Please wait...

<< Back

มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศและการค้าต่างประเทศกวางโจว

จากหนังสือ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 53,54,55,56

(น.53) เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัย อธิการบดีคือ ศาสตรจารย์หวงเจี้ยนหัวและคณาจารย์ต้อนรับ พาขึ้นไปที่ห้องรับแขก อาคารคณะภาษาตะวันออก ชั้นที่ 5 (เดินขึ้นไป) อธิการบดีแนะนำมหาวิทยาลัยว่ามหาวิทยาลัยนี้ขึ้นตรงกับมณฑลกวางตุ้ง ก่อตั้งเมื่อค.ศ. 1995 โดยการรวมมหาวิทยาลัย 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกวางโจว ซึ่งขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยการค้าต่างประเทศกวางโจว ซึ่งขึ้นกับกระทรวงการคลังเข้าด้วยกัน มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกวางโจวตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ผู้ตั้งคือ นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล ตั้งแต่ ค.ศ. 1965-1995 มีนักศึกษาที่สำเร็จระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีไปกว่า 9,000 คน ปริญญาโทและปริญญาเอกกว่า 200 คน รวมทั้งยังอบรมภาษาให้บุคคลภายนอกอีกกว่า 10,000 คน นับว่าเป็นศูนย์อบรมทางภาษาที่สำคัญ


(น.54) รูป 48 อธิการบดีให้หนังสือประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน

(น.54) ของจีนตอนใต้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นด้วยสายตาที่กว้างไกลของท่านโจวเอินไหล เนื่องจากต่อมาเป็นยุคที่จีนต้องเปิดประเทศ ติดต่อกับโลกกว้างกว่าแต่ก่อน ความรู้ทางภาษาเป็นเรื่องจำเป็นมาก สำหรับมหาวิทยาลัยการค้าต่างประเทศกวางโจว ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1980 มีนักศึกษาจบการศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีไปแล้วกว่า 2,000 คน จบปริญญาโท 11 คน มีพนักงานของรัฐเข้าอบรมกว่า 6,000 คน มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดเมื่อจีนยุคเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ จากระบบสังคมนิยม 100% มาเป็นเศรษฐกิจการตลาดมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีบุคคลากรระบบใหม่ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้เปิดสอน 11 คณะ มีการสอนภาษารวม 9 ภาษา คือ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย มหาวิทยาลัยเปิดสอนภาษาไทยมาตั้งแต่ค.ศ. 1970 ใช้ระบบการสอนแบบ 5 ปี มีนักศึกษาจบไปแล้ว 5 รุ่น รุ่นที่กำลังศึกษาอยู่นี้ป็นรุ่นที่ 6 (ตอนนี้เขาบอกว่านักศึกษาต้องจบก่อนจึงรับรุ่นใหม่เพราะครูไม่พอ) มีนักศึกษา 12 คน ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยมีนักศึกษาไทยมาเรียนภาษาจีน 5 คน แต่จบไปแล้ว
(น.55) ในด้านการค้า มีการสอนเศรษฐศาสตร์ การบัญชี การเงิน การพาณิชย์ กฏหมายการค้า กฏหมายระหว่างประเทศ เขาให้โล่ตรามหาวิทยาลัยและหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน (A History of Chinese Civilization, Le monde chinois) ที่ท่านอธิการบดีแปลจากหนังสือของ Professeur Jacques Gernet ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนชาวฝรั่งเศส ท่านอธิการบดีเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส และเป็นเพื่อนของ Professeur Gernet ข้าพเจ้าให้หนังสือที่ข้าพเจ้าแต่งเกี่ยวกับจีน จากนั้นลงไปชั้น 4 เพื่อดูแผนกภาษาไทย เข้าไปถึงนักศึกษากำลังหัดร้องเพลงสายฝน ร้องได้ชัดเจนดี หลังห้องติดภาพเรื่องวัฒนธรรมไทย มารยาทไทย อาหารการกิน มีที่แขวนหนังสือพิมพ์ มี 3 ฉบับคือ มติชน เดลินิวส์ และ สยามรัฐ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยมาต้อนรับและช่วยเป็นล่ามตั้งแต่ต้น ดูไม่ออกเลยว่าเป็นคนจีน ได้ความว่าเคยมาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว มีครูอีก 2 คน คนหนึ่งยังเรียนอยู่เมืองไทย นักเรียนในห้องมีชื่อไทยที่ครูตั้งให้ทุกคน ถามนักศึกษาหลายคนว่าทำไมจึงสนใจเรียนภาษาไทย เขาตอบว่าเห็นมีคนไทยเชื้อสายจีนมาเมืองจีนมาก อยากติดต่อด้วย แต่คนเหล่านี้พูดจีนไม่ได้เลย อยากให้มีการติดต่อสัมพันธ์กันดีขึ้นอยากทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีนไทย


(น.56) รูป 49 ป้ายเกี่ยวกับไทย

(น.56) ครูที่นี่ทำตำราเรียนเอง มีบทอ่าน ศัพท์ เหมือนตำราเรียนภาษาจีนที่ให้คนต่างชาติเรียนภาษาจีน นักศึกษาทำแบบฝึกหัด แต่งประโยค ตอบคำถาม ลายมือดี แต่สำนวนภาษาในหนังสือค่อนข้างจะหวือหวาไปสักหน่อย เช่น หนาวเย็นจนโลหิตเยือกแข็ง เห็นแล้วมานึกถึงการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยสมัยก่อนที่เขาไม่ใช้แล้วในปัจจุบัน เช่น ขอต้อนรับท่านอย่างเอิกเกริกและเร่าร้อน อีกประการหนึ่งการสอนภาษานั้นจะให้อ่านสำนวนที่หวือหวาหน่อยก็ได้ แต่ต้องบอกให้ชัดว่าภาษาเช่นนั้นใช้ในโอกาสอะไร เรื่องนี้สอนกันยาก นักศึกษาและครูอาจารย์ที่นี่ดูเป็นคนกระตือรือร้นสนใจใฝ่รู้ดี ถ้านักศึกษาได้อ่านหนังสือภาษาไทยทั่วๆ ไปหรือดูหนังดูละครไทยมากหน่อยหรือให้อาจารย์ผู้ใหญ่ของไทยมาแนะนำแนวทางสักเล็กน้อยก็อาจจะเรียนภาษาได้เหมือนคนไทย ดูในห้องสมุดภาษาไทยซึ่งอยู่ในห้องพักครูมีหนังสือน้อยมาก ที่มีส่วนใหญ่เป็นวารสารและนิตยสารเช่น นาวิกศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เมืองโบราณ ค่อนข้างเก่า มีหนังสือวรรณคดี หนังสือแบบเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร หนังสืออื่นๆ เล็กน้อย ท่านรองผู้ว่าราชการมณฑลบอกว่าที่กวางโจวนี้มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยมาก เช่น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันศิลปะ ตัวเขาเองเรียนมาทางเคมีสาขาโพลิเมอร์ แต่ก่อนเคยเป็นประธานสภาวิทยาศาสตร์สาขากวางตุ้ง เดี๋ยวนี้ยังดูแลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี