<< Back
" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540 "
(น.102) รูป 107 นิทรรศการที่แสดงในสำนักงานชลประทาน
(น.103) รูป 108 นิทรรศการที่แสดงในสำนักงานชลประทาน
(น.103) เรื่อง Land Reclamation ต้องการศึกษากระแสน้ำเพื่อสร้างคันกั้นน้ำ ให้ดินมาเกาะ
เรื่องการวางแผนร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ศึกษาว่าร่องน้ำไหนเป็นร่องน้ำใหญ่
การศึกษาสภาพน้ำ สิ่งแวดล้อมของทะเลรอบเกาะฮ่องกง การวางแผนพัฒนาบริเวณมาเก๊า
สร้างฐานข้อมูลสำหรับการติดตามศึกษาเรื่องภัยน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำจูเจียง โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1980 มีการสำรวจภาคพื้นดินด้วย
การเขียนแผนที่ฝั่งทะเล เขียนเส้นระดับ บันทึกระบบน้ำ และฐานข้อมูลต่างๆ ใช้โปรแกรม Photoshop
ทำโมเดลทางคณิตศาสตร์ของบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำจูเจียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณตะวันตกของมาเก๊า โปรแกรมแสดงผลได้ทั้งเป็นภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง พิมพ์ออกทาเป็นรายงานได้
การศึกษาเรื่องกระแสน้ำที่ไหลเวียนของน้ำในอ่าว น้ำขึ้นน้ำลง เวลาที่กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง การ Calibrate เครื่องมือวัด
ดูเสร็จแลกเปลี่ยนของขวัญ คุณหวังลี่หยูให้รูปที่พบกันครั้งก่อน
(น.104) ดูจากหนังสือที่ให้มาเขามีโครงการต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่มาก เช่น เรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ทางชลประทานและผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
แต่ไม่มีเวลาอธิบาย ข้าพเจ้าคิดว่าคิดว่าจะบันทึกไว้เพียงเท่านี้ไม่เขียนเรื่องจากหนังสืออีก เพราะจะทำให้เรื่องยาวมาก ผู้ใดสนใจงานด้านนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าโครงการแม่น้ำจูเจียงเป็นโครงการที่เหมาะที่จะไปศึกษาดูงาน
เวลาทุ่มสิบห้านาทีไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารผันซี วันนี้เราเป็นเจ้าภาพเลี้ยงฝ่ายจีน มาดามเซี่ยเล่าว่า ภัตตาคารนี้เป็นภัตตาคารเก่าแก่ สมัยก่อนที่จีนจะเปิดประเทศ
ไม่มีภัตตาคารอื่น แขกไปใครมาก็จะเชิญมารับประทานอาหารที่นี่ อาหารที่นี่ก็ดี ข้าพเจ้าชอบมาก เขาเล่าว่ามีอาหารจากทั่วประเทศจีนด้วยทั้งจีนเหนือและจีนใต้
อาหารแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำติ่มซำ อาหารแช่แข็งส่งไปขายที่เสิ่นเจิ้นและส่งออก เหมาไถวันนี้ก็อร่อยมาก ได้ความว่าราคาถึงขวดละ 100 หยวน
อาหารมีหูฉลามตุ๋นไก่ ตะพาบผัดเป๋าฮื้อ กุ้งมังกรทอด ผัดผักจัดรวมเป็นรูปสัตว์ มะเขือยาวผัดปลาเค็ม กระจับตุ๋นโสม ปลาเก๋านึ่งซีอิ๊ว ตะพาบอบเกลือ ขนมต่างๆ และผลไม้
(น.104) รูป 109 อาหารที่ภัตตาคารผันซี
(น.105) นอกจากเมนูอาหารแล้ว เขาแจกรายการประวัติภัตตาคารว่า เขาจัดเป็นสวนอาหาร คือให้รับประทานอาหารในสวนแบบจีนตอนใต้ประดับด้วยศิลปะสมัยราชวงศ์ชิง ให้มีบรรยากาศสวน
มีต้นไทร ต้นหลิว มีสะพาน มีรูปเรือหินอ่อน หินสลักรูปสัตว์ ลำธาร กลิ่นดอกไม้ นกร้อง ฯลฯ มีที่พักเป็นโรงแรมในตัวด้วย
วันนี้มาดามเซี่ยชวนพูดภาษาเขมร รองเลขาธิการเฉาเจินเหวยเล่าว่าเขาเคยเรียนภาษารัสเซียอย่างจริงจัง ส่วนภาษาเยอรมันเป็นภาษาทางเทคนิคมีประโยชน์ต่อการเรียนของเขา ส่วนภาษาอังกฤษเรียนเอาเอง
วิธีฝึกหัดคือเขียนบันทึกประจำวันเป็นภาษาอังกฤษและเอาไปให้เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพัน์ของมณฑลช่วยตรวจให้ แล้วเอามาอ่านทบทวนอีกที
ข้าพเจ้าล้อเจ้าหน้าที่จีนเล่นว่ามาที่นี่จัดให้รับประทานทุกอย่างแล้ว ยังไม่เคยรับประทานแมวเลย เขาบอกว่าฤดูนี้เขาไม่รับประทานแมวกัน ถ้าจะรับประทานแมวจะต้องมาฤดูใบไม้ร่วง เคราะห์ดีไม่ต้องรับประทานแมว
ชาวจีนทางภาคใต้มีอาหารบำรุงร่างกายหลายอย่าง การรับประทานแมวก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คนไทยดูเหมือนจะไม่ค่อยรู้เรื่องเปิบแมว อาจารย์จุลชีพถามว่า ทำไมต้องกินแมวในฤดูใบไม้ร่วง
ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ จึงไปถามศาสตราจารย์เจียแยนจอง นักวิจัยรับเชิญประจำศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(น.106) อาจารย์เจียให้ข้อมูลว่า ชาวกวางตุ้งนิยมกินแมวเป็นอาหารบำรุง ภัตตาคารใหญ่ๆ ที่นครกวางโจวมีอาหารพิเศษที่เอาแมวและงู หรือแมว งู และไก่ มาปรุงเป็นซุป
ตั้งชื่อว่า “หลงหู่โต้ว” แปลว่า “มังกรสู้เสือ” หรือ “หลงหู่เฟิ่ง” แปลว่า “มังกรเสือหงส์” ซุปที่ปรุงแบบนี้มีที่ภัตตาคารใหญ่ๆ ในฮ่องกงด้วย
การรับประทานแมวนั้น คนจีนเชื้อสายกวางตุ้งถือว่าเป็นยาบำรุงร่างกายอย่างหนึ่ง ตำราซินแสจีนเชื่อว่า เนื้อแมวมีลักษณะร้อน สามารถขับความหนาวได้ หากในฤดูใบไม้ร่วงได้รับประทานอาหารที่มีลักษณะร้อน
เช่น แมว สุนัข ตุ๊กแก เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวร่างกายก็สามารถรับความหนาวของปีนั้นได้อย่างดี
ที่มณฑลยูนนานนั้นทราบว่า พวกจีนฮ่อบางคนก็รับประทานแมวด้วยเหมือนกัน แต่มิได้ปรุงเป็นซุปแบบ “มังกรสู้เสือ” หรือ “มังกรเสือหงส์”
เหมือนพวกชาวกวางตุ้ง และบางคนบอกว่า เนื้อแมวออกรสเปรี้ยว
ชาวจีนกวางตุ้งนิยมรับประทานอาหารแปลกๆ ที่ชาวจีนทั่วไปโดยเฉพาะพวกภาคเหนือไม่ค่อยรับประทานกัน จนมีการพูดเล่นกันว่า ชาวกวางตุ้งกิน “สัตว์ทุกอย่างที่มีปีกบินได้”
นอกจากเครื่องบิน กิน “สัตว์น้ำ” ทุกอย่างที่มีชีวิตในน้ำ ยกเว้นเรือดำน้ำ กิน “สัตว์ทุกอย่างที่มีสี่ขา” เว้นเก้าอี้เท่านั้น
เมื่อรับประทานเสร็จแล้วทางร้านขอให้เซ็นชื่อ แต่หมึกที่เอามาให้เขียนข้นเกินไปใช้ไม่ได้ เจ้าของร้านหันไปหยิบถ้วยเหมาไถของใครกฌไม่ทราบที่ดื่มไม่หมดมาผสมหมึก
ครั้งนี้เลยเป็นครั้งแรกที่เซ็นชื่อโดยใช้เหมาไถผสมหมึกแทนน้ำ
(น.107) กลับโรงแรม มอบของขวัญอำลาทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายไทย หลังจากนั้นอาจารย์สารสินกับประพจน์ไปร้านหนังสือกันอีก
เพราะร้านที่นี่ปิดห้าทุ่ม ข้าพเจ้าไม่ลงไป ทำกายบริหารอยู่ในห้องนั่นเอง เพราะว่ารับประทานอาหารเข้าไปมากแน่นท้องต้องขยับเขยื้อนบ้าง
อ่านหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ของวันนี้ในคอลัมน์ The Review
มีบทความของ Charmaine Chan และ Roger Lee เรื่อง Our Future by the Class of 97 เขาไปสำรวจความคิดเห็นของเด็กนักเรียนฮ่องกงเกี่ยวกับการกลับคืนไปเป็นของจีน เป็นข้อมูลที่น่าสนใจคือ
1. นักเรียนหญิงวัย 15 ปี กลัวว่าจะต้องร้องเพลงชาติจีนและร้องไม่เป็น ต้องพูดภาษาจีนกลาง แต่พูดไม่เป็น อยากไปอยู่เมืองจีน หลังจากฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแล้ว เพราะฮ่องกงคนมากเกินไปและอะไรๆ ก็แพงไปหมด
2. นักเรียนหญิงวัย 15 ปี มาตรฐานความรู้ภาษาอังกฤษนักเรียนฮ่องกงลดลง แต่มาตรฐานความรู้ภาษาอังกฤาของเด็กแผ่นดินใหญ่ดีขึ้น คนจีนแผ่นดินใหญ่ขยันทำงานมากกว่า มีความรับผิดชอบดี และยอมรับค่าแรงต่ำกว่า นายจ้างชอบจ้างคนแผ่นดินใหญ่มากกว่า
3. นักศึกษาวัย 18 ปี ไม่ทราบว่าโอกาสในการศึกษา และโอกาสในการทำงานของคนฮ่องกงจะถูกกระทบจากการที่นักศึกษาจากแผ่นดินใหญ่จะเข้ามาหรือเปล่า เด็กแผ่นดินใหญ่เรียนเก่ง ภาษาอังกฤษอาจจะไม่เก่งเท่าไร แต่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับวิชาอื่นบางวิชาเก่งกว่า
(น.108)
4. นักเรียนวัย 16 ปี เด็กเก่งจากแผ่นดินใหญ่จะมาฮ่องกง เด็กฮ่องกงอาจจะไม่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยเพราะว่าสู้ไม่ได้
5. นักเรียนหญิงวัย 16 ปี กลัวการที่จะต้องใช้ภาษาจีนกลางและอักษรจีนอย่างย่อ ครูบอกว่าจะต้องใช้ แต่ครูก็ไม่สอน แ
ต่ที่ดีคือเมื่อรวมกันแล้วอาจจะมีโอกาสดีขึ้นในการเลือกคู่ อาจจะได้แต่งงานกับคนปักกิ่งและอยู่ปักกิ่ง การเปลี่ยนแปลงอำนาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเพราะว่าจะภูมิใจได้ที่จะบอกใครๆ
ว่าเป็นชาวจีนจริงๆ การกลับคืนสู่จีนทำให้มีศักดิ์ศรีดีขึ้น เราต้องเชื่อมั่นในจีนปักกิ่งมากกว่านี้ นักการเมืองชอบบอกว่าอนาคตจะไม่มีเสรีภาพ ไม่เห็นด้วยเพราะรัฐบาลจีนสัญญาจะให้อิสรภาพหลังจาก
ค.ศ. 1997 อิสรภาพอย่างมีขอบเขตทำให้มีความสุขพอแล้ว ถ้ามีเสรีภาพมากเกินไปก็ไม่มีกฎระเบียบ
6. นักเรียนหญิงวัย 15 ปี ดีที่ที่โรงเรียนไม่สอนภาษาจีน ถ้าจะต้องแปลศัพท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เป็นภาษาจีนคงเข้าใจยาก
7. เด็กหญิงวัย 15ปี เนื้อหาในหนังสือเรียนจะถูกจำกัด เช่น คงจะไม่มีเรื่องเหตุการณ์วันที่ 4 มิถุนายน เพราะว่าเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องน่าอายสำหรับจีน หลักสูตรจะจัดให้ดีสำหรับประเทศจีน สอนแต่แนวคิดนิยมจีน ไม่อยากให้จีนมาควบคุมทุกอย่างในชีวิต แต่ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร
8. นักเรียนหญิงวัย 17 ปี กลัวว่าจะถูกบังคับให้เรียนแต่เรื่องจีนและให้รักจีน คิดว่าเรื่องแบบนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป และไม่เป็นการบังคับ
(น.109)
9. นักเรียนหญิงวัย 16 ปี ไม่อยากไปอยู่เมืองจีนเพราะไม่อยากขี่จักรยาน ไม่ชอบคนขากถุย หลังจากฮ่องกงกลับเป็นของจีนแล้วคงไม่เป็นไปอย่างนั้น เราจะรู้จักหวงแหนข้างของของเราเพราะเราจะรู้เรื่องความยากจนของจีนมากขึ้น
10. นักเรียนหญิงวัย 15 ปี คงจะอยู่สบายๆ ไม่ได้แล้ว เพราะคนจีนแผ่นดินใหญ่ยอมรับค่าแรงต่ำ สภาพการทำงานที่ไม่ดี ชั่วโมงทำงานยาว คนฮ่องกงคงแข่งขันไม่ได้และความเป็นอยู่ก็จะเลวลง
11. นักเรียนวัย 15 ปี ตั้งแต่เล็กๆ อยากจะเป็นนักกฎหมาย แต่ตอนนี้กลายเป็นความต้องการอันดับ 2 ไปแล้ว เพราะว่าจะต้องใช้ Basic Law กับกฎหมายจีน แทนกฎหมายอังกฤษ ถ้าจะเรียนกฎหมายต้องเรียนกฎหมายตั้ง 3 อย่าง ยากเกินไป
12. นักเรียนหญิงวัย 16 สนใจอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เด็กเพราะพ่อเป็น แต่ตอนนี้ต้องคิดหนัก เพราะคงจะต้องมีการจำกัดสิทธิของสื่อมวลชน เป็นนักธุรกิจดีกว่า
13. นักเรียนหญิงวัย 16 อยากเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ป. (ICAC ปราบปรามคอร์รัปชั่น) และอยากไปปราบคอร์รัปชั่นในจีน จีนจะได้เป็นประเทศที่ก้าวหน้า
14. นักเรียนชายวัย 17 ปี อยากเป็นหมอ คงไม่มีปัญหาอะไร นอกจากจะมีนักเรียนแพทย์เก่งๆ จากจีนมาแย่งงาน ทำให้ต้องแข่งขันกันมากขึ้น ที่ดีคือตัวเขาอาจจะมีโอกาสรักษาคนไข้โดยรวมวิธีการแพทย์แบบจีนกับทฤษฎีการแพทย์แบบตะวันตกเข้าด้วยกัน ฐานะของการแพทย์แผนจีนอาจจะดีขึ้นหลังจากการกลับคืนของฮ่องกง
(น.110)
15. นักเรียนหญิงอายุ 16 ปี เป็นการล้างความอัปยศของการเป็นอาณานิคมมานานกว่า 100 ปี เพิ่มความสามัคคี สร้างอนาคตที่ดีกว่าและสดใสกว่าสำหรับฮ่องกง
16. นักเรียนชายอายุ 17 ปี คนฮ่องกงไม่มีใครสนใจเรื่องชาตินิยม เพราะว่าบนแผนที่เขียนว่า ฮ่องกง (UK) ไม่รู้จะรักชาติจีนหรือชาติอังกฤษดี
17. นักเรียนวัย 17 ปี การกลับคืนของฮ่องกงทำให้คนรักชาติขึ้น
18. นักเรียนชายวัย 17 ปี ตอนนี้เราเป็นคนจีนจากฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 เราจะเป็นคนฮ่องกงจากจีน คนทั่วไปอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องนามธรรม ความหมายแท้จริงก็คือถึงเราจะเป็นส่วนหนึ่งของจีนทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และการเมือง แต่เชื่อว่าคนจีนกับคนฮ่องกงยังแยกส่วนกันในอนาคต
19. นักเรียนหญิงวัย 16 ปี พ่อบอกเสมอๆ ว่าหลังจากการกลับคืนเป็นของจีนแล้วจะไม่มีเสรีภาพ จะไม่อนุญาตให้เดินขบวน เผาธงชาติก็ไม่ได้
20. นักเรียนหญิงวัย 15 ปี จะต้องพยายามปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ คิดว่าการเดินขบวนและเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชนจะถูกจำกัด คนเราน่าจะมีสิทธิในเรื่องเหล่านี้
21. นักเรียนหญิงวัย 15 ปี เวลามีการเดินขบวน รัฐบาลจะส่งกองทัพมาปราบ ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลจะถูกปลุกเร้า และจะมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ก็จะเกิดจลาจล
(น.111)
22. นักเรียนหญิงวัย 15 ปี คงจะต้องเปลี่ยนชีวิต ต้องพูดจีนกลาง แต่งตัวตามแฟชั่นก็ไม่ได้ เพราะพนักงานรัฐของจีนเป็นพวกอนุรักษ์นิยม
23. นักเรียนหญิงวัย 16 ปี พอกลับคืนสู่จีนแล้ว การก่อสร้างในเมืองจะเปลี่ยนไป จะมีทางจักรยานมากขึ้นเหมือนเมืองจีน เราควรจะหัดขี่จักรยานและมีจักรยานกันคนละคัน เพราะคนส่วนมากในจีนขี่จักรยาน เราคงจะต้องมีผ้าพันคอสีแดงเป็นเครื่องแบบ
24. นักเรียนหญิงวัย 16 ปี จะมีคนมาจากแผ่นดินใหญ่มากขึ้นคนจะแน่นมากขึ้นในฮ่องกง จะมีคนที่หางานทำไม่ได้ ก็จะขโมย
25. นักเรียนวัย 15 ปี คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คงยังต้องไปเรียน 8 โมงเช้า ทนเรียนเรื่องน่าเบื่อเป็นชั่วโมงๆ ฟังครูใหญ่พูดตอนเช้าก็จะบ้าตายอยู่แล้ว แต่จะต้องร้องเพลงชาติอีกหลังกลับเป็นของจีน ก็ดีจะได้ภูมิใจได้ว่าเป็นคนจีนและรักชาติ
อาจจะลอกมายาวเกินไปหน่อยแต่ความเห็นเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นแนวทางว่าผู้ปกครองฮ่องกงต่อไปควรจะมีแนวทางในการสร้างความเข้าใจให้คนฮ่องกง และปฏิบัติอย่างไรไม่ให้คนฮ่องกงที่พร้อมจะภูมิใจในความเป็นจีนรู้สึกผิดหวัง หรือหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้อย่างไร