Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 "


รูป 106 พืชยาสมุนไพรทิเบตอัดแห้ง
Specimens of Tibetan medicinal herbs.

(น.116) ประติมากรรมทิเบต สมัย 4,500 ปีก่อน ที่จัดแสดงไว้มีศิลปะจากที่ต่างๆ เช่น จีน ทิเบต เนปาล ลังกา เบงกอล แคชเมียร์ มีทั้งที่เป็นโลหะหล่อ หินแกะสลักและไม้แกะสลัก ชั้นบนของอาคารแสดงด้านธรรมชาติวิทยา ส่วนมากจะแสดงเรื่องภาคเหนือของทิเบตที่เป็นเขตที่ไม่ค่อยมีคน สัตว์ต่างๆ ที่หายากในจีนและทิเบต เป็นสัตว์สตัฟฟ์ มีคำบรรยายบอกชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสัตว์เหล่านั้น ที่จัดแสดงอยู่นี้เป็นของสะสมของรองประธานสภาทิเบตท่านหนึ่งมอบให้พิพิธภัณฑ์ พืชยาสมุนไพรของทิเบต มีทั้งรูปและพืชอัดแห้ง เขียนชื่อภาษาทิเบต ภาษาจีนกลาง และชื่อวิทยาศาสตร์ มีที่เรารับประทานเป็นยาให้ช่วยปรับตัวทนความสูง เรียกภาษาจีนว่า หงจิ่งเทียน Rhodiola euryphyllar เรื่องการวิจัยภาคเหนือของทิเบต มีภาพคณะวิจัยบ่อน้ำร้อน สภาพทางธรณีวิทยา ภาพหินที่มีลักษณะต่างๆ หลังคาน้ำแข็ง ภาพวาดบนถ้ำ วัฒนธรรมแถบนั้น เขาว่าเดิมใช้ภาษาชางชุง ศาสนาเรียกว่าศาสนาเฟิน (bon) เป็นความเชื่อก่อนที่จะรับอิทธิพลพุทธศาสนา ภาพโบราณสถานต่างๆ ถ้ำหิน รูปนกและสัตว์ เสื้อผ้าและเครื่องใช้ของนักผจญภัยที่ไปสำรวจภาคเหนือของทิเบต

(น.117) เกลือชนิดต่างๆ ที่ขุดพบ แร่ธาตุต่างๆ แบ่งเป็นแร่โลหะและอโลหะ มีวิดีโอให้ดูเกี่ยวกับธรรมชาติของทิเบตด้วย ยาสมุนไพร เรื่องประเพณีพื้นเมืองในชีวิตประจำวันของทิเบต ยานพาหนะ เครื่องใช้ไม้สอย ศิลปะพื้นบ้าน ของใช้ของคนทิเบต เช่น กี่ทอผ้า เรือรูปสี่เหลี่ยมใช้ในสมัยถู่โป๋ของจริงบรรทุกคนได้ 100 คน อานม้า เสื้อผ้าชนเผ่าต่างๆ ในทิเบต 4 เผ่า เสื้อผ้าขุนนาง รองเท้าบูต หมวกขุนนางอำมาตย์ ลามะนิกายเหลือง เสื้อทำด้วยขนนกยูง ด้านการกีฬาท้องถิ่นในทิเบต มีของเล่นเด็ก การเล่นบนหลังม้า แข่งยกหิน ชนจามรี เป็นต้น


(น.117) รูป 107 เรือสมัยถู่โป๋
Tubo boat.


(น.118) รูป 108 เต็นท์ชนเผ่าเร่ร่อนทิเบตทำด้วยขนจามรี
Tibetan nomads' yak-haired tent.

(น.118) ของใช้ในครัวเรือนรูปบ้านเรือนคนทิเบตแบบต่างๆ ทุกแบบจะมีลักษณะหลังคาตัด จากพิพิธภัณฑ์ไปร้านหนังสือซินหัวมีแต่หนังสือภาษาจีนกับภาษาทิเบต ข้าพเจ้าเลยซื้อหนังสือการแพทย์ทิเบต (มีรูป) มา กลับโรงแรม ตอนค่ำมาดามปาซังเลี้ยง มาดามปาซังเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองทิเบต และประธานสมาพันธ์สตรีทิเบต มาดามเล่าว่าทิเบตแบ่งแยกไม่ได้จากจีน ตั้งแต่สมัยราวงศ์ถังก็มีเรื่องเจ้าหญิงเหวินเฉิง ใน ค.ศ. 1279 สมัยพระเจ้ากุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวนจีนกับทิเบตได้รวมกันเป็นปึกแผ่น สมัยราชวงศ์หมิง

(น.119) จนถึงปัจจุบันก็รวมกันมาตลอดกว่า 726 ปีแล้ว เมื่อ ค.ศ. 1951 ทำสัญญา 17 ข้อ ค.ศ. 1959 มีกลุ่มอิทธิพลก่อกบฏ รัฐบาลกลางปราบกบฏ และปฏิรูปทิเบต ค.ศ. 1956 ตั้งคณะกรรมการเตรียมการปกครองตนเองของทิเบต ใน ค.ศ. 1965 ตั้งเขตปกครองตนเองเป็นทางการ พอตั้งแล้วก็ปฏิรูปให้ก้าวหน้า เปิดสู่โลกภายนอก แก้ไขระบบต่างๆ ซึ่งเดิมพวกผู้ดี ข้าราชการชั้นสูง และลามะ อยู่สุขสบาย ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวนา ทาสติดที่ดินลำบาก พวกทาสไม่มีสิทธิอะไรเลย เป็นทรัพย์ของเจ้าของจะไปจำนำขายฝากให้กับใครก็ได้ ภายหลังรัฐบาลกลางและมณฑลต่างๆ ในจีนช่วยพัฒนาทิเบต ตอนฉลอง 50 ปีการปลดปล่อย รองประธานาธิบดีหูจิ่นเทานำคณะผู้แทนระดับสูงของจีนมา


(น.119) รูป 109 สนทนากับมาดามปาซัง รองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองทิเบต
Conversation with Madam Basang, Vice Chairman of Standing Committee of Tibet Autonomous Region's People Consultative Conference.

(น.120) สตรีได้เป็นผู้นำ สตรีทิเบตแต่ก่อนอยู่อย่างแร้นแค้น ไม่มีสิทธิทางการเมือง ว่าผู้หญิงเป็นของไม่สะอาดทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทีหลังนี้กฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงผู้ชายมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ข้าราชการสตรีเดี๋ยวนี้มี 33.3% มี 6 ท่านที่เป็นใหญ่ระดับมณฑล ระดับอธิบดีและนายอำเภอมีมากมาย จำนวนชายหญิงมีครึ่งต่อครึ่ง ผู้ใหญ่ในราชการยังมีที่เป็นหญิงไม่ถึงครึ่ง ต้องแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป รัฐบาลอบรมข้าราชการสตรีให้มีประสิทธิภาพขึ้น ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบตมี 1 นคร คือ ลาซา มี 6 จังหวัด และ 76 อำเภอ พื้นที่ 1,200,000 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2,620,000 คน สมัยก่อนไม่มีโรงเรียน คน 95% ไม่รู้หนังสือ ปัจจุบันตั้งโรงเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีการสอนหนังสือภาคค่ำ มีเด็กในวัยเรียนประมาณ 87.8% รัฐบาลกลางสนใจพัฒนาเศรษฐกิจทิเบต มีการสัมมนากัน 4 ครั้ง ภายหลังการสัมมนาครั้งที่ 3 กำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมหลายอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มณฑลอื่นๆ หลายมณฑลสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทิเบต แบ่งพื้นที่ของทิเบตเป็น 1 นคร 6 จังหวัด รัฐบาลให้มณฑล 15 มณฑลสนับสนุน โดย 2 มณฑลช่วยกันรับผิดชอบพื้นที่ปกครองแห่งหนึ่ง มณฑลเหล่านั้นส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานที่ทิเบต ลงทุนโครงการต่างๆ เป็นลักษณะรัฐบาลท้องถิ่นต่อรัฐบาล (รัฐบาลมณฑลต่างๆ ต่อรัฐบาลทิเบต?) กระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลกลางมาช่วยกระทรวงของทิเบต ฉะนั้น 2-3 ปีที่ผ่านมา เห็นความก้าวหน้าได้ชัด ปีนี้จัดสัมมนาครั้งที่ 4 เร่งการสนับสนุนทิเบตมากขึ้น ขอบเขตขยายกว้างขึ้น นโยบาย

(น.121) การพัฒนาภาคตะวันตกของรัฐบาลกลางมีผลต่อทิเบตด้วย ทิเบตเปลี่ยนแปลงมากใน 50 ปีนี้ ความก้าวหน้าต้องเปรียบกับทิเบตเอง แต่ถ้าไปเปรียบกับมณฑลอื่นก็ยังล้าหลัง โครงการลงทุนสำคัญตอนนี้คือ การสร้างทางรถไฟสายชิงไห่-ลาซา ทิเบตยังไม่มีทางรถไฟ เมื่อมีแล้วจะพัฒนาดีขึ้น นอกนั้นยังมีโครงการพัฒนาคมนาคมอื่นๆ การเกษตร การศึกษา การสาธารณสุข จากนั้นไปรับประทานที่ห้องไกลาสที่เรารับประทานทุกวัน ถามเรื่องการศึกษาต่อ มาดามบอกว่าช่วงประถมและมัธยมต้น ผู้หญิงมักจะเรียนดีกว่าผู้ชาย เพราะเด็กผู้ชายซน แต่พอชั้นสูงขึ้นกว่านี้ผู้หญิงใจแตกไม่อยากเรียน ผู้ชายจะเรียนดีขึ้น ระหว่างรับประทานอาหารมีการแสดงเกซาร์ เป็นการขับร้องมหากาพย์เกซาร์สดุดีกษัตริย์เกซาร์ ซึ่งเป็นกษัตริย์โบราณของทิเบต มีนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงชื่อยู่เหมย อายุ 40 ปี นักร้องคนนี้เดิมก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ พออายุ 15 ปี เกิดป่วยสลบไปนาน พอฟื้นขึ้นมาก็ร้องเกซาร์ได้โดยธรรมชาติไม่มีใครสอน นักร้องคนนี้เป็นชาวบ้านไม่รู้หนังสือ แต่ร้องเกซาร์ได้ไพเราะ ขณะนี้ทำงานที่สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ (Academy of Social Science) ของทิเบต อัดเทปไว้ 60 กว่าม้วนแล้ว มาดามปาซังบอกว่ามีคำกล่าวว่าเด็กทิเบตนั้น ถ้าดื่มนมได้ก็กินเหล้าได้ พูดได้ก็ร้องเพลงได้ เดินได้ก็เต้นรำได้ มาดามเองผิดไปจากคำกล่าวนี้ทั้งหมด คือ กินเหล้าก็ไม่เป็น ร้องเพลงเต้นรำไม่เป็นทั้งนั้น


(น.121) รูป 110 ยู่เหมยขับร้องมหากาพย์เกซาร์
Yumei, Gesar epic singer.


(น.122) รูป 111 ศิลปินชายทิเบตมาขับร้องมหากาพย์เกซาร์เช่นกัน
Gesar Epic male singer.

(น.122) นักร้องอีกคนเป็นศิลปินชายระดับชาติ เคยทำงานอยู่ที่คณะนาฏศิลป์ทิเบต ตอนนี้เกษียณอายุแล้ว แต่เชิญมาร้องเป็นพิเศษ เนื้อหาที่ร้อง (พูดบ้าง เต้นไปบ้าง) มีอยู่ว่าเกซาร์อายุ 15 ปี มียักษ์มาจากทางเหนือยกทัพมา เกซาร์รบกับยักษ์นี้ เสนาบดีคนหนึ่งทรยศ สมคบกับฝ่ายตรงข้ามก่อกบฏแย่งชายาเกซาร์ไป พี่ชายของเกซาร์ก็เสียชีวิต ในที่สุดเกซาร์ปลอมตัวขี่ลาไปงานฉลองชัยชนะฝ่ายตรงข้าม ระหว่างเดินทางไปเมืองต่างๆ ได้รับการต้อนรับอย่างดี ที่เมืองข้าศึกถูกล้อว่า หมวกไม่สวยดูเหมือนหางไก่ รองเท้าเหมือนนกขาเป๋ และนำหมวกมาให้เลือก 47 ใบ ก็ไม่ชอบเลยสักใบ ว่าสู้ใบที่มีอยู่ไม่ได้ พูดตลกอะไรก็ไม่ทราบจนเอาชนะข้าศึกได้ ฟังไม่รู้เรื่อง จางอี้หมิงก็ฟังไม่ออกเพราะร้องเป็นภาษาทิเบต ได้แต่เล่าให้ฟังจากเนื้อหาที่เขาสรุปมาให้ กฤษดาวรรณบอกว่าฟังออก แต่ยังไม่ได้ถามกันว่าฟังออกว่าอย่างไร ว่ากันว่าเรื่องนี้เป็นบทกวีที่ยาวที่สุดไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทางสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์เชิญศิลปินมาร้องแล้วบันทึกไว้ทุกวัน กำลังพิมพ์เรื่องนี้เป็นหนังสือ รัฐบาลให้งบประมาณมาดำเนินการ มีการรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมทิเบตอย่างอื่นด้วย ถามมาดามปาซังว่า มณฑลต่างๆ ที่มาช่วยนั้นมีกำหนดเวลาหรือไม่ว่าจะให้ช่วยกี่ปี มาดามบอกว่าแต่เดิมกำหนดไว้ว่า 10 ปี ภายหลังที่ประชุมให้ยืดกำหนดเวลาเป็น 20 ปี ข้าราชการที่มาช่วยเปลี่ยนทุก 3 ปี กระทรวงการต่างประเทศเองก็ส่งคนมาช่วยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของทิเบต ขณะนี้ความช่วยเหลือที่ว่านี้เข้าปีที่ 7 แล้ว

(น.123) มณฑลตะวันตกอื่นๆ ก็มีการช่วยเหลือเหมือนกันแต่ทิเบตได้มากสุด เท่าที่ปฏิบัติมา นครปักกิ่งกับมณฑลเจียงซูช่วยลาซา ซานตงและเซี่ยงไฮ้ช่วยรื่อคาเจ๋อ หูหนานกับหูเป่ยช่วยซานหนาน ฮ่องกงก็สนใจที่จะช่วย แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีบทบาทอย่างไร เมื่อมีการประชุมที่ฮ่องกง ต่งเจี้ยนหัว ผู้นำฮ่องกงกล่าวว่าฮ่องกงพร้อมที่จะร่วมนโยบายพัฒนาภาคตะวันตกของจีน เร็วๆ นี้มีพ่อค้าฮ่องกง 100 กว่าคนมาดูงาน วันนี้พยายามไม่ดื่ม แต่คณะทิเบตชวน ไม่เป็นอะไร