Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2544 "


(น.178) รูป 147 สถูปวิญญาณบรรจุพระธาตุของดาไลลามะพระองค์หนึ่งในอดีต
Reliquary stupa enshrining one of the Dalai Lamas's relics.

(น.178) วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2544
เมื่อคืนนี้นอนดีรวดเดียว เห็นจะเป็นเพราะจี้ไปเจอเครื่องพ่นไอน้ำซึ่งอยู่อีกห้องเอามาเปิด อารยาเอาก้อนหินสีเขียวๆ คล้ายๆ กับ Turquoise เก็บได้ข้างทางตอนที่รถยางแตก ต้องให้กรมทรัพยากรธรณีตรวจดู แต่แรกคิดว่ารับประทานอาหารเช้าตอน 7 โมงครึ่งตามหมาย แต่คุณอู๋ลงไปดูแล้วห้องกินข้าวยังมืด กุ๊กบอกว่ายังทำกับข้าวไม่เสร็จ ขอเป็น 8 โมง

(น.179) เช้าวันนี้ไปวัดเจ๋อปั้ง (วัดเดรปุง Drepung) มาดามเซริงนั่งรถไปด้วย วัดเจ๋อปั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นวัดที่กว้างขวางและร่ำรวยที่สุดในทิเบต สร้างใน ค.ศ. 1416 สมัยดาไลลามะองค์ที่ 2 ผู้สร้างเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของพระอาจารย์จงคาปา มีขุนนางตระกูลหนึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ สมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 ขยายให้กว้างขวางขึ้น วัดอยู่ห่างจากเมืองลาซาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 5 กิโลเมตร อยู่เชิงเขาเก๋อเป้ยอู่จือซาน (Gambo Utse) ชื่อวัดแปลว่า กองข้าว สมัยที่รุ่งเรืองที่สุดปรากฏว่ามีพระอยู่ถึง 10,000 รูป เป็นสถานศึกษาของลามะระดับสูงที่ทรงความรู้หลายรูป มาดามเซริงบอกว่าสมัยก่อนปลดปล่อย เคยมี 7,700 รูปอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะนี้ที่จดทะเบียนมี 580 รูป พระมาจากมณฑลกานซู่และมณฑลชิงไห่ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ที่นี่มีถึงประมาณ 200 รูป รวมเป็นประมาณ 800 รูป เข้าไปเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับพระมาชุมนุมกัน บนเสาแขวนเครื่องแบบทหารสมัยก่อน ฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ ซ่อมเมื่อ ค.ศ. 1991 มีรูปพระอรหันต์ 16 องค์ (ทำไมไม่เป็น 18 องค์เหมือนที่วัดอื่นก็ไม่ทราบ) มีตู้ใส่คัมภีร์ ขึ้นบันไดไปอีกห้องหนึ่งมีรูปเจ้าอาวาสเก่าที่เพิ่งมรณภาพไปเมื่อ ค.ศ. 1997 มีวิหารพระพุทธรูป 3 สมัย พระสาวก 18 รูป พระอาจารย์จงคาปา วัชรปาณี หัยครีวะ เป็นเทพมีรูปม้าโผล่ขึ้นมาบนหัว ข้างฝามีคัมภีร์อยู่ตามชั้นข้างฝา

(น.180) มีรูปพระมัญชุศรีเป็นพระประธาน มีวิธีนมัสการคือ เอาผ้าฮาดาโยนเป็นก้อนกลม แล้วปาขึ้นไปบนตักพระ ในห้องนี้ยังมีรูปพระดาไลลามะหลายองค์ เช่น องค์ที่ 3, 4, 5, 7, 8, 9 พระอรหันต์ 16 องค์ ที่น่าสนใจคือ ตู้ใหญ่ยาวสำหรับใส่ทังกาขนาดยักษ์ กว้าง 37 เมตร ยาว 40 เมตร สำหรับแขวนในเทศกาลเนยโยเกิร์ต (yogurt) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 ของเดือนที่ 6 ทางจันทรคติ เปิดในหนังสือท่องเที่ยว Lonely Planet บอกว่าวันที่ 30 เดือน 6 เป็นเทศกาลเรียกว่า Drepung Festival เป็นเทศกาลที่ทางวัดเจ๋อปั้งจะเอาทังกาใหญ่ออกมากางให้คนนมัสการ ส่วน Yogurt Festival เป็นสัปดาห์แรกของเดือน 7 เขาเปิดตู้ให้ดู แต่กางให้ดูไม่ได้เพราะใหญ่มาก ว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้า 3 สมัย นักแสวงบุญเดินลอดตู้ใส่ทังกาก็ยังได้บุญ ขึ้นไปบริเวณดาดฟ้า พื้นที่เราคิดว่าเป็นพื้นซีเมนต์นั้นไม่ใช่ซีเมนต์ เรียกว่า Agar เป็นดินเหนียวชนิดหนึ่งผสมกรวด ชาวบ้านที่มาช่วยซ่อมแซมวัดตีดินไปพลางร้องเพลงไปพลาง


(น.180) รูป 148 ตู้ใส่ทังกาขนาดยักษ์
Case for the giant Thangka.


(น.181) รูป 149 เสาสำหรับแขวนทังกา
Thangka post.

(น.181) มองออกไปที่ภูเขาเห็นที่สำหรับแขวนทังกา เป็นประเพณีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จากวัดมองเห็นชานเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลาซา แต่ก่อนมีแต่แม่น้ำลาซาไหลผ่าน อย่าว่าแต่บ้านเรือนเลย ต้นไม้สักต้นก็ไม่มี เป็นที่ลุ่มน้ำขังมีแต่ต้นกก ต้นไม้ที่เห็นช่วยกันปลูกเมื่อ 40 ปีมานี้เอง มีต้นไป๋หยาง ต้นหลิวซาฉี (ขึ้นที่ทะเลทราย ผลมีรสเปรี้ยว ทำน้ำผลไม้ได้) มีสวนแอปเปิ้ลและสวนท้อที่พระปลูก แต่ก่อนนี้ต้องปลูกตั้งแต่ต้นเล็กๆ เดี๋ยวนี้มีเทคนิคย้ายต้นไม้ต้นโตๆ มาได้เลย อาคารบนดาดฟ้าสร้างด้วยหญ้าไป๋หม่า ห้องดาดฟ้ามีรูปกษัตริย์ 17 องค์ ดาไลลามะองค์ต่างๆ ที่สำคัญคือ องค์ที่ 5

(น.182) พระให้ข้าพเจ้าสวดมนต์หน้าพระไมเตรยะ ข้าพเจ้าสวดไม่เป็น บอกให้คุกเข่าที่เบาะที่เตรียมไว้แล้ว พระทั้งหลายสวดให้ ฟังสวดมนต์เป็นเรื่องดีมีมงคล แต่ใจไม่ดีว่ามนต์จะยาวแค่ไหนก็ไม่ทราบ เมื่อสวดมนต์จบพระเทน้ำมนต์จากหอยสังข์บนมือให้ดื่มและลูบหัว พาไปที่องค์พระเอาชายผ้าห่มพระประธานตีหัว ในวิหารพระ มีตะกร้าที่เล่ากันว่าพระอาจารย์มิลาเรปาเคยใช้ อีกห้องหนึ่งมีพระพุทธรูปที่เล่ากันว่ามาจากวัดต้าเจาซื่อ หรือวัดโจคัง (Jokhang) คือวัสดุที่นั่นเหลือจึงมาทำพระที่นี่ (ถามดูอีกทีว่าใช้วัสดุนั้นทำอะไร ได้ความว่าพระพุทธรูปที่วัดต้าเจาซื่อเป็นของเก่ามาจากอินเดียที่ทำใหม่ที่ทิเบตคือ มงกุฎ) มีทังกาเก่าๆ ลงบันไดมีรูปพระไมเตรยะอีกองค์ รูปดาไลลามะองค์ที่ 6 ในห้องมีคัมภีร์กันจูร์บอกว่ามี 13 ชุด เป็นลายมือเขียนด้วยหมึกทอง มีสถูปวิญญาณของดาไลลามะองค์ที่ 2 ขององค์ที่ 5-13 อยู่ที่วังโปตาลา องค์ที่ 1 อยู่ที่วัดจ๋าสือหลุนปู้ (ต้าชี่ลุนโป) องค์ที่ 3-4 อยู่อีกวิหารในวัดนี้ ซึ่งเปิดให้คนเข้านมัสการปีละครั้ง คือในวัน Stupa Festival วันที่ 8 เดือน 7 ตามปฏิทินทิเบต ซึ่งจะถึงในวันอาทิตย์นี้ (26 สิงหาคม 2544) ในห้องมีกระจกเงา บอกว่าคนที่หน้าดำมีสิวไม่สวยส่องกระจกแล้วหน้าจะขาวสวยขึ้น อาจจะเกินแก้แล้วจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง กระจกนี้ลูกสาวของผู้ศรัทธาวัดนี้ถวายราว 500 ปีมาแล้ว

(น.183) อีกห้องมีตารา 3 องค์ มาจากนาทังองค์หนึ่ง ยัมโจลองค์หนึ่ง เจียงซืออีกองค์หนึ่ง ดาไลลามะองค์ที่ 5 เชิญมาที่นี่ อีกห้องเป็นที่เก็บคัมภีร์กันจูร์ที่ใช้น้ำหมึกทองเขียน น้ำหมึกทองใช้ทองจริงๆ ทำ คัมภีร์สำคัญๆ ที่อยู่ในตู้ เช่น พระไตรปิฎกของเผ่าน่าชีที่ลี่เจียง (ยูนนาน) พระเจ้าแผ่นดินที่นั่นสนพระทัยพระพุทธศาสนาจึงสร้างพระไตรปิฎก ที่นี่มีพิมพ์ไม้อยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยได้พิมพ์คัมภีร์ใหม่ เอกสารที่ใช้บ่อยๆ เช่น แบบเรียนก็จะพิมพ์ใช้ ไม้ประกับคัมภีร์เป็นงาช้างสลักสลับกับไม้จันทน์ เป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย หน้ากาลมีมือออกมาจับท่อนพวงมาลัย มีคัมภีร์ที่มีรูปพระอมิตายุส 1,000 องค์ ปกเป็นไม้จันทน์สลักรูปพระพุทธเจ้า 3 สมัย


(น.183) รูป 150 หน้าปกคัมภีร์กันจูร์ปรัชญาปารมิตาสูตร ใช้น้ำหมึกทองเขียน
Kanjur : Prajnaparamitasutra, written in gold.


รูป 151 ไม้ประกับคัมภีร์
Wood carved, manuscript cover.

(น.184) สุดท้ายเชิญไปนั่งในห้องรับแขก พระเลี้ยงนม ผลไม้ น้ำชาใส่นมเค็ม พระบอกว่าปีนี้ปลูกข้าวไม่ได้ดีจึงต้องไปซื้อที่ตลาด ที่ไม่ดีเพราะต้นแก่แล้ว ข้าพเจ้าสงสัยว่าถ้าต้นเก่าแก่แล้วปลูกใหม่ไม่ได้หรือ พระบอกว่าปลูกไม่ขึ้นเพราะหนูชุกชุม หนูกินรากตายหมด พระฆ่าสัตว์ไม่ได้ จึงปราบหนูไม่ได้ แอปเปิ้ลปลูกเอง วัดนี้ใหญ่มากต้องดูแลเลี้ยงตัวเอง มีรายได้จากการทำเกษตรกรรม ปีนี้ไม่มีข้าวรายได้ลดไปบ้าง นอกจากนี้ยังให้ชาวบ้านเช่าที่ทำการเกษตร ขายตั๋วให้นักท่องเที่ยว ค่าถ่ายรูป ขายของที่ระลึก พระให้หนังสือพระพุทธรูป ของที่ระลึก ออกมามีวิหารที่เก่าที่สุดของวัดอายุ 584 ปี เป็นวิหารที่อยู่ในถ้ำ ข้างในมีรูปพระโพธิสัตว์มัญชุศรี เป็นหินธรรมชาติ พระเอาไม้หุ้มเงินออกมา บอกว่าเป็นไม้ของพระโบราณ ชื่ออะไรจดไม่ทัน ตีแล้วแก้ปวดตามส่วนต่างๆ จากวัดไปหยุดที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งกำลังปรับปรุงเป็นที่ให้ประชาชนมาเที่ยวได้ เดิมเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะมีน้ำขัง มีแต่ต้นกกขึ้น เขาเตรียมม้าและจามรีไว้ให้ขี่ ขี่กันพักหนึ่งแล้วเดินทางต่อ ที่หมายต่อไปคือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ป้ายชื่อของหอจดหมายเหตุนี้เป็นลายมือของเติ้งเสี่ยวผิง รองประธานสภาประชาชนเขียนภาษาทิเบต จุดประสงค์ของการทำหอจดหมายเหตุนี้ระบุว่าเพื่อสอนให้เยาวชนรักชาติ


(น.185) รูป 152 ลายมือรองประธานสภาประชาชน เขียนจุดประสงค์ของการทำหอจดหมายเหตุแห่งนี้ด้วยภาษาทิเบตแบบหวัด
Purposes of establishing the National Archive written in Tibetan running script by Vice Chairman of the People's Congress.

(น.185) เดินขึ้นไปชั้น 3 บรรยายสรุปว่าหอจดหมายเหตุนี้เป็นหอจดหมายเหตุอเนกประสงค์ เป็นสถานที่รักษาจดหมายเหตุเกี่ยวกับประวัติของภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต และเอกสารมีค่าที่เก็บจากหน่วยราชการทุกหน่วยงาน มีเนื้อที่ทั้งหมด 30,000 ตารางเมตร ตึกมีเนื้อที่ 1,200 ตารางเมตร มีเอกสารตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาในประวัติศาสตร์กว่า 700 ปี เอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษาทิเบต ยังมีภาษาจีน แมนจู หุย มองโกล สันสกฤต เนปาล อังกฤษ รัสเซีย รวมทั้งสิ้น 11 ภาษา (หายไปไหน 2 ภาษาก็ไม่ทราบ) ส่วนใหญ่เขียนบนกระดาษ นอกจากนั้นเขียนบนกระดูก ทอง โลหะต่างๆ มีเนื้อหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ศาสนา โหราศาสตร์ การแพทย์ทิเบตโบราณ อัตราภาษี ธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การคิดเลขโบราณ ส่วนใหญ่ใช้หมึกเขียน (หมึกธรรมดา) ถ้าเป็นจดหมายเหตุสำคัญจะใช้หมึกทองคำ หมึกเงิน ชาด เป็นต้น รัฐบาลกลางเห็นความสำคัญต่อการฟื้นฟูพัฒนาจดหมายเหตุ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1990 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาชมและเขียนลายมือพู่กันให้แก่หอจดหมายเหตุ มีใจความว่า อารยธรรมและประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอารยธรรมจีน พนักงานของหอจดหมายเหตุมี 100 คน 90% เป็นคนทิเบต หอจดหมายเหตุนี้ตั้งขึ้นหลัง ค.ศ. 1959 เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา นอกจากนั้นยังร่วมมือกับนักวิชาการภายในและภายนอกประเทศได้ผลดี

(น.186) มีห้องนิทรรศการให้ดู มีประวัติศาสตร์ทิเบตตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน มีของให้ดู เช่น พระบรมราชโองการ กฎมณเฑียรบาลสมัยราชวงศ์หมิง มีเอกสารแสดงการใช้นโยบายพระราชทานตำแหน่งแก่ข้าราชการทิเบตและอื่นๆ เอกสารราชวงศ์ชิง รัชศกซุ่นจื่อ ตั้งพระดาไลลามะ พระปันฉานลามะ และขุนนางทิเบต เข้าไปในห้องนิทรรศการประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวนถึงปัจจุบัน กฎหมายราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1304 พระบรมราชโองการเป็นภาษามองโกล เขาอธิบายว่ามณฑลอื่นจะไม่ค่อยพบพระบรมราชโองการแบบนี้ มีป้ายทองภาษามองโกลด้วย จักรพรรดิหงอู่ (จูหยวนจาง) ในราชวงศ์หมิง มีพระบรมราชโองการให้ตั้งจวนผู้ว่าราชการทั้งทหารและพลเรือนของเขตอาหลี่ใน ค.ศ. 1373 (เดือนที่ 2 ปีที่ 6) กระดาษที่เขียนเป็นสีๆ จวนที่ตั้งนี้เป็นทั้งบ้านพักและที่ทำการ จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหย่งเล่อให้พระนิกายกาตัมปะของทิเบตไปปักกิ่ง สมัยราชวงศ์ชิง มีเอกสารการแต่งตั้งดาไลลามะและพระปันฉานลามะ สมัยจักรพรรดิคังซีตั้งนายพลท่านหนึ่งที่ชนะกบฏของมองโกล เป็นปีที่ 60 ในรัชกาล ใน ค.ศ. 1724 สมัยจักรพรรดิยงเจิ้งพระราชทานตราทองคำดาไลลามะองค์ที่ 7 มีภาษาทิเบต มองโกลและแมนจู (ไม่มีภาษาจีน) รวมทั้งมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเสนาบดีทิเบตที่ปราบมองโกลได้


(น.187) รูป 153 คำสั่งเสนาบดีทิเบต
Order of a Tibetan minister.

(น.187) จักรพรรดิเฉียนหลงอนุมัติรับรองดาไลลามะองค์ที่ 8 ในปีที่ 27 ของรัชกาล (ค.ศ. 1762) ในรัชศกเฉียนหลงปีที่ 44 ตรงกับ ค.ศ. 1779 ปันฉานลามะองค์ที่ 6 ไปเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง เพื่อถวายพระพรในโอกาสพระชนมายุ 70 ปี
ค.ศ. 1762 จักรพรรดิเฉียนหลงอนุญาตให้ผู้ที่เป็นทายาททางวิญญาณของดาไลลามะขึ้นครองราชย์ได้
ค.ศ. 1793 เป็นปีที่ 58 ในรัชกาล จักรพรรดิเฉียนหลงขอออกกฎหมาย 29 ข้อ เริ่มประเพณีจับฉลากดาไลลามะจากแจกันทอง กฎหมายนี้ใช้อยู่ 100 กว่าปีจนถึงตอนที่ราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้ม
คำสั่งเสนาบดีทิเบต อาศัยอำนาจกฎหมาย 29 ข้อ ให้ชาวทิเบตอยู่ในพื้นที่ที่มีอยู่ ออกคำสั่งใน ค.ศ. 1795 ปีที่ 60 รัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง

Next >>