่องลงรักประดับหินและมุก
6. ถ้วยมังกร 2 ใบ


(น. 221) รูป 161 แสดงสิ่งของที่มีค่าสูงของพิพิธภัณฑ์
Priceless objects belonging to the Museum.

(น. 221) จากนั้นขึ้นไปบนอาคารที่ 2 เพื่อดูสิ่งของมีค่าของพิพิธภัณฑ์ ผู้อำนวยการบอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้มีสิ่งของ 30,000 ชิ้น ที่มีชื่อเสียงคือ เครื่องสำริดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก เครื่องสำริดทางใต้นี้มีส่วนผสมและแบบอย่างต่างจากทางเหนือ ของเจิ้นเจียงเป็นตัวอย่างที่ดีของศิลปะแคว้นอู๋ในสมัยชุนชิว นักโบราณคดีกล่าวกันว่าถ้าจะศึกษาเรื่องแคว้นอู๋ต้องมาที่เจิ้นเจียง เขานำของมีค่ามาให้ดูดังนี้
1. เครื่องสำริดราชวงศ์โจวตะวันตก ขุดพบที่ไท่หยัง ในเมืองเจิ้นเจียง มีลวดลายเป็นนกและกบ เพราะทางนี้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์พวกนี้อยู่มากมาย กบเป็นสัญลักษณ์ของการมีลูกหลานมาก คนจีนสมัยนั้นถือว่าเป็นสิริมงคล
2. ไหสำริด มีฝาปิดรูปนก พบในสุสานสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก ในสุสานนี้มีเครื่องสำริดหลายร้อยชิ้น ส่วนมากเป็นของ
(น. 222) ใช้ในพิธีกรรม นอกนั้นมีอาวุธบ้าง ภาชนะใส่เหล้า บางใบเมื่อพบยังมีเหล้าอยู่
3. ถ้วยสำริดใบใหญ่ทำเป็นรูปเป็ดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกใช้ใส่เหล้า ของทางเหนือเป็นรูปเป็ดธรรมดา แต่ทางใต้เป็นเป็ดแมนดาริน ซึ่งมีอยู่ในภูมิประเทศที่นี่
4. ระฆังสำริดสมัยจั้นกั๋ว มีลวดลายเป็นหน้าคน มีหูอยู่ข้างๆ เป็นรูปมังกร ชุดหนึ่งมี 2 ใบ ใบที่เอามาให้ดูเป็นใบเล็กที่สุดในชุด ใช้ในกองทัพสำหรับตีบอกสัญญาณต่างๆ และถือเป็นเครื่องดนตรีกระตุ้นให้ทหารรบ ระฆังชุดนี้อาจเป็นของเก่าที่สุดที่พบในจีน และมีรูปร่างแปลก เพราะที่อื่นเป็นรูป 4 เหลี่ยม
5. เครื่องเคลือบแบบศิลาดล ทางเจิ้นเจียงมีเครื่องเคลือบแบบนี้มาก เพราะมีดินที่เหมาะสม ยังมีเตาเผาเหลืออยู่ ของที่เอามาให้ดูมี กระปุกสมัยราชวงศ์อู๋ หรืออู๋กั๋วของซุนกวนในสมัยสามก๊ก แจกันมีลวดลายนูนต่ำเป็นรูปคน และมีลวดลายแบบนูนสูงปนอยู่ด้วย เป็นรูปนักกายกรรม มีรูปสุนัข เต่า กระต่าย กวาง เชิงเทียนรูปแกะ
6. ที่เผากำยาน มีพระพุทธรูปเล็กๆ อยู่ข้างบน
7. แผ่นทองคำ สลักลายพระพุทธรูป
8. กล่องทองคำ เงิน มีขนาดเล็กใหญ่ลดหลั่นกันไป ชั้นในสุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ใส่ขวดไว้ให้ดู มีสีขาวใสอยู่ขวดหนึ่ง สีน้ำตาลใสอีกขวดหนึ่ง ได้จากเจดีย์เหล็กบนเขาเป่ยกู้ซาน
9. พัด ดูเหมือนพัดใบตาล ลงรัก สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (มีรูปติดไว้ให้ดูที่อาคาร 1)


(น. 223) รูป 162 แผ่นงาแกะสลัก

Carved ivories.

(น. 223)
10. ผ้าทอไหมทองสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ พบอยู่ในสุสาน เทคนิคการทอดีมาก สามารถเก็บรักษาไว้ได้อย่างดี ผืนนี้เป็นของบัณฑิตสมัยราชวงศ์ซ่งใต้
11. แผ่นงาแกะสลัก แกะเป็นลายโป๊ยเซียนอย่างเดียวกัน แต่หันคนละข้าง
12. เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์ชิง มีเคลือบสีเหลือง ลายเขียว ม่วง เป็นชามใบใหญ่ ผู้บรรยายว่าเป็นของใช้จักรพรรดิ ทำสมัยจักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1662 – 1722) เครื่องถ้วยชิงหวา เป็นกาเหล้าลายครามสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง กระปุกมีฝาลายขาวเขียว ลายมังกรห้าเล็บ แจกันต่างๆ ตัวแจกันเป็นลายครามรูปกลมแป้น ลายดอกไม้ ลายกลีบบัว ในกลีบมีรูปมงคลแบบจีน แจกันสีฟ้า และยังมีช้างเคลือบสีเหลืองสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง


(น. 224) รูป 163 ม้วนภาพเขียน
A roll of painting.

(น. 224) ส่วนภาพเขียนต่างๆ ที่นำมาให้ดูมีดังนี้
1. ม้วนภาพ เป็นรูปนก ไม้ เขา หิน มีลักษณะเป็นสมุดแบบฝึกหัดเขียนรูปหรือภาพร่าง ภาพม้วนนี้ถือเป็นสมบัติของชาติ ม้วนภาพแบบนี้หาได้ยาก เป็นผลงานของจิตรกรปลายสมัยราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิงชื่อ ปาต้าซันเหริน เป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์หมิง มีรูปฝูหรง กล้วยไม้ บัวเห็นแต่ใบ ดอกเหมย ก้อนหิน ทับทิม รูปกา ศิลปินมีความสามารถในการเขียนดวงตาของกา ผู้บรรยายบอกว่าอีกาตาโปนดูดุร้าย (ลูกตากลับขึ้นไปด้านบน) เพราะโกรธพวกราชวงศ์ชิงที่มายึดเมืองทางใต้


(น. 225) รูป 164 ภาพเขียน
Paintings.

(น. 225)
2. อัลบั้มภาพทิวทัศน์เมืองเจิ้นเจียง 24 แห่ง
๐ รูปวัดต่างๆ เช่น วัดจินซาน อยู่ในแม่น้ำแยงซี วัดกานลู่มีเจดีย์เหล็ก วัดจู๋หลิน
๐ รูปภูเขาสำคัญ เช่น เจียวซาน เป่ยกู้ซาน ใกล้ๆ เป่ยกู้ซานมีเมืองเก่าสมัยซุนกวน
๐ รูปสวน เช่น สวนเมิ่งซี เป็นที่อยู่ของเสิ่นคั่ว นักวิทยาศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่ง
๐ รูปถ้ำ เขาต่างๆ เช่น ถ้ำปากง ถ้ำหลงกง
๐ รูปสถานีรถสมัยโบราณ มักมีต้นหลิว และน้ำ
(น. 226)
๐ รูปเส้นทางสำคัญ เช่น จิงจีลู่
๐ รูปสะพาน เช่น สะพานฟั่นกง
๐ รูปสันทรายในแม่น้ำแยงซี
๐ รูปสถานที่ที่เป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน มีเจดีย์แบบมุสลิม
๐ รูปหอฝูหรง
๐ รูปท่าเรือ เป็นทางลงเรือไปเขาจินซาน
๐ รูปภูเขาอู่โจวซาน มีที่ปลูกชา