Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2544 "

(น.208) วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2544
ลงไปวิ่งครึ่งชั่วโมง รู้สึกสบายขึ้นไม่อึดอัด อากาศดี ในสระมีดอกบัวหลวงสีชมพู คราวที่แล้วมาไม่เห็น เพราะดอกบัวจะมีเฉพาะฤดูนี้ ถึงเดือนตุลาคมก็หมดแล้ว รับประทานอาหารเช้าเจ็ดโมงครึ่ง สิบโมงไปมหาศาลาประชาชน ที่ห้องฝูเจี้ยน พบนายกรัฐมนตรีจูหรงจีและภริยาคือ มาดามเหลาอาน สนทนากันประมาณครึ่งชั่วโมง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า


(น.208) รูป 162 เข้าพบนายกรัฐมนตรีจูหรงจีและภริยา (มาดามเหลาอาน) ที่มหาศาลาประชาชน
An audience with Zhu Rongji and his wife at the Great Hall of People.

(น.209) รู้สึกดีใจที่ข้าพเจ้ามาเยือนจีนเป็นครั้งที่ 14 ถือเป็นเพื่อนเก่าที่ทราบเรื่องวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของจีนเป็นอย่างดี การเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเยือนจีน ช่วยให้ความสัมพันธ์จีนไทยดีขึ้น ทั้ง 7 เล่มคนจีนก็ชอบอ่าน ข้าพเจ้าพูดถึงประเทศจีนอีก 6 มณฑลที่ยังไม่ได้ไป (กุ้ยโจว เจียงซี ฮกเกี้ยน ไหหลำ หูหนาน และภูมิภาคปกครองตนเองมองโกเลียใน) ขอบคุณรัฐบาลจีนที่ช่วยส่งครูสอนภาษาจีนให้ และจัดการต้อนรับดีทุกๆ ครั้งที่มาเยือน ท่านนายกรัฐมนตรีจูหรงจีบอกว่าท่านเป็นคนหูหนาน ข้าพเจ้าบอกว่ายังไม่เคยไปหูหนาน แต่ว่าเคยได้รับประทานอาหารหูหนานที่ปักกิ่งรู้สึกว่าอร่อยมาก หลังจากนั้นพูดคุยกันถึงเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับไทย-จีน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบและสนทนากับท่านนายกรัฐมนตรีจูหรงจี ครั้งแรกที่พบที่มาเก๊าไม่ได้พูดกัน ตอนที่ท่านไปเมืองไทยข้าพเจ้าก็ไม่ได้พบ ได้ต้อนรับภริยาของท่านที่ศิลปาชีพสวนจิตรลดา จากมหาศาลาประชาชนข้าพเจ้าตรงไปบ้านครูจี้หนานเซิง บ้านครูจี้อยู่ชั้นบนไม่มีลิฟต์ แต่ครูทุกคนยังแข็งแรงขึ้นบันไดไปได้ไม่มีปัญหา สามีของครูจี้หนานเซิงคือ ท่านทูตเหลียงเฟิง แต่ก่อนเคยทำงานที่สถานทูตจีนในเมืองไทย แล้วไปเป็นทูตที่เซเนกัล พม่า และลาว ตอนที่ท่านทูตและครูจี้อยู่ที่ลาวข้าพเจ้าเคยเชิญทั้งสองท่านไปรับประทานอาหารค่ำที่สถานทูตไทยในเวียงจันทร์ ถ่ายรูปด้วยกัน ตอนนั้นข้าพเจ้ายังตัวเล็ก


(น.210) รูป 163 ถ่ายภาพกับครูจีน (คนก่อนๆ ) ของข้าพเจ้าที่บ้านครูจี้หนานเซิง
With my former Chinese teachers at Teacher Ji Nansheng's house.

(น.210) ครูคนอื่นที่มาร่วมรับประทานอาหาร มีครูจังเยี่ยนซิว (ครูคนแรก) ครูฟู่อู่อี้ ครูฟั่นไปพร้อมกับข้าพเจ้า ตอนนี้ครูหวังเย่ไม่อยู่พาคุณแม่ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดูเหมือนบ้านเกิดจะอยู่ที่นั่น ครูกู้ไปอยู่กับลูกที่ออสเตรเลีย ครูฉังหมิงอวี้ยังอยู่ที่เอสโตเนีย ครูหลี่เถียนฟูอยู่เซียร์ราลีโอน และครูหวังจวินเซียงอยู่ที่ไนเจอร์ ที่บ้านครูมีห้องรับแขก ห้องหนังสือ ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ติดรูปที่ข้าพเจ้าเขียนให้ (เป็นรูปเจดีย์กับต้นไม้) มีรูปท่านทูตเหลียงเฟิงถ่ายกับท่านไกสอน พมวิหาน และท่านพูมีวงวิจิด ท่านทูตเหลียงเฟิงยังพูดภาษาไทยหรือลาวได้ดี วันนี้มีเพื่อนครูจี้หนานเซิงเคยทำงานกระทรวงการ

(น.211) ต่างประเทศ แต่เป็นฝ่ายพูดภาษาอังกฤษ (ครูจี้พูดภาษาฝรั่งเศส) และมีน้องสาวของท่านทูตเหลียงเฟิงอีกคนหนึ่ง ครูจี้หนานเซิงไม่ได้ทำกับข้าว เอาแต่ไปสั่งที่ร้านอาหารต่างๆ หลายร้าน มีทั้งอาหารเสฉวน อาหารเซี่ยงไฮ้ (ครูจี้หนานเซิงเป็นคนเซี่ยงไฮ้) มีขนมกวางตุ้งเพราะท่านทูตเหลียงเฟิงเป็นคนกวางตุ้ง มีผลไม้พีชกับองุ่น เมื่อรับประทานอาหารแล้วคุยกันพักหนึ่ง ข้าพเจ้ากลับไปที่มหาศาลาประชาชน เพื่อไปรับรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ (International Literary Prize for Understanding and Friendship) อุปนายกสมาคมนักเขียนที่ข้าพเจ้าเคยพบที่บ้านหวังเหมิ่ง พาไปนั่งในห้องมีใครต่อใครมากันหลายคน ทั้งนักเขียน เช่น หวังเหมิ่ง ฟังฟัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติจีนชื่อ ท่านว่านหลี่ อายุ 85 ปี ยังแข็งแรง ตีเทนนิสได้ แต่ว่าหูตึง ข้าพเจ้าจะคุยด้วยต้องให้หลานของท่านเป็นล่ามหรือเป็นเครื่องขยายเสียงให้ อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งมากันหลายคน เมื่อมาพร้อมกันแล้ว เข้าไปในห้องทำพิธี มีคนประมาณ 200 กว่าคน


(น.212) รูป 164 ท่านว่านหลี่มอบรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ
Mr. Wanli presenting the International Literary Prize for Understanding and Friendship.

(น.212) รองประธานสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน นายจินปิ่งหัวกล่าวสุนทรพจน์ว่า อีกเดือนหนึ่งก็จะครบ 120 ปีหลู่ซุ่น ผู้กล่าวว่าสิ่งที่พรรณนาวัฒนธรรมดีที่สุดคือ การเขียนพรรณนาในวรรณกรรม รางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศมีจุดประสงค์ที่จะยกย่องคนที่ดีเด่นด้านการแลกเปลี่ยนส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้โลกได้รู้จักผ่านงานวรรณกรรม ช่วยให้ชาวต่างประเทศเข้าใจจีน ข้าพเจ้าเดินทางมาเยือนจีน 14 ครั้ง เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนให้คนไทยอ่าน แล้วยังแปลนวนิยายร่วมสมัย และบทกวีจีนสมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง งานวรรณกรรมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยและจีนมีความเข้าใจอันดีต่อกัน นับเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศที่น่ายกย่อง ข้าพเจ้าทำงานนี้อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ในนามของสมาคมนักเขียนและมูลนิธิวรรณกรรมแห่งประเทศจีนจึงขอมอบรางวัลนี้ และขอแสดงความยินดีด้วยความจริงใจ

(น.213) รัฐมนตรีวัฒนธรรมนายซุนเจียเจิ้งกล่าวยกย่องว่า ข้าพเจ้าศึกษาภาษาจีน วัฒนธรรมจีน แต่งหนังสือเกี่ยวกับจีน ซึ่งไม่เฉพาะแต่คนไทย คนจีนก็ได้อ่านด้วย การศึกษาวิจัยวรรณคดีโบราณและสมัยใหม่ของจีนนั้นข้าพเจ้าทำไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ความวิริยะนี้น่าสรรเสริญยิ่ง และหวังว่าข้าพเจ้าจะสนใจต่อไป และช่วยผลักดันให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนเจริญยิ่งๆ ขึ้นสืบไป หวังเหมิ่ง อุปนายกสมาคมนักเขียนเป็นตัวแทนของนักประพันธ์ กล่าวในฐานะสมาชิกของสมาคมและเพื่อนเก่าของข้าพเจ้า ชื่นชมข้าพเจ้าที่ทำงานด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และไม่ได้สนใจแต่เฉพาะวรรณคดีโบราณ วรรณกรรมร่วมสมัยก็สนใจด้วย เคยแปลหนังสือเรื่อง ผีเสื้อ ที่เขาเขียน ข้าพเจ้าได้เขียนคำนำ หนังสือเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของจีนอย่างดี ทั้งยังได้แปลงานของนักประพันธ์หญิงที่ชื่อฟังฟังอีกด้วย เมื่อ ค.ศ. 1987 เขาไปเชียงใหม่ ได้พบข้าพเจ้าที่พระตำหนักภูพิงคราชนเวศน์ ได้สนทนากันเรื่องวรรณคดี ค.ศ. 1994 เขาได้ไปร่วมในพิธีแนะนำหนังสือของข้าพเจ้าที่ปักกิ่ง (เป็นหนังสือที่คัดสรรงานเขียนของข้าพเจ้าบางเรื่องจาก มณีพลอยร้อยแสง ครูกู้หย่าจงแปลเป็นภาษาจีน ตอนนั้นข้าพเจ้าและหวังเหมิ่งได้คุยกัน ข้าพเจ้ากำลังเขียนเรื่อง เกล็ดหิมะในสายหมอก) เมื่อข้าพเจ้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งก็ได้ไปเยี่ยมบ้านของเขา แสดงว่าเป็นผู้มีไมตรีจิตต่อนักเขียน นักวิชาการจีน กับเขาและครอบครัว สุดท้ายถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

(น.214) ครูหวังรั่วเจียงซึ่งสอนข้าพเจ้าที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวถึงช่วงเวลาเดือนหนึ่งที่ข้าพเจ้าไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยรู้สึกว่าข้าพเจ้าสนใจวรรณคดี วัฒนธรรมจีนตั้งแต่ยังอายุน้อย ศึกษาตั้งแต่เรื่องวรรณคดีโบราณจนถึงเรื่องสมัยใหม่ เช่น หนังสือกำลังภายในจีน นวนิยายร่วมสมัย ครูหวังเห็นว่าข้าพเจ้าขยันขันแข็งในการจดบันทึกคำอธิบาย จัดภาพประกอบ เวลาครูไปเมืองไทย ได้ไปศูนย์หนังสือจุฬา ได้เห็นหนังสือเหล่านี้จำหน่ายอยู่ ในด้านการแปลนอกจากข้าพเจ้าแปลหนังสือจีนแล้วยังได้ทำความรู้จักนักแปลท่านอื่น เช่น ศาสตราจารย์จี้เซี่ยนหลิน ผู้แปลหนังสือรามายณะเป็นภาษาจีน หนังสือของข้าพเจ้าได้ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจ เป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพไทย-จีน จึงรู้สึกว่าเป็นการสมควรยิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับรางวัลนี้ ขอแสดงความยินดีด้วย ท่านทูตดอนพูดเกี่ยวกับการต้อนรับที่ดีที่ทิเบต มาดามเซริงเอาผ้ามาให้และกอดกัน หนังสือที่เขียนช่วยอธิบายความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อเช้าท่านนายกฯ จูหรงจีก็ชมข้าพเจ้าว่าเป็นทูตในด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ ปลูกฝังอนุชนให้เข้าใจความสัมพันธ์ไทย-จีน เมื่อรับรางวัลมีโล่และประกาศนียบัตรจากท่านว่านหลี่ ท่านปู้เฮ่อ และท่านซุนฝูหลิง แล้วกล่าวขอบคุณที่ได้รับรางวัล มีใจความว่า ข้าพเจ้าชอบวรรณคดี บทกวีสมัยราชวงศ์ถัง และราชวงศ์ซ่ง เช่น บทกวีของกวีหลี่ไป๋ ตู้ฝู่ ซูตงปัว หลี่ชิงเจ้า เป็นต้น กวีเหล่านี้ฝากผลงานไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ข้าพเจ้าเลือกบทกวี 34 บท จากที่ได้เรียนมา


(น.215) รูป 165 กล่าวขอบคุณ
Speech of appreciation.

(น.215) แปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนไทยได้อ่าน มีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาจีน ข้าพเจ้าแปลเรื่อง “ผีเสื้อ” ของหวังเหมิ่ง และเรื่อง “เมฆเหินน้ำไหล” ของฟังฟัง คนไทยชอบอ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ และได้พิมพ์ออกจำหน่ายแล้วเล่มละ 8 ครั้ง คนไทยชอบอ่านเรื่องท่องเที่ยวประเทศจีนเช่นเดียวกัน ครั้งนี้ข้าพเจ้าไปหนิงเซี่ย ชิงไห่ และทิเบต คนไทยคงจะสนใจภาคตะวันตกของจีน ตัวข้าพเจ้าเองสนใจศึกษาวรรณคดีจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมปีนี้ ข้าพเจ้าได้โอกาสที่ใฝ่ฝันมานานแล้วคือ ได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นเวลาเดือนหนึ่ง ถึงแม้ว่าเวลาจะสั้น แต่ก็ช่วยให้ระดับความรู้ภาษาจีนของข้าพเจ้าดีขึ้นมาก มหาวิทยาลัยปักกิ่งยังให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ข้าพเจ้า ถือเป็นเกียรติยิ่ง เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วกระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ให้รางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน รางวัลและเกียรติยศเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ข้าพเจ้าศึกษาเรื่องจีนมากขึ้น ขอขอบคุณรัฐบาลจีนที่ช่วยสนับสนุนการศึกษาของข้าพเจ้า ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยสอนภาษาจีน และนักวิชาการที่ช่วยข้าพเจ้าในด้านอื่นๆ หลังจากนี้ข้าพเจ้าจะต้องศึกษาภาษาจีนอย่างขยันขันแข็งมากขึ้น และยังจะต้องมาเมืองจีนอีก ยังมีอีก 6 มณฑลที่ยังไม่เคยไป และเตรียมจะไปอีก

(น.216) นอกจากนั้นทางมูลนิธิยังให้ภาพยนตร์บทกวีราชวงศ์ถัง ซ่ง และหนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์ต่างๆ รวม 138 เล่ม ลูกอุปนายกจาง อายุ 15 เป็นนักเขียน ให้หนังสือมาเล่มหนึ่ง เมื่อเสร็จพิธีแล้วออกไปนั่งที่ห้องเดิม แต่แรกข้าพเจ้าเข้าใจว่า ให้คุยกับหวังเหมิ่งและฟังฟัง เป็นการส่วนตัว ที่แท้คุยไปพักหนึ่ง เพิ่งทราบว่าเป็นการออกรายการโทรทัศน์ มีนักจัดรายการมีชื่อจากฮ่องกงมาทำรายการ ที่จริงนับว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลสำคัญ ข้าพเจ้าเป็นคนที่ 3 ที่ได้ ผู้ที่เคยได้คนแรกคือ Helen Snow ภริยาของ Edgar Snow นักเขียนมีชื่อที่ถือว่าเป็นมิตรที่ดีของรัฐบาลจีน ตัวเธอเองก็เป็นนักเขียนบทความเกี่ยวกับจีนเช่นเดียวกัน รับรางวัล ค.ศ. 1991 เสียชีวิต ค.ศ. 1997 คนที่สองคือ หันซู่อินหรือที่คนไทยเรียกว่า ฮันซูหยิน เป็นนามปากกาของนักเขียนลูกครึ่งจีน-เบลเยียม เกิด ค.ศ. 1917 เขียนหนังสือเกี่ยวกับจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รับรางวัล ค.ศ. 1994 เมื่อเสร็จเรียบร้อยทุกอย่างแล้วกลับไปที่เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ เดินดูของที่ร้าน ตอนค่ำรองนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าเลี้ยงที่อาคารหยังหยวนไจ ในบริเวณเตี้ยวอวี๋ไถนั่นเอง ท่านรองนายกฯ บอกว่ามณฑลต่างๆ ที่ข้าพเจ้าไปคราวนี้แม้แต่คนจีนยังไม่ค่อยได้ไป เสียดายที่ไม่ได้ไปดูสุสานราชวงศ์เซี่ย (พวกซีเซี่ย) ที่หนิงเซี่ย เพราะราชวงศ์เซี่ยก็ถือว่าสร้างประวัติศาสตร์ที่สำคัญเหมือนกัน เคยรบกับกุบไลข่าน


(น.217) รูป 166 รองนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าเลี้ยงที่อาคารหยังหยวนไจในบริเวณเตี้ยวอวี๋ไถ
Deputy Prime Minister, Wen Jiabao hosting a dinner at Yangyuanzai Building in Diaoyutai.

(น.217) สำหรับความสัมพันธ์ไทยจีนนั้นมีความไว้ใจกัน แลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนสม่ำเสมอ และมีแผนสำหรับศตวรรษที่ 21 ด้วยกัน เรียนรู้จากกัน เช่น เมื่อมีวิกฤตทางเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เน้นเรื่องการเกษตร ท่านรองนายกฯ ท่องกลอนให้ฟัง เป็นบทกวีของหวังฉังหลิงที่ได้ประพันธ์ไว้เป็นชุด รวม 7 บท ชื่อ บทเพลงเดินทัพ (從軍行 ฉงจวินสิง) มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสภาพและทหารที่ไปประจำอยู่ ณ ชายแดน บทนี้เป็นบทที่ 4 เส้นทางชิงไห่-กานซู่ ไปด่านอวี้เหมินนั้น ระยะทางห่างกันมาก มีภูเขาหิมะ (ฉีเหลียนซาน) ซึ่งยาวมาก อยู่ระหว่างมณฑลทั้งสอง มีเมืองเดี่ยวเมืองหนึ่งอยู่โดดๆ ซึ่งก็คือ เมืองชายแดนที่ทหารไปประจำการอยู่ ในสมัยราชวงศ์ถังทหารชายแดนพวกนี้ทำหน้าที่ 2 ประการคู่กันไป กล่าวคือ ป้องกันไม่ให้ชนเผ่าถู่โป๋ (ทิเบต) ซึ่งอยู่ทางเหนือรุกรานเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการรุกรานของพวกถูเจี๋ย (เตอร์ก) และคอยป้องกันไม่ให้พวกถู่โป๋-ถูเจี๋ย ติดต่อเชื่อมโยงกันได้ด้วย บทกวีมีความตามคำแปลภาษาไทยว่า
ชิงไห่ เมฆทอดยาว ภูเขาหิมะมืดครึ้ม
เมืองโดดเดี่ยว มองไปไกลยังด่านอวี้เหมิน
ทรายสีเหลือง รบร้อยครั้ง เกราะโลหะสึก
หากพิชิตโหลวหลานมิได้ ไม่กลับบ้าน

(น.218) บทกวีนี้เคยเรียนมานานแล้วแต่ไม่เข้าใจ คิดว่าชิงไห่ เป็นชื่อมณฑลตามที่รู้และใช้กันแพร่หลาย แต่ในที่นี้หมายถึง ทะเลสาบชิงไห่ ไม่ใช่มณฑลชิงไห่ ส่วนด่านอวี้เหมินอยู่ในมณฑลกานซู่ โหลวหลานเป็นชื่อเมือง มีอำนาจเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 176 ก่อนคริสต์กาล-คริสต์ศตวรรษที่ 7 ) ที่นี่นักโบราณคดีค้นพบเจดีย์พุทธศาสนา เหรียญเงิน กำแพงเมือง ไม้จารึก ประติมากรรมไม้ และเศษเครื่องปั้นดินเผา ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในภูมิภาคปกครองตนเองซินเกียง ที่จริงแล้วกวีกล่าวถึงดินแดนทางตะวันตกของจีนซึ่งเป็นทะเลทราย มีเขตอุดมสมบูรณ์เป็นหย่อมๆ อยู่ห่างกัน เขตที่อุดมสมบูรณ์ก็จะมีคนตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเป็นเมือง ทะเลสาบชิงไห่ (ที่เราได้ไปในการเดินทางครั้งนี้) ถึงจะเป็นทะเลสาบน้ำเค็มก็เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่สุด มีความชุ่มชื้นปกคลุมด้วยเมฆฝน มองจากทะเลสาบชิงไห่เห็นภูเขาฉีเหลียนปกคลุมด้วยหิมะ ด่านอวี้เหมินอยู่นอกเขตจงหยวนเป็นด่านสำคัญในทะเลทราย ส่วนกูเฉิงหรือเมืองโดดเดี่ยวในบทกวีนี้คงจะหมายถึง ที่ตั้งกองทหารจีนที่มุ่งมั่นว่าต้องตีเมืองโหลวหลาน (อยู่แถบทะเลสาบหลัวปู้พอ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ทะเลสาบลบนอร์) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ให้ได้ หากภารกิจไม่สำเร็จก็จะไม่กลับบ้าน บาทที่ 3 ของบทกวีนี้สื่อความถึงความกล้าหาญของเหล่าทหารชายแดน รบกันถึง 100 ครั้ง จนเสื้อเกราะสึกแทบขาด ฝุ่นทรายสีเหลืองฟุ้งไปทั่ว

(น.219) บทกวีบทที่ 2 ที่รองนายกรัฐมนตรีท่องให้ฟังเป็นบทกวีของประธานเหมาเจ๋อตุง แต่งเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1935 แต่งเลียนแบบบทกวีโบราณ ตามทำนองที่เรียกว่า ชิงผิงเย่ บทกวีนี้ชื่อ ภูเขาลิ่วผาน ถอดความเป็นภาษาไทยว่า
ฟ้าสูง เมฆบาง มองนกนางแอ่นบินไปทางใต้จนสุดสายตา
ถ้าไม่ถึงกำแพงเมืองจีน ไม่ใช่ชายชาตรี
นับได้ว่าเดินทางผ่านไปแล้วสองหมื่นลี้
บนยอดเขาสูง ภูเขาลิ่วผาน
ธงแดงโบกสะบัดในสายลมตะวันตก
วันนี้มีสายแพรยาวในมือ
จะมัดมังกรทิศตะวันออกเมื่อไร
ขณะที่เขียนบทกวีนี้ประธานเหมาอยู่ที่บริเวณเทือกเขาลิ่วผาน หรือที่เรียกว่า ภูเขาหล่ง อยู่ที่มณฑลหนิงเซี่ย อำเภอกู้หยวน ที่กล่าวว่ามองนกนางแอ่นบินไปทางใต้นั้น สื่อความคิดถึงสหายสงครามที่เสียชีวิตไปในพื้นที่ทางใต้ พวกทหารกองทัพแดงส่วนมากมีญาติพี่น้องอยู่ที่บ้านเดิมแถบทางใต้ และยังมีกลุ่มทหารที่ทำสงครามกองโจรอยู่ทางใต้ด้วย บาทที่กล่าวถึงกำแพงเมืองจีน หมายถึง กำแพงเมืองจีนตอนกลาง ซึ่งอยู่ทางเหนือของมณฑลส่านซี พื้นที่แถบนี้เป็นจุดมุ่งหมายของกองทัพแดง ส่วนคำกล่าวที่ว่า ไม่ถึงกำแพงเมืองจีน ไม่ใช่ชายชาตรี เป็นสำนวนแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

(น.220) ที่กล่าวถึงสายแพรยาวเปรียบเทียบกับสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ส่งทหารไปจับหนานเยว่หวัง (กษัตริย์แห่งหนานเยว่) ก่อนที่จะเดินทางไป นายพลทูลขอสายแพรยาวจากฮั่นอู่ตี้ เพื่อที่จะมัดหนานเยว่หวังกลับมา มังกรดำ หรือชังหลง เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ทิศตะวันออก มี 7 ดวง รวมกันเรียกว่า ชังหลง มีความหมายว่า มังกรเขียวหรือน้ำเงินอมดำ ตามคติความเชื่อของจีน ทิศหนึ่งมีดาว 7 ดวง 4 ทิศ รวม 28 ดวง ดาวเหล่านี้ใช้ในการผูกดวง ดูดวงชะตาด้วย ทิศตะวันออกในบทกวีสื่อความถึงทิศทางที่ไปนครหนานจิง ซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) “จะมัดมังกรทิศตะวันออกเมื่อไร” ให้นัยว่า จะไปปราบเจียงไคเช็ค ศัตรูซึ่งอยู่ทางตะวันออกเมื่อไร เป็นคำถามที่แสดงถึงความมุ่งมั่นอยากไปให้ถึงจุดมุ่งหมายโดยเร็ว ท่านรองนายกฯ เล่าให้ฟังว่าท่านเป็นคนดูแลเรื่องเศรษฐกิจและชลประทาน มีปัญหาเรื่องน้ำแล้งและน้ำท่วม เช่น เมื่อ ค.ศ. 1998 ต้องเกณฑ์ทหาร 300,000 นาย ยิ่งกว่าต่อสู้ศัตรูที่เป็นคน เรื่องชลประทานถือว่าเป็นหัวใจ ความรุ่งเรืองความเสื่อมของประเทศขึ้นกับชลประทาน ตอนนี้กำลังทำโครงการแม่น้ำโขง ศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ เช่น คมนาคม อุทกวิทยา กลับที่พัก