Please wait...

<< Back

ขงจื๊อ


รูป 254 รูปหุ่นศิษย์ขงจื้อ


(น.157) รูป 255 รูปหุ่นศิษย์ขงจื้อ


รูป 256 รูปหุ่นศิษย์ขงจื้อ

(น.157) ลูกศิษย์ชั้นรองอีก 11 คน มีจูจื่อคนเดียวที่ไม่ใช่ลูกศิษย์ เป็นคนสมัยซ้องใต้ มาฟื้นฟูส่งเสริมความคิดของขงจื้ออีกครั้ง เรียกว่า Neo-Confucianism พัฒนาความคิดด้านอภิปรัชญา


(น.158) รูป 257 ดูนิทรรศการบรรยายชีวประวัติของขงจื้อ

(น.158) นิทรรศการบรรยายชีวประวัติของขงจื้อซึ่งเป็นนักปรัชญาการเมืองที่สำคัญของจีน เป็นคนอาณาจักรหลู่ ปัจจุบันเป็นมณฑลชานตุง บิดาแต่งงานครั้งแรกมีลูกสาว 9 คน แต่งคนที่ 2 มีลูกชายขาด้วนสืบตระกูลไม่ได้ เมื่ออายุ 60 ปีจึงขอหมั้นหญิงสาวผู้หนึ่งแซ่เหยียน ได้ไปขอลูกที่เขาหมีซาน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 551 ปีก่อนคริสตกาล ก็ได้ขงจื้อออกมาหน้าตาประหลาด ตรงกลางศีรษะปูดเหมือนภูเขา ชื่อว่าข่งชิว เริ่มเรียนหนังสืออายุ 7 ปี อยู่ในหมู่บ้าน 15 ปี อายุ 29 ปีหัดตีขิม อายุ 34 ปีไปเมืองส่งอี้เรียนปรัชญาสมัยโจว ฝึกยิงธนู อันเป็นวิชาหนึ่งในศิลปศาสตร์ 6 ประการ สถานที่ที่เขาเรียนปัจจุบันมีป้ายหินบอกตำแหน่งไว้ เมื่ออายุ 30 เริ่มสอนวิชาการให้ชาวบ้านในรูปที่แสดงไว้ในศาลเจ้ามีเครื่องวัดน้ำ ถ้าไม่มีน้ำเครื่องวัดอยู่ตรงกลาง มีน้ำครึ่งเดียวเอียง มีน้ำเต็มคว่ำ แสดงว่าต้องถ่อมตนไม่ให้คิดว่าตนมีความรู้เต็ม ให้คิดว่ามีความรู้เพียงครึ่งเดียว


(น.159) รูป 258 ดูนิทรรศการบรรยายชีวประวัติของขงจื้อ


รูป 259 ดูนิทรรศการบรรยายชีวประวัติของขงจื้อ

(น.159) ภาพอาจารย์สอนลูกศิษย์ใต้ต้นซิ่ง
ภาพขงจื้อตอนเป็นซือโข่ว หมายถึง เสนาบดียุติธรรม อาณาจักรหลู่


(น.160) รูป 260 ดูนิทรรศการบรรยายชีวประวัติของขงจื้อ

(น.160) ตอนอายุ 55 ปีออกจากราชการรัฐหลู่ เดินทางไปตามรัฐต่าง ๆ ได้แก่ รัฐเว่ย ซ่ง เจิ้ง สุดท้ายไปรัฐฉู่ การเดินทางครั้งนี้เพื่อเผยแพร่แนวคิดทางการเมือง แต่ก็ไม่มีรัฐไหนฟังเลย จน 13 ปีผ่านไปขงจื้ออายุได้ 68 ปี ลูกศิษย์จึงไปรับกลับรัฐหลู่มาวินิจฉัยหนังสือต่างๆ อายุ 67 ปีภรรยาเสียไป อายุ 70 ลูกชายเสีย เหลือแต่หลานเพียงคนเดียว แต่หลานคนนี้ก็เป็นคนฉลาดที่สามารถรับช่วงความรู้ได้ 479 ปีก่อนคริสต์กาล เขาฝันว่านั่งอยู่ระหว่างช่องเสา คนโบราณเชื่อว่าคนที่ฝันแบบนี้อีกไม่นานก็ต้องตายไป ซึ่งก็เป็นความจริง ขงจื้อป่วยตายไปใน 7 วัน ได้มีผลงานปรัชญาจำนวนมาก



จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

ขงจื๊อ

ชีวประวัติ

ดินแดนซานตงเป็นที่ตั้งของแคว้นฉีและแคว้นหลู่ในสมัยชุนชิว จั้นกว๋อ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญในการผลิต การถลุงเหล็ก นอกจากนั้นยังเลิกทาส และมีอารยธรรมสูงกว่ารัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ในสมัยนั้นขงจื่อรับราชการในแคว้นหลู่ และได้รวบรวมความคิดตั้งลัทธิขงจื่อ รัฐต่างๆ ได้ใช้ลัทธิขงจื่อเป็นหลักในการปกครองในสังคมศักดินา ถิ่นกำเนิดขงจื่ออยู่ในอำเภอจี้หนิง ปัจจุบันมีศาลเจ้าขงจื่อ บ้านตระกูลข่งสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ยังมีสุสานตระกูลข่งซึ่งคนแซ่นี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อตายแล้วเอาศพมาฝังได้ สมัยนี้จีนให้ความสำคัญแก่การวิจัยขงจื่อถึงกับจัดกองทุนสำหรับศึกษาขงจื่อไว้ ประธานคนปัจจุบันชื่อหานจงไถ มีสถาบันวิจัยลัทธิขงจื่อในวิทยาลัยครูชวีฝู่และมหาวิทยาลัยซานตง[1] ภูเขาไท่ซานมีสำนักปรัชญาขงจื่อ ศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธ อยู่ร่วมกัน เห็นว่ารอบๆ ภูเขามีวัดตามความเชื่อดังกล่าว สร้างมา 1,500 ปีแล้วก็มี เช่น วัดหลิงเหยียนซื่อ สมัยราชวงศ์ถัง เป็นวัดทางพุทธศาสนาที่สำคัญ เขาพูดอย่างนี้ แต่พอไปค้นหนังสือมาอ่าน อธิบายว่า วัดนี้ไกลจากเขาไท่ซาน อยู่ระหว่างเมืองจี่หนานกับเมืองไท่อาน บริเวณเขาไท่ซานมีวัดผู่เจ้า สร้างสมัยหกราชวงศ์ อีกวัดชื่อ อวี้เฉียน เป็นวัดสมัยใหม่ ขงจื่อเคยขึ้นมาบนเขานี้ กล่าวว่าเมื่อขึ้นมาบนภูเขาไท่ซาน ทำให้มองเห็นโลกเล็กลงไป จุดที่ขงจื่อหยุดมองทิวทัศน์กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียง เมิ่งจื่อก็เคยมา กวีกัวมัวรั่วก็เคยมาเช่นกัน ที่กล่าวมาแล้วเป็นวัฒนธรรมขุนนาง ไท่ซานยังมีวัฒนธรรมของประชาชน เป็นเทศกาลของคนภาคเหนือ แต่ละวันมีคนนับไม่ถ้วนมาที่ภูเขานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลต่างๆ หนานเทียนเหมินซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของไท่ซาน เข้าประตูใหญ่เรียกว่า ประตูหลิงซิง สร้าง ค.ศ. 1514 สมัยราชวงศ์หมิง เดิมเป็นอาคารไม้ แต่สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1796) ซ่อมแซมสร้างเป็นหิน จากประตูนี้เดินไปเป็นร้านรวงต่างๆ และมีป้ายทางเข้าเขียนว่า ไท่เหอหยวนชี่ สร้างสมัยราชวงศ์หมิง บริเวณศาลเจ้านี้เดิมเป็นที่อยู่ของท่านขงจื่อ แต่เมื่อท่านเสียชีวิตใน ค.ศ. 479 ก่อนคริสตกาลจึงปรับปรุงเป็นอนุสรณ์สถานหรือศาลเจ้า ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จึงสำเร็จดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน รอบๆ มีอาคารต่างๆ 150 กว่าหลัง มีป้ายจารึกสองพันกว่าหลัก ค.ศ. 1994 ได้เป็นมรดกโลก ศาลาซิ่งถัน เป็นที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนลูกศิษย์ ปัจจุบันเห็นแต่ต้นไป๋ ต้นซิ่ง (อัลมอนด์) ตายไปหมดแล้ว ต้นซิ่งไม่ใช่ต้นไม้อายุยืน แค่ 40-50 ปีก็ตายแล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาเคารพขงจื่อที่นี่ถึง 8 ครั้ง ทรงจารึกคำสรรเสริญขงจื่อไว้เรียกว่า ซิ่งถานจั้น (การแสดงเคารพต้องคุกเข่า 3 ครั้ง กราบไหว้ 9 ครั้ง จึงถือเป็นการเคารพสูงสุด) มีเสาหินลายมังกร สูง 6 เมตร สลักใน ค.ศ. 1742 เมื่อจักรพรรดิเสด็จมาครั้งใดต้องเอาผ้าคลุม เพราะสวยงามเกินกว่าเสาในพระราชวังหลวง เสาหินงดงามแบบนี้มีแต่ที่ชวีฝู่เท่านั้น รูปเคารพในอาคารมีรูปขงจื่ออยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นรูปลูกศิษย์ดีเด่น รวม 13 คน อยู่สมัยเดียวกับขงจื่อ อีก 3 คน เป็นลูกศิษย์ดีเด่นของลูกศิษย์ มีป้ายเขียนว่า ว่านซื่อซือเปี่ยว เป็นลายพระหัตถ์ของจักรพรรดิคังซี ส่วนป้ายที่เขียนว่า ซือเหวินไจ้ซื่อ แปลว่า ปัญญาชนคนเก่งเกิดใหม่ เป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิกวงซวี่ มีตุ้ยเหลียนของจักรพรรดิเฉียนหลง ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เมื่อผลัดแผ่นดิน จักรพรรดิองค์ใหม่จะต้องเสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีจักรพรรดิเสด็จมาที่นี่ 12 องค์ ในห้องมีเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงระหว่างพิธี ด้านนอกอาคารเป็นลานกว้างสำหรับฟ้อนรำในพิธีเซ่นไหว้ ตรงข้ามเป็นที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษขงจื่อ ด้านนอกมีจารึกชื่อลูกหลานขงจื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง ปัจจุบัน (ค.ศ. 2000) มี 85 ลำดับชั้น ประมาณ 3 ล้านกว่าคน หลู่ปี้ เขาว่ากันว่าเคยเป็นที่อยู่เดิมของขงจื่อ มีฝาผนังที่เล่ากันว่าจักรพรรดิฉินสื่อหวงตี้สั่งเผาตำราขงจื่อ หลานชื่อขงฝู่ได้เก็บหนังสือไว้ในผนังแห่งนี้ ต่อมาสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ก่อน ค.ศ. 140 – ก่อน ค.ศ. 87) เจ้าเมืองหลู่จะมาก่อสร้างบ้านใหม่ รื้อกำแพงจึงพบ กล่าวกันว่าขงฝู่เป็นผู้มีคุณงามความดีที่เก็บหนังสือไว้ ฉันเคยอ่านที่ไหนไม่ทราบว่าฉินสื่อหวงตี้ให้เผาหนังสือขงจื่อก็จริง แต่พระองค์เองก็เก็บไว้ที่หอหลวง เห็นจะเป็นทำนองเดียวกันกับหนังสือต้องห้ามของศาสนาคริสต์ในยุคกลางที่ไม่ให้ใครอ่าน แต่ก็ต้องเก็บไว้ในหอสมุดของอาราม ศาลาซือหลี่ถัง เป็นศาลาที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนบุตรหลาน มีต้นไม้ที่อ้างว่าอายุพันกว่าปี ต้นไม้ในบริเวณนั้นมาจากบ้านเกิดของลูกศิษย์ต่างๆ ของขงจื่อ มีสุสานของลูกขงจื่อซึ่งไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนที่ฝังของ ขงจื่อเขาว่ามีการศึกษาแล้วว่าอยู่ตรงนั้น ป้ายทำใน ค.ศ. 1443 ปลายราชวงศ์ซ่ง มีพวกจินหรือกิมก๊กเข้ามารุกราน ทหารกลุ่มหนึ่งจะมาขุดสุสาน เมื่อนายทหารทราบว่าเป็นสุสานของขงจื่อ พวกที่จะขุดสุสานก็ถูกประหารชีวิต แสดงว่าแม้แต่ชาวจินก็รู้จักขงจื่อ เป็นเหตุให้ตั้งป้ายนี้ เมื่อขงจื่อเสียชีวิตแล้ว มีลูกศิษย์มาเฝ้าอยู่ 3 ปี คนที่ชื่อจือกังมาอยู่ถึง 6 ปี ภายหลังมีศาลาที่ประทับจักรพรรดิที่มาไหว้สุสาน มีพวกอ๋องของคนกลุ่มน้อยด้วย[2]

หลักคำสอน

ลัทธิขงจื่อเป็นเครื่องช่วยให้คนสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง กำหนดความสัมพันธ์ไว้ 5 ประการดังนี้
1. จักรพรรดิมีคุณธรรม เมตตาธรรม ส่วนขุนนางมีความจงรักภักดี
2. บิดาเมตตาบุตร บุตรกตัญญู
3. สามีว่าอะไร ภรรยาว่าตาม
4. พี่มีน้ำใจไมตรี น้องมีความเคารพนบนอบ
5. เพื่อนต้องมีสัจจะต่อกัน[3]
ปรัชญาของขงจื่อเน้นเรื่องการสร้างความสงบปรองดองของประเทศ สังคม และครอบครัว สถาบันครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก ขงจื่อเน้นเรื่องความสุขของครอบครัว การมีลูกหลานอยู่ในครอบครัวใหญ่จึงเป็นพื้นฐานของสังคมจีนแต่โบราณ[4]
ขงจื่อมีทั้งส่วนดีมีประโยชน์และส่วนที่ไม่ดี ส่วนดีคือ ส่วนปรัชญาการปกครองที่ผู้ปกครองต้องเมตตาประชาชน ทำให้คนมีจริยธรรม ส่วนไม่ดีคือ เรื่องดูถูกผู้หญิง ดูถูกการค้าขาย อย่างไรก็ตามคนที่วิจารณ์ขงจื่อส่วนมากจะวิจารณ์ไปโดยไม่ได้ศึกษาและไม่เข้าใจจริง ฉะนั้นจึงต้องศึกษาอย่างเป็นธรรมเสียก่อน[5]


อ้างอิง

1. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 51
2. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 88,89,95,98,99,105
3. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 165,166
4. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 101
5. หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 56,83