Please wait...

<< Back

พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน


(น.12) รูป 11 เครื่องแต่งตัวชนเผ่า


รูป 12 ตารางแสดงสีย้อมผ้าจากพิช

(น.12) ข้างฝาติดกระโปรงพลีทของผู้หญิงเหมียวหรือม้ง ผ้าของชนชาติอี๋ในตู้มีรองเท้าของเด็กชาวอี๋ ผ้าใยกัญชงของพวกเหมียว การเขียนลายด้วยขี้ผึ้ง บางผืนก็เป็นแบบมัดย้อม ย้อมสีน้ำเงิน สีต่างๆ ที่ใช้ย้อมเท่าที่จดมาได้มีดังนี้
1. สีแดง ใช้พืช Rubia cordifolia
2. สีน้ำตาล ใช้พืช Juglans regia มันฮ่อ (ใช้เปลือก)
3. สีเหลืองเข้ม ใช้พืช Dalbergia hupeana จำพวกไม้พะยูงชิงชัน (ใช้เปลือก)
4. สีเหลือง ใช้พืช Coptis chinensis
5. สีน้ำเงิน ใช้พืชที่ภาษาจีนเรียกว่า เฮยสุยกว่อ แปลว่า ผลไม้ดำ
อีกอย่าง ใช้พืชที่จีนเรียกว่าต้าเตี้ยน ไทยเรียกว่า ต้นฮ่อม ที่ใช้ย้อมเสื้อม่อฮ่อม ขณะนี้การใช้สีธรรมชาติย้อมผ้ากำลังเป็นที่นิยม เพราะถือว่าเมื่อสวมใส่แล้วสีธรรมชาติไม่ทำให้ผิวเสีย การมัดผ้าและย้อมนั้นเขาว่ามีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ผ้าทอของชาติไต่และชนชาติจ้วง ลักษณะคล้าย


(น.13) รูป 13 ตุ๊กตาแสดงการแต่งกายของชนเผ่า


รูป 14 หมวกแบบต่างๆ

(น.13) ผ้าจกและผ้าขิด มีหลายลายแปลกๆ กว่าที่เคยเห็นและมีหลายสี ตุงผ้าลายต่างๆ ของชนชาติไต่ ผ้าห่มทำด้วยพืชจำพวกหญ้าชนิดหนึ่งเรียกว่าหญ้าไฟ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นพืชชนิดใด เขาบอกว่าข้างด้านหน้าใบเป็นสีขาวด้านหลังเป็นสีเขียว ไม่มีตัวอย่างให้ดู หมวกชนิดต่างๆ หลายขนาด มีตุ๊กตาขนาดเท่าคนจริง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของชนเผ่าต่างๆ ทั้ง 25 เผ่า มีป้ายติดไว้ว่าเป็นชนเผ่าอะไรบ้าง


(น.14) รูป 15 รูปวัวถูกเสืองับหาง มีวัวอีกตัวอยู่ใต้ท้อง

(น.14) ขึ้นไปชั้นบน มีเครื่องสำริดตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์กาล สมัยชุนชิวและสมัยจ้านกว๋อ มีภาพแสดงว่าเครื่องสำริดรุ่นแรกๆ ขุดพบพร้อมกับโครงกระดูกที่อำเภอเจี้ยนชวน คล้ายๆ กับว่าเป็นสิ่งของของผู้ตาย หรือของที่จะให้ผู้ตายนำไปใช้ในปรโลก ดูจากภาพถ่ายโครงกระดูก บางโครงฝังแบบนอนคุดคู้ บางโครงก็นอนเหยียดยาวนักวิชาการเชื่อว่าอยู่ในสมัยชุนชิวและสมัยจ้านหว๋อ มีการพบสุสานที่เต็มไปด้วยเครื่องสำริด เช่น เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพและอาวุธต่างๆ กลองมโหระทึกที่มีรูปภาพลอยตัว เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน กลองนี้มีขนาดเล็ก ข้าพเจ้ามองไม่ออกว่าเป็นรูปอะไรบ้าง ดูในคำอธิบายบอกว่ามีรูปนายทรมานทาส รูปคนจูงควาย ภาพจูงวัวควายแพะแกะไปบูชายัญเทพเจ้า หอยเบี้ยชนิดที่ใช้เป็นเงินมีอยู่มากมายในสุสาน คนอธิบายบอกว่าหอยชนิดนี้พบในมหาสมุทรแปซิฟิก ข้าพเจ้าคิดว่าที่มีอยู่มากตามสุสานย่อมเป็นเครื่องชี้บ่งว่ามีการติดต่อการค้ากันด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน และพวกที่อยู่บริเวณชายทะเลหอยเบี้ยเหล่านี้พบอยู่รวมกับโมราซึ่งเป็นหินมีค่าที่พบอยู่ในมณฑลยูนนานนี้เอง ใช้เป็นเครื่องประดับ ของบางอย่างมีลักษณะแปลกไม่เหมือนของที่พบในมณฑลอื่นๆ เช่น ร่ม รูปร่างคล้ายๆ ใบไม้ใหญ่ๆ ทำด้วยสำริด ของใช้ในชีวิตประจำวัน


(น.15) รูป 16 กลองมโหระทึกสำริด

(น.15) สลักลวดลายสวยงาม (สมัยจ้านกว๋อ) ที่แปลกคือภาชนะรูปวัว (วัวที่นี่มีมากและมักจะมีเขายาว) ที่หางมีเสือกระโจนขึ้นมางับหลัง ใต้ท้องมีวัวอีกตัว จะว่าเป็นลูกวัวก็ไม่ได้ เพราะว่ามีเขาเหมือนกัน คนอธิบายบอกว่าตั้งชื่อรูปสำริดนี้ว่าความรักของแม่ ข้าพเจ้ายังข้องใจว่าจะใช่หรือเปล่าแต่ก็ไม่ได้โต้แย้งอะไร ที่จังหวัดฉู่ฉยง ขุดพบของต่างๆ เป็นเครื่องสำริดสมัยจ้านกว๋อมีระฆังที่สันนิษฐานว่าสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องดนตรี เพราะมีขนาดต่างๆ กัน ตีแล้วน่าจะมีเสียงไพเราะกังวาน ของทั้งหมดที่ขุดพบบริเวณนี้มีประมาณ 100 กว่าชิ้น กลางห้องมีมโหระทึกสำริดขนาดต่างๆ มีที่เป็นกลองกบด้วย มีมาตั้งแต่สมัยชุนชิว คนอธิบายบอกว่าสมัยก่อนบางทีแยกไม่ออกระหว่างกลองกับหม้อข้าว ฟังดูแล้วเหมือนกับ “เครื่องดนตรี” ของวงดนตรีวงหนึ่งที่โฆษณาในโทรทัศน์


(น.16) รูป 17 รูปบ้านจำลอง สันนิษฐานว่าสร้างสมัยฮั่นตะวันตก


รูป 18 ทรงผมชาติต่างๆ ใครสนใจลอกเลียนแบบได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์

(น.16) รูปสำริดลอยตัวรูปวัวเขายาวมีอยู่มาก ขนาดต่างๆ รูปร่างแต่ละตัวตนดูแข็งแรงสมบูรณ์ดี สันนิษฐานว่าที่มีรูปวัวมากมายเช่นนี้ เพราะถือกันว่ามีวัวควายมากแปลว่าร่ำรวย นอกจากรูปวัวมีรูปหมูป่า รูปปลา รูปม้า มีขวดสำหรับใส่เครื่องเย็บ เครื่องมือที่ใช้ในการปั่นทอซึ่งก็มีปรากฏพบในสุสาน ภาชนะ-หีบเล็กๆ สำหรับใส่หอยเบี้ย รูปบ้านจำลองเล็กๆ สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยฮั่นตะวันตก บ้านจำลองนี้มีขนาดเล็กมาก แต่มีรายละเอียด ผู้อธิบายว่าเป็นภาพพิธีบูชายัญมนุษย์ ภาพการแต่งผมของชนชาติต่างๆ ในสมัยโบราณ เขาวาดภาพทรงผมเหล่านี้จากภาพจิตรกรรม ประติมากรรมโลหะ ทรงผมเหล่านี้บางทรงยังมีผู้นิยมทำ ส่วนบางทรงไม่เป็นที่นิยมแล้ว
กระต่าย เป็นหัวคทาของเจ้าเมือง
เครื่องประดับทำด้วยหยกลูกปัดหยก
เหรียญเงินเรียกว่า อู่จูเฉียน (Wuzhu-qian) เป็นเงินสมัยฮั่น


(น.17) รูป 19 ลงนามในสมุดเยี่ยม

(น.17) ภาพแผนที่โบราณแสดงว่ายูนนานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในแผนที่ราวปี 109 ก่อนคริสต์กาล ตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่น แวะดูร้านขายของที่ระลึก เลือกซื้อหนังสือเป็นบางเล่ม ไม่มีเวลาเลือกนาน ของที่ระลึกอื่นๆ มีพวกศิลปะชาวเขา ไม่ได้ซื้อ เพราะคิดว่าตอนไปเยี่ยมชนชาติต่างๆ คงมีขาย เมื่อดูเสร็จแล้วไปนั่งที่ห้องรับรอง มอบของขวัญให้แก่กันตามธรรมเนียม ในห้องนั้นประดับด้วยดอกไม้เมืองหนาวที่สวยงาม ปลูกในคุนหมิงนี้เอง (ออกนอกเมืองไปหน่อยหนึ่ง มีทั้งดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ ดอกแกลดิโอลัส ดอกคาร์เนชั่น เป็นต้น)

Next >>