Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 "


รูป 77 ต้นกัลปพฤกษ์สมัยราชวงศ์ฮั่น
Wishing tree, Han Dynasty.


(น.83) รูป 78 หมู่บ้านจำลองของชนชาติในชิงไห่
Model of a tribal house.

(น.83) ของที่มีค่าที่สุดในพิพิธภัณฑ์คือ หัวเข็มขัดทอง เป็นฝีมือชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ มีรูปหมาป่ากำลังจะกินวัว ตราประทับต่างๆ หม้อเงินสมัยราชวงศ์ฮั่นมาจากเปอร์เซีย เหรียญเงินเหรียญทองจากต่างประเทศ มีที่มาจากโรมสมัยราชวงศ์เหนือใต้ อีกห้องทำหมู่บ้านจำลองของชนชาติในชิงไห่ สร้างเป็นบ้านวางสิ่งของที่เผ่าต่างๆ ใช้ เอาสาวแต่งตัวเป็นเผ่าต่างๆ ยืนอยู่หน้าบ้าน ข้างฝามีรูปประกอบด้วย


(น.84) รูป 79 มัสยิดตงกวน
Dongguan Masjid.

(น.84) ที่หมายต่อไปเป็นมัสยิดตงกวน ชื่อตงกวน แปลว่า ด่านทิศตะวันออกของเมืองซีหนิง เป็นบริเวณที่มีชนเผ่าหุย ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่มาก มัสยิดนี้สร้างสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อ 600 กว่าปีมาแล้ว ถูกไฟไหม้สมัยราชวงศ์ชิง สร้างขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1914 ใน ค.ศ. 1946 ได้สร้างเพิ่มเติม บูรณะอีกครั้งใน ค.ศ. 1998 เพื่อให้มีประโยชน์ใช้สอย เหมาะสมกับการที่เป็นมัสยิดในเมือง ทุกวันศุกร์มีคนมาทำพิธีมากมาย ในเทศกาลสำคัญมีชาวมุสลิมจากทั่วทุกสารทิศมาทำบุญ ที่แปลกคือ อาคารหลัก มีรูปร่างเป็นอาคารแบบจีนโบราณ โดย

(น.85) เฉพาะอย่างยิ่งส่วนหลังคาเป็นแบบศาสนาพุทธ เขาว่าชาวพุทธมณฑลกานซู่เป็นผู้สร้างถวาย อาคารใหญ่อยู่ตรงหน้าเป็นที่พักของผู้มาทำศาสนกิจ ไปนั่งพักที่ห้องรับแขก อิหม่ามกับผู้จัดการเล่าว่า ชาวมุสลิมไม่ได้มีแต่เผ่าหุยเท่านั้น ยังมีพวกซาลาร์และตงเชียง อิหม่ามเป็นชาวตงเชียง ชาวต่างประเทศมาจากเอเชียใต้ (ปากีสถาน) และเอเชียกลางมาก ปีที่แล้วมีวุฒิสมาชิกของอเมริกามาเยี่ยม


(น.86) รูป 80 คณะต้อนรับชาวทิเบตที่สนามบินก้งก่า ลาซา
With Tibetan welcoming party at the Gonggar Airport, Lhasa.

(น.86) ไปสนามบินเพื่อเดินทางต่อไปทิเบต ตอนนั่งรถไปสนามบินสวนกับขบวนรถของรัฐมนตรีต่างประเทศถังเจียสวน มาถึงที่ลาซาประมาณบ่ายโมงครึ่ง มีคณะต้อนรับคือ รองประธานสภาทิเบตเป็นผู้หญิง เคยพบกันที่เมืองไทย พิธีต้อนรับเหมือนที่ชิงไห่คือ ให้ดีดเกลือไปข้างหลัง 3 ที และดีดเหล้าไปข้างหลังอีก 3 ที ไม่ต้องดื่ม

(น.87) ถ่ายรูปหมู่กับคณะผู้นำทิเบตที่มารับ เข้าห้องน้ำและนั่งรถไปนครลาซา คำว่า ลาซา แปลว่า เมืองเทพ สนามบินลาซานี้ชื่อ สนามบินก้งก่า อยู่ห่างจากเมืองประมาณ 90 กิโลเมตร (ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า เพราะเอกสารของสถานทูตบอกว่า 100 กิโลเมตร ในเครื่องบินบอกว่า 80 และคนขับรถบอกว่า 90) ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงครึ่ง รถแล่นเลียบแม่น้ำหย่าลู่จ้างปู้ ภาษาทิเบตว่า แม่น้ำยาร์ลุงซังโป (Yarlung Zangbo) ต้นน้ำอยู่ในทิเบต แล้วไหลไปลงอินเดีย เป็นแม่น้ำพรหมบุตร ท้องฟ้ามีเมฆบางส่วน ส่วนที่ไม่มีเมฆเป็นสีฟ้าแจ๋ว คนขับรถบอกว่าที่นี่ไม่ค่อยจะมีอุตสาหกรรมเลยไม่มีมลภาวะ ที่ลาซานี้สบาย หน้าหนาวไม่หนาวมาก หน้าร้อนไม่ร้อนเกินไป หิมะไม่ตกแต่ฝนตก รถแล่นเลียบแม่น้ำสายนี้ อีกด้านเป็นภูเขา ภูเขาที่นี่ไม่มีต้นไม้มีแต่หิน ดูแล้วหน้าหนาวน่าจะมีหิมะ เพราะกัดเซาะหินทรายไหลลงจากภูเขาเป็นทาง คนขับรถบอกว่าคนแก่มาที่นี่ไม่เป็นอะไร แต่คนหนุ่มสาวอาจจะไม่สบาย คนหนึ่งมาจากปักกิ่งอายุ 96 ยังไม่เห็นเป็นอะไร

(น.88) รถแล่นข้ามแม่น้ำ 2 ข้างทางเป็นไร่นา แปลงผักก็ดูอุดมสมบูรณ์ดี เป็นช่วงเก็บเกี่ยว แล่นตามแม่น้ำลาซาเข้าเมืองลาซา ฝนตกลงมาหน่อยหนึ่ง ข้ามแม่น้ำอีกครั้งก็เข้าเมือง ไปถึงโรงแรมมีคนเต้นแบบสิงโตแต่เป็นตัวจามรี ไม่ได้ดูมาก ขึ้นบนห้อง รองประธานสภากับอธิบดีวิเทศสัมพันธ์ของทิเบตมาพูดถึงโปรแกรม แล้วให้พักผ่อน ส่ง email ได้ ท่านทูตก็ดูสบายดีไม่มีใครเป็นอะไร ท่านรองประธานสภาเดินมาเล่าถึงรายการ แต่บอกว่าวันนี้ห้ามทำอะไรทั้งนั้นพรุ่งนี้จะได้สบาย ในห้องนอนมี oxygen ให้เราทดลองสูดรู้สึกจั๊กจี้ ชักหิวก็เลยกินหมูเส้นกับมาม่าหมูสับ ลองโทรศัพท์ถึงซุปที่กรุงเทพฯ ก็โทรฯ ได้ สัญญาณชัดเจนดี ที่จริงเขาห้ามอาบน้ำสระผม ทดลองดูก็ไม่เห็นเป็นอะไร เขามีอุปกรณ์ออกกำลังกาย แต่ยังไม่กล้าลอง


(น.88) รูป 81 ระบำทิเบต “ระบำจามรีกับนายพราน” ต้อนรับหน้าโรงแรมที่พัก
Yaks and hunters dance in front of the HOTEL.


(น.89) รูป 82 คุณหมอมาตรวจร่างกาย
Physical check-up.

(น.89) เขาบอกว่าเวลา 5 โมงจะมีหมอมาตรวจทุกคนที่ห้องไกลาส ลงไปก็ไม่เห็นจะมีหมอ มีแต่อาหารเย็นก็เลยไปร้านขายของ ให้อารยาไปต่อแล้วบอกว่าอย่าซื้อเลยราคาแพงผิดปกติ ต่อก็ไม่ให้ ยังมีเวลาไปซื้อข้างนอกอีกหลายวัน มีใครมาบอกว่าหมอมาแล้ว ก็เลยเข้าห้องไกลาส หมอกระหืดกระหอบมาถามว่าเป็นอะไร ข้าพเจ้าว่าไม่ได้เป็นอะไร แต่คนที่นี่บอกว่าต้องให้หมอตรวจร่างกาย วัดความดันก็ปกติดี แต่เขาบอกให้เดินช้าๆ หนูพิงค์ออกไปซื้อของแบบราคา “เป็นกันเอง” มาก็ดูสวยดี อารยากับจี้ก็เลยตามไปด้วย ข้าพเจ้าขึ้นมาเขียนหนังสือต่อ จนถึงเวลารับประทานอาหารก็ลงไปอีกที ขึ้นมาเขียนหนังสือต่ออีก