<< Back
ต้าหลี่
รูป 101 ถ่ายรูปกับเจดีย์ 3 องค์
(น.87) สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดพังไปหมดแต่พระเจดีย์ยังอยู่ รัฐบาลจีนถือว่าเป็นโบราณสถานสำคัญระดับชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1978 ขณะบูรณะขุดพบโบราณวัตถุถึง 689 ชิ้น ไม่ทราบว่าขึ้นไปที่เจดีย์ได้หรือเปล่าแต่คงไม่ได้ ถ้าได้เขาคงให้เราขึ้นไปแล้ว ดูแต่ไกลๆ ดูเรื่องโบราณคดีแค่นี้เอง
(น.89) รูป103 เคาะหินแล้วมีเสียงสะท้อน
รูป 104 ภายในวัดเจดีย์ 3 องค์
(น.89) นอกจากนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวเลย คือหน้าเจดีย์มีหินก้อนโตวางไว้ก้อนหนึ่ง เอาหินก้อนเล็กเคาะจะมีเสียงสะท้อนไปที่เจดีย์ ทำให้มีเสียงดังเหมือนกบร้อง แถบนี้ก็ไม่ต่างจากวัดหรือโบราณสถานอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว คือมีคนมาตั้งขายของเป็นโต๊ะหรือบางคนก็ขายอยู่ในร้าน เดินดูของแต่ละร้านก็เกือบจะเหมือนๆ กันหมด มีของที่ทำมาจากหินอ่อนและหินชนิดต่างๆ เช่น โมราของต้าหลี่
(น.90) รูป 105 มีของขายสารพัดชนิด
(น.90) เขาทำเป็นแจกัน ถ้วย ฯลฯ มาดามเฉินบอกว่าเป็นงานฝีมือของกลุ่มแม่บ้าน ความที่มันเยอะแยะและเหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่าคงจะเป็นของโรงงานไม่ใช่อุตสาหกรรมครัวเรือน เสื้อผ้าต่างๆ ถุงย่าม เป้ เครื่องเงิน (มีเล็กน้อย) กล้องสูบยาโบราณ รูปเจ้าแม่กวนอิม ที่แปลกอย่างหนึ่งคือหินที่มีรูปร่างเหมือนไข่ แช่น้ำเอาไว้ ยกขึ้นดูจะมีเป็นแสงเรืองๆ ออกมา ลูกวอลนัทสลักเป็น 18 อรหันต์ สายสร้อย มีจนกระทั่งหนังหมาจิ้งจอก ของต่างๆ ก็ดูจะไม่เป็นประโยชน์อะไรนัก นอกจากซื้อเป็นที่ระลึก และสนุกกับการต่อของ ของที่นี่คงจะตั้งราคามากกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่าเป็นอย่างน้อย ใครๆ ต่อ พ่อค้าแม่ค้าจึงยังขายได้ เช่น เจ้าแม่กวนอิมราคา 200 ต่อได้เหลือ 60 หยวน แจกันราคา 300 ต่อได้เหลือ 120 ใครต่อได้ราคาถูกหรือน้อยกว่าที่เขาบอกยิ่งมากยิ่งแสดงว่ามีความสามารถ วิธีการที่เห็นเขาทำกันคือต่อไว้และเดินไป คนขายจะตะโกนเรียกเอง บรรยากาศตรงข้ามกับบริการสมัยใหม่ ที่เขาพยายามตั้งราคาสินค้าให้เป็นมาตรฐาน ติด bar-code ตามสินค้าเพื่อให้ซื้อ
จัดหมวดหมู่สารสนเทศ
เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ ต้าหลี่
ภูมิศาสตร์
ต้าหลี่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑล มีเนื้อที่ 28,356 ตารางกิโลเมตร มี 13 อำเภอ ต้าหลี่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,976 เมตร อุณหภูมิประมาณ 15° C อุณหภูมิติดลบไม่เคยมี อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28° C ฝนตกราว 1,000 มม./ปี
ต้าหลี่มีวัฒนธรรมอันยาวนาน มีชื่อเสียงในประเทศจีน มีทิวทัศน์ที่งดงาม ทิวทัศน์ของต้าหลี่มีลม (feng) ดอกไม้ (hua) หิมะ (xue) พระจันทร์ (yue)[1]
ประชากร
ประชากร 3,001,770 คน มีคนกลุ่มน้อย 13 ชนชาติ เป็นชาติไป๋ประมาณ 33.17 % [2]
เขตนี้มีชนชาติไป๋อยู่มากที่สุด ชนชาติส่วนน้อยเผ่าหลักๆ นอกจากไป๋ มีอี๋ เหมียว และไต่ แถบตัวเมืองมีไป๋แสนกว่าคนทั่วต้าหลี่มีล้านกว่าคน[3]
ชาวบ้านแถบทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ ส่วนมากเป็นชาวประมง มีฐานะค่อนข้างดี นอกจากจับปลาแล้วยังปลูกผัก สกัดหินอ่อนมาเป็นวัสดุก่อสร้างและเครื่องประดับ
คนไป๋สนใจการศึกษา ฉะนั้นได้เป็นผู้นำระดับมณฑลกันมาก [4]
คนหมู่บ้านสี่โจวเจิ้นนี้มีการศึกษาสูง ค้าขายเก่งไปค้าต่างประเทศก็มี [5]
เศรษฐกิจ
สินค้าท้องถิ่น
แถบนี้ก็ไม่ต่างจากวัดหรือโบราณสถานอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว คือมีคนมาตั้งขายของเป็นโต๊ะหรือบางคนก็ขายอยู่ในร้าน เดินดูของแต่ละร้านก็เกือบจะเหมือนๆ กันหมด มีของที่ทำมาจากหินอ่อนและหินชนิดต่างๆ เช่น โมราของต้าหลี่
เขาทำเป็นแจกัน ถ้วย ฯลฯ มาดามเฉินบอกว่าเป็นงานฝีมือของกลุ่มแม่บ้าน ความที่มันเยอะแยะและเหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่าคงจะเป็นของโรงงานไม่ใช่อุตสาหกรรมครัวเรือน เสื้อผ้าต่างๆ ถุงย่าม เป้ เครื่องเงิน (มีเล็กน้อย) กล้องสูบยาโบราณ รูปเจ้าแม่กวนอิม ที่แปลกอย่างหนึ่งคือหินที่มีรูปร่างเหมือนไข่ แช่น้ำเอาไว้ ยกขึ้นดูจะมีเป็นแสงเรืองๆ ออกมา ลูกวอลนัทสลักเป็น 18 อรหันต์ สายสร้อย มีจนกระทั่งหนังหมาจิ้งจอก ของต่างๆ ก็ดูจะไม่เป็นประโยชน์อะไรนัก นอกจากซื้อเป็นที่ระลึก และสนุกกับการต่อของ
ของที่นี่คงจะตั้งราคามากกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่าเป็นอย่างน้อย ใครๆ ต่อ พ่อค้าแม่ค้าจึงยังขายได้ เช่น เจ้าแม่กวนอิมราคา 200 ต่อได้เหลือ 60 หยวน แจกันราคา 300 ต่อได้เหลือ 120 ใครต่อได้ราคาถูกหรือน้อยกว่าที่เขาบอกยิ่งมากยิ่งแสดงว่ามีความสามารถ วิธีการที่เห็นเขาทำกันคือต่อไว้และเดินไป คนขายจะตะโกนเรียกเอง บรรยากาศตรงข้ามกับบริการสมัยใหม่ ที่เขาพยายามตั้งราคาสินค้าให้เป็นมาตรฐาน ติด bar-code ตามสินค้าเพื่อให้ซื้อ[6]
สินค้าส่งออก
สินค้าออกมีต้นเหอเถาหรือวอลนัท เห็ดต่างๆ สิ่งทอ กระดาษ เป็นต้น ชาวบ้านยังปลูกข้าวเจ้า ข้าวสาลี ถั่วปากอ้า มีเห็ดชนิดต่างๆ และกัญชาขึ้นในป่าสน มีราคาแพง แต่ชาวบ้านเองก็ปลูก
สำหรับสิ่งทอนั้น มาดามเฉินอธิบายเรื่องการย้อมเสื้อแบบมัดแล้วเอาไปย้อม พวกกลุ่มอาชีพมี สตรีทอผ้า การสานหมวกฟาง แกะไม้ เป็นต้น งานพวกนี้เป็นของผู้หญิงทำและขายได้ ฉะนั้นบางที่พวกผู้หญิงอาจจะได้เงินร่ำรวยกว่าสามีไปอีก เขตอำเภอเหวยซาน มีสตรีเป็นสมาชิกทอผ้าอยู่ 4,000 กว่าคน ผ้าทอมือแบบนี้ญี่ปุ่นชอบมาก [7]
การจับปลามีการควบคุม เดือนเมษายนถึงสิงหาคมห้ามจับ เพราะเป็นช่วงที่ปลาอิ๋นหยูหรือปลาเงินยังเล็ก พันธุ์ปลาเงินที่นี่จากไท่หู เมืองหูซี มณฑลเจียงซู เดี๋ยวนี้ส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณปีละ 1,000 กว่าตัน[8]
ประเพณี/ความเชื่อ
พิธีซานเต้าฉา
พิธีซานเต้าฉา เป็นพิธีของชาวไป๋สำหรับรับแขกผู้มีเกียรติ โดยให้ดื่มชา 3 ถ้วย 3 วิธี เป็นธรรมเนียมการต้อนรับที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยกษัตริย์น่านเจ้าต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยือน การมาเยือนที่เขตปกครองตนเองของพวกไป๋นี้ ถ้ายังไม่ดื่มน้ำชาซานเต้าฉาก็เหมือนกับมาไม่ถึง
อ่านเพิ่มเติมใน พิธีซานเต้าฉา
ความเชื่อ
ชาที่เอามาเลี้ยงของที่นี่เป็นชาก้อนที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 3 ครั้ง ดื่มแล้วทำให้เป็นหนุ่มสาวตลอดไป
ชาถ้วยแรกค่อนข้างขม เหมือนชีวิตคนเกิดมาก็ต้องประสบความยากลำบาก ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
ก่อนที่จะดื่มชาถ้วยที่ 2 ใส่ลูกวอลนัท น้ำตาลทรายแดง และนม ที่หวาน หมายความถึงชีวิตต้องลำบากก่อน เมื่อพยายามจนได้รับผลสำเร็จ ชีวิตก็หวาน
และสุดท้ายรสชาติยากที่จะลืม ชาถ้วยที่ 3 คือชาไม่รู้ลืม เป็นชาผสมด้วยเปลือกต้นกุ้ย (อบเชย) น้ำผึ้ง ที่เมื่ออายุมากก็ต้องคิดถึงอดีตของตนว่าเป็นอย่างไร ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นความทรงจำของชีวิต [9]
พิธีแต่งงาน/การครองคู่
พิธีการแต่งงานของพวกไป๋ ต้องมีการไล่จับเจ้าสาว 3 ครั้ง ครั้งแรกดีใจ ครั้งที่ 2 มีความสุข ครั้งที่ 3 เสร็จพิธี เชิญให้แขกไปจับแก้มเจ้าสาวเป็นการให้พร สุดท้ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวแจกขนมหงชวงซี [10]
ภาพถ่ายพิธีแต่งงานของชาวไป๋ เจ้าสาวต้องสวมแว่นดำเพื่อป้องกันภัย (ประยุกต์จากผ้าคลุมหน้า?) มีลูกก็เอาลูกใส่ตะกร้า[11]
ใกล้ๆทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ มีหมู่บ้านชนเผ่าหนึ่งที่มีประเพณีถือระบบแม่เป็นใหญ่ ชายหญิงแต่งงานกัน ชายต้องไปนอนอยู่บ้านหญิง แต่กลางวันไปอยู่บ้านตัวเอง ในสมัยก่อนพวกเด็กๆ รู้แต่ว่าใครเป็นแม่ ไม่รู้จักพ่อ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปบ้างแล้ว [12]
ตำนาน/เรื่องเล่า
เมฆมองสามี
มาดามเฉินเล่าว่ามีเมฆชนิดหนึ่งเรียกว่า เมฆมองดูสามี หรือหยุนว่างฟู มีนิทานน่านเจ้าว่า เจ้าหญิงองค์หนึ่งไปรักคนล่าสัตว์ แต่ถูกพ่อแม่ขัดขวางจึงหนีไป ตอนหนาวไม่มีเสื้อผ้า คนล่าสัตว์ไปเอาเสื้อพระมาใส่ให้ พระในวัดรู้เข้าก็ลงโทษ จับคนล่าสัตว์กดน้ำ คนล่าสัตว์กลายเป็นก้อนหินอยู่ใต้น้ำ เจ้าหญิงคอยสามีอยู่ไม่กลับเสียที เลยกลายเป็นก้อนเมฆ เรียกว่าเมฆมองสามี ตอนที่เมฆนี้ออกมาต้องมีลม เมฆก็จะโตขึ้นทุกที อากาศจะเปลี่ยนไป[13]
เมืองลม
เรื่องเมืองเซี่ยกวนว่าเรียกกันว่าเป็นฟงเฉิงหรือเมืองลม มีนิทานเล่าประวัติว่า กวนอิมแต่งตัวเป็นคนแก่เดินไปถึงด่านนายด่านจะมาตรวจของ คนแก่นี้ก็ไม่ยอมให้ตรวจ แต่นายด่านก็ตรวจจนได้ พอเปิดขวดก็มีลมพุ่งออกมา เมืองจึงกลายเป็นเมืองลม คือมีลมพัดแรงตลอดปี ถ้าไม่มีลมพัดคนที่นี่จะรู้สึกว่าไม่สบาย ฉะนั้นสิ่งก่อสร้างแถวนี้จะมีกำแพงกันลมอีกชั้น ส่วนมากจะทำบ้าน 3 ห้อง มีลานและกำแพง [14]
สถานที่สำคัญ/แหล่งท่องเที่ยว
มีสถานที่ท่องเที่ยวมาก ที่สำคัญได้แก่ ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ เขาชางซาน และยังมีอีกหลายเขา เช่น สือเป่าซาน ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยว มีถ้ำที่แปลก สวยงาม จีซูซานเป็นแหล่งโบราณสถานทางพุทธศาสนา เว่ยเป่าซานเป็นโบราณสถานทางศาสนาพุทธและเต๋า ซื่อปี๋หูมีน้ำพุและทะเลสาบ เป็นแหล่งท่องเที่ยว[15]
พิพิธภัณฑ์เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ต้าหลี่
ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่
หมู่บ้านสี่โจวเจิ้น
วัดช่งเซิ่น
อ้างอิง
1. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 36-37,44
2. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 44
3. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 36
4. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 64
5. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 84
6. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 89-90
7. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 37-38
8. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 64
9. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 66-68,70
10. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 71
11. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 57
12. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 60
13. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 63
14. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 59
15. ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 44