Please wait...

<< Back

ฉงชิ่ง


(น.14) รูป 11 บริเวณจัตุรัสเฉาเทียนเหมิน
Chao Tian Men Plaza.

(น.14) มองเห็นกระเช้าไฟฟ้า และรถไฟฟ้าสำหรับลงไปที่แม่น้ำ บริเวณจัตุรัสมีน้ำพุตามเพลง มีต้นไม้ 7 ต้นที่เก็บไว้ไม่ตัดทิ้ง ต้นไม้เหล่านี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของจัตุรัส บริเวณนี้เป็นที่ตั้งท่าเรือสำคัญลงไปถึงมหานครเซี่ยงไฮ้ และออกไปค้าขายถึงญี่ปุ่นด้วย จากนั้นไปที่ถนนศูนย์การค้าที่จัดเป็นถนนคนเดินไม่ให้รถเข้าไป เขาบอกว่าศูนย์การค้านี้กิจการดีมาก เก็บภาษีได้แยะ มีอนุสาวรีย์ปลดแอก สมัยก่อนเป็นสถานที่สูงที่สุดในนครฉงชิ่ง รัฐบาลสมัยก่อนมีนโยบายไม่ให้ก่อสร้างอาคารใดที่สูงกว่าอนุสาวรีย์นี้

(น.15) ร้านเก่าๆ ก็ยังมีเหลืออยู่บ้างไม่ได้รื้อทิ้งไปทั้งหมด เช่นร้านขายขนมที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1930 ไปร้านขายหนังสือซินหัว มีหนังสือขายสารพัด เช่น หนังสือที่กำลังขายดี มีเรื่องที่แม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขียนวิธีเลี้ยงลูกว่าเลี้ยงอย่างไรลูกจึงเก่งแบบนี้ หนังสือที่นักเรียนมัธยมเขียน ข้าพเจ้าซื้อพจนานุกรม หนังสือเรียนแบบฝึกหัดภาษาจีนสำหรับนักเรียนประถมเอาไว้ฝึกเอง แบบเขียนภาพพู่กันจีน แบบเขียนหนังสือด้วยปากกาทั้งแบบไข่ซูและสิงซู มีคนฉงชิ่งคนหนึ่งมีชื่อเสียงด้านนี้ ซื้อหนังสือว่าด้วยเรื่องชาต่างๆ หนังสือสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศจีน หนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมจีนทั่วประเทศ หนังสือเรื่องทิเบต


(น.15) รูป 12 แวะร้านขายหนังสือซินหัว
A brief stop at Xinhua Book Store.

(น.16) กลับโรงแรมเตรียมตัวเก็บของ แล้วไปรับประทานอาหารกลางวันที่สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานนี้ก็สร้างใหม่ เป็นตึกใหญ่ มีห้องสำหรับรับแขก มีพ่อครัวฝีมือดี มาดามเฉินบอกว่าคนที่ฉงชิ่งชอบ enjoy ชีวิตอยู่ดีกินดีกว่าคนที่ปักกิ่ง มาดามเฉินเล่าว่าชื่อจี้หว่า ซึ่งเป็นชื่อที่แปลกไม่มีคนเขาชื่อกัน เพราะเกิด ค.ศ. 1954 ปีนั้นนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลนำคณะไปประชุมสันติภาพที่เจนีวา เป็นเรื่องที่คนจีนตื่นเต้นกันมาก คุณพ่อจึงนำเหตุการณ์นี้มาตั้งชื่อลูก จี้ ย่อมาจาก กั๋วจี้ แปลว่า นานาชาติ ส่วน หว่า มาจากคำว่า เจนีวา มีน้องสาวฝาแฝด พ่อตั้งชื่อว่า เว่ยผิง แปลว่า พิทักษ์สันติภาพ พบนายกเทศมนตรี ท่านกล่าวต้อนรับบอกว่าคนจีนยังจำวันที่ข้าพเจ้ามาฉงชิ่งเมื่อ ค.ศ. 1996 ได้ (ที่จริงคือวันนี้เมื่อ 5 ปีก่อน) ตอนนั้นฉงชิ่งขึ้นกับมณฑลเสฉวน แต่ขณะนี้สภาพของฉงชิ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1997 สภาประชาชนแห่งชาติมีมติยกฐานะฉงชิ่งเป็นมหานคร ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง นับเป็นมหานครแห่งที่ 4 ในระบบการปกครองของจีนปัจจุบัน และเป็นแห่งแรกของพื้นที่ทางภาคตะวันตก ขณะที่อีก 3 มหานครที่มีอยู่แล้วคือ ปักกิ่ง เทียนสิน เซี่ยงไฮ้ อยู่ทางตะวันออก ความเปลี่ยนแปลงนั้นสรุปได้ว่ามีพื้นที่บริหารมากขึ้น จาก 20,000 ตารางกิโลเมตร เป็น 82,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรในความรับผิดชอบมากขึ้นเท่าตัว จาก 15 ล้านคน เป็น 30.9 ล้านคน โครงสร้าง

(น.17) ทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป มีเอกลักษณ์พิเศษคือ มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและการเกษตร เศรษฐกิจเมืองใหญ่ และชนบท งานโครงการเขื่อนซานเสียก็ต้องดูแล ตัวเขื่อนใหญ่จะอยู่ที่เมืองอี๋ชางในมณฑลหูเป่ย แต่ปิดเขื่อนแล้วส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำจะอยู่ในฉงชิ่งเป็นส่วนใหญ่ (500 ตารางกิโลเมตร จาก 650 ตารางกิโลเมตร) ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามนโยบายเปิดสู่ตะวันตกของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของแม่น้ำแยงซีตอนบน มีหน้าที่ดูแลการอพยพผู้คน คาดว่าเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2009 จะต้องย้ายคนถึง 1,030,000 คน ขณะนี้น้ำยังไม่ขึ้น ได้ไปตระเตรียมสถานที่ย้ายคนเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้ย้ายทั้งหมด นอกจากจะย้ายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่กะเอาไว้เดิมแล้ว ยังต้องกระจายไปตามมณฑลต่างๆ ด้วย เช่น ซานตง อานฮุย เจียงซู มหานครเซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่) เจ้อเจียง ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) กวางตุ้ง (ก่วงตง) เจียงซี หูหนาน หูเป่ย เสฉวน (ซื่อชวน) ข้าพเจ้าถามถึงสวนส้มริมฝั่งน้ำ ท่านนายกเทศมนตรีรับรองว่า สวนที่ย้ายไปสร้างใหม่จะมีปริมาณมากขึ้นและรสอร่อยขึ้น เพราะว่ามีเทคโนโลยีดีขึ้น ฉงชิ่งยินดีรับนักลงทุนต่างประเทศ


(น.17) รูป 13 นายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่งมอบของที่ระลึก
The Mayor of Chongqing presenting souvenirs.

(น.18) ไปรับประทานอาหาร อาหารอร่อยมากแต่มีบางอย่างเผ็ดมากจนข้าพเจ้าน้ำตาไหล เหงื่อแตก เหล้าที่ดื่มเป็นเหล้าขาวของฉงชิ่ง เรียกว่าซือเซิ่งไท่ไป๋ มีแอลกอฮอล์ 52 ดีกรี เขาว่ากันว่าหลี่ไป๋ดื่มเหล้าชนิดนี้ นายกเทศมนตรีเล่าว่า กำลังจะสร้างพิพิธภัณฑ์ซานเสีย รวบรวมโบราณวัตถุหมื่นกว่าชิ้นที่พบขณะที่ทำโครงการเขื่อนซานเสีย งบประมาณจากรัฐบาลกลางบ้าง ได้จากโครงการซานเสียบ้าง ส่วนหนึ่งนครต้องออกเอง เป็นโครงการที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องจ่ายเองมากที่สุด สร้างแล้วหวังว่าประชาชนและนักท่องเที่ยวจะไปดู นอกจากนั้นยังมีโครงการรถไฟลอยฟ้าสายแรกในจีน ลงทุน 3,500 ล้านหยวน จะให้เสร็จใน ค.ศ. 2003 รถไฟลอยฟ้าสายนี้นอกจากจะแก้ปัญหาจราจรแล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะจะมองเห็นมหานครฉงชิ่งได้ดี เรื่องการท่องเที่ยวเจริญดีมาก รายได้เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนจีน มาดูหินแกะสลักที่ต้าจู๋ เดี๋ยวนี้มีซาฟารีเวิลด์ และสวนชาให้ดู ผู้อำนวยการเฉินเซียวจะไปส่งที่สนามบิน ส่วนคณะกงสุลจะส่งแค่นี้