Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม "

(น.258) วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2540
เวลา 07.30 น. ไปที่ท่าเรือ ลงเรือบริษัท Far East Jet Foils เพื่อไปมาเก๊า อากาศวันนี้ค่อนข้างจะมืดๆ มัวๆ ฝนตกพรำๆ ภาษาที่ประกาศในเรือ มีภาษาอังกฤษ กวางตุ้ง และโปรตุเกส มาเก๊า จีนเรียกว่าโอวเหมิน เป็นเกาะติดแผ่นดินใหญ่ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ติดกับเมืองจูไห่ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ตรงปากแม่น้ำจูเจียง มีพื้นที่ 19.3 ตารางไมล์ ประกอบด้วยคาบสมุทรมาเก๊า และเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือเกาะไทปา และเกาะโคโลอาน ระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ และระหว่างเกาะมีสะพานเชื่อมกัน ความเป็นมาของมาเก๊าคือใน ค.ศ. 1513 นักสำรวจชาวโปรตุเกสชื่อ Jorge Alvares เดินทางมาถึงจีนตอนใต้ และใช้ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงเป็นศูนย์กลางการค้าของโปรตุเกส ในราว ค.ศ. 1557 โปรตุเกสทำสัญญาเช่าเกาะนี้จากข้าราชการจีนที่กวางตุ้ง เป็นเครื่องตอบแทนที่ช่วยปราบโจรสลัด โปรตุเกสตั้งถิ่นฐานมั่นคงอยู่ที่มาเก๊า ทำการค้าเจริญรุ่งเรืองดี เพราะสมัยนั้นคนจีนไม่ได้รับอนุญาตให้ไปค้าขายต่างประเทศ มาเก๊าจึงเป็นแหล่งกลางที่ใช้ติดต่อ นำสินค้าจีนไปขายทางตะวันตกของอินเดีย และนำเข้าสินค้าจากอินเดียเช่น สิ่งทอ นำไปขายมะละกา เพื่อแลกเอาเครื่องเทศ และไม้หอม เอาไปขายต่อที่ญี่ปุ่น ซื้อสินค้าญี่ปุ่น เช่น เครื่องเขิน เครื่องเงิน ดาบ

(น.259) ซามูไร ญี่ปุ่นไม่ได้รับอนุญาตให้ค้าขายกับจีน ฉะนั้นโปรตุเกสจึงทำหน้าที่คนกลาง ความรุ่งเรืองของโปรตุเกสเสื่อมถอยลงเมื่อโปรตุเกสถูกผนวกเข้ารวมกับสเปนใน ค.ศ. 1580 และในทางตะวันออก ญี่ปุ่นปิดประเทศไล่โปรตุเกสออกจากญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1637 และดัตช์เข้ายึดมะละกาจากโปรตุเกสในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1640 ยึดได้มกราคม ค.ศ. 1641 ในช่วงปี ค.ศ. 1640 นี้โปรตุเกสกลับได้เอกราช แต่การค้ากับญี่ปุ่นและจีนถูกตัดขาด ฉะนั้นมาเก๊าก็ไม่มีประโยชน์สำหรับจีนอีกต่อไป เป็นจุดเสื่อมของมาเก๊า ประเทศยุโรปอื่นๆ พยายามเข้าไปมีส่วนในมาเก๊า ดัตช์พยายามบุกเข้ายึดครอง 5 ครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ไม่สำเร็จ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประเทศตะวันตกมาค้าขายกับจีนมากขึ้น เช่น ฝรั่งเศส ดัตช์ เดนมาร์ก สวีเดน อเมริกา สเปน ทางมาเก๊าเลยยกเลิกกฎระเบียบเข้มงวดที่เคยบังคับคนที่ไม่ได้เป็นชาวโปรตุเกสไม่ให้อยู่ที่มาเก๊า ทำให้มาเก๊าคึกคักดีขึ้นจนกระทั่งอังกฤษยึดฮ่องกง และบังคับให้เปิดเมืองท่าอีกหลายเมือง ใน ค.ศ. 1841 มาเก๊ากลับลดความสำคัญไปอีก ค.ศ. 1849 โปรตุเกสประกาศให้มาเก๊าไม่ขึ้นกับจีนแต่จีนไม่ยอมรับการประกาศนี้ ค.ศ. 1851 มาเก๊าถูกผนวกเป็นจังหวัดโพ้นทะเลจังหวัดหนึ่งของโปรตุเกส ซึ่งจีนยอมรับจริงๆ ใน ค.ศ. 1887 โดยมีการเซ็นสนธิสัญญาใน ค.ศ. 1888 ระยะหลังๆ นี้สภาพเศรษฐกิจของมาเก๊าไม่ดีเลย ผู้ว่าราชการคนหนึ่งแก้ปัญหาโดยอนุญาตให้เปิดบ่อนพนันถูกกฎหมาย บ่อนพนันกลายเป็นสัญลักษณ์ของมาเก๊าจนทุกวันนี้

(น.260) นอกจากคนมาเล่นการพนัน พวกมามาเก๊าก็เป็นพวกที่ลี้ภัยการเมืองและความอดอยากจากจีนและเวียดนาม ที่รุนแรงที่สุดคือช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม พวกเรดการ์ดบุกมาเก๊า ถูกทหารโปรตุเกสยิงตายไปมาก ผู้ว่าราชการโปรตุเกสเห็นว่าโปรตุเกสควรแก้ปัญหาโดยการทิ้งมาเก๊า เผอิญใน ค.ศ. 1974 มีการปฏิวัติของทหารในโปรตุเกส รัฐบาลฝ่ายซ้ายที่ได้อำนาจพยายามเลิกการมีอาณานิคม (โมซัมบิก อังโกลา ติมอร์ตะวันออก) แต่จีนไม่ยอมรับมาเก๊าคืน เพราะสนใจแต่จะเอาฮ่องกงคืน ต่อมาใน ค.ศ. 1975 โปรตุเกสทำความตกลงให้มาเก๊าเป็นดินแดนพิเศษของจีนที่อยู่ภายใต้การบริหารของโปรตุเกส และสามารถตกลงกับจีนได้สำเร็จใน ค.ศ. 1987 โดย Sino-Portuguese Joint Declaration ว่าใน ค.ศ. 1999 จึงจะส่งมอบให้จีนโดยเด็ดขาด มาเก๊าจะเป็นเขตบริหารพิเศษมาเก๊าของสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถปกครองตนเองได้ มีวิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดิมไปอีก 50 ปี และมี Basic Law เป็นกฎหมายแม่บทเช่นเดียวกับในฮ่องกง คนมาเก๊าถือเป็นพลเมืองโปรตุเกส จะไปโปรตุเกสเมื่อไรก็ได้ แต่คนฮ่องกงไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนอังกฤษ จึงมีคนฮ่องกงบางคนที่ไม่อยากอยู่ใต้ระบบใหม่พยายามมาอยู่ในมาเก๊าเพื่อให้ได้สัญชาติโปรตุเกส โปรตุเกสเริ่มปฏิรูปการเมืองในมาเก๊าให้เป็นระบบรัฐสภา มีสภาเดียว ตั้งแต่ ค.ศ. 1976 ไม่มีพรรคการเมือง มีแต่กลุ่มการเมืองปัจจุบันยังปกครองแบบเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส มีประธานาธิบดีโปรตุเกสเป็นประมุข ตั้งผู้ว่าราชการมาเป็นผู้แทนในการปกครอง

(น.261) ใน ค.ศ. 1996 มีประชากร 415,800 คน GDP เติบโต 3.9% (ใน ค.ศ. 1996 เช่นกัน) อัตราเงินเฟ้อ 8.6% ขาดดุลการค้าทุกปี ในเรืออ่านหนังสือพิมพ์ มีข่าวเมื่อวานนี้ที่ฝนตก น้ำท่วม และดินถล่มหลายจุด มีคนตาย กระทรวงศึกษาธิการประกาศปิดโรงเรียน มีข่าวเรื่องปล่อยเงินบาทลอยตัว ว่าจะทำให้การส่งออกดีขึ้น การตัดสินใจนี่เกิดขึ้นหลังจากที่พวกนักเก็งกำไรถือโอกาสที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอฉกฉวยผลประโยชน์.......... (ข่าวยาวมากคู่กับข่าวดินถล่มแถมยังมีข่าวธุรกิจอีกยืดยาว มีแต่เรื่องของไทยนเป็นเรื่องเอก ต้องสงบๆ ถึงจะอ่านจบ เห็นจะไม่ต้องนำมาเขียนไว้ตรงนี้ เพราะมาถึงตอนนี้ก็รู้กันแล้ว) ไปถึงที่ท่าเรือมาเก๊า มี Dr. Domingos Ferzas Vital ที่ปรึกษาทางการทูตของผู้ว่าราชการมาเก๊า กับ Mrs. Leonor Rocha Viera ภริยาของผู้ว่าราชการมาเก๊า รออยู่ในห้อง VIP คุยกันพักหนึ่งแล้วขึ้นรถไปกับ Mrs. Viera มีตำรวจหญิงมาเก๊านั่งข้างหน้า ฝนตกพรำๆ ตลอดเวลา รถผ่านโรงแรมที่มีคาสิโน แต่ไม่มีโปรแกรมให้ไปดู รู้สึกว่าสถานที่เล่นการพนันนี้จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป พูดถึงมาเก๊าก็ไม่ค่อยรู้จัก


(น.261) รูป 197 ถึงท่าเรือมาเก๊า

(น.262) เรื่องอื่นนอกจากการพนัน Mrs. Viera บอกว่าเธอไม่ชอบเรื่องการพนัน เพราะทำให้คนจนลง น้อยคนที่จะรวยจากการพนัน แต่ก็พูดคัดค้านยากเพราะในมาเก๊าไม่มีที่ใช้ในการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมก็มีไม่มาก การพนันเป็นรายได้เข้ารัฐ ข้าพเจ้าได้ยินคนไทยเล่าเรื่องการพนันที่มาเก๊าว่ามีคนไทยที่ไปเข้าหุ้นทำธุรกิจพนันแบบนี้ที่มาเก๊า ถึงกับแจกเงินให้คนทางเมืองไทยให้ไปเล่น บางคนเล่นหมดเงินที่เขาแจกแล้วก็เลิก บางคนหมดเงินแจกแล้ว เอาเงินตัวเองเล่นต่อเพราะกำลังมัน จะหมดตัวก็ตรงนี้เอง คนที่เล่าตั้งข้อสังเกตว่าการเล่นแบบนี้เสียเงินเร็วมาก สถานที่แรกที่ไปดูเรียกว่า ป้อมกีอา (Guia Fort) เรียกชื่อเต็มว่า The Fortress of Our Lady of Guia นายทหารโปรตุเกสเป็นผู้สร้างเมื่อ ค.ศ. 1637-1638 บนจุดที่สูงที่สุดของมาเก๊า เป็นหอรูป 5 เหลี่ยม กำแพงป้อมทำด้วยอิฐและปูน สูง 10 ฟุต ป้อมนี้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันชายแดนด้านที่ติดจีน ขึ้นไปข้างบนแล้วสามารถมองเห็นมาเก๊าทั้งเมือง ป้อมประกอบด้วยค่ายทหารและอาคารต่างๆ ที่สำคัญคือประภาคาร สร้างใน ค.ศ.1865 เป็นประภาคารที่เก่าแก่ที่สุดบนชายฝั่งจีน สูง 52.5 ฟุต รัศมีแสงไฟไกล 20 ไมล์ (เวลาทัศนวิสัยดี) อีกประการหนึ่งคือ มีเสาติดสัญญาณเตือนพายุ มีโบสถ์เล็กๆ ในโบสถ์มีภาพโบราณ ทางเข้าโบสถ์มีหลุมศพของคริสโตเฟอร์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร

(น.263) เมื่อไปถึงมีรองผู้อำนวยการการท่องเที่ยว กับนายทหารเรือต้อนรับ เพราะประภาคารนี้อยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ โบสถ์อยู่ในความดูแลของการท่องเที่ยว และบริเวณโดยรอบอยู่ในการดูแลของเทศบาล เข้าไปดูในโบสถ์ สร้างตามแบบศิลปะสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 แบบเรียบๆ มีรูปแม่พระเป็นประธานที่แท่นบูชา เป็นแม่พระที่คอยพิทักษ์ชาวเรือ เหมือนกันกับที่เราเห็นทั่วไปบริเวณชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งคติความเชื่อไปเหมือนชาวเรือจีนตอนใต้ที่เชื่อและเคารพเจ้าแม่หมาจู่ เพื่อความมีสวัสดิมงคลในการเดินเรือ คำว่า กีอา ภาษาโปรตุเกส แปลว่าการนำ หรือการเดินเรือ เพดานโค้งยังเห็นร่องรอยของภาพเขียนสี กำแพงเป็นหินโบราณ


(น.263) รูป 198 ป้อมกีอาและโบสถ์


(น.264) รูป 199 เข้าในโบสถ์

(น.264) ปกติเขาไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นบนประภาคาร แต่วันนี้ให้ขึ้นเป็นพิเศษ แต่ก่อนนี้ใช้ไฟน้ำมันก๊าด เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ ค.ศ. 1905 เริ่มเปิดไฟหลังพระอาทิตย์ตกดิน แผ่นเตือนภัยพายุไต้ฝุ่นก็ติดบนประภาคารนี้เช่นกัน มองจากประภาคารเห็นวิวรอบๆ มาเก๊าได้เสียดายที่วันนี้ทัศนวิสัยไม่ดีจึงเห็นเฉพาะในเกาะ มีท่าเรือ สุสานคาทอลิก คาสิโน ธนาคาร Bank of China โรงพยาบาล โรงเรียนมัธยม (หลังจาก ค.ศ. 1999 ยังคงมีโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาโปรตุเกสตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยม)


(น.264) รูป 200 ไฟที่ประภาคาร
(น.265) รูป 201 Chart แสดงความเร็วของพายุ
รูป 202 สัญลักษณ์แสดงความเร็วลม

(น.265) ไปดูห้องที่เก็บแผ่นสัญลักษณ์บอกเตือนภัยพายุไต้ฝุ่น บอกเป็นเบอร์ตั้งแต่เบอร์ 1 ถึงเบอร์ 10 ติดแผนที่ทะเลจีนใต้เอาไว้ บริเวณนี้มีหอระฆังสร้าง ค.ศ. 1907

Next >>