Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2544 "

(น.10) วันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2544
ตอนเช้ารับประทานอาหารที่ห้องอาหารแล้วไปที่ลานหน้าศาลาประชาชนเมืองฉงชิ่งเพื่อรำมวยจีน มีผู้คนมากมายมารำมวยจีนธรรมดา มวยจีนชนิดถือดาบ รำพัดและเต้นรำอะไรก็ไม่รู้ เขาบอกว่าตอนเย็นๆ หรือค่ำๆ ยิ่งมีคนมามาก เขามาเต้นรำกัน ท่านเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้สร้างลานนี้ ปีหน้าจะขยายให้กว้างกว่านี้

(น.11) ครูหลี่ที่สอนมวยจีนอายุ 78 แล้วยังแข็งแรง สายตาดี อ่านหนังสือพิมพ์ไม่ต้องใส่แว่น ท่านว่าอะไรๆ ก็เคยเป็นมาแล้วทั้งเป็นทหาร เป็นครู ครูมวยจีน ผู้ตัดสิน ฯลฯ รำไปเที่ยวเดียว เหงื่อออกมาก ข้าพเจ้ารู้สึกว่ารำจบเร็วเกินไปขออีกเที่ยวหนึ่ง 2 เที่ยวกำลังดี ครูบอกว่าคนที่เคยรำอยู่เป็นประจำควรรำ 2 เที่ยว แต่ถ้าเพิ่งเริ่มหัดเที่ยวเดียวก็พอ ข้าพเจ้ารำประจำตอนอยู่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แต่ว่ากลับเมืองไทยก็เลิก ถามว่าทำไมไม่เปิดเพลง ครูหลี่บอกว่าที่ถูกต้องไม่ควรเปิดเพลง เพราะจะเป็นการกวนสมาธิ ครูให้บทประพันธ์เกี่ยวกับมวยไทเก็กมาด้วย


(น.11) รูป 10 รำมวยจีนที่ลานหน้าศาลาประชาชนเมืองฉงชิ่ง
Tai qi exercise in front of the City Hall in Chongqing.

(น.12) กลับโรงแรมอาบน้ำอาบท่า แล้วไปที่จัตุรัสเฉาเทียนเหมิน (ประตูหันสู่ฟ้า) อยู่ริมฝั่งที่แม่น้ำเจียหลิงและแม่น้ำแยงซีเกียงไหลมาบรรจบกัน เป็นเขตเมืองเก่า รองผู้ว่าราชการมณฑลแซ่เฉินมานั่งด้วย รองผู้ว่าฯ หญิงท่านนี้รู้จักกับรองผู้ว่าฯ ที่ยูนนาน เพราะไปทำงานที่จิ่งหงหรือเชียงรุ่งด้วยกันช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เ ล่าว่าช่วงนั้นไปปลูกพืชต่างๆ ตัดต้นไม้ธรรมชาติไปแยะ เพาะกล้าต้นยาง ปลูกมากมาย (ข้าพเจ้าเพิ่งทราบว่าต้นยางพาราต้นโตๆ ที่เห็นอยู่เวลานี้คือต้นที่ปลูกในช่วงนั้น) บริเวณจัตุรัสที่ไปเป็นบริเวณเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าลงเรือล่องแม่น้ำแยงซี ตามที่เขียนไว้ในเรื่องเย็นสบายชายน้ำ ขณะนี้จำสภาพเดิมไม่ได้เลย เมื่อ ค.ศ. 1998 รัฐบาลมหานครฉงชิ่งให้สถาปนิกออกแบบอาคารที่จัตุรัสเป็นรูปคล้ายเรือ หันไปทางแม่น้ำ มี 4 ชั้น มีอยู่ชั้นหนึ่งเป็นที่จอดรถได้ 400 คัน อีก 3 ชั้นว่าจะเป็นร้านรวง หรือที่สำหรับเล่นเกมต่างๆ ข้างบนเป็นลานเอนกประสงค์สำหรับคนมาเดินเล่นรำมวยจีนก็ได้ หนุ่มสาวชอบมาพลอดรักกัน ทางลงทำเป็นรูปพีระมิดแก้ว 3-4 อัน คล้ายกับที่ Louvre แต่ว่ามีขนาดเล็กกว่า (ไม่ทราบจะใช้ลักษณนามอย่างไรจึงจะถูกต้อง) ที่นี่จัดพิธีใหญ่ๆ ก็ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999

(น.13) คนมาถึง 3 แสนคนมาฉลองการก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ โรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ นั้นกิจการดีมาก ที่ว่าจำสถานที่เดิมไม่ได้เลยเป็นเพราะเขารื้อบ้านเรือนเก่าๆ ไปถึง 280 กว่าหลังคาเรือน ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 300 วันเท่านั้น ลงทุนประมาณ 30 ล้านหยวน ด้านหน้าจัตุรัสมีลายมือประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินว่า ฉงชิ่งเฉาเทียนเหมินก่วงฉัง (重慶朝天門廣場) แปลว่า จัตุรัสเฉาเทียนเหมินแห่งฉงชิ่ง ส่วนด้านหลังเป็นบทประพันธ์สดุดีเฉาเทียนเหมิน ของศาสตราจารย์วิชาภาษาจีนท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครู และมีแผนที่สมัยโบราณของบริเวณนี้ มีชื่อประตูต่างๆ รวมทั้งประตูเฉาเทียนเหมินรวม 27 ประตู มองลงไปเห็นบริเวณที่แม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำเจียหลิงและแม่น้ำแยงซีเกียงบรรจบกัน มองเห็นได้ชัดว่าแม่น้ำเจียหลิงน้ำใสกว่าแม่น้ำแยงซีเกียง เทศบาลกำลังปรับปรุงถนนเลียบแม่น้ำและเขื่อนทำนบให้สวยงามและมีประโยชน์


(น.14) รูป 11 บริเวณจัตุรัสเฉาเทียนเหมิน
Chao Tian Men Plaza.

(น.14) มองเห็นกระเช้าไฟฟ้า และรถไฟฟ้าสำหรับลงไปที่แม่น้ำ บริเวณจัตุรัสมีน้ำพุตามเพลง มีต้นไม้ 7 ต้นที่เก็บไว้ไม่ตัดทิ้ง ต้นไม้เหล่านี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของจัตุรัส บริเวณนี้เป็นที่ตั้งท่าเรือสำคัญลงไปถึงมหานครเซี่ยงไฮ้ และออกไปค้าขายถึงญี่ปุ่นด้วย จากนั้นไปที่ถนนศูนย์การค้าที่จัดเป็นถนนคนเดินไม่ให้รถเข้าไป เขาบอกว่าศูนย์การค้านี้กิจการดีมาก เก็บภาษีได้แยะ มีอนุสาวรีย์ปลดแอก สมัยก่อนเป็นสถานที่สูงที่สุดในนครฉงชิ่ง รัฐบาลสมัยก่อนมีนโยบายไม่ให้ก่อสร้างอาคารใดที่สูงกว่าอนุสาวรีย์นี้

(น.15) ร้านเก่าๆ ก็ยังมีเหลืออยู่บ้างไม่ได้รื้อทิ้งไปทั้งหมด เช่นร้านขายขนมที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1930 ไปร้านขายหนังสือซินหัว มีหนังสือขายสารพัด เช่น หนังสือที่กำลังขายดี มีเรื่องที่แม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขียนวิธีเลี้ยงลูกว่าเลี้ยงอย่างไรลูกจึงเก่งแบบนี้ หนังสือที่นักเรียนมัธยมเขียน ข้าพเจ้าซื้อพจนานุกรม หนังสือเรียนแบบฝึกหัดภาษาจีนสำหรับนักเรียนประถมเอาไว้ฝึกเอง แบบเขียนภาพพู่กันจีน แบบเขียนหนังสือด้วยปากกาทั้งแบบไข่ซูและสิงซู มีคนฉงชิ่งคนหนึ่งมีชื่อเสียงด้านนี้ ซื้อหนังสือว่าด้วยเรื่องชาต่างๆ หนังสือสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศจีน หนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมจีนทั่วประเทศ หนังสือเรื่องทิเบต


(น.15) รูป 12 แวะร้านขายหนังสือซินหัว
A brief stop at Xinhua Book Store.

(น.16) กลับโรงแรมเตรียมตัวเก็บของ แล้วไปรับประทานอาหารกลางวันที่สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานนี้ก็สร้างใหม่ เป็นตึกใหญ่ มีห้องสำหรับรับแขก มีพ่อครัวฝีมือดี มาดามเฉินบอกว่าคนที่ฉงชิ่งชอบ enjoy ชีวิตอยู่ดีกินดีกว่าคนที่ปักกิ่ง มาดามเฉินเล่าว่าชื่อจี้หว่า ซึ่งเป็นชื่อที่แปลกไม่มีคนเขาชื่อกัน เพราะเกิด ค.ศ. 1954 ปีนั้นนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลนำคณะไปประชุมสันติภาพที่เจนีวา เป็นเรื่องที่คนจีนตื่นเต้นกันมาก คุณพ่อจึงนำเหตุการณ์นี้มาตั้งชื่อลูก จี้ ย่อมาจาก กั๋วจี้ แปลว่า นานาชาติ ส่วน หว่า มาจากคำว่า เจนีวา มีน้องสาวฝาแฝด พ่อตั้งชื่อว่า เว่ยผิง แปลว่า พิทักษ์สันติภาพ พบนายกเทศมนตรี ท่านกล่าวต้อนรับบอกว่าคนจีนยังจำวันที่ข้าพเจ้ามาฉงชิ่งเมื่อ ค.ศ. 1996 ได้ (ที่จริงคือวันนี้เมื่อ 5 ปีก่อน) ตอนนั้นฉงชิ่งขึ้นกับมณฑลเสฉวน แต่ขณะนี้สภาพของฉงชิ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1997 สภาประชาชนแห่งชาติมีมติยกฐานะฉงชิ่งเป็นมหานคร ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง นับเป็นมหานครแห่งที่ 4 ในระบบการปกครองของจีนปัจจุบัน และเป็นแห่งแรกของพื้นที่ทางภาคตะวันตก ขณะที่อีก 3 มหานครที่มีอยู่แล้วคือ ปักกิ่ง เทียนสิน เซี่ยงไฮ้ อยู่ทางตะวันออก ความเปลี่ยนแปลงนั้นสรุปได้ว่ามีพื้นที่บริหารมากขึ้น จาก 20,000 ตารางกิโลเมตร เป็น 82,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรในความรับผิดชอบมากขึ้นเท่าตัว จาก 15 ล้านคน เป็น 30.9 ล้านคน โครงสร้าง

(น.17) ทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป มีเอกลักษณ์พิเศษคือ มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและการเกษตร เศรษฐกิจเมืองใหญ่ และชนบท งานโครงการเขื่อนซานเสียก็ต้องดูแล ตัวเขื่อนใหญ่จะอยู่ที่เมืองอี๋ชางในมณฑลหูเป่ย แต่ปิดเขื่อนแล้วส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำจะอยู่ในฉงชิ่งเป็นส่วนใหญ่ (500 ตารางกิโลเมตร จาก 650 ตารางกิโลเมตร) ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามนโยบายเปิดสู่ตะวันตกของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของแม่น้ำแยงซีตอนบน มีหน้าที่ดูแลการอพยพผู้คน คาดว่าเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2009 จะต้องย้ายคนถึง 1,030,000 คน ขณะนี้น้ำยังไม่ขึ้น ได้ไปตระเตรียมสถานที่ย้ายคนเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้ย้ายทั้งหมด นอกจากจะย้ายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่กะเอาไว้เดิมแล้ว ยังต้องกระจายไปตามมณฑลต่างๆ ด้วย เช่น ซานตง อานฮุย เจียงซู มหานครเซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่) เจ้อเจียง ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) กวางตุ้ง (ก่วงตง) เจียงซี หูหนาน หูเป่ย เสฉวน (ซื่อชวน) ข้าพเจ้าถามถึงสวนส้มริมฝั่งน้ำ ท่านนายกเทศมนตรีรับรองว่า สวนที่ย้ายไปสร้างใหม่จะมีปริมาณมากขึ้นและรสอร่อยขึ้น เพราะว่ามีเทคโนโลยีดีขึ้น ฉงชิ่งยินดีรับนักลงทุนต่างประเทศ


(น.17) รูป 13 นายกเทศมนตรีมหานครฉงชิ่งมอบของที่ระลึก
The Mayor of Chongqing presenting souvenirs.

(น.18) ไปรับประทานอาหาร อาหารอร่อยมากแต่มีบางอย่างเผ็ดมากจนข้าพเจ้าน้ำตาไหล เหงื่อแตก เหล้าที่ดื่มเป็นเหล้าขาวของฉงชิ่ง เรียกว่าซือเซิ่งไท่ไป๋ มีแอลกอฮอล์ 52 ดีกรี เขาว่ากันว่าหลี่ไป๋ดื่มเหล้าชนิดนี้ นายกเทศมนตรีเล่าว่า กำลังจะสร้างพิพิธภัณฑ์ซานเสีย รวบรวมโบราณวัตถุหมื่นกว่าชิ้นที่พบขณะที่ทำโครงการเขื่อนซานเสีย งบประมาณจากรัฐบาลกลางบ้าง ได้จากโครงการซานเสียบ้าง ส่วนหนึ่งนครต้องออกเอง เป็นโครงการที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องจ่ายเองมากที่สุด สร้างแล้วหวังว่าประชาชนและนักท่องเที่ยวจะไปดู นอกจากนั้นยังมีโครงการรถไฟลอยฟ้าสายแรกในจีน ลงทุน 3,500 ล้านหยวน จะให้เสร็จใน ค.ศ. 2003 รถไฟลอยฟ้าสายนี้นอกจากจะแก้ปัญหาจราจรแล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะจะมองเห็นมหานครฉงชิ่งได้ดี เรื่องการท่องเที่ยวเจริญดีมาก รายได้เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนจีน มาดูหินแกะสลักที่ต้าจู๋ เดี๋ยวนี้มีซาฟารีเวิลด์ และสวนชาให้ดู ผู้อำนวยการเฉินเซียวจะไปส่งที่สนามบิน ส่วนคณะกงสุลจะส่งแค่นี้ ขึ้นเครื่องบินไปหนิงเซี่ย ไปรวดเดียวไม่ได้ ต้องหยุดครึ่งทางเพื่อให้เครื่องบินเติมน้ำมัน คนก็จะได้เข้าห้องน้ำด้วย

(น.19) ในเครื่องบินอ่านหนังสือพิมพ์พูดถึงนโยบายของจีนที่จะปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์วังโบราณ เช่น ให้มีบริการทางด้านโทรคมนาคม ปรับปรุง website สิ่งพิมพ์ต่างๆ เทป วิดีโอ มีอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย พูดภาษาต่างประทศได้ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน รัสเซีย สเปน เป็นต้น ปรับปรุงห้องน้ำให้มีที่ล้างมือ มีกระดาษชำระ เครื่องเป่าให้มือแห้ง ห้องน้ำคนพิการ และผู้สูงอายุจัดบริการทางการแพทย์ เครื่องบินลงที่เมืองอิ๋นชวนซึ่งเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคปกครองตนเองหนิงเซี่ย รองผู้ว่าราชการชื่อ หลิวจง เป็นคนเหอเป่ย แต่มาทำงานอยู่ที่หนิงเซี่ยนานแล้ว รองผู้ว่าฯ หลิวนั่งมาในรถด้วย อธิบายว่า ที่จริงแล้วมีคนเผ่าหุย (นับถือศาสนาอิสลาม) ราว 1 ใน 3 ที่เหลือส่วนมากเป็นคนจีน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่ราบสูง เป็นทะเลทราย ค่อนข้างแล้ง ปริมาณน้ำฝนตลอดปีประมาณ 200-600 มิลลิเมตรต่อปี ที่เพาะปลูกได้ดีเพราะว่ามีแม่น้ำหวงเหอไหลผ่าน มีโครงการชลประทาน ทำให้สามารถปลูกข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวโพด ทานตะวัน ปลูกต้นไม้เพื่อหยุดยั้งทะเลทราย ปลูกผักต่างๆ ได้ มีที่เลี้ยงสัตว์ เช่น แพะและวัว เป็นต้น

(น.20) ไปถึงแหล่งโบราณคดีกำแพงเมืองจีนสมัยราชวงศ์หมิง บริเวณนี้เรียกว่า สุ่ยต้งโกว เมื่อไปถึงมีนักโบราณคดีชื่อ ศาสตราจารย์ซูเฉิง มาอธิบายว่าบริเวณนี้มีหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณตั้งแต่สมัยหินเก่า 30,000 ปีมาแล้ว และสมัยหินใหม่ (เดินๆ อยู่ศาสตราจารย์ซูเฉิงก็เก็บเครื่องมือหินขึ้นมาให้ ข้าพเจ้าและคนอื่นๆ พยายามลองเก็บก็กลายเป็นหินธรรมดาๆ ไม่ใช่เครื่องมือมนุษย์โบราณ) ศาสตราจารย์ซูเฉิงบอกว่า

(น.21) บริเวณนี้เชื่อกันว่าสมัยโบราณเป็นทะเลสาบ และมีคนโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ ทะเลสาบ ใน ค.ศ. 1920 มิชชันนารีเบลเยียมมาพบเข้า ค.ศ. 1923 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสมาสำรวจ ผลการสำรวจทำให้บริเวณนี้มีชื่อเสียง ข้อมูลโบราณวัตถุที่พบเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศฝรั่งเศส ถามว่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไหนก็ไม่ทราบ นักโบราณคดีญี่ปุ่นไปศึกษาข้อมูลที่ฝรั่งเศส


(น.22) รูป 14 ไม่ทราบว่าเป็น fossil กระดูกสัตว์โบราณหรือไม่
Fossil of an ancient animal?

(น.22) สิ่งสำคัญอีกอย่างในบริเวณนี้คือ กำแพงเมืองจีนสมัยราชวงศ์หมิง กำแพงเมืองจีนที่นี่ก่อด้วยดิน ถูกกัดกร่อนด้วยลมพายุทรายและน้ำฝนตามธรรมชาติ จึงชำรุดทรุดโทรม บางคนบอกว่าที่พังมากเพราะไม่ได้รับการดูแลที่ดีในสมัยราชวงศ์ชิง เนื่องจากราชวงศ์ชิงเป็นชนชาติแมนจู ไม่มีปัญหาเรื่องการต่อต้านการรุกรานในพื้นที่ด้านนี้ สมัยโบราณมีคนกลุ่มน้อยเผ่าซีเชียงและเผ่าซีหรงอยู่ที่นี่ มีอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อน กำแพงเมืองจีนในรูปลักษณะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงด่านเจียอวี้กวนในมณฑลกานซู่

(น.23) ค.ศ. 1964 นักโบราณคดีชาวโซเวียตร่วมมือกับนักโบราณคดีจีนมาสำรวจแหล่งโบราณคดีนี้ ค.ศ. 1980 ปักกิ่งส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์หนิงเซี่ย พบ fossil สัตว์ต่างๆ 10 ปีต่อมาพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกากับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส มาสำรวจอีกที ฟอสซิลที่พบมีกระดูกแรด เขาวัว ช้างหวงเหอ ขณะนี้แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงปักกิ่ง


(น.23) รูป 15 ต้นไม้ในเขตทะเลทราย
Bush in the desert.



Next >>