<< Back
" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2544 "
(น.2) รูป 1 ถึงสนามบินคุนหมิง
Upon arrival at Kunming Airport.
(น.2) วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2544
ขึ้นเครื่องการบินไทยไปลงสนามบินคุนหมิง ฝ่ายสถานทูตไทยและสถานกงสุลมารับ ฝ่ายจีน
มีทั้งพวกมาจากปักกิ่งและพวกยูนนาน รองผู้อำนวยการวิเทศสัมพันธ์ของมณฑลยูนนาน นั่งไปด้วยถึงโรงแรมคุนหมิง พักผ่อนแล้วโทรศัพท์ถึงซุป (ศุภรัตน์) ที่กรุงเทพฯ และหงเอี้ยนที่ปักกิ่ง
(น.3) รูป 2 ถ่ายรูปกับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยประจำคุนหมิง
Photograph with Royal Thai Consulate General's staff.
(น.4) บ่ายสามโมงเดินไปที่สถานกงสุลไทย ซึ่งเช่าที่ของโรงแรมคุนหมิง เพิ่งจัดเสร็จใหม่ๆ ด้านพาณิชย์ก็อยู่ด้วยกันที่นี่
รองผู้อำนวยการวิเทศสัมพันธ์ชมว่าทั้งกงสุลและรองกงสุลพูดภาษาจีนได้ดี ทำให้ติดต่อง่าย ดีทุกด้าน แล้วไปที่พิพิธภัณฑ์นครคุนหมิง
สร้างเมื่อไรก็ไม่ทราบต้องกลับไปดูหนังสือนำเที่ยวอาจจะมีบอกไว้ แต่เรายังไม่เคยดู เมื่อมาคราวที่แล้วได้ไปแต่พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า
ที่ไปเพราะปีเตอร์บอกว่ามีเสา Dharani Pillar น่าสนใจ เสานี้สูง 6.6 เมตร มีบทความของ Louis Finot ที่ลงใน Bulletin EFEO
อธิบายไว้ ดูรูปร่างคล้ายๆ เจดีย์จีน มี 9 ชั้น มีรูปจตุโลกบาล พระโพธิสัตว์ มีจารึกจีน และจารึกภาษาสันสกฤต ประพจน์ว่าเป็นคาถา ข้างบนเป็นหยดน้ำ
ผู้อธิบายย้ำว่าไม่มีอิทธิพลนิกายทิเบต เป็นพุทธศาสนาแบบจีน แต่ดูๆ ก็เหมือนกับมีอิทธิพล เป็นสมบัติของเจ้าแห่งแคว้นต้าลี่ สร้างราวสมัยราชวงศ์ซ่ง
(ค.ศ. 937-1253) ดูเหมือนว่าเสาหินตั้งอยู่ตรงนี้นานแล้ว นครคุนหมิงสร้างพิพิธภัณฑ์คลุมทับเพื่อรักษาเสานี้ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีแผนกต่างๆ อีก
ที่เราไปดูเป็นแผนกเครื่องสำริด มีของแปลกๆ สมัยจ้านกว๋อที่ไม่เคยเห็นที่อื่น ดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะพิเศษของท้องที่นี้ เช่น ปลอกดาบมีลวดลายคล้ายๆ
กับศิลปะ Précolumbien ทางอเมริกากลางและอเมริกาใต้ หีบใส่เงินเบี้ยมีฝาเป็นรูปควาย คนขี่ม้า เป็นของที่ได้มาจากสุสาน เครื่องอาวุธต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น กระสวยทอผ้า เคียวเกี่ยวข้าว ระฆัง ตะเกียงนกยูง 3 ขา และอื่นๆ
(น.4) รูป 3 เสาธารณีที่มีชื่อเสียงของคุนหมิง
Dharani Pilar of Kunming.
(น.5) รูป 4 จตุโลกบาลบนเสาธารณี
The Guardian Kings on the Dharani Pillar.
รูป 5 ฝาหีบสำริดใส่เงินเบี้ย
Lid of a bronze container for cowries.
รูป 6 ปลอกดาบโบราณ
Ancient sword sheath.
(น.6) พิพิธภัณฑ์นี้ยังมีแผนกประวัติของเมือง แผนกธรรมชาติวิทยา (ไดโนเสาร์)
ไปที่ตลาดฮัวเหนี่ยว (ตลาดดอกไม้และนก) ที่จริงเป็นตลาดที่มีของขายทุกๆ อย่าง เช่น ดอกไม้ ต้นไม้ ปลา
เครื่องตกปลา นก อัญมณี เครื่องประดับ ฯลฯ ซื้อกระดิ่งไปแจกหมา และตุ๊กตาเล็กๆ สำหรับประดับ ถาดเผินจิ่ง
ถาดชนิดนี้เป็นถาดวิว มีพวกต้นไม้บอนไซ ไม้ดัดจัดในถาด ที่จริงมีตลาดที่อยู่ในอาคารอีก แต่ไม่มีเวลาดู
กลับโรงแรมพักผ่อนครูหนึ่ง รองผู้ว่าราชการมณฑลชื่อ เฉาฉู่เว่ย เลี้ยงแทนผู้ว่าราชการซึ่งไปตรวจงานที่ฉู่สยง
เล่าเรื่องของมณฑลนี้ว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวเจริญและได้พบแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ มีเมืองโบราณอยู่ใต้ทะเลสาบฝู่เซียน
มีโบราณวัตถุมากมาย แถวป่าหินมีร่องรอยกำแพงเมืองจีน
(น.6) รูป 7 เดินชมตลาดฮัวเหนี่ยว
Touring the Flower-and-Bird market.
(น.7) รูป 8 เดินชมตลาดฮัวเหนี่ยว
Touring the Flower-and-Bird market.
(น.7) งาน Expo ดอกไม้ที่จัดขึ้นใน ค.ศ. 1999 ทำให้ไม้ดอกไม้ประดับของยูนนานดีขึ้น ส่งออกไปต่างประเทศ ยังมีส่วนหนึ่งที่นำเข้า
เช่น ดอกกุหลาบนำเข้าจากเวียดนาม สินค้าที่มีชื่อเสียงของยูนนานอีกอย่างคือ ยาสมุนไพร
ซึ่งแสดงในงาน Expo ด้วย ในงานนั้นสมุนไพรหลายอย่างนำเข้าจากต่างประเทศ ของยูนนานเองก็มีจำนวนมาก
(น.8) ระหว่างรับประทานอาหารเลี้ยงมีการแสดงรำและร้องเพลงเล่นดนตรี การแสดงของชนเผ่าในยูนนาน
เช่น เผ่าไต่ เผ่าเย้า เผ่าว้า เป็นต้น นักร้องที่ร้องเพลงไทยได้ เอาภาพที่ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1980 (ที่เมืองไทย)
มาให้เซ็น เมื่อเสร็จงานเลี้ยง เตรียมจะไปสนามบิน เขามาบอกว่าเครื่องบิน delay เลยนั่งรอดื่มน้ำชาไปพลาง
นั่งเครื่องบินชั่วโมงกว่าไปฉงชิ่ง (คนไทยเรียกเคลื่อนไปเป็นจุงกิง) กว่าจะถึงก็ดึกแล้ว ที่ฉงชิ่งมีรองกงสุล (คุณชฤต)
คอยรับ ฝ่ายจีนมีหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของฉงชิ่ง ซึ่งเคยรับข้าพเจ้าเมื่อ 5 ปีมาแล้ว (ค.ศ. 1996)
คนอื่นๆ ที่เคยรู้จักย้ายไปทำงานที่อื่นกันหมดแล้ว ค.ศ. 1997 รัฐบาลกลางยกฐานะฉงชิ่งเป็นมหานคร
แยกออกจากมณฑลเสฉวน เป็นมหานครที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางเพียงมหานครเดียวที่อยู่ทางทิศตะวันตก
และเป็นมหานครที่มีคนอยู่ในชนบทมากกว่าอยู่ในเมือง ขณะที่มหานครอื่นๆ มีคนอยู่ในเมืองมากกว่า
มีผู้ถามว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่แยกฉงชิ่งออกเป็นมณฑลอีกมณฑลเพราะมีประชากรมาก อธิบายว่าขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาภาคตะวันตก
ต้องการให้ฉงชิ่งเป็นผู้นำการพัฒนา การเป็นมหานครขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางดูแลง่ายกว่า ฉงชิ่งจะต้องดูแลโครงการเขื่อนซานเสีย
ดูแลการอพยพประชาชนให้สำเร็จเรียบร้อยก่อน ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นปีที่กำหนดให้เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชุดแรก ใน ค.ศ. 2009
โครงการซานเสียจะสำเร็จบริบูรณ์ บริเวณที่เป็นผืนน้ำจะกว้างถึง 600 ตารางกิโลเมตร การกั้นน้ำทำให้น้ำไหลช้าลง
(น.9) รูป 9 สนทนากับหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหานครฉงชิ่ง
Conversation with the Chief of Foreign Relations Division of Chongqing.
(น.9) อาจเกิดมลภาวะได้ง่าย นครฉงชิ่งต้องดูแลเรื่องนี้ นอกจากนั้นจะต้องดูแลการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไม่ให้แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมมากนัก
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ที่จริงเขาเล่าอะไรให้ฟังมากกว่านี้ แต่ว่าง่วงนอนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง
ไปถึงโรงแรม Marriott ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ตอนที่มาคราวก่อนโรงแรมนี้ยังไม่ได้สร้าง เจ้าหน้าที่โรงแรมมาช่วยจัดการต่อ internet กว่าจะได้นอนก็ตีหนึ่งกว่าแล้ว