Please wait...

<< Back

สุสานเฉียนหลิง

จากหนังสือ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 88 - 95

(น.88) ภาพฝาผนังต่าง ๆ ที่คัดลอกมาจากสุสานเป็นเรื่องการรับทูต มีเจ้าหน้าที่กรมพิธี และทูตจากโรมัน เกาหลี ชนกลุ่มน้อย ในสมัยราชวงศ์ถังมีหลักฐานว่าจีนมีความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ 300 กว่าประเทศ
สุสานจำลองจากสุสานเจ้าหญิงหย่งไท่ (ทำด้วยไม้อัดปะกระดาษ) ภาพตีคลี เกมนี้เป็นเกมจากอิหร่าน แต่เป็นที่นิยมมากในสมัยราชวงศ์ถัง สถานที่ราชการหรือตามหมู่บ้านมักจะมีสนามตีคลี ในประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าครั้งหนึ่งมีทีมตีคลีจากทิเบตมาแข่งขันกับทีมชาติของราชวงศ์ถัง ปรากฏว่าทีมชาติแพ้ จักรพรรดิองค์ที่ 7 (ถังเสวียนจง-หมิงหวง) ซึ่งยังไม่ขึ้นครองราชย์จึงจัดนักกีฬาไปแข่งอีกครั้งและเอาชนะทิเบตได้ สมัยราชวงศ์ถังพวกเจ้านาย ขุนนางตีคลีกันเป็นส่วนมาก นับว่าเป็นกีฬาใหม่ที่มาตามเส้นทางค้าแพรไหม ปัจจุบันเข้าใจว่ายังมีเหลืออยู่แต่ที่มองโกเลีย ออกจากพิพิธภัณฑ์ไปดูสุสานเฉียนหลิง ทางขึ้นสุสานมีหินสลักเป็นรูปสัตว์เฝ้าอยู่ 2 ด้าน เรานั่งรถขึ้นไปตรงบันไดทางขึ้นซึ่งมี 500 กว่าขั้น ข้าพเจ้ายังนึกว่าถ้าเรามีเวลาควรจะเดิน เพราะว่ามาที่นี่เรารับประทานอาหารกันมากมาย ไม่ได้มีเวลาวิ่งเลย ถนนอยู่ทางทิศใต้ สองข้างมีเขาข้างละลูก มีประตู เสาชัย 2 ด้าน เสาแบบนี้จะมีเฉพาะที่วังกับที่สุสาน ที่อื่นไม่มี อาจารย์หวางแนะนำให้ไปถ่ายรูปกับม้าบิน ลายที่ปีกเป็นลายจากประเทศกรีซ เรานั่งรถต่อไปใกล้สุสาน มีรูปนกกระจอกเทศซึ่งเป็นสัตว์มาจากแอฟริกา รูปขุนนาง ที่สุสานมีป้ายบอกไว้ ป้ายนี้สร้างสมัยพระเจ้าเฉียนหลง อาจารย์หวางอธิบายว่าสุสานนี้คงจะมี 3 ห้อง เพราะเป็นของจักรพรรดิ
(น.89) รูป.71 ภาพสลักหินม้าบินหน้าสุสาน ถ้าเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงจะมีแค่ 2 ห้อง ออกแบบคล้าย ๆ พระราชวัง ฉะนั้นโลงศพจะต้องอยู่ในห้องที่ 3 ของมีค่าอยู่ในห้องข้าง ๆ มีหินก่อเป็นรูปเก๋ง 3 ชั้น
(น.90) รูป72. หินสลักเป็นรูปราชทูตของประเทศที่มีไมตรีกับจีนสมัยราชวงศ์ถัง ส่วนศีรษะของรูปสลักเหล่านี้ถูกทำลายไปหมดแล้ว
(น.91) รูป73. ท่านทูตเตช และท่านทูตสารสิน ซึ่งเป็นทูตสมัยปัจจุบัน ปลอมตัวเป็นราชทูตสมัยราชวงศ์ถัง ข้าง ๆ เป็นรูปคณะทูต ดังที่กล่าวแล้วว่าประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถังมีความสัมพันธ์กับแคว้นต่าง ๆ กว่า 300 แคว้น ฉะนั้นพอจักรพรรดิถังเกาจงสวรรคต จึงมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ประมาณ 60 ประเทศมาร่วมพิธีพระศพ และพระนางอู่เจ๋อเทียนได้สั่งให้แกะหินเอาไว้ บางชาติก็ไม่มีจารึกอะไรไว้ แต่บางชาติมีจารึกชื่อประเทศ เช่น ชาติจากเอเชียกลาง อัฟกานิสถาน เป็นเมืองที่มีการคมนาคมสะดวกที่สุดในสมัยนั้น พุทธศาสนาในจีนอาจจะเข้ามาทางนี้ด้วยทางหนึ่ง ที่อัฟกานิสถานก็มีถ้ำแกะสลักเป็นรูปพระเช่นเดียวกัน เราพยายามดูว่าชนชาติพวกนั้นมีชาติอะไรบ้าง จะดูจากหน้าตาก็ดูไม่ได้เพราะถูกตัดศีรษะไปหมด ก็ไม่ใช่พวกตัดไปขายร้านของเก่าหรอก เล่ากันว่าในสมัยราชวงศ์หมิงหรือชิงก็ไม่ทราบ เกิดภัยแห้งแล้งชาวบ้านไม่
(น.92) รูป74. จดบทกวีจากศิลาจารึก เนื้อหาสรรเสริญพระนางอู่เจ๋อเทียน ทราบว่าจะกล่าวหาใคร ก็เข้าเรื่องที่ว่า “มนุษย์ขี้เหม็น เคี่ยวเข็ญเทวดาฝนตกก็แช่งฝนแล้งก็ด่า” เลยโทษว่าท่านทูตเหล่านี้เป็นต้นเหตุ กินอาหารมากเกินไปไม่ตกถึงชาวบ้าน เลยตัดหัวหมด ป้าจันเลยบอกให้ท่านทูตของเราที่มีอยู่ 2 คน คือท่านทูตเตชกับท่านทูตสารสิน ไปยืนต่อหัวให้ อาจารย์
(น.93) หวางแนะนำให้ดูจารึกสรรเสริญพระนางอู่เจ๋อเทียน และถังเกาจง เรื่องพระนางอู่เจ๋อเทียนนี้มีทั้งคนรักมากเกลียดมาก คนบางคนเขาบอกว่าพระนางทำประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายอย่าง แต่ก็เสียตรงที่มีความรุนแรงในการกำจัดผู้ที่ขัดแย้ง จารึกสรรเสริญหลักนี้ผู้เขียนคือจักรพรรดิถังจงจงลูกชาย จารึกอีกหลักหนึ่งไม่ได้สลักอักษร มีแต่ภาพลายเส้นรูปมังกรและม้า มีความหมายว่าอำนาจของจักรพรรดิ มีพระบรมเดชานุภาพเกินกว่าจะสรรหาคำมากล่าวอ้าง พอเดินเข้าไปใกล้จริง ๆ ก็เห็นมีตัวอักษรจารึกอยู่เต็ม เป็นลักษณะการจารึกอย่างดี ๆ ไม่ใช่ฝีมือคนมือบอนเขียนชื่อตัวเองไว้ตามก้อนหินที่ต่าง ๆ เรียกใคร ๆ (พวกจีน) มาถาม เลยได้ทราบว่าเป็นคนประมาณราชวงศ์ซ่งมาสลักไว้ มีบทกวีบทหนึ่งมีความว่า
ต้นสนก็ถูกเผาไฟไป
ทั้งภูเขามีแต่หญ้า วัว และแพะ
มีแต่คนอำเภอเฉียนที่ระลึกถึงความดีพระนางอู่เจ๋อเทียน
ทุก ๆ ปีก็ต้องเอาของมาถวาย
จากเฉียนหลิงไปดูสุสานอีกแห่งคือ สุสานของเจ้าชายจางไหว ก็คล้าย ๆ กับของเจ้าหญิงหย่งไท่นั่นเอง เจ้าชายเป็นลูกคนที่สองของอู่เจ๋อเทียนแต่ขัดคำสั่งพระนาง (แต่แรกก็เป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น ตอนหลังเผลอเขียนว่าแม่ตัวเองรวบอำนาจ) จึงถูกเนรเทศไปอยู่เสฉวน และส่งคนไปตามฆ่า เมื่อน้องชายได้ขึ้นครองราชย์สมบัติจึงนำพระศพมาเฉลิมพระนาม และสร้างสุสาน (พระนางอู่เจ๋อเทียนมีลูกชาย 4 คน ฆ่าเสีย 2 คน) ภาพผนังในสุสานมีเรื่องการรับแขกต่างประเทศ มีคนทิเบต คนเกาชางมาจากทู่หลู่ฟัน
(น.94) รูป75. สุสานเจ้าชายจางไหว พระโอรสพระนางอู่เจ๋อเทียน ซึ่งถูกพระนางประหาร ที่ห้องไว้โลงศพก็มีภาพพระจันทร์ มีกระต่ายตำยา ตามนิทานพื้นบ้าน แต่ที่นี่ไม่มีทางช้างเผือก ภาพวาดชีวิตความเป็นอยู่สมัยถังในสวน เขาให้สังเกตคนว่าต้นราชวงศ์ถังคนจะผอม ส่วนถังตอนกลางที่รุ่งเรืองที่สุดนั้นคนจะอ้วน ในเมื่ออ้วน ๆ
(น.95) กันทั้งนั้น ความงามในอุดมคติก็เลยต้องเป็นความงามอย่างอ้วน ๆ เรียกว่าสวยท้วมคงจะดีกว่า อีกอย่างหนึ่งเล่ากันว่านางหยางกุ้ยเฟย พระสนมคนโปรดของพระเจ้าถังเสวียนจงเป็นคนท้วม (หรือจะอ้วนเลยก็ไม่ทราบ) จึงทรงกำหนดว่าภาพเขียนทุก ๆ ภาพต้องอ้วน ข้อนี้เรียกว่าเป็นพระราชนิยม ภาพส่วนมากเป็นภาพที่วาดขึ้นใหม่ แต่ที่เป็นของเดิมก็มีบ้าง ต้องขมวดคิ้วดูจึงจะเห็นเพราะสีจางมาก สมัยนั้นเขียนภาพได้สวยมาก เส้นลายมีกำลัง ส่วนที่เส้นละเอียดก็เขียนได้ประณีต แสดงความรู้สึก ตาคนก็ยังเขียนมีแววตา ถึงเวลารับประทานข้าวกลางวันซึ่งก็เลยเวลามาตั้งนานแล้ว อาหารก็อร่อยดี มีหลายอย่าง เป็นของคาวของหวานสลับกัน บางทีก็ดูไม่ออกว่าอะไรคาวอะไรหวาน บางทีก็เอาของหวาน (ขนมทองพลุ) ไปจิ้มน้ำพริก แต่แรกเกือบจะเอาน้ำพริกใส่เข้าไปในเห็ดหูหนูต้มน้ำตาล แต่เอะใจ ชิมดูก่อนเลยรู้ว่าเป็นของหวานไม่ควรใส่น้ำพริก แต่ของที่ไม่น่าจะใส่น้ำพริกแล้วใส่ก็มีเช่น เต้าฮวย บ้านเรามีแต่เต้าฮวยใส่น้ำขิง น้ำตาลทรายแดง เขามีเต้าฮวยแช่น้ำพริกเค็ม ๆ มีถั่วลิสง ผักต่าง ๆ รากบัวต้ม โรตีทอดน้ำมันยัดไส้ (ล่อปี) ขนมปังชนิดเก็บได้นาน เป็นของคนภาคตะวันตก แข็งโป๊ก เขาบอกว่าทำเลี้ยงเราเขาทำอันเล็กหน่อย (ทำนองว่าเป็นตำรับชาววัง?) ของจริงนั้นอันโตและแข็งกว่านี้ ข้าพเจ้าเคยเห็นเมื่อไปอิหร่าน เขาขุดเตาในดินและอบขนมปังนี้ สุดท้ายมีแอปเปิ้ล นั่งคุยกันก็สนุกดี ได้ทราบว่าเส้นทางที่อาจจะเรียกเส้นทางแพรไหม (แต่ยังไม่เข้าระบบ) คือเส้นที่ลงจากซีอานมาทางมณฑลยูนนาน มีเมืองราชวงศ์ฮั่นที่เรียกว่าเมืองหยงช่าง ปัจจุบันชื่อเป่าสี