Please wait...

<< Back

อนุสรณ์สถานการปฏิวัติเหยียนอาน

จากหนังสือ

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 18-27

(น.18) กลับไปรับประทานอาหารกลางวันแบบไทยรับประทานกับไทย จีนรับประทานกับจีนเพื่อความรวดเร็ว เกือบบ่ายสองโมงเดินทางต่อไปอีกเกือบสามชั่วโมง ทิวทัศน์ช่วงนี้มีแต่ภูเขาโล้นๆ ต้นไม้ก็พอมีแต่ยังไม่มีใบมีแต่กิ่ง เข้าใจว่าเป็นต้นแอปเปิ้ล บ้านเป็นอิฐและดิน รถแล่นผ่านโบสถ์คริสต์ แล่นเข้าเมืองมีสถานีรถไฟ เป็นรูปร่างโค้งๆ เหมือนสถานีรถไฟโบราณทั่วๆ ไป มีอาคารที่อยู่อาศัยสูงหลายชั้น ข้างถนนนิยมตั้งโต๊ะสนุกเกอร์ พวกผู้หญิงชอบถักเสื้อไหมพรมใช้ไม้ถัก 4 ไม้ แบบนี้ฉันถักไม่เป็น ได้แต่สองไม้แล้วเอามาเย็บกัน ตอนที่ประพจน์ไปเรียนที่ฝรั่งเศส พวกเราทุกคนอยากมีส่วนร่วมทำให้ประพจน์ ถักคนละนิดละหน่อยเสื้อเลยออกมาประหลาด ไปถึงเรือนรับรองชื่อว่า เหยียนอานว่านฮวาซานจวง เป็นเรือนแบบจีนชั้นเดียว มี 4 ด้าน และลานตรงกลาง ไม่ทราบว่าใครอยู่ตรงไหน เที่ยวนี้ขบวนใหญ่มากเป็นพิเศษ เขาจัดให้อยู่อีกตึก ได้เข้าห้องน้ำประเดี๋ยวเดียวก็ต้องไปที่อนุสรณ์สถานการปฏิวัติเหยียนอาน เป็นอนุสรณ์สถานที่มีห้องนิทรรศการที่มีทั้งภาพคำบรรยาย และสิ่งของต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย แต่เรามีเวลาจำกัดจึงต้องดูแบบสายฟ้าแลบอีกตามเคย ไกด์ที่เขาจัดมาให้บรรยายอธิบายได้กระจ่างดี แต่ไม่ได้ดูทั้งหมด จะถามอะไรก็ไม่ได้ ไม่มีเวลา พูดถึงแต่ว่าอนุสรณ์สถานนี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ
(น.18)


รูป 14 แผนที่การเดินทางของคณะกรรมการกลางพรรคในมณฑลส่านซี กานซู่และหนิงเซี่ย
A map depicting the route used by CCP Central Committee in Shaanxi, Gansu, and Ningxia.

(น.19)


รูป 15 แผนที่การเดินทางของคณะกรรมการกลางพรรคในมณฑลส่านซี กานซู่ และหนิงเซี่ย
A map depicting the route used by CCP Central Committee in Shaanxi, Gansu, and Ningxia.

(น.19) คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ที่เหยียนอานเป็นเวลาถึง 13 ปี (ค.ศ. 1935-1948) ช่วงนี้พรรคเจริญขึ้นอย่างเต็มที่ เริ่มสร้างอนุสรณ์สถานเมื่อ ค.ศ. 1969 เสร็จ ค.ศ. 1973 ผู้เข้าชมคณะแรกคือคณะของท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล บนฝาผนังมีแผนที่แสดงเส้นทางเดินของคณะกรรมการกลางพรรคในมณฑลส่านซี กานซู่ และหนิงเซี่ย รวม 23 อำเภอ เนื้อที่ 130,000 ตารางกิโลเมตร กองทัพมีกำลังประมาณ 200,000 คน คณะกรรมการกลางเข้ามาในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1935 ออกไปวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1948

(น.20)


รูป 16 สิ่งของต่างๆ ที่ใช้สมัยนั้น
Instruments used at that time.

(น.20) การจัดตั้งที่มั่น ณ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนในสงครามภายในครั้งที่ 2 นี้ผู้นำกองทัพแดงที่มีบทบาทสำคัญคือ หลิวจื้อตานและเซี่ยจื่อฉัง คนแรกเป็นคนอำเภอเป่าอาน เกิด ค.ศ. 1903 เข้าเป็นสมาชิกพรรคใน ค.ศ. 1925 เป็นบุคคลสำคัญในกองทัพแดง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1936 ขณะนำทัพออกโจมตีกำลังข้าศึก คนที่สองเป็นคนอำเภออานติ้ง (ปัจจุบันชื่อว่า อำเภอจื่อฉัง ตามชื่อของท่านผู้นี้) เกิด ค.ศ. 1897 เป็นผู้หนึ่งที่มาตั้งกองทัพแดงในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ บาดเจ็บขณะที่พาทหารไปสู้รบแถวๆ เหอโข่ว ในอำเภอชิงเจี้ยน เสียชีวิตใน ค.ศ. 1935 อายุเพียง 38 ปี พิพิธภัณฑ์ของอนุสรณ์สถานจัดแสดงสิ่งของและอาวุธที่บุคคลทั้งสองเคยใช้ และมีคำที่ผู้นำอื่นๆ เขียนสรรเสริญเมื่อเสียชีวิตแล้ว
(น.21) อีกอย่างหนึ่งที่ได้ดูคือ เรื่องราวของกองทัพแดงที่เดินทางทางภาคเหนือของมณฑลส่านซีที่เรียกว่า สานเป่ย มีรูปบุคคลต่างๆ เช่น จังเหวินเทียน เลขาธิการพรรคคคอมมิวนิสต์จีน ประธานเหมาซึ่งรับหน้าที่ทางการทหาร โจวเอินไหล เผิงเต๋อไหว หวังเจิ้น ตงปี้อู่ ฯลฯ ภาพทหารหญิงที่เดินทางมาด้วยกัน 4 คน ของที่ใช้ขณะนั้นมีปืนยาว ถุงเสบียงสำหรับใส่ข้าวฟ่าง เครื่องพิมพ์โรเนียว และระเบิดมือ (ตรงนี้มีคำอธิบายเพิ่มเติมอีกหน่อยหนึ่งว่าตู้นี้แสดงคำขวัญ “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” เมื่อฉันเล็กๆ เปิดฟังสถานีวิทยุปักกิ่งบ่อยๆ เขาสอนให้ร้องเพลงที่เอาคำขวัญนี้เป็นชื่อเพลง แต่ตอนนี้ฉันจำเนื้อเพลงไม่ได้เลย) การรบแบบนี้อาศัยมวลชนผู้ยากไร้และจิตใจทรหดแบบ “ข้าวฟ่างบวกปืนยาว” คือใช้เงื่อนไขเลวที่สุดคือ กินข้าวฟ่าง ใช้อาวุธที่ล้าหลังที่สุดคือ ปืนเล็กยาว สู้ศัตรูที่มีอาวุธสมัยใหม่
(น.21)


รูป 17 คำไว้อาลัยผู้ที่เสียชีวิต
Commenorative speech for the Deceases.

(น.22)


รูป 18 โต๊ะทรายแสดงเมืองเหยียนอาน
Sand table representing the geographical location of Yan-an.

(น.22) ไปดูที่โต๊ะทรายจำลองภูมิประเทศเหยียนอาน เป็นหุบเขาอยู่ระหว่างภูเขา 3 ลูก มีสัญลักษณ์คือเจดีย์โบราณเป๋าถ่าซาน แสดงที่ทำการของพรรค 4 แห่งคือ ที่ภูเขาเฟิ่งหวง สวนพุทราจีน (เจ่าหยวน) หยังเจียหลิ่ง และหวังเจียผิง มีแม่น้ำเหยียนเหอไหลในหุบเขา ในตู้ที่ตั้งกลางห้องมีอาวุธของกองทัพปาลู่จวินที่ต่อสู้ญี่ปุ่น มีไถ้ยาวๆ สะพายได้ สำหรับใส่ข้าวที่เป็นเสบียง เครื่องแบบกองทัพปาลู่จวินและซินซื่อจวิน ประธานเหมาเขียนหนังสือเรื่อง [[วิพากษ์สงครามยืดเยื้อ]] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1938 ในด้านการทหาร จีนมีตำราที่มีชื่ออยู่ 2 เล่ม เล่มหนึ่งคือ ตำราพิชัยสงครามของซุนอู่ อีกเล่มคือหนังสือเล่มนี้

(น.22)


รูป 19 โต๊ะทรายแสดงที่ทำการพรรค
Sand table depicting the headquarters of the Party.

(น.23) ตู้กลางห้องอีกตู้หนึ่งมีอาวุธที่ใช้ในสมัยที่กองทัพแดงตั้งที่มั่นอยู่ที่เหยียนอาน มีหอกแบบโบราณ ทำไมยังใช้อยู่ก็ไม่ทราบ ดูเหมือนอาวุธที่ใช้ในหนังจีนกำลังภายในมากกว่าจะเป็นสมัยการปฏิวัติ ระเบิดมี 3 ชนิด เรียกว่าระเบิดหิน ระเบิดดิน และระเบิดมือ ดูลักษณะเหมือนกันหมด ฉันไม่รู้เรื่องระเบิดก็เลยแยกไม่ออก เข้าไปอีกห้องหนึ่งเขาบอกว่าเมื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ใน ค.ศ. 1996 ตั้งโทรศัพท์ให้คนหมุนฟังเพลงพื้นเมืองของเหยียนอาน หลายเพลงกลายเป็นเพลงปฏิวัติที่มีชื่อเสียงคือ เพลงตงฟางหง หรือบูรพาแดง มีตู้คอมพิวเตอร์ touch screen เล่าเรื่องต่างๆ สมัยเหยียนอาน เช่น ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์มาตั้งที่มั่น ต้องตั้งโรงเรียนอบรมบุคลากรกว่า 20 แห่ง ในห้องนั้น มีของขายหลายอย่าง ทั้งของเกี่ยวกับการปฏิวัติและของพื้นเมือง ซุป (ศุภรัตน์) อยากซื้อของเต็มแก่และนึกว่าเขาจะปล่อยให้ซื้อของที่ระลึก แต่ว่ากิจกรรมมีเพียงแต่ไกด์ร้องเพลงให้ฟังเพลงหนึ่ง แล้วพาออกไปอีกห้องหนึ่ง แสดงเรื่องการผลิตเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง แสดงเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต ทุกคนทอผ้าเอง ทหารทำนา จนมีคำกล่าวว่าทหารไถนาเก่งกว่าวัว เป็นวีรบุรุษทำนา ทำให้วัวโกรธตาย ของมีค่าที่ใช้เป็นสินค้าส่งออกได้มี 3 อย่างคือ เกลือสินเธาว์ หนังและขนสัตว์ ชะเอมแห้ง (เป็นกิ่งไม้)

(น.23)


รูป 20 เครื่องมือเกษตรกรรม และสินค้าของทหารกองทัพลู่ที่ 8
Equipments used in agriculture and goods prosuced by soldier from The Eighth Route Army.

(น.24)


รูป 21 จดคำอธิบาย
Taking note of the explanation.

(น.24) ในส่วนที่ว่าด้วยการปรับปรุงพรรค ติดรูปประธานเหมากล่าวปราศรัยท่ามกลางคณะกรรมการพรรค ยังไม่ทันได้ถามว่าปรับอย่างไร ไกด์ก็พาไปอีกห้อง ในตู้มีม้าสตัฟฟ์ตัวเล็กๆ เขาบอกว่า เรียกม้าอย่างนี้ว่า ชิงหม่า (ม้าสีเขียว) เป็นม้าที่ท่านประธานเหมาเคยขี่ ม้าตัวนี้ตายใน ค.ศ. 1962 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติปักกิ่งสตัฟฟ์ไว้ ค.ศ. 1964 ขนมาแสดงไว้ที่นี่ ม้าตัวนี้มีฉายาว่า มังกรน้อย ฉันสงสัยว่าทำไมเรียกม้านี้ว่าม้าสีเขียว ดูก็เป็นสีขาว เวลามันคลุกฝุ่นคงจะเป็นสีเทาตุ่นๆ หรือไม่ก็สีแดง คนอธิบายบอกว่าแต่แรกเป็นสีเขียว แต่อยู่ไปอยู่มากลายเป็นสีขาว แปลกประหลาดมาก

(น.24)


รูป 22 ม้าของท่านประธานเหมา
President Mao's horse.

(น.25) เรื่องรบสามครั้ง ชนะสามครั้ง เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 นายพลเจียงไคเช็คให้หูจงหนาน นำทหาร 140,000 คน จากทหารทั้งหมดที่มีอยู่ 250,000 คน มารบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมีกำลังเพียง 27,000 คน ฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้แผนการรบที่เรียกว่า หมอกู หรือ กลยุทธ์เห็ด ใช้กองทัพจรยุทธ์หลอกล่อพวกก๊กมินตั๋งให้เดินทัพหมุนไปหมุนมาตามเขตภูเขาจนเหน็ดเหนื่อย ที่อ้วนก็ผอม ที่ผอมก็ตายไปเลย (เห็นไหมคนอ้วนนี่ดี) จากนั้นจึงใช้กำลังเข้าปราบ ทหารก๊กมินตั๋งตายไปถึง 100,000 คน การรบแบบกลยุทธ์เห็ด อาศัยความรู้และความได้เปรียบทางชัยภูมิ ผสานกับการสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะ วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1948 ประธานเหมานำส่วนกลางของพรรคมาลงเรือที่ชวนโข่ว ข้ามแม่น้ำหวงเหอ เนื่องจากพรรคก๊กมินตั๋งยึดเหยียนอานได้เป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน 3 วัน กองทัพแดงจึงยึดคืนมาได้ (มีแผนที่แสดงเส้นทางจากชวนโข่ว ผ่านซีไป่โพว ไปปักกิ่ง) ฉันยังไม่ทันจะดูอะไรเลย เขาบอกว่าหมดเวลาแล้ว ให้ออกไปยืนถ่ายรูปหน้ารูปปั้นประธานเหมาหน้าอนุสรณ์สถาน แล้วให้กลับเรือนรับรอง ที่จริงก็ถูกของเขาเพราะว่าเวลากระชั้นมาก พวกเราจะต้องพบกับนายกเทศมนตรีเวลาอีก 10 นาทีทุ่ม

Next >>