Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2540 "


รูป 150 ดอกไม้ป่า


(น.167) รูป 151 ดอกไม้ป่า

(น.167) เดินวันนี้กำลังสบาย อากาศไม่ร้อนเกินไป ทางเดินก็สะอาดดีได้ความว่ามีเจ้าพนักงานของอุทยานทำความสะอาดในวันจันทร์วันเสาร์และวันอาทิตย์สกปรกมากที่สุดเพราะคนไปเที่ยวมาก ขึ้นไปบนเขา มองลงมาเห็นสถานที่ต่างๆ เช่น บริเวณที่ตั้งบริษัทต่างๆ ที่ตั้งบ้านเรือนที่พักของผู้มีเงินอยู่ด้านตะวันตกของเกาะ ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย สวนสาธารณะ หรือสถานที่หย่อนใจต่างๆ อ่างเก็บน้ำที่นำน้ำที่มาจากจีนมาเก็บไว้ ขณะนี้สิ่งก่อสร้างก็เพิ่มมากไม่ทราบว่าอีกหน่อยรัฐบาลจะยอมให้ใช้ที่ซึ่งปัจจุบันเป็นอุทยานเป็นที่ก่อสร้างหรือไม่ ปัจจุบันนี้ที่ก่อสร้างได้ก็เหลือน้อย และแพงมาก (ที่เป็นภูเขาและอุทยานเสียมาก) หวังว่าเขาจะเก็บไว้เป็นอุทยานให้คนมีที่ออกกำลังกายรักษาสุขภาพต่อไป


(น.168) รูป 152 ทางแยกระหว่างเส้นทางวิลสันและเส้นทางฮ่องกง


(น.169) รูป 153 ไปถึงเหมืองเก่า

(น.169) นอกจากนั้นตามทางเดินยังมีเสาบอกระยะทางเอาไว้ทุก 50 เมตร เพื่อคนที่เดินเล่นเกิดป่วยหรือมีปัญหาอะไรจะได้โทรศัพท์บอกให้คนอื่นมาช่วยสามารถอธิบายได้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน เช่น อยู่ที่เสา H 054 วิธีนี้ข้าพเจ้าได้ยินว่าเริ่มมีคนคิดว่าจะทำในเมืองไทย เช่น ที่สวนลุมพินี เดินไปถึงส่วนหนึ่งของเส้นทางฮ่องกง เป็นทางเดินรอบเกาะ ก่อนจะกลับฝนตก ยังดีที่เดินเกือบถึงที่หมาย ก่อนจะถึงเราเดินผ่านเหมืองหินเก่า

(น.170) กลับบ้านเพื่ออาบน้ำแต่งตัวไปกาชาด ฟังวิทยุมีข่าวว่ามีคนนิยมจีนจะไปบังคับให้นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ของอังกฤษขอโทษที่ย่ำยีประเทศจีนในสงครามฝิ่น แต่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจเพราะเป็นคนหมู่น้อย คนที่ประท้วงจีนก็ไม่มีใครสนใจเช่นกัน ก็ดีแล้ว ทุกอย่างเป็นเรื่องในอดีต ปัจจุบันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะการร่วมมือกันในการปรับปรุงบ้านเมืองให้ดี เดินทางไปกาชาดฮ่องกง กาชาดฮ่องกงนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1950 เป็นสาขาของกาชาดอังกฤษ แต่มีอิสระในการบริหาร และจัดการเงินเอง วัตถุประสงค์ของกาชาดฮ่องกงก็เหมือนกับกาชาดของประเทศต่างๆ โดยทั่วไปคือ ช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจากสงครามและภัยพิบัติต่างๆ ปรับปรุงสุขภาพ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและช่วยขจัดความทุกข์ยากของประชาชนทั่วโลก กิจกรรมภายในฮ่องกง ได้แก่ การบรรเทาสาธารณภัย การรับบริจาคโลหิต การให้ยืมเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์ จัดตั้งกลุ่มยุวกาชาดและอาสากาชาด อุปถัมภ์โรงเรียนและสถานสงเคราะห์คนพิการ 5 แห่ง กิจกรรมระหว่างประเทศ มีอาทิ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมและแข่งขัน Asia Pacific Regional First Aid Competition and Workshop ครั้งแรกที่ฮ่องกงใน ค.ศ. 1995 ส่งอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในภูมิภาค เช่น ในฟิลิปปินส์ ลาว จีน ญี่ปุ่น และไทย ปัจจุบัน Mrs. Betty H. P. Tung ภริยาของ Chief Executive ของ HKSAR เป็นผู้อำนวยการกาชาดฮ่องกง


(น.171) รูป 154 เยี่ยมโรงเรียนสอนเด็กพิการของกาชาดฮ่องกง

(น.171) Princess Alexandra Red Cross Residential School ที่ Kwun Tong ฝั่งเกาลูน ที่เรามาเยือนนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาการศึกษา สุขภาพและทักษะสำหรับคนพิการ หรือมีปัญหาที่ไม่สามารถเข้าโรงเรียนปกติได้ กาชาดฮ่องกงเริ่มตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 รับเด็กพิการกำพร้า หรือเด็กพิการที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้จำนวน 60 คน จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา 3 ห้องเรียน กรมประชาสงเคราะห์ฮ่องกงสนับสนุนด้านการเงิน ปีต่อมาจึงจดทะเบียนเป็นโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้อุดหนุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าใช้จ่ายของนักเรียนประจำ อีก 20 ปีต่อมาจึงขยายการศึกษาถึงระดับมัธยม ปัจจุบันนี้มีนักเรียน 180 คน เป็นนักเรียนประจำครึ่งหนึ่ง มีชั้นเรียน 18 ห้อง ตั้งแต่ชั้นเตรียมประถมไปจนถึงชั้นมัธยม นักเรียนทั้งหมดเป็นคนพิการทางกายหรือพิการทางสมอง นอกจากให้การศึกษาแล้ว ยังบำบัดรักษาเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนปรับตัวเข้ากับสังคม ฝึกอาชีพ และสามารถเรียนต่อระดับสูงได้

(น.172) เมื่อข้าพเจ้าไปถึง มีพวกกาชาดคอยต้อนรับอยู่ รองผู้อำนวยการคือ Mrs. Patricia Ling เลขาธิการกาชาดคือ Ms. Christine Fang มีเจ้าหน้าที่กาชาดอีกหลายคน รวมทั้งอาจารย์ของโรงเรียนเด็กพิการ ส่วนใหญ่คนที่ทำงานกาชาดจะเป็นอาสาสมัคร มีงานการอื่นๆ หลายอย่าง ทำงานกาชาดเป็นการกุศลเพิ่มมาอีกอย่าง ได้พบเพื่อนเก่าคือสองพี่น้องตระกูลโอวหยัง (Alvin Owyang และ Ivan Owyang) ข้าพเจ้าตามหาเขาไม่พบเพราะว่าเขาย้ายบ้าน พอดีมีอาสากาชาดชื่อป้าเบตตี้รู้จักกับครอบครัวนี้เลยนัดกันได้ อัลวินกับไอเวิ่นบอกว่าจะมาเดินกับข้าพเจ้าตอนไปเส้นทางเดินแมคเลโฮส เมื่อเดือนกันยายน-ตุลาคมปีที่แล้ว เรามีการประชุมกาชาดอาเซียน มีประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนมาร่วมสังเกตการณ์รวมทั้งฮ่องกงด้วย พวกเราเชิญผู้สังเกตการณ์ให้ขึ้นมาพูด เพราะประเทศเหล่านี้มีประสบการณ์ที่น่าสนใจที่เราชาวอาเซียนควรจะศึกษาไว้ เช่น ในเรื่องงานอาสาสมัครฮ่องกงเขาทำได้ดีมาก ทางฮ่องกงเขายังอธิบายด้วยว่าต่อไปเขาจะเปลี่ยนจากการเป็นสาขาของกาชาดอังกฤษเป็นสาขาของกาชาดจีน การดำเนินการส่วนอื่นเป็นไปอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จดหมายข่าวของกาชาดฉบับใหม่เป็นบทความแนะนำให้รู้จักกาชาดจีนและเล่าเรื่องที่กาชาดฮ่องกงได้ไปหารือกับกาชาดจีน Mrs. Patricia Ling บรรยายสรุปเกี่ยวกับกิจการของกาชาดในการติดต่อติดตามหาญาติที่หายไป ช่วยเหลือคนป่วย คนพิการ การสร้างโรงเรียนคนพิการ มี 3 แห่ง ช่วยพวก Celebral Palsy โปลิโอ

(น.173) และพิการแบบอื่นๆ และจัดครูอาสาสมัครไปสอนเด็กเจ็บป่วยตามโรงพยาบาล ขณะนี้มี 62 คน อยู่ในโรงพยาบาล 16 แห่ง กิจกรรมยุวกาชาด ทั้งในด้านการฝึกเด็กให้ช่วยเหลือสังคมและการออกค่ายพักแรม กิจกรรมอาสากาชาด กิจกรรมของผู้สูงอายุ (ช่วยให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเอง ช่วยผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุได้ทำงานที่ตนมีความสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้) การออกรับบริจาคโลหิต (มีหลายแห่ง) เมื่อรับมาแล้วมีการตรวจเลือด เก็บรักษาเพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ การฝึกงานปฐมพยาบาล งานเคหพยาบาลและการอบรมอนามัย งานบริการตรวจสอบข้อมูลด้านสิทธิบัตรและงานบริการห้องสมุด การให้ยืมเครื่องมือแพทย์ มีการช่วยเหลือคนต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเวียดนามอพยพ ตามกฎของสมาพันธ์กาชาด สภากาชาดของประเทศหนึ่งมีได้สภาเดียว ฉะนั้นตั้งแต่พรุ่งนี้ กาชาดฮ่องกงก็จะรวมกับจีน การดำเนินการต่างๆ ต่อไปจากนี้ไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่ต้องให้สอดคล้องกับ Basic Law ของHKSAR วันนี้ขออภัยแทน Mrs. Betty Tung ที่ไม่สามารถมารับได้ เพราะว่ามีภาระเกี่ยวกับงานพิธีกลับคืนสู่จีน มีวิดีโอเทปแสดงกิจการของกาชาดให้ดูอย่างย่อๆ เพราะว่าวันนี้เป็นวันหยุดทำงาน ฉะนั้นจึงไม่มีกิจการของกาชาดให้ดู และข้าพเจ้าก็มีเวลาจำกัดด้วย ความจริงในตอนแรกที่ Mrs. Betty Tung เชิญให้มาดูกิจการของกาชาดนั้น จัดเอาไว้วันสุดท้าย แต่ว่ามีปัญหาความไม่สะดวกหลายอย่างในรายการต่างๆ ที่หาช่องลงได้ยาก จึงต้องมาลงในวันนี้

(น.174) ในวิดีโอเทปก็แสดงกิจกรรมตามที่ Mrs. Ling กล่าวมาแล้ว แต่ช่วยให้เห็นภาพได้ดีขึ้น เมื่อวิดีโอเทปจบแล้ว ให้พวกเด็กๆ พิการที่อยู่ประจำที่บ้านพักนี้และไม่มีใครมารับแสดงดนตรี แต่ละคนเล่นได้ตามความสามารถของตน สังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นพวกพิการทางสมอง เด็กเหล่านี้มีความสุขมากที่ได้เล่นดนตรี ถือเป็นการรักษาอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่าดนตรีบำบัด มีผลงานทางด้านศิลปะของเด็กๆ จัดแสดงไว้ด้วย เขาให้เด็กๆแสดงกิจกรรมต่างๆให้ดู เช่น การพิมพ์ดีดด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นการแก้ปัญหาของเด็กบางคนที่ไม่สามารถจับปากกาดินสอเขียนหนังสือได้ มีประมาณ 10% ดูเป็นลักษณะของเด็กที่เป็นโรคสมองแบบ Celebral Palsy นักกายภาพบำบัดสามารถแก้ไขให้เด็กกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้ เอาพลาสติกมาตัดเป็น keyguard คลุมแท่นพิมพ์เอา

Next >>