<< Back
เฮยหลงเจียง
เศรษฐกิจ/สังคม/วัฒนธรรม
อิทธิพลของรัสเซียและความสัมพันธ์กับรัสเซีย
ข้าพเจ้าถามถึงเมืองชื่อเรียกยากในรัสเซียที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเฮยเหอ เปรียบเหมือนเมืองหนองคายกับเวียงจันทร์ เขาบอกว่าประชากรฝั่งรัสเซียมีน้อยกว่าฝั่งจีน การติดต่อกันสามารถใช้ได้ทั้งเงินหยวนจีน (RMB) เหรียญสหรัฐฯ และเงินรูเบิลของรัสเซียก็ได้ ข้าพเจ้าถามถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าว่าทำอย่างไร จะใช้อะไรเป็นหลักในการแลก ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นระบบแลกเปลี่ยนแบบสมัยโบราณที่เรียกว่า Barter โดยตรง แต่เป็นการตีค่าสินค้าสองฝ่ายเป็นเงินฟรังค์สวิส เหตุที่ใช้ฟรังค์สวิสเพราะสมัยก่อนการแลกเปลี่ยนต้องใช้เงินตราของประเทศที่ 3 เป็นตัวกำหนด ไม่ต้องการใช้เงินสหรัฐฯ ในกิจนี้จึงเลือกฟรังค์สวิส คนจีนขายอาหารการกิน พืชพันธุ์ธัญญาหาร น้ำตาล อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือ เสื้อผ้ามีจำนวนมาก ส่วนเครื่องจักรมีบ้างเล็กน้อย รัสเซียขายเครื่องจักรหนัก รถบรรทุกใหญ่ รถตักดิน เครื่องบิน วัตถุดิบคือเหล็กกับไม้ก็มี อีกอย่างหนึ่งคือปุ๋ยเคมี การเดินทางข้ามไปมาระหว่างกันสะดวกมีการอำนวยความสะดวกให้กัน บางทีแต่ละวันเดินทางไปถึง 400-500 คน การตรวจของศุลกากร 790,000 ครั้งต่อปี สินค้า 5 แสนตัน ช่วงนี้เป็นฤดูหนาวมีคนไปมาน้อย[8]
เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
รถแล่นเข้าเขตพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สะพานที่จะข้ามไปเกาะต้าเฮยเหอยังสร้างไม่เสร็จ
ไปถึงเขตพัฒนาความร่วมมือฯ คุณหวังเทียนสี่ ผู้อำนวยการเขตพัฒนาอธิบายว่าการพัฒนาบริเวณนี้มีแผนการดำเนินงานอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่า เนื้อที่ที่บุกเบิกเริ่มต้น 8.5 ตารางกิโลเมตร ช่วงที่สองอีก 15 ตารางกิโลเมตร ช่วงที่สามบุกเบิก 30 ตารางกิโลเมตร
ระยะแรกแบ่งเป็น 5 บริเวณดังนี้
1. บริการ 1.93 ตารางกิโลเมตร
2. บริเวณไฮเทค 1.5 ตารางกิโลเมตร
3. บริเวณอุตสาหกรรม 2.6 ตารางกิโลเมตร
4. เขตที่อยู่อาศัย 1.6 ตารางกิโลเมตร
5. เขตเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
เกาะนี้ห่างจากฝั่ง 80 เมตร ข้ามไปเมืองรัสเซีย 750 เมตร ยาว 2,750 เมตร กว้าง 380 เมตร มีงบประมาณพัฒนา 37 ล้านหยวน ขณะนี้สร้างสำเร็จคือ ศูนย์ร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาณาเขตประมาณ 7,000 ตารางเมตร มีที่จอดรถใต้ดิน ตลาดการค้าเนื้อที่ 14,000 ตารางเมตร จะสร้างรีสอร์ท มีวัตถุประสงค์ให้มีการค้าขายและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เขตพัฒนานี้ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1992
เริ่มสร้างถนนเข้ามาในเมืองและสร้างอาคาร 2 ข้างทาง สิ่งก่อสร้างพื้นฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว โครงหลังคาสร้างเสร็จแล้ว 57 โครงการ เชื่อว่าสิ้นศตวรรษนี้เขตพัฒนาจะสำเร็จบริบูรณ์เป็นเมืองใหม่ขึ้นมาอีกแห่ง และหวังว่าเมื่อเสร็จโครงการข้าพเจ้าจะมาอีก ให้ข้อมูลมา 3 ชุด
ไปเดินดูตลาด เขาว่ามาเช้าเกินไปหน่อยหนึ่ง พวกค้าขายจะมาสายกว่านี้ พวกรัสเซียมากัน 150-160 คน มาซื้อสินค้าจีน ได้เงินวันละประมาณ 8 แสนหยวน คนรัสเซียสนใจสินค้าจีน ถ้าคนไทยเอาของไทยมาขายก็ดี อยากจะต้อนรับพ่อค้าไทย เชื่อว่าคนรัสเซียจะชอบสินค้าไทย ข้าพเจ้าหันไปอีกทางเห็นคณะ “คนไทย” ทั้งหลายไม่ได้เอาของอะไรมาขาย แต่ก็ซื้อกันเป็นการใหญ่ คนรัสเซียที่ทองเห็นหน้าตาเป็นฝรั่ง ก็แปลกดี เพราะว่าข้าพเจ้าได้ไปภาคตะวันออกของรัสเซียมาแล้ว ไม่เห็นพบคนหน้าตาเป็นฝรั่งสักกี่คน ภาษาที่ใช้ในตลาดนี้ก็ใช้ทั้งภาษาจีนและภาษารัสเซีย วันนี้เป็นวันอาทิตย์ก็เลยมีคนมาน้อยไปหน่อย (อาจไม่ตื่น ข้อนี้ข้าพเจ้าสันนิษฐานเอาเอง) คนจีนเองก็มา ของที่ขายมีเสื้อผ้ามากที่สุด มีทุกประเภททั้งชุดหนา ชุดบาง ชายหญิง เด็กผู้ใหญ่ อาหาร ขนม เครื่องเขียนเครื่องสำอาง
เครื่องประดับ เห็นแปรงสีฟันจีนอันหนึ่งมีหัวเปลี่ยนได้ 5 หัว ทำนองว่าให้ใช้แปรงอันเดียวได้เป็นเดือนๆ หรือไม่ก็อันเดียวใช้ได้ทั้งครอบครัว มีคำอธิบายเป็นภาษาจีน อังกฤษ และเยอรมัน เขาว่าคนรัสเซียมาซื้อข้าวของกันที ใส่กระเป๋าใหญ่ 8 กระเป๋า มีรถขนส่งไปรัสเซียใช้เวลา 5 นาที ข้ามเรือก็ได้ (เฉพาะหน้าร้อน) ทิวทัศน์สวยงาม เขาจะต่อของกัน กดเครื่องคิดเลขบอกราคากัน กำลังเดินดูของคนรัสเซียเข้ามาทัก แต่แรกคุณหนิง (ผอ.กองแบบพิธี กรมพิธีการทูตจีน) รับอาสาจะแปลภาษารัสเซียให้ แต่พอเอาเข้าจริงหาคุณหนิงไม่เจอ ข้าพเจ้าพูดจีน ท่านทูตจางเหลียนเลยแปลให้ เป็นสุภาพสตรีสูงอายุ แต่งกายสวยงาม ดูมีฐานะดี ก่อนจะออกจากตลาดเห็นคนขายกับคนซื้อทะเลาะกัน หน้าดำหน้าแดงเป็นภาษารัสเซีย คนขายเสียงดังกว่า ยื้อแย่งหมวกขนสัตว์ใบหนึ่ง รู้สึกจะออกแรงเยอะ[9]
มรดกทางวัฒนธรรม
ไปวัดรัสเซีย เรียกตามภาษาจีนว่า ตงเจิ้งเจี้ยว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Eastern Orthodox Church หรือศาสนาออร์ธอดอกซ์ตะวันออก คำว่า “เจิ้ง” คือตรงๆ ไม่เปลี่ยนแปลงตรงกับคำว่า Orthodox มีพระบาทหลวงมาต้อนรับ พาเข้าโบสถ์ เรียกว่า เจี้ยวถัง และอธิบายว่าวัดนี้สร้างปี ค.ศ.1930 ศิลปะมาจากยูเครน ภาพ Icon (รูปเคารพทางศาสนา) ทั้งหลายมาจากมอสโก ระหว่างปี ค.ศ.1930-1932 บางรูป เช่น รูปแม่พระอายุถึง 100 ปี ขณะนี้มีสานุศิษย์ประมาณ 100 คน ชุมนุมกันสัปดาห์ละครั้ง ปีหนึ่งมีวันพิเศษ 12 วัน แท่นที่เห็นตั้งไว้สำหรับงานวันคริสต์มาส ซึ่งต่างจากวันคริสต์มาสปกติ ที่นี่เขาถือวันที่ 7 มกราคมเป็นวันคริสต์มาสตามปฏิทินแบบรัสเซีย (เรื่องปฏิทินนั้นรู้สึกจะสับสน เดิมใช้ปฏิทินจูเลี่ยนตามระบบที่ซีซาร์คิดไว้ สันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 มาแก้ในปี ค.ศ.1582 ในอังกฤษยอมรับในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ส่วนรัสเซียใช้หลังจากปฏิวัติบอลเชวิกแล้ว) ที่นี่เทศน์เป็นภาษาสลาฟ สวดมนต์ ร้องเพลงเป็นภาษาสลาฟทั้งนั้น มีแต่เคาะอะไรก็ไม่ทราบ ไม่มีเล่นดนตรี ถามท่านว่าคนฟังรู้เรื่องหรือ ท่านว่าก็มีแต่คนแก่ๆ อายุ 80-90 ปีกับลูกหลาน (น้อย) หลวงพ่อเองมาจากปักกิ่ง ชื่อจูชื่อผู่ มีอูยู่ท่านเดียวในฮาร์บิน รู้ชื่อหลวงพ่อ แต่ลืมถามชื่อวัด[10]
อาหาร
อาหารทำจากกวางเป็นส่วนมาก นับก็ไม่ถ้วนจดมาไม่ได้หมด มีเอ็นกวาง กวางตัวหนึ่งมีเอ็นที่ใช้ได้ 2 เส้น ผักจากป่าคล้ายๆ กับผักหวาน ไม่ทราบอะไรจีนเรียกว่ากว่างไช่ ลิ้นกวาง ตับกวาง เต้าหู้แบบเก่าทำแบบชาวบ้าน ไม่ได้ใช้เครื่องเขาว่าดีกว่าที่โรงงานทำ
เขาบอกว่าในยู่ฉวนนี้มีฟาร์มกวาง อวดว่ากวางของเขาดีกว่ากวางอเมริกาเพราะว่าไม่มีมลภาวะ ที่นี่มีนักท่องเที่ยวมาปีละกว่า 2 แสนคน มิถุนายนมาครั้งหนึ่ง หนีร้อนมาจากที่อื่นเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์มาอีกครั้ง จากนั้นก็ปิดป่าไม่ให้ใครเข้า มีต้นไม้ 20 กว่าชนิด น้ำพุยู่ฉวนใช้ทำเหล้าจากเกาเหลียง (ข้าวฟ่าง) มีโรงงานอยู่ใกล้ๆ นี้ เรียกกันว่าเป็นเหมาไถน้อย
รายการกวางต่อ ซุปหูกวาง หางกวาง เลือดกวาง หัวใจกวาง
ที่ผ่านมานี้เป็นเพียงออร์เดิฟ อาหารหลักก็หนีไม่พ้นสเต็กกวาง มีนกไก่ฟ้าย่าง (สัตว์อื่นเสียบ้างแต่ก็อยู่แถวยู่ฉวนนี่แหละ)
อาหารพิเศษของคนอีสาน (จีน) คือแผ่นถั่วเหลือง ใส่ผักชี ต้นหอม แล้วราดน้ำเค็มๆ คล้ายๆ น้ำจิ้มเป็ดปักกิ่ง ใส่ถั่วแดงด้วย วิธีทำแผ่นแบบนี้คือเอาน้ำเต้าหู้เทในเข่ง เอาผ้ากรองเป็นชั้นๆ รายการต่อไปคือเนื้อกวางผัดสับปะรด นกมังกรบินที่ฉางชุนบอกว่าเลี้ยงไม่ได้ แต่ที่นี่เขาบอกว่าเลี้ยงได้ แต่เลี้ยงยาก
เขาให้กินหน่อไม้เล็กๆ ตัวหนึ่งหนัก 3 ตำลึง มีขนที่ขา ที่พิพิธภัณฑ์วันนี้ก็มี แต่ไม่มีใครชี้ให้ดูก็เลยไม่ได้เห็น นกชนิดนี้เขาว่าไม่สวยงามแต่รสดี ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงอะไรเลยนอกจากเกลือก็อร่อย เป็นบรรณาการถวายจักรพรรดิพร้อมกับปลาหวาง
เห็ดจินซือ (เส้นด้ายทอง)
ก้อนอะไรก็ไม่ทราบทำจากแป้งข้าวโพดเรียกว่า วัวโถว มีประวัติว่าพระนางซูสีหนีพวกพันธมิตรที่บุกปักกิ่ง ซัดเซออกไปขออาหารชาวบ้าน ชาวบ้านก็ถวายขนมนี้ พระนางเสวยเข้าไปก็โปรด กลับวังก็เลยให้คนในวังทำถวาย
ผัดกระต่ายป่า แป้งข้าวเหนียวไส้ถั่วจิ้มน้ำตาล
ผักป่าแบบที่กินไปแล้วเรียกว่าหอมแตงกวา ชนิดนี้เรียกว่าขาลิง
ไก่ตุ๋นเห็ดชนิดหนึ่งมาจากภูเขาอร่อยมากคล้ายๆ กับเห็ดโคน ในภาคอีสานนี้เวลาลูกเขยไปเยี่ยมบ้านแม่ยาย แม่ยายจะทำให้รับประทาน ถามคุณก่วนมู่ว่าแม่ยายทำให้หรือเปล่า แม่ยายคุณก่วนมู่เป็นคนปักกิ่งก็เลยไม่มีเห็ดแบบนี้
กวางเปรี้ยวหวาน ข้าวต้มทำด้วยข้าวโพดใส่ถั่วแดง (เรียกว่าหยุนโต้ว) มันเทศชุบน้ำตาลเหนียวๆ ข้าพเจ้าเคยไปรับประทานที่สถานทูตจีนที่กรุงเทพฯ ต้องยืนดึงให้น้ำตาลออกมาเป็นเส้นยาวๆ จึงจะสนุกและอร่อย มันเทศนี้ปักกิ่งเรียกว่าไป๋สู่ ทางอีสานเรียกว่าตี้กวา
สรุปว่ากินแกงจืด 3 ชนิด คือ แกงจืดมังกรบิน แกงจืดกวาง และแกงจืดผักกาดเปรี้ยว อาหารวันนี้อร่อยดีทุกอย่าง[11]
งานน้ำแข็งแกะสลัก
เมื่อรับประทานเสร็จแล้วกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าให้หนาขึ้น และไปดูงานน้ำแข็งแกะสลัก น้ำแข็งที่ใช้สลักคัดมาจากแม่น้ำซงฮัว ที่นี้ทำมานานและเป็นระบบ มีอาคารถาวรเป็นของบริษัท ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 20 ต้องเตรียมงานครั้งหนึ่งนานถึง 6 เดือน มีบริษัทต่างๆ ให้เงินทุนสนับสนุนและได้โฆษณาสินค้าไปในตัว มีของขายหลายอย่าง มีที่ไว้สำหรับให้คนมาถ่ายรูป รูปน้ำแข็งแกะสลักที่ทำมีหลายอย่าง เช่น รูปบุคคลในประวัติศาสตร์ วรรณคดี สถานที่ เช่น ซูโจว อาคารใหญ่ที่สุดได้แก่รูปจำลอง St. Paul Cathedral ลอนดอน มีดอกไม้ไฟเทียม (ที่จริงเป็นไฟฟ้า) มีการแข่งแกะน้ำแข็งนานาชาติ สิงคโปร์ได้ที่ 2 การแข่งระหว่างคนเฮยหลงเจียงด้วยกัน เขาบอกว่าเขาเคยไปแสดงที่แคนาดาและสิงคโปร์ งานนี้ลงทุนไป 3.6 ล้านหยวน ได้กำไรกลับคืนเป็นเงิน 5 ล้านหยวนเศษ นอกจากนั้นยังมีที่แสดงผลงานของรัฐบาลในเฮยหลงเจียง แสดงโครงการต่างๆ ที่จะมีในอนาคต แบ่งเป็นเรื่องๆ เช่น การวางผังเมือง สร้างถนน ไฟฟ้าอุตสาหกรรมหนักเบา เกษตร ฯลฯ[12]
อ้างอิง
1. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 3
2. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง หน้า 69,70
3. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียงหน้า 5-9
4. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4หน้า 98
5. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4หน้า 100
6. ข้อมูลเรื่องปัญหาชายแดนระหว่างจีนกับรัสเซียมาจากเกล็ดหิมะในสายหมอก เล่มสี่ เฮยหลงเจียงหน้า 102-105
7. ข้อมูลทั้งหมดมาจาก เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง หน้า 10-21
8. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง
9. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียงหน้า 129-133
10. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง
11. ข้อมูลทั้งหมดมาจาก เกล็ดหิมะในสายหมอกเล่ม 4 เฮยหลงเจียงหน้า 1-85
12. เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง