Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 "

(น.74) วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544
คุณปีเตอร์เอาข้อมูลวัดถาเอ่อร์มาให้ กฤษฎาวรรณเล่าว่าเมื่อคืนไปบ้าน Dr. Kevin Stuart ได้พบนักเรียนทิเบต 6 คน มาจากถิ่นต่างๆ กัน พูดภาษากันไม่รู้เรื่อง รองผู้ว่าฯ คนที่เป็นผู้หญิงมาส่งที่เรือนรับรอง เราไปที่พิพิธภัณฑ์ชิงไห่ มีจัตุรัสใหญ่อยู่ข้างหน้า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง ขนาดฝนตกยังมาเที่ยวกัน ชื่อของพิพิธภัณฑ์เป็นลายมือชาวญี่ปุ่นที่ช่วยเมืองชิงไห่หลายอย่าง จนได้รับยกย่องเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของชิงไห่ ที่ห้องโถงมีรูปหินอ่อนของชาวญี่ปุ่นคนนี้เป็นคนบริจาคเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างขึ้นใหม่ เพิ่งเปิดให้คนเข้าชมได้เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้เอง


(น.74) รูป 59 การจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาที่พิพิธภัณฑ์ชิงไห่
Pottery on display at the Qinghai Museum.

(น.75) ส่วนที่เราดูเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีเครื่องปั้นดินเผาเรียงๆ กันไว้ที่ข้างฝา ภาชนะดินเผา (หม้อ) เหล่านี้แสดงวิวัฒนาการความก้าวหน้าของมนุษย์ ตามที่ประธานเหมากล่าวว่า คนกับสัตว์ต่างกันเพราะคนใช้เครื่องมือพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ สิ่งของที่ตั้งแสดงมี เครื่องมือหินใหม่ เครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมหม่าเจียเหยา อำเภอหมินเหอ อยู่ทางตะวันตกสุดของมณฑลชิงไห่ มีถ้วยแฝด ผู้บรรยายบอกว่าที่ไต้หวันยังมีผู้ใช้ถ้วยแบบนี้ ใช้ในพิธีแต่งงานและการแสดงมิตรภาพ กลองดินเผามีหูเล็กๆ 2 ข้าง ใส่เชือก แบกได้ เข้าใจว่าเดิมเป็นเครื่องส่งสัญญาณ มองดูเหมือนกลองมโหระทึกของเผ่าไต่ (ชนเผ่าไทย) ในยูนนาน ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน


(น.75) รูป 60 กลองดินเผา
Pottery drum.


(น.76) รูป 61 หลุมศพจำลอง
Model of a grave.

(น.76) การทำรูปจำลองหลุมศพ มีศพหลายศพฝังอยู่ ผู้บรรยายบอกว่าคนกลุ่มนี้ก่อนตาย ตายอย่างทรมาน ลักษณะของศพนอนตะแคงคุดคู้ มีทั้งศพเด็กศพผู้ใหญ่อยู่ด้วยกัน ศพหนึ่งเป็นผู้หญิงท้องมีเด็กอยู่ข้างใน เข้าใจว่าตายเพราะน้ำท่วม รูปโลงศพแบบต่างๆ ห้องที่สอง ยังเป็นเรื่องเครื่องปั้นดินเผาเขียนลายสี มีอยู่ใบหนึ่งเขียนลายกวาง เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ที่สุดของจีน เครื่องปั้นดินเผาในระยะแรกเข้าใจว่าเป็นของที่ทำขึ้นเพื่อการใช้สอยทั้งนั้น แต่ต่อมากลายเป็นของใช้ในพิธีกรรม เครื่องหยกรูปร่างต่างๆ เช่น รูปกลมมีรูตรงกลาง เรียกว่า ปี้

(น.77) เครื่องสำริด มีอาวุธต่างๆ เช่น เหมา เป็นหอกที่มีลักษณะเหมือนใบพาย และตุ้น ซึ่งแปลว่า โล่ เหมา และตุ้น เป็นอาวุธโบราณที่มีประโยชน์ใช้สอยต่างกัน อย่างหนึ่งใช้เพื่อโจมตี (เหมา) อีกอย่างหนึ่งใช้เพื่อป้องกันตนเอง (ตุ้น) ในหนังสือหานเฟยจื่อเล่าว่า มีคนคนหนึ่งขายทั้ง เหมา และ ตุ้น ในตอนขายก็โฆษณาว่า ตุ้น (โล่) ของตนแข็งแรงที่สุด อาวุธอะไรก็แทงไม่เข้า ส่วนเหมาของตนนั้นก็แหลมคมที่สุด คนฟังจึงถามว่าเอาเหมาของท่านมาแทงตุ้นของท่านจะเป็นอย่างไร คนขายก็นิ่งอึ้งไป ตอบไม่ถูก ต่อมาเลยกลายเป็นสำนวนภาษาจีนว่า เหมาตุ้น แปลว่า (พูด) ขัดแย้งกันเอง คันฉ่องทองแดง เก่าแก่ที่สุดในจีน เป็นของในวัฒนธรรมข่าเยว่ (Kayue Culture) ของที่ทำจากกระดูกสัตว์ต่างๆ อายุประมาณ 7,000 ปี มีเข็มทำจากกระดูก แสดงว่ามีวิวัฒนาการในด้านเครื่องนุ่งห่ม น่าจะเริ่มจากแต่ก่อนคนใช้ใบไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ต่อมาใช้หนังและผ้าจึงต้องเย็บ นอกจากนั้นมีช้อนส้อมมีดที่ใช้กินข้าว ประมาณ 7,000 ปีมาแล้ว (แสดงว่าใช้เครื่องมือแบบนี้ก่อนฝรั่ง)


(น.77) รูป 62 อาวุธสำริด
Bronze weapons.


รูป 63 เครื่องปั้นดินเผาเขียนลายสี
Painted pottery.


(น.78) รูป 64 รูปพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม) ปางปัทมปาณี
Avalokitesvara, Padmapani.


รูป 65 กาลจักรและยมานตกะ ธรรมบาลของพุทธฝ่ายมหายาน นิกายวัชรยาน
Kalacakra and Yamantaka, Vajrayana Buddhist images.


รูป 66 กาลจักรและยมานตกะ ธรรมบาลของพุทธฝ่ายมหายาน นิกายวัชรยาน
Kalacakra and Yamantaka, Vajrayana Buddhist images.


รูป 67 พระอวโลกิเตศวร 11 เศียร 1,000 กร
Eleven-headed, thousand-armed Avalokitesvara.

Next >>