Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์เมืองซูโจว

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 257-261

(น. 257)จากนั้นไปพิพิธภัณฑ์เมืองซูโจว สมัยกบฏไต้เผ็ง หรือไท่ผิงเทียนกั๋ว เคยใช้เป็นที่ทำการหลี่ซิ่วเฉิง ญาติของหงซิ่วฉวนผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าของพวกกบฏ และได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ในพื้นที่หลายมณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ที่พวกกบฏยึดครองไว้ได้ กบฏไท่ผิงเป็นกบฏชาวนาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จีน เกิดขึ้น

(น. 258) ในสมัยราชวงศ์ชิงระหว่าง ค.ศ. 1850 – 1864 พวกกบฏเริ่มก่อการในอำเภอกุ้ยผิง ภูมิภาคปกครองตนเองก่วงซี (กวางสี) แล้วเข้ายึดครองพื้นที่อีกหลายมณฑล พวกกบฏตั้งเมืองหลวงที่นานกิง และมีอุดมการณ์ว่าจะตั้งประเทศสวรรค์เปี่ยมสันติ (ไท่ผิงเทียนกั๋ว) สถานที่ที่เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองซูโจวในปัจจุบันจึงมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์จีนในศตวรรษที่ 19 ที่นี่เขาไม่ได้ให้ดูข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงไว้เพราะมีเวลาจำกัด แต่เอาของชิ้นเอกออกมาให้ชมเลย
1. คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร สมัยราชวงศ์ถัง เขียนตัวทอง มี 7 ม้วน พบในเจดีย์เมื่อ ค.ศ. 1976
2. คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมัยราชวงศ์ซ่ง
3. เครื่องถ้วยลายดอกบัว พบที่เนินเสือ เป็นสีเขียวไข่กา จากเตาเผาเย่ว์ ของมณฑลเจ้อเจียง สมัยราชวงศ์เหนือใต้ ใช้อุณหภูมิ 1,000 กว่าองศาในการเผา และจะต้องเผาในสูญญากาศจึงจะออกมาเป็นสีเขียว ถ้าอากาศเข้าจะกลายเป็นสีน้ำตาล กลายเป็นของไม่มีค่า
4. หยกสมัยราชวงศ์ชิง รัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง มาจากเมืองเหอเถียนหรือเมืองโคทาน ในภูมิภาคปกครองตนเองซินเจียง สลักเป็นตัวหนังสือว่า กั๋วไท่หมินอาน แปลว่า ชาติร่มเย็น ประชาเป็นสุข และ ไท่ผิงอู๋เซี่ยง แปลว่า ไม่มีเหตุ ประเทศสงบ หยกสีอย่างนี้หายาก
5. เครื่องปั้นดินเผาสีม่วงแดงรูปพระ เป็นของเมืองซูโจว สมัยราชวงศ์หมิง
(น. 259)
6. ถ้วยสุรา ทำด้วยดินเผาจื่อซา สมัยจักรพรรดิคังซี สลักรูปพืชที่เป็นมงคล เช่น มันฮ่อ (เหอเทา walnut) มีความหมายคือ ให้มีอายุยืน กระจับ ให้ความหมายว่า เฉียบไว ลิ้นจี่ หมายความว่า ได้กำไร มีไหวพริบ ถั่วลิสง หมายความว่า มีลูกหลานมากมาย แปะก๊วย เม็ดแตงโม ไม่ได้บอกว่าหมายความว่าอะไร
7. ที่วางพู่กัน เป็นดินเผาจื่อซา สมัยราชวงศ์ชิง เป็นรูปกิ่งไม้ มีจักจั่นเกาะ
8. ภาพวาดสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ รูปกษัตริย์ 5 พระองค์กำลังทรงพระเกษมสำราญอยู่กับเหล่านางสนมกำนัลในฤดูใบไม้ผลิ ภาพเขียนสีได้สวยงามมาก ภาพเครื่องเรือน อาคาร อาหารสมัยนั้น และการแต่งกายของบุคคลในภาพ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นว่าเป็นเช่นใด
9. ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพเหมือนของนักปราชญ์ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่งมาพบปะกัน แล้วร่วมกันเขียนตัวอักษร ที่ซีหยวน ในเมืองลั่วหยัง นักปราชญ์คนหนึ่งที่เห็นในภาพก็คือ ซูตงปัวหรือซูซื่อนั่นเอง
10. ภาพคนแก่ที่เขียนในสมัยราชวงศ์ชิง เขียนแบบโบราณ การใช้เส้นใหญ่ เล็ก หนัก เบา ทำให้ภาพนี้มีชีวิตชีวา ภาพของจงขุย ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นยมบาล มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งจักรพรรดิถังเสวียนจง (ค.ศ. 712 – 756) ทรงพระสุบินว่า เห็นผีตัวใหญ่จับผีตัวเล็กกินไปเลย ผีตัวใหญ่ทูลว่า เมื่อเป็นมนุษย์ เคยไปสอบแข่งขันเป็นจอหงวน แต่สอบตก จึงเอาศีรษะชนบันไดหินตายได้ตั้งปณิธานไว้ว่า เมื่อตายแล้ว จะปราบผีไม่ดี เลยกินผีตัวเล็กที่ไม่ดี จงขุยก็คือผีตัวใหญ่นั่นเอง
(น. 260)
11. การเขียนลายมือ (ซูฝ่า) ขนาดใหญ่ คนเขียนชื่อ สวีเหวินฉัง มีชื่อเสียงในการเขียนตัวอักษรจีน นอกจากนั้นยังมีความสามารถทางการพูดและมีความคิดลึกซึ้ง นับถือลัทธิเต๋า ซูฝ่าของเขาเป็นเรื่องธรรมชาติตามแนวลัทธิเต๋า เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยินและหยัง ธาตุทั้ง 5 หรืออู่สิง (ไม้ ไฟ ดิน โลหะ น้ำ) ลีลาการเขียนของเขาแปลกใหม่ เหมือนกับการร่ายรำที่ต้องอาศัยที่กว้าง ไม่อยู่เฉพาะในกรอบสี่เหลี่ยม
12. คัมภีร์อวตังสกสูตร สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ คนแซ่จางเขียนเก็บไว้ที่บ้านของตน มีลักษณะพิเศษคือตัวอักษรตั้งแต่ตัวแรกถึงตัวสุดท้าย ลายมือสม่ำเสมอเหมือนกันหมด มีการตีตารางกรอบสี่เหลี่ยมสำหรับเขียน กระดาษดีมาก ถึงจะเก่าแก่ก็ยังดูเหมือนของใหม่
13. จางอวี่ สมัยราชวงศ์หยวน เขียนบทกวีให้เพื่อนๆ
14. ภาพวาดใบไผ่และดอกกล้วยไม้ มองดูอ่อนๆ แต่มีพลัง เขียนสมัยราชวงศ์หมิง เป็นฝีมือของหวังตั๋ว มีบทกวีประเภทซือประกอบภาพด้วย การเขียนภาพประกอบบทกวีนี้เป็นที่นิยมในสมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์หมิง


(น. 260) รูป 181 ภาพวาดกิ่งไผ่และนก
Painting of bamboo


(น. 261) รูป 182 ถ้วยสุราทำด้วยนอแรด สมัยราชวงศ์หมิง
Wine glass made of rhino's horn, Ming Dynasty.

(น. 261)
15. ภาพวาดไม้ไผ่สมัยราชวงศ์หมิง ฝีมือหวังเหมิง ไม้ไผ่นี้ข้างนอกแข็งข้างในกลวงว่างเปล่า
16. ภาพเขียนทิวทัศน์ภูเขาอวี๋ซาน อำเภอฉังสู อยู่ห่างเมืองซูโจวประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นภาพสีน้ำขาวดำ ฝีมือหวังเจี้ยน จิตรกรเอกสมัยราชวงศ์ชิง ในสมัยนี้ที่ซูโจวมีศิลปินเขียนภาพที่มีชื่อเสียงอยู่ 4 ท่าน ภาพเขียนของหวังเจี้ยนให้ความรู้สึกต่างๆ ตามฤดูกาล
17. ภาพดอกโบตั๋น ดอกลิลลี่ ดอกโก๋วฉี่หรือเก๋ากี้ (เครื่องยาจีนเม็ดแดงๆ) สมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง
18. ภาพดอกอวี้หลาน เขียนได้สวยงามดี
19. ลายมือของหวังเอ้า เสนาบดีสมัยราชวงศ์หมิง
20. ถ้วยสุราทำด้วยนอแรดสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิใช้สำหรับพระราชทานสุราแก่แม่ทัพที่อยู่บนหลังม้า ก่อนออกไปรบ เป็นการพระราชทานขวัญกำลังใจ
21. ภาพวาดท้าวจตุโลกบาลบนหีบไม้ เป็นศิลปวัตถุที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 1013 สมัยราชวงศ์ซ่ง สำหรับเป็นที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ พบในเจดีย์รุ่ยกวง สีที่เขียนทำจากแร่ ทำให้ไม่ซีดจาง มีรูปมังกรทำด้วยมุก หีบใบนี้อยู่ในหีบอีกใบหนึ่ง ดูพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม