Please wait...

<< Back

"คืนถิ่นจีนใหญ่ วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2540 "


(น.152) รูป 139 บัตรเชิญขึ้นเรือบริตาเนีย

(น.152) ข้าพเจ้าถือบัตรเชิญขึ้นไปบนเรือ เจ้าหน้าที่บนเรือเขาถามชื่อและหาที่นั่งให้ ช่วงแรกก็ดื่มโน่นนี่ คุยกับคนโน้นคนนี้ไปก่อน ได้ทราบจากนายทหารเรือที่ออกมาช่วยดูแลแขกว่า ครั้งนี้เห็นจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่เรือบริตาเนียจะออกปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นเรื่องเศร้าของเขา เรือนี้ประจำการมา 45 ปีแล้ว ที่จริงก็ยังไม่เคยฉีกหน้าไปตายที่ไหนหรือไปไหนไม่ทันเวลาเลย แต่ว่าค่าบำรุงรักษาแพง เปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ หลายครั้งแล้ว อาจจะแพงกว่าซื้อใหม่เสียด้วยซ้ำ กว่าจะซื้อใหม่ได้คงจะอีกสัก 3 ปี เขาพูดถึงว่าได้ไปแวะเมืองไทยที่กรุงเทพฯและภูเก็ต

(น.153) รับประทานอาหารนั่งอยู่ข้างๆ The Right Honourable William Hague ผู้นำฝ่ายค้านของอังกฤษ และ The Honourable Ikeda รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ท่านเล่าเรื่องเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ อันเกิดจากการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ข้าพเจ้าว่าขณะนี้ไทยมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในลักษณะนี้ คุณเฮ้กว่าจะคิดว่าไม่ดีอย่างไร ความเติบโตทางเศรษฐกิจดีมาก พูดเรื่องเศรษฐกิจก็ต้องนิ่งไป ได้พบกับ Baroness Thatcher และ Governor Chris Petten เขาเล่าว่าพ้นจากตำแหน่งแล้วจะไปเขียนหนังสือเกี่ยวกับเอเชีย Mrs. Kamala Sinha ซึ่งเป็น Minister of State for External Affairs เล่าถึงเรื่องการประชุมความร่วมมือ BISTEC (การประชุมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย) ที่เพิ่งจัดขึ้น และการประชุมองค์การร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ (SAARC) ที่เพิ่งจัดขึ้นที่กรุงมาลี ประเทศมัลดีฟส์ มีสาระสำคัญในการประนีประนอมระหว่างประเทศอินเดียและปากีสถาน พบประธานาธิบดีฟิจิและภริยาซึ่งข้าพเจ้าเคยไปพบเมื่อไปฟิจิ ท่านทั้งสองเดินทางมาผ่านทางซิดนีย์ ประธานวุฒิสภาฝรั่งเศส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีโคลัมเบีย แขกที่มาในงานทั้งหมดมีประมาณ 40 กว่าคน (ดูจากรายชื่อ) แต่ว่าไม่ได้คุยสนทนาด้วยเพราะว่าเขาพูดธุระกันยุ่งไปหมด เราไม่ได้มีธุระจำเพาะก็ไม่อุตสาหะพูดกับใครเป็นพิเศษ เช่น เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Secretary Madeleine Albright) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ รัฐมนตรี

(น.154) ว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ และอดีตรัฐมนตรีหลายท่าน บางคนเห็นแต่ในรายชื่อแขก ไม่เห็นตัวด้วยซ้ำ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์นั้นข้าพเจ้าก็ได้ถวายคำนับครั้งเดียวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่านทอดพระเนตรเห็นเท่านั้น หลังอาหารวงโยธวาทิตของนาวิกโยธินอังกฤษ (Royal Marine) แสดงบนฝั่ง รายการนี้ถ้าฝนตกก็อดดู เคราะห์ดีที่รับประทานอาหารเสร็จฝนก็หยุดตกพอดี วงโยธวาทิต (Marching Band) นี้มากัน 26 นาย เล่นบนฝั่ง เรายืนดูที่กราบเรือ ข้าพเจ้ามีกล้องถ่ายรูปเล็กๆ ติดกระเป๋ามาแต่ไม่กล้าถ่าย เพราะว่าบนเรือไม่มีใครเขาถ่ายรูปกัน ช่างภาพของวังสักคนก็ไม่มี เดี๋ยวใครจะตำหนิได้ว่าทำรุ่มร่ามไม่เรียบร้อย ข้างล่างตั้งอัฒจันทร์อะลูมิเนียมแบบที่นักเรียนนั่งดูกีฬา ถ่ายรูปด้วยกล้องปัญญาอ่อนบ้าง ที่นั่งอยู่ก็ไม่ทราบเป็นใคร หน้าตาไม่เป็นสื่อมวลชน เหมือนกับเป็นเด็กๆ มีทหารเรือถ่ายวิดีโอเอาไว้ วงโยธวาทิตเล่นเพราะมาก ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ฟังเขาเล่นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ครั้งแรกเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธเสด็จฯ เยือนไทยเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1971 ได้ไปรับพระราชทานเลี้ยงตอบแทน (Return banquet) ในเรือบริตาเนียนี้ และได้ฟังดนตรี ไม่รู้สึกว่าเพราะสักเท่าไร เขาเล่นเพลงอะไรบ้างก็ไม่ค่อยรู้จัก นอกจากเดินสวนสนามให้ดูแล้ว ยังมีการแสดงเดี่ยว horn ยาวๆ (ไม่ทราบเรียกว่าอะไรเป็นพิเศษ แต่เป็นเสียง horn) 2 เครื่อง มีเพลงหนึ่งมีคนเดี่ยวปี่สก็อต ประกอบวงโยธวาทิต นายทหารเรือท่านหนึ่งอธิบายว่าเป็นเพลง Highlander

(น.155) Song เป็นเพลงประจำหน่วยทหารสก็อต เรียบเรียงเสียงประสานใหม่สำหรับงานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชชนนี (Queen Mother) เสียงไพเราะจับใจ อีกเพลงหนึ่งเป็นเพลงในมหาอุปรากรเรื่อง Aida สุดท้ายเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี God Save the Queen’ กลับบ้านไปโทรศัพท์ที่แชงกริลาได้พูดกับ Lady Wilson จะขอพบ Lord และ Lady Wilson แต่ตรวจสอบกันแล้วเราต่างมีกำหนดการ เขาต้องไปให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้ว่าราชการเก่า และไปบริติชเคาวน์ซิล ข้าพเจ้าว่าไปพบกันที่งานก็แล้วกัน เขาว่างานมีคนเป็นพันๆ หมื่นๆ จะไปหากันพบได้อย่างไร มาคิดถึงเรื่องที่ได้พบได้เห็นวันนี้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเผชิญหน้าจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้จะไม่ต้องตกเป็นอาณานิคม พวกฝรั่งสาละวนกับการทำสงครามนโปเลียนจนถึง ค.ศ. 1815 ได้ชัยชนะแล้ว จึงออกมาทางตะวันออกอีก คราวนี้ได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วจึงมีกำลังมาก เข้ามาในจีน (ต่อมาจึงเข้ามาในไทยโดยนายครอฟอร์ดมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และนายเบอร์นีเข้ามาในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ) อังกฤษเห็นกำไรที่จะค้าฝิ่น ข้าราชการจีนหลายคนเห็นภัยของฝิ่นดังที่กล่าวแล้ว นายพลหลินที่ปราบฝิ่นนั้นเป็นสมาชิกของสถาบันฮั่นหลิน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อแต่โบราณ มีหน้าที่สอบผู้ที่จะเข้ารับราชการ เขาตรวจสอบว่านักศึกษาที่มาสอบจะต้องไม่สูบฝิ่น

(น.156) นอกจากการสอบความรู้จากหนังสือขงจื๊อแล้ว ยังให้บอกชื่อผู้ค้าฝิ่นและให้ชี้แจงวิธีหยุดยั้งการค้าฝิ่น พยายามจับฝิ่นรวมทั้งฝิ่นของชาวต่างประเทศโดยผ่านพ่อค้าจีน เขาพยายามมากที่จะไม่ก่อสงคราม พยายามเขียนจดหมายกราบทูลสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียไม่ให้ทรงสนับสนุนการค้าฝิ่นโดยให้เห็นแก่ศีลธรรม แต่ไม่ได้ผล เพราะว่าคนในอังกฤษก็ยังสูบฝิ่น พวกพ่อค้าฝิ่นทั้งหลายแหล่ต่างไปล้อบบี้สภาให้ต่อต้านมาตรการของจีน ตอนแรกสภายังไม่ประกาศสงครามกับจีน แต่ส่งกองทัพเรือไปจีนภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเรือยอช อีเลียต นายพลหลินขับไล่อังกฤษออกจากกวางตุ้ง มาเก๊า อังกฤษก็เลยไปที่ฮ่องกง หยุดการค้ากับจีน ช่วงนั้นอเมริกันเลยทำหน้าที่พ่อค้าคนกลางอย่างสบาย คนจีนที่ฮ่องกงก็ต่อต้านอังกฤษ สนธิสัญญานานกิง ค.ศ. 1842 (ตรงกับรัชกาลที่ 3) ข้อที่มีผลกับไทยอย่างหนึ่งคือ การยกเลิกการค้าผูกขาดแบบสิบสามห้าง ข้อนี้ทำให้ข้อได้เปรียบของไทยที่ค้าโดยตรงในระบบบรรณาการหมดไป ข้าพเจ้าเคยได้เห็นแผนที่โบราณที่ผู้รู้กำหนดอายุจากปีศักราชที่เขียนไว้ว่าอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเส้นทางการเดินเรือจากไทยถึงเทียนสิน และไปทางคลองใหญ่จนถึงปักกิ่ง กับอีกแผ่นหนึ่งแผนที่บริเวณอ่าวกวางตุ้ง มีที่ตั้งด่าน บ้านพักราชทูต และสิบสามห้าง แสดงว่าแผนที่นั้นต้องทำก่อนสงครามฝิ่น ได้ทราบว่ารัชกาลที่ 3 ทรงสดับตรับฟังข่าวคราวเรื่องการคุกคามของจักรวรรดินิยมในจีนอยู่สม่ำเสมอจากราชทูตและพ่อค้าที่ไปมาระหว่างระหว่างจีนและไทย (น.157) ในเมืองไทยทูตต่างๆ ที่มาจากอังกฤษก็ล้วนแต่พยายามแพร่ขยายการค้าฝิ่นเข้ามาในประเทศ แต่ไทยเรามีนโยบายต่อต้านการค้าและการสูบฝิ่นที่เข้มงวดมาตั้งแต่อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ คือสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ปลายรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงสมัยที่อังกฤษได้ชัยชนะในสงครามฝิ่นแล้ว อังกฤษส่งทูตเข้ามาอีกคนหนึ่งคือ เซอร์เจมส์ บรุก มีนโยบายข่มขู่ไทยแบบเดียวกับที่เคยขู่และทำร้ายจีนสำเร็จมาแล้ว แต่เคราะห์ดีที่รัฐบาลอังกฤษยังไม่สนใจไทยเนื่องจากยังมีภาระทางอื่น รอจนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ไทยเปลี่ยนนโยบายฝิ่นเป็นการอนุญาตให้มีเจ้าภาษีฝิ่น เนื่องจากคนจีนเข้ามาในไทยมากขึ้นเพื่อมาหางานทำ หนีภัยธรรมชาติ ภัยจากสงครามฝิ่น และกบฏไท่ผิง เมื่อเข้ามาแล้วก็นำนิสัยชอบสูบฝิ่นมาด้วย ไทยเห็นว่าถ้ามีพวกอั้งยี่ประมูลภาษีฝิ่นแล้วก็จะดูแลปราบปรามกันเอง จำกัดฝิ่นให้อยู่ในวงแคบ เมื่อเซอร์จอห์น เบาริงเข้ามาเป็นทูตทำสัญญาเบาริง ทำให้ไทยเสียรายได้ในการค้า เนื่องด้วยเก็บเงินได้แค่ภาษีร้อยชัก 3 ภาษีฝิ่นจึงเป็นรายได้สำคัญอย่างหนึ่ง รัฐบาลไทยออกกฎหมายไม่ให้คนไทยสูบฝิ่น คนไทยที่อยากสูบฝิ่นที่โรงยาฝิ่นต้องปลอมตัวเป็นคนจีนไว้เปีย ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนเป็นรัฐบาลผูกขาดฝิ่นเอง เมื่อองค์การระหว่างประเทศแบบเป็นทางการ เช่น องค์การสันนิบาตชาติ องค์การสหประชาชาติ มีนโยบายต่อต้านฝิ่น ฝิ่นจึงเป็นของผิดกฎหมายไปทั่วโลก ช่วงนี้เรื่องของประเทศจักรวรรดินิยม

(น.158) ขายฝิ่นไม่มีอีกแล้ว ภายนอกประเทศไทยพวกกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ปลูกฝิ่นค้าฝิ่นเพื่อหาทุนทำกิจกรรม เช่น การกู้ชาติ อยู่ไปอยู่มาก็สนใจเรื่องค้าฝิ่นมากกว่ากู้ชาติ ประเทศไทยเริ่มมีการปลูกฝิ่นมากขึ้นบริเวณป่าเขาทางภาคเหนือของไทย แถมยังมีการแปรรูปฝิ่นเป็นเฮโรอีน รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ออกกฎหมายห้ามการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด เมื่อ พ.ศ. 2502 ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเชียงใหม่เมื่ออายุประมาณ 7 ปี และภายหลังได้ไปทุกปี ได้ทราบว่าได้เสด็จเยี่ยมประชาชนทั้งบนเขาและพื้นที่ราบ พบปัญหาเรื่องฝิ่น คนปลูกฝิ่นนั้นยากจน และมักจะสูบเองด้วยยิ่งทำให้มีสุขภาพเสื่อมโทรม มีการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เสียสิ่งแวดล้อม มีแต่คนรับซื้อเอาไปขายที่ร่ำรวย ถึงจะจนแต่ฝิ่นนี้ปลูกแล้วมีตลาดที่แน่นอนกว่าทำอย่างอื่นจึงเลิกไม่ได้ จึงทรงเริ่มการช่วยเขาเหล่านั้นให้ปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ที่จะทำรายได้ดี และช่วยในเรื่องวิชาการและการตลาด เป็นที่มาของโครงการหลวง เท่าที่ทราบไม่ทรงเห็นด้วยกับการไปทำลายไร่ฝิ่นโดยไม่มีอะไรทดแทน เรื่องยาเสพติดนี้ก็แปลก เป็นเรื่องอันตราย และกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดหนักกว่าอย่างอื่น แต่ว่าประเทศเพื่อนบ้านยังว่าไทยลงโทษไม่หนักพอ ครั้นเราจับชาวต่างประเทศที่กระทำความผิด ก็มีองค์การต่างประเทศมาพยายามช่วยเหลือ รัฐบาลประเทศของผู้ถูกจับก็มาเรียกร้องให้ปล่อย หรือจะเอาตัวไปลงโทษเอง การเอาผู้ร้ายไปดูแลในประเทศของตนก็น่ายุติธรรมดี เพราะเป็นการร่วมกันทำหน้าที่เพื่อโลก แต่ก็ยังมีผู้ตำหนิว่าการมอบผู้ร้ายข้ามแดนเป็นการหงอกลัวฝรั่ง เป็นการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ฉะนั้นถึงแม้ว่าจะพ้นสมัยจักรวรรดินิยม การล่าอาณานิคมแล้ว เรื่องยาเสพติดก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ เพิ่งนึกออกวาที่เขียนออกจะยาวไป แต่ว่าการมานอนอยู่ฮ่องกงในคืนนี้ ทำให้คิดไปถึงว่าฮ่องกงกลายเป็นของอังกฤษไปก็ด้วยเรื่องฝิ่น และเรื่องฝิ่นก็เกี่ยวข้องกับเมืองไทยมากเช่นกัน เห็นจะต้องหยุดไว้แค่นี้ พรุ่งนี้จะเป็นวันที่ยาวมากทีเดียวสำหรับข้าพเจ้า


(น.160) รูป 140 ทุกคนเขียนไปรษณียบัตรถึงตัวเอง ติดแสตมป์ที่มีรูปควีน


รูป 141 แสตมป์รูปควีน