Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2544 "


(น.234) รูป 177 เจ้าอาวาสห่มเหลืองมอบผ้าฮาดาสีเหลือง
The abbot clad in yellow robe presenting yellow Hada.


(น.235) รูป 178 ศิลาจารึกเขียน 4 ภาษา คือ จีน มองโกล ทิเบต และแมนจู
Inscription in four languages : Chinese, Mongolian, Tibetan and Manchu.

(น.235) วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2544
เช้านี้ไปวัดผู่หนิง เป็นวัดลามะหนึ่งใน 8 ที่เรียกกันว่า วัดนอกเมือง 8 วัด ที่จักรพรรดิให้สร้างฉลองวันพระราชสมภพของจักรพรรดิและพระราชมารดา วัดผู่หนิงนี้จักรพรรดิเฉียนหลงสร้างฉลองชัยชนะพวกมองโกลที่ก่อกบฏ เป็นการอธิษฐานขอให้มีความสงบสุขในแถบแอ่งทาริมและมีการปรองดองกันในชาติ เมื่อไปถึงมีเจ้าอาวาสห่มเหลือง เอาผ้าฮาดาสีเหลืองมาให้ เมื่อเข้าประตูวัดไปมีศาลาศิลาจารึกเขียนเป็นภาษาจีน มองโกล ทิเบต แมนจู เล่าประวัติการที่จักรพรรดิราชวงศ์ชิงปราบคนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ จักรพรรดิถือว่าตนเองอยู่กลาง มีมองโกลและทิเบตอยู่ 2 ข้าง มีจีนหนุนหลัง จารึกที่เขียนเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ด้านซ้ายมีหอระฆัง ด้านขวามีหอกลอง ทุกวันเวลาสวดมนต์ต้องตีกลอง


(น.236) รูป 179 รูปเคารพกวนอิมพันมือ ทำด้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Word carved thousand-armed Avalokitesvara, the largest in the world.

(น.236) เข้าไปเป็นวิหารจตุโลกบาล และมีพระมี่เล่อ ด้านในมีวิหารมหาวีระ บนหลังคามีสัตว์ 8 ชนิด ข้างในมีวิหารพระลามะสวดมนต์ ลามะส่วนใหญ่มาจากทิเบต แต่เจ้าอาวาสดูเหมือนจะเป็นคนแมนจู บางคนว่ามาจากมองโกลเลียใน สวดมนต์จบหนึ่งก็แกว่งกระดิ่ง บนโต๊ะข้างหน้าพระลามะมีฉาบ ฉิ่ง สังข์ วางอยู่ ลามะเหล่านี้บวชตอนอายุ 18 โดยพ่อแม่เห็นชอบ บางทีเด็กอายุไม่ถึง 18 พ่อแม่มีศรัทธามากให้บวชก็มี ในวิหารนี้มีพระพุทธรูป 3 สมัย มีป้ายบอกว่าถ้าบริจาค 200 หยวน ติดชื่อไว้ได้ ½ ปี บริจาค 1,000 หยวน ติดชื่อ 3 ปี บริจาค 5,000 หยวน ติดชื่อ 18 ปี บริจาค 10,000 หยวน ติดชื่อ 50 ปี มีรูปพระอรหันต์ 18 องค์ ทำมือปางต่างๆ มีความหมายต่างๆ กัน มีวิหารกวนอิมพันมือ ถือเป็นรูปเคารพทำด้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ไม้ 5 ชนิดต่อกัน ที่ผนังมีรูปพระองค์เล็กๆ

(น.237) ไปนั่งพักที่เมี่ยวเหยียนซื่อ เป็นที่ประทับของจักรพรรดิเฉียนหลง เวลามาไหว้พระที่นี่ จากนั้นไปที่วัดผู่ถัวจงเฉิง หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า วัดโปตาลาน้อย มีประวัติว่า ค.ศ. 1770 เป็นปีที่จักรพรรดิเฉียนหลงมีพระชนม์ครบ 60 พรรษา และ ค.ศ. 1771 เป็นปีที่พระราชมารดามีพระชนม์ครบ 80 พรรษา ในช่วงเวลาดังกล่าวมีชนกลุ่มน้อยมาถวายพระพร จักรพรรดิเฉียนหลงจึงสร้างวัดเป็นที่ระลึกตามแบบวังโปตาลาในกรุงลาซา ข้างหน้ามีป้ายขององค์การยูเนสโกยกย่องสถานที่นี้เป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 1994 มีสิงโตตัวผู้และตัวเมียเฝ้าอยู่


(น.237) รูป 180 วัดผู่ถัวจงเฉิง (วัดโปตาลาน้อย)
Little Potala.


(น.238) รูป 181 หน้าต่างของวัดโปตาลาน้อย เลียนแบบทิเบต
Windows in Tibetan style at the Little Potala.

(น.238) ด้านหน้ามีอาคารศิลาจารึก หลักกลางเล่าความเป็นมาของวัด ข้างๆ เป็นประวัติชนเผ่ามองโกลเผ่าหนึ่งซึ่งอยู่ในดินแดนรัสเซียปัจจุบัน แล้วหนีมาอยู่เฉิงเต๋อ หน้าต่างของอาคารเลียนแบบทิเบต เป็นหน้าต่างปลอม การที่ทำหน้าต่างไม่ให้เปิดได้ เพราะเดิมตรงนี้เป็นกุฏิพระ ต้องปิดไว้ไม่ให้ลามะเปิดหน้าต่างดูพระสนม ในอาคารมีห้องพระ พระ 6 องค์ หมายถึง อายุ 60 ปี พระ 8 องค์ หมายถึง อายุ 80 ปี รัฐบาลท้องถิ่นบูรณะวัดนี้ 10 ปีครั้งหนึ่ง โดยใช้เงินจากค่าผ่านประตู ขึ้นบันไดไปดาดฟ้าเห็นทิวทัศน์ภูเขา และทะเลสาบ

(น.239) มีห้องที่พระยืน (พระศากยมุนี) ด้านหลังเป็นบัลลังก์ของจักรพรรดิเฉียนหลงประทับเวลาฟังเทศน์ ตอนที่ทหารญี่ปุ่นโจมตีมาเผาวัดลอกทองไปบางส่วน หลังคามุงด้วยกระเบื้องหุ้มทองก็ถูกเผาด้วย ขณะนี้บูรณะใหม่แล้ว


(น.239) รูป 182 ศิลาจารึกของวัด
The inscription of the monastery.


(น.240) รูป 183 ศาลาศรีเทวี
Sri Devi Shrine.

(น.241) ศาลาบูชากวนอิม ไกด์เล่าว่ามีชาวสวีเดนเคยมาขอพระราชทานศาลาหลังนี้ จะบูรณะหยวนหมิงหยวนให้ แต่ไม่ได้ตกลงกัน ศาลาศรีเทวี มีหน้าตาน่ากลัวขี่ลา ไกด์บอกว่ามีคำกล่าวว่า ทำดี 1,000 หน ทำชั่วหนเดียวก็ว่าเลว ทำชั่ว 1,000 หน ทำดีเรื่องเดียวก็ว่าดี ศรีเทวีนี้เดิมเป็นคนไม่ดี เมื่ออายุน้อยเป็นคนสวย แต่ไม่เรียบร้อย ไม่อยู่บ้าน ชอบคบผู้ชาย พ่อแม่จนปัญญา ผูกโซ่เหล็กล่ามไว้ แต่ก็หนีไปจนได้ ไปฆ่าคน ลักทรัพย์ อยู่ๆ ก็ได้รับความเมตตาจากเจ้าแม่กวนอิม เลยกลายเป็นพวกของกวนอิม ปราบอธรรม สมัยก่อนหาเด็กเป็นทายาทดาไลลามะ ปันฉานลามะก็ทำพิธีหน้ารูปนี้ เอาชื่อเด็กใส่แจกันจับฉลาก ก่อนใช้วิธีจับฉลากให้ลามะอุ้มให้เด็กจับฉลาก แต่ว่าเขาเกิดจับได้ว่าลามะที่อุ้มชอบบอกใบ้ให้เด็ก ก็เลยไม่ค่อยแม่น เปลี่ยนระบบสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ก่อนที่จะออกจากวัดดูการแสดง เล่าความเป็นมาของทิเบต ร่วมสร้างอารยธรรมโบราณ ออกมาเต้น ร้องเพลงสมัยใหม่สดุดีเมืองเฉิงเต๋อ (หญิง) ระบำมองโกลเผ่าฮุยเท่อ ร้องเพลงเดี่ยวชายมีหางเครื่อง หญิงชายร้องคู่ มีหางเครื่องกระโดดตีตะเกียบ พอมีเวลาจึงไปดูนิทรรศการเกี่ยวกับการค้าของเฉิงเต๋อ ผ่านตลาดวันอาทิตย์ สมัยก่อนตลาดนี้คนเอาของมาแลกกัน ไม่ต้องใช้เงิน

(น.242) ในนิทรรศการ มีเรื่องการท่องเที่ยว สถานที่น่าเที่ยว มีภูเขา ทะเลสาบ ทุ่งหญ้า ป่าที่จักรพรรดิล่าสัตว์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงแรม ถนนหนทาง เตรียมสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ และจะสร้างโรงแรมใหม่ด้วย อาหารไร้สารพิษ ผัก ผลไม้ต่างๆ อัลมอนด์ ซึ่งบริษัทลู่ลู่ในเมืองเฉิงเต๋อนี้ทำน้ำกระป๋องขาย มันฝรั่งที่นี่ขายให้แมคโดนัลด์ที่เมืองจีน เห็ด แอปเปิ้ล ซานจาแปรรูปเป็นแบบต่างๆ (Haw) เกาลัด เวลาขายส่งออกส่งไปทางเทียนสิน บางคนเลยเรียกว่าเกาลัดเทียนสิน การเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงหมู ตำบลกวนเฉิงเลี้ยงในบ้าน เก็บขี้หมูไปทำแก๊ส เชื้อเพลิงหุงข้าว ส่วนกากทำปุ๋ย ข้าวตราหลงฉวน ยาจีนมี 700 กว่าชนิดที่ขึ้นชื่อ ยาที่ผลิตที่เฉิงเต๋อส่งไปขายสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Xili เป็นบริษัทร่วมทุนกับสหรัฐอเมริกา วัสดุก่อสร้าง บริษัทเครือลู่ลู่นอกจากขายเครื่องดื่มแล้ว ยังทำวัสดุก่อสร้าง หินแกรนิต ใช้อุปกรณ์สายพานจากอิตาลี ในเฉิงเต๋อมีบริษัทปูนซีเมนต์ทำท่อน้ำร่วมกับมหาวิทยาลัยชิงหัวในปักกิ่ง อิฐ คอนโดสูงที่สุดในภาคเหนือของจีน สร้างโดยใช้วัสดุก่อสร้างเหล่านี้

(น.243) เหมืองแร่ ทอง เงิน ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว รวมทั้งหมด 57 ชนิด ผลิตทองคำ เหล็กกล้าผสม Titanium Varadium เครื่องเงิน บริษัททำเครื่อง Conveyor ลานจอดรถเหล็ก เขาว่าขายดีมาก กำลังร่วมทุนกับเยอรมนีทำมิเตอร์ กำไรดี เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ก๊อกล้างมือ เอามือไปรองแล้วน้ำออกมาเอง เครื่องเคมีภัณฑ์ ส่งขายสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป มีสีชนิดต่างๆ สีกันสนิม ยางรถยนต์ ปุ๋ย สิ่งทอ กลุ่ม Dixian ขายญี่ปุ่น เป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ พันธุ์พืชต่างๆ มีพันธุ์ข้าวโพด ทานตะวัน กล้วยไม้ (ยี่ห้อกำแพงเมืองจีน) กล้วยไม้นี้แพงมากช่อละ 80 หยวนเวลาตรุษจีน องุ่น Greatwall ใช้ tissue culture แตงต่างๆ และผัก แสดงสิ่งของต่างๆ เช่น งานฝีมือ เป็นต้น กลับโรงแรมรับประทานอาหาร แล้วออกจากโรงแรมตรงมาเรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ ไปรับประทานอาหารเห็ด ชื่อร้านเย่ซานจุน โปรเฟสเซอร์โฮห์นโฮลซ์กับภริยา โปรเฟสเซอร์เฉินซูเผิงและ โปรเฟสเซอร์เสี่ยวเค่อ มารับประทานด้วย


(น.244) รูป 184 ถ่ายรูปกับ Prof. โฮห์นโฮลซ์-ภริยา Prof. เฉินซูเผิง และ Prof. เสี่ยวเค่อ ที่ร้านอาหารเย่ซานจุน
With Professor Hohnholz and his wife, Professor Chen Shupeng and Professor Xiaoke at Yeshanjun restaurant.

(น.244) โปรเฟสเซอร์โฮห์นโฮลซ์เดิมเป็นศาสตราจารย์ทางภูมิศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Tübingen ประเทศเยอรมนี และเป็นผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาโปรเฟสเซอร์เกษียณอายุ สถาบันก็ล้มไปแล้ว พอดีมีคนจีนไปร่วมประชุมวิชาการที่มาเลเซียได้ฟังโปรเฟสเซอร์พูดพอใจ จึงชวนมาเป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครอู่ฮั่น ภริยาของโปรเฟสเซอร์ออกจากงานติดตามมาได้ เพราะทำงานเป็นครูภูมิศาสตร์ครบ 40 ปี ข้าพเจ้ารู้จักโปรเฟสเซอร์โฮห์นโฮลซ์มาเกือบ 20 ปีแล้ว ติดต่อเขียนจดหมายถึงกันในเรื่องภูมิศาสตร์มาตลอด

(น.245) ส่วนโปรเฟสเซอร์เฉินซูเผิงนี้ก็เป็นคนรู้จักกันมาสิบกว่าปี ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญภูมิศาสตร์ และ Remote Sensing ของ Chinese Academy of Sciences พบกันในการประชุมเมื่อสิบกว่าปีแล้ว ท่านมีผลงานด้านภูมิศาสตร์และแผนที่มาก โปรเฟสเซอร์เสี่ยวเค่อก็อยู่ Chinese Academy of Sciences ทำแผนที่และ Atlas ของจีน มาเมืองจีนครั้งใดก็ต้องพบและฟังเลกเชอร์จากท่านเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ของสถานที่ที่จะไป คราวนี้โปรเฟสเซอร์จัดเตรียมแผนที่ด้านธรณีวิทยาของที่ราบสูงชิงไห่ ทิเบต แผนที่ด้านอุตุนิยม แผนที่ข้อมูลสถิตด้านการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน ซึ่งน่าสนใจมาก เป็นแนวทางศึกษาได้ว่าควรจะพัฒนาแนวไหนที่ไหน โปรเฟสเซอร์เสี่ยวเค่อให้หนังสือแผนที่ The National Physical Atlas of China