Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2544 "

(น.148) วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2544
เช้านี้ลองชิมซัมปา เอาแป้งคลุกชาเนยจามรี ใส่น้ำตาลนิดหน่อยคล้ายๆ ข้าวตู ลองเอาไปจิ้มแยม (ผิดตำรา) ยิ่งอร่อย ออกเดินทาง 7 โมงยังไม่สว่าง ฝนตกพรำๆ คนขับรถเปิดเพลงทิเบตและเพลงจีนให้ฟังตามเคย รถแล่นผ่านทะเลทราย มีสันทราย (sand dunes) เป็นระยะๆ ฝนตกทำให้ถนนบางส่วนไม่ดี เพราะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และฝนตกด้วย ฝนตกมาแต่เมื่อคืนนี้และเพิ่งหยุดตอน 9 โมงกว่า แล่นไปอีกสักพักหยุดรถ อี้หมิงบอกว่ารถบัสคันที่ 4 ตกหล่ม คนที่ 5 ก็เลยพลอยติดไปด้วย มาดามเซริงให้รับประทานเนยแข็งอีกชนิด แข็งสมชื่ออมไว้ตั้งนานยังเคี้ยวไม่ออกเหมือนพลาสติก จึงต้องแอบคายอีกตามเคย ตัดสินใจไปรอตรงที่เขาทำห้องน้ำเอาไว้ จะได้เข้าห้องน้ำไปพลางระหว่างรอ มีคนชวนดื่มน้ำอีก ไม่อยากดื่มจะปฏิเสธก็เกรงไม่สุภาพ จึงชวนพวกของมาดามเต้นระบำทิเบต จากนั้นลาพวกเมืองรื่อคาเจ๋อเดินทางต่อประมาณ 10 โมงกว่า เกือบเที่ยงแล้วยังไปไม่ถึงไหน ต้องดูวิวไปเรื่อย ในน้ำมีเรือหนังจามรี บนเขามีเจดีย์ดูเหมือนจะเป็นวัด บริเวณนี้มีต้นไม้เขียว นาข้าว กลางน้ำยังมีต้นไม้ แถวหมู่บ้านมีแปลงผักคลุมพลาสติก

(น.149) รถหยุดที่โรงเรียนประถม อำเภอก้งก่า มี Vice Commissioner ของเขต Shannan (ซานหนาน) และนายอำเภอหญิงมารอรับ ทางเขตซานหนานกางเต็นท์ให้รับประทานอาหาร จัดอาหารอย่างดีจากโรงแรมที่เราจะไปพัก ทำห้องน้ำอย่างดีไว้ให้ด้วย เล่ากันว่าในช่วงนี้มีชาวต่างประเทศมาเที่ยวกันมาก โรงแรมแห่งนี้ไม่มีที่เหลือเลยคนจองเต็ม ระดับความสูงต่ำกว่าที่เมืองลาซา ก้งก่าเป็นอำเภอใหญ่ที่สุดในเขตซานหนาน โรงเรียนที่เรามาหยุดรับประทานอาหารนี้เป็นโรงเรียนในโครงการการศึกษาภาคบังคับสำหรับเขตยากจนของประเทศ จากบริเวณนี้ถึงโรงแรมใช้ระยะเวลาเดินทางเพียงชั่วโมงครึ่ง ชาวบ้านเก็บเกี่ยวแล้วใช้วิธีฟาดข้าวในลานนวดข้าวอย่างเดิม ไม่ได้ใช้เครื่อง นั่งรถผ่านบริเวณที่มักใช้ข้ามไปวัดซังเย (วัดซัมเย่ Samye) ต้องข้ามเรือไป ใช้เวลาสองชั่วโมงไป สองชั่วโมงกลับ

(น.150) ไปถึงโรงแรมเซตัง (Tsedang) มีพิธีต้อนรับอย่างเคย เวลา 16.00 น. ไปปราสาทยงปู้ลาคัง หรือยัมบูลาคัง (Yambu Lhakang) ในภาษาทิเบต ยัมบู แปลว่า กวางตัวเมีย ลาคัง แปลว่า วิหาร ถนนเป็นฝุ่นมาก เพราะกำลังก่อสร้าง เดินทางประมาณ 30 นาที ฝนตกหนัก คนขับรถบอกว่าข้างบนจอดรถได้ 2 คัน แต่ขบวนเรามาหลายคัน Vice Commissioner บอกว่าให้ขี่ม้าขึ้นไป ม้ามี 2 ตัว อี้หมิงว่า ตากฝนจะเป็นหวัดเสียเปล่าๆ ข้าพเจ้าว่าน่าจะไปจุดหมายที่ 2 ก่อนค่อยกลับมา แต่เจ้าภาพอยากจะให้ขึ้นไปเลย กำลังจะไป พอดีฝนหยุด ตกลงกันได้ว่าให้เดินขึ้นไป ปราสาทอยู่บนหน้าผา ไม่ชันสักเท่าไร ที่ต้องระวังคือมีไม้พุ่มชนิดหนึ่ง โดนเข้าแล้วรู้สึกปวดแสบปวดร้อน



(น.151) ไปถึงข้างบนมีคนอธิบายว่า ปราสาทยัมบูลาคัง ตั้งอยู่บนเขาลูกหนึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยาร์ลุงซังโป สร้างบนภูเขาที่ดูเหมือนขาของกวางตัวเมีย จึงได้ชื่อว่า ยัมบูลาคัง สื่อความว่า เป็นสิ่งก่อสร้างบนขาของกวางตัวเมีย ผู้สร้างคือกษัตริย์ทิเบตโบราณ ชื่อว่า เนี่ยฉือจ้านผู่ หรือ ญาตรีเซ็นโป (Nyatri Tsanpo) ในภาษาทิเบต สร้างในปี 127 ก่อนคริสต์ศักราช สถานที่นี้เกิดสิ่งมหัศจรรย์สิ่งแรกของทิเบตคือหมู่บ้าน Karlung Suoka ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกของทิเบต พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกคือ Nyatri Tsanpo วังแห่งแรก (คือวังที่เรากำลังอยู่นี้) และคัมภีร์พุทธศาสนาฉบับแรก Pankong Chagya มีเรื่องเล่าว่าตกลงมาจากฟ้า เจ้าหญิงเหวินเฉิงตอนเดินทางมาทิเบตก็มาพักที่นี่ พระประธานเป็นพระศากยมุนี พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกมีฉายาว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ประทับอยู่บนไหล่ เนื่องจากมาจากฟ้าผู้คนจึงตื่นเต้นแบกไว้บนบ่า ซงจ้านกานปู้เป็นองค์ที่ 33 ตั้งแต่กษัตริย์องค์แรกจนถึงองค์ที่ 33 ศูนย์กลางวัฒนธรรมอยู่แถบแม่น้ำยาร์ลุงซังโปนี้ ภาพเขียนเจ้าหญิงเหวินเฉิงนี้ลอกแบบมาจากที่วังโปตาลา รูปธรรมราชาองค์ที่ 3 เสนาบดีที่ไปนำเจ้าหญิงเหวินเฉิงมา และเสนาบดีที่ประดิษฐ์ตัวอักษรทิเบต พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 38 เป็นผู้แปลคัมภีร์มากมาย ตั้งแต่สถาบันแปล เข้าใจว่ามีการเปรียบพระองค์เหมือนกับพระมัญชุศรี


(น.152) รูป 130 ภาพฝาผนังพุทธประวัติที่ปราสาทยงปู้ลาคัง (ยัมบูลาคัง)
Buddha's Life, mural painting at Yambu Lhakang.

(น.152) ขึ้นชั้นบน ในห้องภาพฝาผนังเล่าเรื่องกษัตริย์องค์แรก ตำนานว่าไต่เชือกลงมาจากฟ้า แต่ถ้าตีความแล้วน่าจะหมายความว่าเป็นคนต่างเผ่า บางคนว่ามาจากเมืองหลินจือซึ่งอยู่ห่างไปไกล พูดกันไม่รู้เรื่อง ส่งภาษาใบ้กัน ชาวบ้านจึงนึกว่ามาจากฟ้า บางคนว่ามาจากอินเดีย เพราะรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ยังมีเรื่องเล่าบางฉบับว่ากษัตริย์องค์แรกๆ ปีนเชือกกลับไปท้องฟ้าได้ แต่องค์ที่ 7 ทำเชือกขาดจึงขึ้นไปไม่ได้ อาจตีความว่า ตอนแรกๆ เมื่อตายเอาๆไปฝังที่บ้านได้ ภายหลังเอาไปไม่ได้ต้องฝังในท้องที่นั้นเอง


(น.153) รูป 131 พระพุทธรูปดินปั้น
Buddha image, a clay sculpture.

(น.153) มีตู้ใส่พระไตรปิฎกหลายฉบับเป็นภาษาทิเบต มีรูปพระศากยมุนีดินปั้น พระไภษัชยคุรุ พระอาจารย์จงคาปา และสาวก 20 องค์ รวมทั้งกวนอิมว่ามาจากอินเดีย รูปปั้นพระที่มาจากอินเดีย เช่น พระศานตรักษิตะ พระปัทมสัมภวะ กษัตริย์ของราชวงศ์ถู่โป๋ไปอินเดีย ตอนแรกที่เจ้าหญิงเหวินเฉิงและเจ้าหญิงเนปาลนำพุทธศาสนาเข้ามานั้น ขาดพระสงฆ์ ภายหลังจึงมีการบวชพระ 7 องค์แรก แล้วจึงทำพิธีบวชพระสงฆ์อื่นๆ ได้ พระศานตรักษิตะเป็นนักแปลและนักปรัชญา ส่วนพระอีกองค์ถนัดทางด้านพิธีกรรมของนิกายตันตระ มาเพื่อปราบมาร พระเจ้าแผ่นดินที่สร้างวัดซังเยวางผังอาคารเป็นมณฑล (mandala) ปีนขึ้นไปบนชั้นหลังคา เห็นทิวทัศน์ เห็นนาผืนแรกเป็นรูปสามเหลี่ยม ยังมีวัดแห่งแรก (วัดซังเย) สะพานแห่งแรก อุทยานแห่งแรก งิ้วคณะแรก สุสานพระเจ้าแผ่นดินองค์แรก เดินออกมาข้างนอก เห็นภูเขาและที่ราบเชิงเขา แถบนี้มีน้ำพุที่ชาวบ้านมาตักน้ำไปใช้ บางคนว่าน้ำนี้แก้โรคโพรงจมูกอักเสบได้


(น.154) รูป 132 ลามะกำลังสวดมนต์
Chanting session.

(น.154) เดินทางต่อไปวัดชางจู (วัดตรันดรุก Trandruk Lamasery) แปลว่า ไข่มุกอันรุ่งเรือง ตามชื่อภาษาจีน (ชาง = เจริญรุ่งเรือง จู = ไข่มุก) ถ้าตามความหมายภาษาทิเบตตรงกับคำว่า เหยาหลง เหยาเป็นเหยี่ยวชนิดหนึ่ง เล็กกว่าเหยี่ยวทั่วไป เหยาหลงหรือเหยี่ยวมังกร จึงเป็นสัตว์ผสม เอาชื่อสองอย่างมาผสมกัน เป็นโบราณสถานที่ได้รับการอนุรักษ์อันดับที่ 7 และเป็นวิหารรุ่นแรกของทิเบต ตามประวัติว่าผู้สร้างคือกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ พระองค์สร้างวัดแบบนี้ 12 วัด เจ้าหญิงเหวินเฉิงมาพักในฤดูหนาว บูรณะในสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 ในแผนที่ทิเบตที่เป็นรูปยักขินี ตามที่เจ้าหญิงเหวินเฉิงคิดขึ้น วัดนี้อยู่ตรงไหล่ขวาของยักษ์ (หนังสือบางเล่มว่าเป็นไหล่ซ้าย)

(น.155) มีเรื่องเล่ากันว่า วัดนี้เคยมีทะเลสาบใหญ่ ใต้น้ำมีสัตว์ประหลาด 5 ตัว (เหยาหลง) คอยทำร้ายผู้คน กษัตริย์ซงจานกานปู้ปราบสัตว์ประหลาดได้ ในห้องโถงพระลามะสวดมนต์ ภาพผนังในห้องโถงเป็นภาพใหม่แต่ว่าเขียนได้ดี เป็นเรื่องพุทธประวัติ ประสูติ ตัดพระเกศา แบบที่คนไทยแต่ก่อนเรียกว่าปางพระเจ้าตัดเกศ บำเพ็ญทุกรกิริยา ตอนนั้นมีเด็กเอาไม้มาแยงพระกรรณ ก็ไม่รู้สึกอะไร ตอนนี้ในศิลปะไทยไม่มีภาพมารวิชัย ตรัสรู้ ยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจากดาวดึงส์ มีภาพที่ไม่ทราบว่าเป็นภาพอะไร ปรินิพพาน ถวายพระเพลิง


(น.155) รูป 133 พระพุทธรูปทิเบต
Tibetan Buddha images.


(น.156) รูป 134 พระกวนอิม 11 หน้า 1,000 มือ
Eleven-headed, thousand-armed Avalokitesvasa.


(น.157) รูป 135 หม้อและเตาไฟที่เชื่อว่าใครได้ลูบจะมีฝีมือทำกับข้าวดีขึ้น
Pot and cooking stove, believed to enhance the skill of cooking of those who have touched them.

(น.157) วิหารธรรมราชา มีรูปกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ เจ้าหญิง 2 องค์ และเสนาบดี 2 คน ภาพตาราเขียว และตาราขาว วิหารตารา มีรูปตาราขาว พระอีก 5 องค์ คือ พระไวโรจนะ พระรัตนสัมภวะ อโมฆสิทธิ อักโษภยะ อมิตาภะ สาวกสำคัญอีก 8 องค์ ดูแล้วงงไม่ทราบว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน วิหารกวนอิม กวนอิม 11 หน้า 1,000 มือ มีรูปวัชรปาณี (น่ากลัว) ในห้องนั้นมีหม้อและเตาไฟที่เชื่อกันว่า เจ้าหญิงเหวินเฉิงเคยใช้ พูดกันว่า ถ้าใครไปลูบหม้อนี้แล้วจะมีฝีมือทำกับข้าวดีขึ้น วิหารพระฉางโซ่ว หรืออมิตายุส มีรูปตาราขาว ตาราเขียว วิหารพระปัทมสัมภวะ ปางต่างๆ 8 ปาง อยู่ข้างละ 4 ดูน่ากลัว สำหรับปราบปีศาจต่างๆ มีรูปปัทมสัมภวะปั้นด้วยดิน ชั้นบนเป็นดาดฟ้ามีห้องเป็นกุฏิพระ ที่นี่มีพระอยู่ 50 กว่ารูป เข้าไปในห้องที่เก็บของล้ำค่า ที่ได้ดูมีดังนี้

Next >>