Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2544 "


(น.144) รูป 127 รูปปันฉานลามะองค์ที่ 10
The 10th Pancen Lama.

(น.144) ส่วนที่อยู่ของปันฉานลามะ มีรูปปันฉานลามะองค์ที่ 11 รูปครูที่เป็นผู้มีความรู้มากที่สุด โต๊ะทำงานของปันฉานลามะองค์ที่ 10 เป็นของที่นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลถวายเมื่อ ค.ศ. 1959 มีโต๊ะที่นายพลเฉินอี้ถวายเมื่อ ค.ศ. 1956 ห้องบรรทมซึ่งที่จริงเป็นห้องเรียนหนังสือ ห้องนี้ทั้งปันฉานลามะองค์ที่ 10 และองค์ที่ 11 เคยใช้ มีเก้าอี้สำหรับครูและผู้ช่วย มีรูปพระอาจารย์จงคาปา อีกห้องหนึ่งเป็นห้องบรรทม ปันฉานลามะองค์ที่10 มรณภาพในห้องนี้ ห้องประชุมมีประตูเข้าไปที่ห้องนั่งสมาธิ เมื่อปันฉานลามะองค์ที่ 10 มรณภาพที่ห้องบรรทม นำพระศพมาตั้งที่ห้องสมาธิเดือนหนึ่งจึงนำไปวัด ชั้นล่างมีวิหาร มีรูปครู 2 องค์ของปันฉานลามะองค์ที่ 10 ผู้ปั้นรูปล้วนเป็นลามะ มีบัลลังก์สำหรับสวดมนต์ มีรูปปันฉานลามะองค์ที่ 10 ที่นำมาตั้งตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ดอกไม้ที่บูชาทำด้วยเนยแบบที่วัดถาเอ่อร์ ในตู้หนังสือมีคัมภีร์ภาษาทิเบต กันจูร์ ตันจูร์ นอกจากคัมภีร์นิกายเกลุกปะแล้วยังมีคัมภีร์นิกายอื่นๆ

(น.145) กันจูร์เป็นพระไตรปิฎก-พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ส่วนตันจูร์เป็นอรรถกถา เวลาพิมพ์จะนำมาพิมพ์รวมกัน ใน ค.ศ. 1583 สมัยจักรพรรดิคังซีให้พิมพ์กันจูร์ พิมพ์ที่ปักกิ่ง ด้วยตัวพิมพ์แกะไม้ ต่อมาใน ค.ศ. 1724 สมัยจักรพรรดิยงเจิ้งให้พิมพ์ตันจูร์ พระไตรปิฎกกันจูร์และพระอรรถกถาตันจูร์รวมกันเรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับคังซี เป็นภาษาทิเบต บางครั้งก็เรียกกันว่า พระไตรปิฎกฉบับปักกิ่ง


(น.145) รูป 128 โต๊ะพร้อมที่จุดประทีปของที่ระลึกถวายปันฉานลามะ
Lamp post, a gift to the Pancen Lama.


(น.146) รูป 129 รูปสถูปกุมบุมแห่งวัดเพลคอร์เชอเด ที่มีชื่อเสียงของเมืองเกียงเซที่ผู้ว่าการเมืองรื่อคาเจ๋อมอบให้
Picture of the Kumbum Stupa in Gyantse, presented by the Commissioner of Rekaze.

(น.146) เข้าไปอีกห้องหนึ่งมีพระตีฉาบสลับกับตีกลอง แต่ไม่ได้ยินเสียงสวดอะไร อาจจะสวดในใจ ห้องนี้เรียกว่าวิหารธรรมบาล (ฮู่ฝ่า) ต้องเอาผ้าปิดไว้เพราะน่ากลัว ออกไปเดินรอบๆ อาคาร เป็นสวนดอกไม้ ผลไม้ มีภัตตาคาร และสำนักงานผู้ดูแล

(น.147) กลับโรงแรม ลงไปรับประทานอาหารเวลาทุ่มครึ่ง ผู้นำของเมืองรื่อคาเจ๋อเลี้ยง ตัว Commissioner เป็นผู้หญิง ให้ของขวัญเป็นรูปวัดที่เกียงเซ (Gyantse) ซึ่งเราไม่มีโอกาสไป และกล่าวว่าชื่อเมืองรื่อคาเจ๋อ แปลว่า สิ่งประดับอันสวยงาม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีแร่ธาตุมาก มีวัฒนธรรมเก่าแก่ มีภูเขาสูงกว่า 8,000 เมตร เวลานี้มีต่างประเทศมาร่วมโครงการพัฒนา (แต่ไม่มีโครงการลงทุนการค้า) เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ในด้านการรักษาพยาบาล การสร้างระบบชลประทาน กาชาดสวิสมาช่วยสร้างโรงเรียน มีฟาร์มผักอนามัย การพัฒนาพันธุ์จามรี มีพื้นที่ติดต่อกับอินเดีย วันนี้ชวนดื่มเป็นการใหญ่ ที่นี่ระดับสูงกว่าลาซา ฉะนั้นเดินเร็วหน่อยก็เหนื่อย ข้าพเจ้าจึงพยายามระวังเรื่องการดื่ม แต่มาดามเซริงบอกว่า ไม่เห็นจะเป็นอะไร ดื่มแล้วทำให้นอนดี ต้องยอม มาดามอวดว่าการแพทย์แบบทิเบตนี้รักษาโรคที่การแพทย์ตะวันตกและการแพทย์จีนรักษาไม่หาย มาดามเคยเรียนการแพทย์ตะวันตกและเคยทำงานกรมอนามัยมา 30 ปี มาดามบอกว่าแพะที่นี่ไม่เหม็นเพราะมันปีนเขาขึ้นไปกินแต่สมุนไพร รับประทานเสร็จกลับมาที่ห้อง สักประเดี๋ยวมีคนเคาะประตู ปรากฏว่าหมอทิเบตมาเคาะถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่า บอกเขาว่าสบายดี เขาถามถึงท่านทูต ข้าพเจ้าชี้ห้องให้ ท่านทูตบอกว่าสบายดีไม่ต้องรักษา