<< Back
" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2544 "
(น.221) วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2544
เช้านี้ครูมาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง 2 คนคือ ครูหวังรั่วเจียงกับครูจังอิง มารับประทานอาหารเช้าด้วย แล้วไปเฉิงเต๋อ ด้วยกัน
นั่งรถทัวร์ใหญ่ไปถึงเขตเฉิงเต๋อหยุดพักที่โรงแรมจิ้นซานเพื่อพักผ่อนเข้าห้องน้ำ มีไกด์ของเฉิงเต๋อมาขึ้นรถอธิบาย รถขึ้นไปบริเวณกำแพงเมืองจีน
ส่วนที่เรียกว่า จินซานหลิ่ง ประมาณ 150 กิโลเมตรจากปักกิ่ง อยู่ในเขตภูเขาของอำเภอหลวนผิง มณฑลเหอเป่ย เป็นที่มั่นทางการทหาร
โครงสร้างของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่สร้างใน ค.ศ. 1570 สมัยราชวงศ์หมิง กำแพงเมืองจีนช่วงนี้ยาว 20 กิโลเมตร อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 800 เมตร
ทำด้วยอิฐ มีหอคอยสำหรับดูม้าศึกเป็นระยะๆ หอคอยแต่ละแห่งมีขนาด รูปร่าง และแบบต่างๆ กัน ช่องกำแพงที่นี่มีลักษณะต่างจากที่ปาต๋าหลิ่ง คือจะยาวกว่า
ช่องเหล่านี้แต่ละช่องไม่เหมือนกัน มีลวดลายด้วย ตรงกำแพงมีช่องให้น้ำไหล จะโยนหรือเทก้อนหินใส่ข้าศึกตามช่องนี้ก็ได้ มีป้อมยามสำหรับส่งสัญญาณ
กลางวันส่งเป็นควัน กลางคืนเป็นกองไฟ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการจุดไฟสัญญาณที่ดีที่สุดคือขี้หมาป่า เพราะจุดแล้วควันขึ้นตรง ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมถึงได้เป็นอย่างนั้น
(น.222) รูป 167 กำแพงเมืองจีนส่วนที่เรียกว่า จินซานหลิ่ง เขตภูเขาอำเภอหลวนผิง มณฑลเหอเป่ย
Jin Shan Ling section of the Great Wall, Luan Ping, He Bei.
(น.223) รูป 168 อักษรจารึกชื่อหน่วยทหาร และปีที่มาสร้าง ซ่อมกำแพงเมืองจีนส่วนนี้
A brick inscribed the name of the brigade and the year of the restoration of this section of the Great Wall.
(น.223) บนกำแพงนอกจากมีหอคอยแล้วยังมีกองบัญชาการ และห้องสำหรับเก็บอาวุธและเครื่องแต่งกายทหาร
อิฐที่สร้างกำแพงบางก้อนมีอักษรเขียนบอกชื่อหน่วยทหารที่มาสร้างกำแพงและปีที่สร้าง
เดินทางต่อไปโรงแรมเฉียนหยาง ห้องที่พักอยู่ชั้น 3 ไม่มีลิฟต์ ถ้าเป็นที่รื่อคาเจ๋อคงจะเหนื่อยแย่
รับประทานอาหารกลางวัน เจ้าหน้าที่โรงแรมอธิบายว่า แต่แรกโรงแรมไม่ได้ชื่อเฉียนหยาง แต่ซินแสมาดูสถานที่ตั้งโรงแรมแล้วบอกว่าสถานที่ตั้งโรงแรมมีน้ำมาก และคนทำงานโรงแรมเป็นผู้หญิงมาก ฉะนั้นจึงมีแต่ หยิน ต้องตั้งชื่อโรงแรมเป็น หยาง จะได้สมดุล
(น.224) รับประทานเสร็จแล้วตอนบ่ายไปที่วังฤดูร้อนเย่อเหอ (Jehol) บริเวณอุทยานของวังนี้กว้างใหญ่ เป็นราชอุทยานที่ใหญ่ที่สุดของจีน
จักรพรรดิคังซีโปรดสถานที่แห่งนี้ เริ่มสร้างวังใน ค.ศ. 1703 จักรพรรดิเฉียนหลงสร้างต่อจนเสร็จ วังแห่งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตำหนักและสวน
เป็นที่ประทับและว่าราชการ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นป่าสำหรับล่าสัตว์และฝึกทหาร อีกประการหนึ่งเฉิงเต๋ออยู่ใกล้ชายแดนมีคนหลายเชื้อชาติ
ที่สำคัญคือ ทิเบต แมนจู และมองโกล ราชวงศ์ชิงมีนโยบายขยายดินแดน รวมเชื้อชาติต่างๆ เข้าด้วยกันมาอยู่ที่เฉิงเต๋อจักรพรรดิมีโอกาสพบปะพูดคุยกับคนเชื้อชาติต่างๆ
(น.224) รูป 169 สระบัวที่วังฤดูร้อนเย่อเหอ
Lotus Pond in Jehol Summer Palace.
(น.225) รูป 170 บัลลังก์จักรพรรดิทำด้วยไม้จันทน์สลัก
Sandalwood-carved imperial throne.
(น.225) เข้าไปมีหอด้านหน้า ดูเรียบๆ ไม่มีสีสัน เพื่อกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นที่ที่จักรพรรดิว่าราชการ
มีบัลลังก์ทำด้วยไม้จันทน์สลัก ใช้ช่างสลัก 103 คน ในห้องมีตู้หนังสือโบราณ อีกด้านหนึ่งเป็นห้องรับแขกเรียกว่า
ห้องหนังสือความรู้ทั้งสี่ ไม่ทราบว่าความรู้ทั้ง 4 คืออะไร บางคนบอกว่าหมายถึง รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ปิดบัง (รู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ) รู้เปิดเผย เป็นคำอธิบายที่ไม่กระจ่าง ยังสงสัยอยู่ว่า น่าจะสื่อความมากกว่านั้น
เมื่อกลับเมืองไทยแล้ว ได้ค้นคว้าเอง ได้ข้อมูลว่า มีคติความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ 2 คติ ดังนี้
(น.226) คติแรก มาจากคัมภีร์อี้จิง สื่อความว่า บุคคลที่มีอำนาจ หากรู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ รู้เรื่องที่เปิดเผยชัดเจน รู้ความอ่อนนุ่ม รู้ความแข็งกล้า ก็จะเป็นที่เคารพนับถือ หรือเชิดชูของบุคคลทั้งหลาย
อีกคติ มาจากเรื่องเล่าว่า ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งเดินทางไปรับราชการที่หนึ่ง ผ่านอำเภอหนึ่ง พอดีนายอำเภอของที่นี่เป็นคนที่ขุนนางท่านนี้เคยส่งเสริม
ตอนกลางคืนนายอำเภอจึงเอาทองมาให้ 10 ชั่ง ท่านขุนนางพูดว่า คนรู้จักกัน ทำไมมาทำเป็นคนอื่น นายอำเภอว่า ไม่มีใครรู้ ใครเห็น
ขุนนางตอบว่า มีฟ้ารู้ ดินรู้ ท่านรู้ เรารู้ รู้ทั้ง 4 คติหลังจึงสื่อความถึงเรื่องคอรัปชั่นว่า หากทำไปแม้ไม่มีหลักฐานแจ้งชัด แต่ฟ้ารู้ ดินรู้ ท่านรู้ เรารู้ (เรา = ข้าพเจ้า)
แต่ที่วังเย่อเหอน่าจะเป็นคติแรกมากกว่า เพราะตัวอักษรความรู้ทั้งสี่ (四知書屋 ซื่อจือซูวู) เป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง เขียนเมื่อ ค.ศ. 1786 จึงน่าจะพูดถึงคติแรกมากกว่าคติหลัง
นอกจากนั้นมีห้องเล็กๆ เป็นห้องพักบ้างห้องให้เฝ้าบ้าง ทางเดินระหว่างอาคารมีลักษณะเป็นระเบียงเก็บเกี้ยว 8 คนหามและรถม้า
สมัยราชวงศ์ชิงจักรพรรดิเสด็จมาจากปักกิ่งถึงเฉิงเต๋อใช้เวลาเดินทาง 2 สัปดาห์ ที่ช้าอย่างนี้เพราะประทับเกี้ยวคนหาม ระดับพระสนมจึงใช้รถม้า นั่งเกี้ยวสบายกว่าไม่กระเทือนเหมือนรถม้า
(น.227) ห้องหนึ่งค่อนข้างใหญ่ เดิมเป็นที่พักของพวกนางใน ตอนนี้แสดงเครื่องกระเบื้องสมัยราชวงศ์ชิง มีหลายแบบ
ไกด์เล่าว่าของพวกนี้ยังอยู่ดี เพราะนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลป้องกันไม่ให้พวกเรดการ์ดมาทำลายตอนปฏิวัติวัฒนธรรม ห้องที่จัดแสดงค่อนข้างมืดมองเห็นของไม่ชัด
ต่อไปเป็นห้องเล็กๆ มีห้องพระบรรทมซึ่งเป็นที่ที่จักรพรรดิเสียนเฟิงและจักรพรรดิเจียชิ่งสวรรคต
ว่ากันว่าจักรพรรดิเสียนเฟิงประชวรโรคปอด ส่วนจักรพรรดิเจียชิ่งไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร บริเวณใกล้ห้องบรรทมมีห้องที่จักรพรรดิลงพระนามในสนธิสัญญาต่างๆ คนจีนถือว่าเป็นห้องอัปยศ
(น.227) รูป 171 เครื่องกระเบื้องลายครามสมัยราชวงศ์ชิง
Blue and white ceramics, Qing Dynasty.
(น.228) รูป 172 รูปพระนางซูสี
Photograph of the Empress Cixi.
(น.228) ที่ประทับพระนางซูสี ในตู้มีของต่างๆ ที่พระนางเคยใช้ มีของที่ชาวต่างประเทศถวาย มีเครื่องแต่งพระองค์ เสื้อผ้าขุนนาง เสื้อสุนัขก็ยังมี
ไพ่ของพระนางดูเหมือนไพ่ตอง มีฉลองพระองค์พระนางซูสีที่ทรงใช้ทอดพระเนตรการแสดงงิ้ว มีทั้งที่ปักเป็นรูปมังกร รูปดอกไม้ (ใช้กับข้าราชการพลเรือน) และภาพสัตว์ (ใช้กับข้าราชการทหาร)
ห้องตะวันตก เป็นที่ประทับพระนางซูสีเมื่อจักรพรรดิเสียนเฟิงสวรรคตแล้ว พระนางหาวิธีจัดการขุนนาง 8 คน แล้วกุมอำนาจ
(น.229) บริเวณวังมีทะเลสาบ จักรพรรดิโปรดให้จำลองทิวทัศน์ของภาคใต้ ได้แก่ ทะเลสาบซีหู สร้างศาลากลางน้ำ แถบนี้ 80% เป็นภูเขา
มองเห็นโขดหินรูปกระบองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้ มองจากที่ไหนก็เห็น หลีเต้าหยวน นักภูมิศาสตร์จีนโบราณซึ่งเขียนตำราภูมิศาสตร์ว่าด้วยสายน้ำ ก็กล่าวถึงโขดหินนี้ ตำราของหลีเต้าหยวนยังใช้กันมาจนทุกวันนี้
มีเจดีย์องค์หนึ่งสร้างตามแบบเจดีย์ที่หนานจิงและเจดีย์ที่หังโจว
ตำหนักชมจันทร์ มีสวนที่จักรพรรดิชอบเที่ยว เวลาหน้าร้อนชอบพายเรือเก็บฝักบัว
(น.229) รูป 173 ฉลองพระองค์และเครื่องใช้พระนางซูสี
Garment and utensils of the Empress Cixi.
Next >>