Please wait...

<< Back

เหล่าเซ่อ

จากหนังสือ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 78,79

(น.78) เมื่อจบจากวิทยาลัยครูในปักกิ่งเมื่อ ค.ศ.1918 เหล่าเซ่อทำงานเป็นครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษา เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจราชการทางการศึกษา บริเวณชานเมืองด้านเหนือของปักกิ่ง ค.ศ.1924 เดินทางไปอังกฤษไปสอนภาษาจีนที่ SOAS (School of Oriental and African Studies) วิชาที่สอนร่วมกับศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ มีภาษาพูดจีน แปล (ทั้งภาษาทางการและภาษาพูด) เอกสารจีนคลาสสิก และเอกสารประวัติศาสตร์ เอกสารศาสนาเต๋าและพุทธ การเขียนภาษาจีน เป็นต้น ขณะนั้นใช้ชื่อว่า Colin C. Shu ตนเองก็เรียนภาษาอังกฤษจากเพื่อน ในเวลาว่างเริ่มเขียนนวนิยายปรัชญาของเหล่าจัง เจ้าจื่อเย เอ้อร์หม่า และเรื่องอื่นๆ ได้ช่วย Clement Egerton แปลเรื่อง จิน ผิงเหม่ย ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Golden Lotus เป็นคนอ่านเสียงภาษาจีนในลิงกัวโฟนสอนภาษาอังกฤษ ค.ศ.1930 กลับจากอังกฤษไปสอนที่มหาวิทยาลัยฉีหลู เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง และสอนที่มหาวิทยาลันซานตงด้วย ขณะนั้นอยู่ที่ชิงเต่า ช่วงนั้นเขียนเรื่อง บันทึกเมืองแมว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมาก เรื่อง หย่าร้าง และนวนิยายอื่นๆ นิทรรศการแสดงภาพตอนแต่งงาน รูป และของขวัญที่ได้รับเมื่อแต่งงาน ทะเบียนสมรสยังอยู่ ที่ชิงเต่าเขียนเรื่อง คนลากรถ ซึ่งถือว่าเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่แต่งเมื่อเป็นนักเขียนอาชีพ เป็นเรื่องที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุด ภาษาไทยก็มี และมีคนนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ งิ้ว ละครพูด ไต้หวันก็เอาไปเล่น ละครพูดที่มีชื่อเสียงอีกเรื่องคือเรื่อง ร้านน้ำชา ไปห้องด้านตรงข้าม เป็นห้องที่คนอธิบายเคยอยู่ตอนเด็กๆ เล่าประวัติตอนสมัยต่อต้านญี่ปุ่น เหล่าเซ่อไปฉงชิ่ง (จุงกิง) คนเดียวทิ้งครอบครัวที่ปักกิ่ง ตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมนักเขียน ไปรู้จักกับโจวเอินไหล เหล่าเซ่อมีหน้าที่เขียนปลุกใจประชาชนให้ลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น คนทั่วๆ ไปที่ไม่มีความรู้ อ่านหนังสือไม่ได้ก็ใช้เขียนการ์ตูน และแต่งเพลงปลุกใจ เช่น เพลงสามีไปเป็นทหาร แม่พาลูก 3 คนไปเยี่ยมที่
(น.79)ฉงชิ่งแล้วเล่าเรื่องความเป็นไปที่ปักกิ่ง พ่อเอาไปเขียนเรื่อง ซื่อซื่อถงถัง หรือ สี่ชั่วคนอยู่พร้อมกันใต้หลังคาเดียวกัน หลังสงครามไปอยู่นิวยอร์ก ใช้ชื่อ Lau Shaw เขียนเรื่อง The Yellow Storm เรื่อง The Drum Singer เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และแปลเป็นภาษาจีนภายหลัง เมื่อปลดแอก (หลัง ค.ศ.1949) นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลให้กลับมาเมืองจีนมาอยู่บ้านหลังนี้ ค.ศ.1950 เขียนเรื่อง หลงซูโกว (คูน้ำหนวดมังกร) เป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ความล้าหลังของสังคมในอดีต และชมเชยว่าการปฏิวัติช่วยให้มีชีวิตชนชั้นกรรมาชีพดีขึ้น เป็นเรื่องที่ได้รางวัล “ศิลปินประชาชน” ในช่วงนี้เขียนหนังสือหลายประเภท เช่น บทละคร (งิ้ว) เรื่อง ร้านน้ำชา มีผู้แปลเป็นหลายภาษา เขียนหนังสือสำหรับเด็กหลายเรื่อง มีรูปถ่ายกับประธานเหมา นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและหลิวเซ่าฉี เรื่องสุดท้ายที่เขียนเขียนไม่จบชื่อ เรื่อง ภายใต้ธงแดง เป็นเรื่องเกี่ยวกับกองธงแดงสมัยแมนจู เดินย้อนกลับไปดูห้องข้างๆ ห้องกินข้าว สมัยก่อนเป็นห้องครัว ตอนนี้เป็นห้องเก็บหนังสือต่างๆ ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เขาชอบอ่านภาษาอังกฤษเพื่อฝึกภาษา มีบางเล่มเพื่อนชาวต่างประเทศเซ็นให้ ท่านเสียชีวิตใน ค.ศ.1966 โดยกระโจนลงในบึงไท่ผิงหูในกรุงปักกิ่ง เนื่องจากทนความอัปยศระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมไม่ได้
(น.79) รูป 84 ตู้หนังสือ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 89

(น.89) วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544
รำมวยจีนเพิ่มอีกท่าหนึ่งคือ ท่าตันเปียน (แปลว่า แส้เดี่ยว)
ก่อนเรียนภาษาจีน ครูจังอิง อธิบายเรื่องการบอกศักราชแบบต่างๆ อธิบายแล้วข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจดี ครูบอกว่ามีเวลาค่อยๆ อ่าน
ครูเล่าว่าบ้านของเหล่าเซ่อที่เราไปนั้น เหล่าเซ่อใช้เงินที่ได้จากการขายหนังสือซื้อราคาประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ ตอนนี้กลายเป็นที่แพงมาก พูดถึงเรื่องที่เหล่าเซ่อต้องฆ่าตัวตาย เพราะถูกเด็กที่เป็น Red guard จับมาด่าทอและตีหัวจนทนไม่ไหว กระโดดน้ำตายเหมือนตัวละครตัวหนึ่งในนวนิยาย “สี่ชั่วคนอยู่พร้อมกันใต้หลังคาเดียวกัน”