Please wait...

<< Back

พระราชวังโปตาลา



วังขาว

วังขาวเป็นอาคาร 2 หลังทาสีขาวอยู่ด้านขวาและด้านซ้ายของวังแดง สีขาวแสดงถึงสันติภาพ[24]

ความสำคัญ

วังขาว ซึ่งอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาของวังแดงนั้นเป็นที่ทำการรัฐบาลและเป็นที่ประทับของดาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 5 ดาไลลามะองค์ที่ 1 ถึง 4 ไม่ได้ประทับที่นี่ หากแต่ประทับที่วังกานเดนโพทรังภายในวัดเดรปุง (ชื่อกานเดนโพทรังนี้ ต่อมาได้กลายมาเป็นชื่อเรียกรัฐบาลขององค์ดาไลลามะ) เนื่องจากพระราชวังโปตาลาเป็นที่ประทับของดาไลลามะ ซึ่งชาวทิเบตเชื่อว่า เป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวร พวกเขาจึงนิยมเดินทางมาจาริกแสวงบุญและเดินประทักษิณรอบพระราชวังนี้[25]

สถานที่สำคัญภายในวังขาว



ลานเตยังชาร์

ด้านตะวันออกของวังขาวเป็นลานกว้างขนาด 1,500 ตารางเมตร ชื่อว่าเตยังชาร์ ลานนี้เป็นที่แสดงพิธีทางศาสนารวมทั้งการแสดงพิธีชัม สองด้านของลานนี้เป็นกุฏิพระ 2 ชั้นและห้องเก็บของ ทางปีกตะวันออกของเตยังชาร์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนธรรมะชื่อว่า เซล็อบต้า (โรงเรียนบนยอดเขา) สร้างโดยดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1749[26]

นิโว นุบ โซนัม เลคิล

ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 13 และดาไลลามะองค์อื่นๆ นอกเหนือจากดาไลลามะองค์ที่ 14 เรียกว่า นิโว นุบ โซนัม เลคิล (ตำหนักสุริยประภาด้านตะวันตก) ประกอบด้วยห้องบรรทมและห้องพักผ่อนพระวรกาย ที่บางครั้งใช้ประชุมสภาและต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย[27]

นิโว ชาร์ ดาเดน นังเซล

ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 14 เรียกว่า นิโว ชาร์ ดาเดน นังเซล (ตำหนักสุริยประภาด้านตะวันออก) อยู่บนชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของวังขาว ประกอบด้วยห้องออกว่าราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ห้องนั่งสมาธิซึ่งมีหน้าต่าง อยู่ใจกลางพระราชวัง ที่นี่เป็นที่ที่พระองค์ทอดพระเนตรชัมซึ่งแสดงที่เตยังชาร์ หิ้งพระในห้องนี้มีพระพุทธรูปต่างๆ ที่สร้างอย่างสวยงาม ห้องด้านในเรียกว่า โกนโปลาคัง มีรูปปั้นของธรรมบาล ได้แก่ มหากาลเกรและศรีเทวี ด้านในหลังผ้าม่านเป็นห้องบรรทมและห้องสรงของดาไลลามะ[28]

ซมเชนนุบ

ซมเชนนุบ (ห้องประชุมใหญ่ด้านตะวันตก) เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดในพระราชวังอุทิศแด่ดาไลลามะองค์ที่ 5 มีเสาใหญ่ 8 เสาและเสาเล็ก 36 เสา หุ้มด้วยพรม มีบัลลังก์ของดาไลลามะองค์ที่ 6 เหนือบัลลังก์มีป้ายเขียนเป็นภาษาจีนจากจักรพรรดิเฉียนหลง ภาพฝาผนังแสดงชีวิตของดาไลลามะองค์ที่ 5 มีรูปโปตลกะและกษัตริย์ทิเบต[29]

ซมเชนชาร์

ซมเชนชาร์ (ห้องประชุมใหญ่ด้านตะวันออก) ตั้งอยู่บนชั้นที่ 3 ของวังขาว เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดในวังขาว มีเสา 64 ต้น เป็นที่ที่ประกอบพิธีสำคัญของรัฐ ดาไลลามะทุกพระองค์ขึ้นครองราชย์ที่นี่ มีบัลลังก์ของดาไลลามะ ภาพฝาผนังซึ่งวาดในสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 เป็นเรื่องวิวัฒนาการของชาวทิเบต ประวัติและตำนานเกี่ยวกับดาไลลามะ[30]

ที่ประทับขององค์ดาไลลามะ

ขึ้นไปชั้นสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นดาดฟ้า หลังคาทำด้วยทองแดงชุบทอง ส่วนนี้เป็นดาดฟ้าของวังขาว มีห้องของพระดาไลลามะ มีรูปเขียนดาไลลามะองค์ที่ 13 มีห้องออกว่าราชการ ห้องหนังสือ ห้องแต่งพระองค์ ห้องรับแขก ออกนอกห้องเป็นลานสี่เหลี่ยมสำหรับดูการแสดงต่างๆ มีภาพผนังเล่าเรื่อง ดูวันเดียวไม่จบ ห้องรับแขกของดาไลลามะนั้น ใน ค.ศ. 1956 หัวหน้าคณะทางการจีนมาหาลือกับดาไลลามะองค์ที่ 14 (ปัจจุบัน) ในห้องนี้ นอกจากนั้นยังมีห้องบรรทม ห้องสำหรับปลีกตัวหลีกเร้นทำสมาธิ บริเวณนี้มีหน้าต่างตรงกลางที่มองลงไปเห็นเมืองลาซา (ห้องนี้เป็นห้องบรรทมฤดูร้อน) ห้องบรรทมฤดูหนาวมีที่ประทับของดาไลลามะและของพระอาจารย์ นอกห้องเป็นที่สำหรับข้าราชการทั้งหลายนั่งรอก่อนเฝ้า ที่นั่งสูงๆ ต่ำๆ แสดงว่าข้าราชการเหล่านี้มีฐานะไม่เหมือนกัน ผู้มีตำแหน่งสูงก็นั่งที่สูง ผู้มีตำแหน่งต่ำก็นั่งที่ต่ำ[31]

ถ้ำธรรมราชา

ถ้ำธรรมราชา (ฝ่าหวังต้ง) เป็นห้องที่เก่าแก่ที่สุดในวังโปตาลา มีอายุราว 1,360 ปี เป็นห้องที่กษัตริย์ซงจ้านกานปู้มาพักปฏิบัติธรรม มีรูปกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ เจ้าหญิงทรีซุน (ภฤกุตี) จากเนปาลซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง (เป็นผู้นำพุทธศาสนามาทิเบต เช่นเดียวกับเจ้าหญิงเหวินเฉิง) เจ้าหญิงเหวินเฉิง เสนาบดีทิเบตผู้ที่เป็นตัวแทนกษัตริย์ไปกรุงฉังอานเพื่อสู่ขอเจ้าหญิงเหวินเฉิง (มีเรื่องว่าเสนาบดีผู้นี้จะต้องผ่านการทดสอบสติปัญญาหลายอย่าง เช่น ต้องเอาเชือกร้อยไข่มุกซึ่งมีรูเลี้ยวไปเลี้ยวมา 9 ครั้ง ต้องคัดเลือกจับคู่แม่ม้าลูกม้า ต้องดูออกว่าคนไหนเป็นเจ้าหญิงตัวจริง) เสนาบดีผู้ประดิษฐ์อักษรทิเบตและเขียนไวยากรณ์ทิเบต มีรูปสนมชาวทิเบตซึ่งมีลูกกับกษัตริย์ มีเตาไฟและหม้อ ซึ่งเชื่อว่าเป็นของดั้งเดิมที่กษัตริย์และเจ้าหญิงใช้[32]

คุณค่าทางด้านศิลปะ



จิตรกรรม

วังแดง

ภาพฝาผนังเป็นฝีมือสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นรูปบ้านเรือน ประวัติดาไลลามะองค์ที่ 5 สถูปที่ใหญ่ที่สุดเป็นสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 ยังมีสถูปอีกหลายองค์ มีรูปปัทมสัมภวะ นิกายหนิงม่าปะ (Nyingma pa) หรือนิกายแดง[33]

วังขาว

บนฝาผนังของวังขาวมีภาพเขียนฝาผนังที่วิจิตร เป็นภาพโลกบาล การสร้างวิทยาลัยการแพทย์บนภูเขาชักโปรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภูเขามาร์โปรี ที่ตั้งของพระราชวังโปตาลา การเสด็จเข้าสู่ทิเบตของเจ้าหญิงเหวินเฉิง การสร้างวัดต้าเจาซื่อ และการเสด็จไปปักกิ่งของดาไลลามะองค์ที่ 5 เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิราชวงศ์ชิง[34]

สถาปัตยกรรม

พระราชวังโปตาลาเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่แสดงฝีมือของช่างศิลป์ทิเบตในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 138,025 ตารางเมตร ประกอบด้วยวังแดงและวังขาว อาคารระหว่างวังแดงและวังขาวเป็นที่แขวนภาพทังกาขนาดใหญ่รูปพระพุทธเจ้าศากยมุนี ซึ่งจะนำมาแสดงให้พุทธศาสนิกชนชมและบูชาในช่วงเทศกาลปีใหม่[35] สถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 และที่ 13 ได้ชื่อว่ามีความงดงามและยิ่งใหญ่ที่สุด องค์ระฆังทำด้วยทองคำแท้ตั้งอยู่บนฐานที่ทำด้วยทองเหลือง ที่ยอดฝังด้วยพลอยเขียวมูลนกการเวกและอัญมณีอื่นๆ เช่น มุก และกัลปังหา สถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 ขนาบข้างด้วยสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 10 และ 12 ภายในวังแดงมีหอประชุม วิหาร และหอสมุดเก็บพระไตรปิฎกครบชุด ได้แก่ กันจูร์ (พระไตรปิฎก) และตันจูร์ (อรรถกถา)[36] ไปดูวิหารกวนอิมผู้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตำหนักหลังที่สองของกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ มีรูปพระกวนอิม ดาไลลามะองค์ที่ 7 พระอาจารย์จงคาปา ไปวิหารที่สูงที่สุดในบริเวณวัง อยู่ที่วังแดง มีรูปกวนอิม 1,000 มือ 11 หน้า มีป้ายเขียน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีน แมนจู ทิเบต มองโกล[37] ถัดไปเป็นวิหารลัมริม (หนทางค่อยเป็นค่อยไปสู่การตรัสรู้) มีรูปปั้นของจงคาปาและพระอาจารย์ในสายเกลุกปะและตู้เก็บพระไตรปิฎก[38]

พระราชวังโปตาลา มรดกโลก ความภาคภูมิใจของชาติจีน

บทบาทของรัฐบาลจีนในการบูรณะพระราชวังโปตาลา

วังโปตาลานี้ ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 1994 ที่จริงก่อนหน้านั้นรัฐบาลกลางยกย่องเป็นแหล่งโบราณสถานระดับชาติตั้งแต่ ค.ศ. 1960 และช่วยในการบูรณะมาตลอด ระหว่าง ค.ศ. 1989-1994 ใช้เงินซ่อมแซมไป 53 ล้านหยวน ตั้งแต่ปีนี้ไปอีก 5 ปี จะบูรณะเป็นครั้งที่ 2 ตั้งงบประมาณไว้ 170 ล้านหยวน เมื่อปีที่แล้วรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงแนะนำให้สร้างห้องมหัคฆภัณฑ์รวบรวมเพชรนิลจินดาต่างๆ เอาของจากอาคารต่างๆ มารวมไว้ที่เดียว รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มลงมือตั้งกรรมการบูรณะ แต่ค่อยๆ ทำไป เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนการท่องเที่ยว ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการบันทึกทำบัญชีโบราณวัตถุ เขียนลงสมุด 10 ปี ที่ผ่านมาทำการบันทึกของต่างๆ เครื่องเงินทอง อัญมณีไปได้ 70,000 กว่าชิ้น ประมาณ 70-80% เท่านั้น งานนี้เป็นงานละเอียดต้องถ่ายรูป บันทึกลักษณะ วัดขนาด ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลท้องถิ่นและประเทศต่างๆ[39] พระราชวังโปตาลาต่างจากวัดและวังอื่นๆ ตรงที่ไม่ถูกทำลายในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากทิเบตเปลี่ยนการปกครอง รัฐบาลจีนได้บูรณะพระราชวังไปแล้วหนึ่งครั้งและกำลังดำเนินการบูรณะครั้งที่สองด้วย งบประมาณ 170 ล้านหยวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ในการบูรณะครั้งนี้รัฐบาลมีแผนการที่จะสร้างหอขนาดใหญ่เพื่อเก็บสมบัติและวัตถุต่างๆ ของพระราชวัง ในขณะนี้ได้ทำบัญชีทรัพย์สิน ประเมินค่า วัดขนาด และถ่ายรูปสิ่งของต่างๆ ไปแล้วประมาณ 80%[40]


อ้างอิง

1. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 262
2. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 91
3. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 261
4. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 261
5. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 92
6. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 261
7. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 92,95
8. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 262
9. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 263
10. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 264
11. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 262
12. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 263
13. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 96
14. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 97-99
15. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 264
16. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 264-265
17. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 265
18. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 265
19. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 264
20. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 266
21. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 96
22. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 99
23. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 100,101
24. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 262
25. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 263-264
26. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 266
27. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 267
28. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 267
29. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 265
30. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 267
31. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 103-104
32. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 99-100
33. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 97
34. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 266
35. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 262,267
36. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 263
37. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 102
38. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 265
39. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 101-102
40. ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 262