Please wait...

<< Back

ฮ่องกง


(น.147) รูป 130 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์

(น.147) ปัญหาสังคมสมัยนั้นมีปัญหาการพนัน เล่นไพ่นกกระจอก มีโรงบ่อนเปิดมากขึ้น ปัญหาโสเภณี (เขาแสดงเอกสารขายลูกสาว ในสมัย ค.ศ. 1936) การสูบฝิ่น หลังจากเวลาทำงานแล้ว ผู้คนมีงานอดิเรกในการเล่นดนตรี (แสดงเครื่องดนตรีต่างๆ) ไปชอปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า Lane Crawford and Co. เดี๋ยวนี้ก็ยังมี ดูละคร ดูหมอดู โรงรับจำนำ สถานีรถรางขึ้น Victoria Peak เมืองฮ่องกง การปฏิวัติทางความคิด วิถีชีวิต และมุมมองใหม่ๆ ในเมือง (ค.ศ. 1894-1941) กล่าวถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น การเกิดโรคระบาด (กาฬโรค) การเช่า New Territories เป็นเวลา 99 ปี (มีการปักปันเขตแดนใน ค.ศ. 1898) การปฏิวัติใน ค.ศ. 1911 และผลของเหตุการณ์เหล่านี้ต่อการปฏิวัติทางความคิดและวิถีชีวิตในฮ่องกง และกล่าวถึงการพัฒนาด้านการขนส่ง การศึกษา และอุตสาหกรรมเบา ในช่วงการเปลี่ยนศตวรรษถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2


(น.148) รูป 131 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์

(น.148) แสดงระบบธนาคารของธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ธนาคารอื่นๆ มี Oriental Bank Corporation 1845, Chartered Mercantile Bank 1857, Standard Chartered Bank 1859 แสดงเหรียญเงินและธนบัตรต่างๆ บริษัทจาร์ดีนส์ และบริษัทเดนท์ ด้านชีวิตแบบดั้งเดิมของจีนก็ยังคงมีอยู่ เช่น ร้านขายยาจีน อายุ 100 ปี (ไปซื้อของจริงมาแสดง) ร้านไต้ฟ้าขายผ้า เสื้อยืดตราลูกไก่บนกล่องเขียนภาษาไทยด้วย ร่ม น้ำอบ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระติกน้ำ (ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นตอนเด็กๆ ทำด้วยสังกะสี เป็นลายดอกไม้ สีตุ้งแช่) ตะเกียง ยาสีฟันก้อน เครื่องเงิน เครื่องหวาย การยึดครองของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1941-1945) ในค.ศ. 1941 ฮ่องกงถูกญี่ปุ่นยึดครอง เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน เป็นช่วงที่คนฮ่องกงยากลำบากมาก มีรูปการบุกของญี่ปุ่น ทิ้งระเบิด สนามบินไคตั๊ก สิ่งของทหารญี่ปุ่น ของต่างๆ ตอนสงครามโลก พอญี่ปุ่นวางอาวุธ เปิดเพลงชาติอังกฤษอีก แสดงประกาศของญี่ปุ่นสมัยโชวะปีที่ 16 (ค.ศ. 1941)


(น.149) รูป 132 คุยกับคนไทยหน้าพิพิธภัณฑ์

(น.149) ฮ่องกงสมัยใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮ่องกงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกนิทรรศการแสดงความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นมหานครยุคใหม่ (มีเรื่องการบิน การปฏิรูปการเลือกตั้ง การปราบคอร์รัปชั่น มีรูปตำรวจโกงที่ถูกจับได้ ภัยธรรมชาติ อนาคตฮ่อกงกง ฯลฯ) ตอนหลังๆ นี้ดูอย่างเร่งรีบมากจนไม่รู้เรื่องเลย เห็นแต่ตอนท้าย เขามีส่วน Acknowledgement ซึ่งดีมาก คือแม้แต่ว่าเป็นนิทรรศการไม่ได้เป็นหนังสือก็มีการอ้างอิงว่า เรื่องและภาพที่นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ได้มาจากใคร เป็นมารยาทสากลที่เรามักจะละเลย เขาให้หนังสือมา 3 เล่ม เรื่อง The Maritime Silk Route (เหมือนที่ได้จากพิพิธภัณฑ์กวางโจว) เรื่อง Of Heart and Hands, Hong Kong’s Traditional Trades and Crafts, เรื่อง Gems of Liangzhu Culture


(น.150) รูป 133 ของที่ระลึกและแสตมป์


รูป 134 ของที่ระลึกและแสตมป์


รูป 135 ของที่ระลึกและแสตมป์


รูป 136 ของที่ระลึกและแสตมป์


(น.151) รูป 137 ของที่ระลึกและแสตมป์


รูป 138 ของที่ระลึกและแสตมป์

(น.151) ไปที่บ้านพักกงสุล พักผ่อน นพรซื้อแสตมป์ฮ่องกงและของที่ระลึกต่างๆ ไว้บ้าง ที่จริงเรื่องแสตมป์สงสัยว่าของขวัญ (ลูกชายจะซื้อได้เก่งกว่า) แล้วไปที่โรงแรมแชงกริลา พบคนไทย จากนั้นไปที่ท่าเรือที่เรือพระที่นั่งบริตาเนียเทียบอยู่ (รัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงรับรองก่อนหน้านี้)

(น.156) นอกจากการสอบความรู้จากหนังสือขงจื๊อแล้ว ยังให้บอกชื่อผู้ค้าฝิ่นและให้ชี้แจงวิธีหยุดยั้งการค้าฝิ่น พยายามจับฝิ่นรวมทั้งฝิ่นของชาวต่างประเทศโดยผ่านพ่อค้าจีน เขาพยายามมากที่จะไม่ก่อสงคราม พยายามเขียนจดหมายกราบทูลสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียไม่ให้ทรงสนับสนุนการค้าฝิ่นโดยให้เห็นแก่ศีลธรรม แต่ไม่ได้ผล เพราะว่าคนในอังกฤษก็ยังสูบฝิ่น พวกพ่อค้าฝิ่นทั้งหลายแหล่ต่างไปล้อบบี้สภาให้ต่อต้านมาตรการของจีน ตอนแรกสภายังไม่ประกาศสงครามกับจีน แต่ส่งกองทัพเรือไปจีนภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเรือยอช อีเลียต นายพลหลินขับไล่อังกฤษออกจากกวางตุ้ง มาเก๊า อังกฤษก็เลยไปที่ฮ่องกง หยุดการค้ากับจีน ช่วงนั้นอเมริกันเลยทำหน้าที่พ่อค้าคนกลางอย่างสบาย คนจีนที่ฮ่องกงก็ต่อต้านอังกฤษ สนธิสัญญานานกิง ค.ศ. 1842 (ตรงกับรัชกาลที่ 3) ข้อที่มีผลกับไทยอย่างหนึ่งคือ การยกเลิกการค้าผูกขาดแบบสิบสามห้าง ข้อนี้ทำให้ข้อได้เปรียบของไทยที่ค้าโดยตรงในระบบบรรณาการหมดไป ข้าพเจ้าเคยได้เห็นแผนที่โบราณที่ผู้รู้กำหนดอายุจากปีศักราชที่เขียนไว้ว่าอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเส้นทางการเดินเรือจากไทยถึงเทียนสิน และไปทางคลองใหญ่จนถึงปักกิ่ง กับอีกแผ่นหนึ่งแผนที่บริเวณอ่าวกวางตุ้ง มีที่ตั้งด่าน บ้านพักราชทูต และสิบสามห้าง แสดงว่าแผนที่นั้นต้องทำก่อนสงครามฝิ่น ได้ทราบว่ารัชกาลที่ 3 ทรงสดับตรับฟังข่าวคราวเรื่องการคุกคามของจักรวรรดินิยมในจีนอยู่สม่ำเสมอจากราชทูตและพ่อค้าที่ไปมาระหว่างระหว่างจีนและไทย

Next >>