Please wait...

<< Back

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย ภาคผนวก

ภาคผนวก ก พระราชดำรัส



พระราชดำรัส

ท่านว่านหลี่ ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติ
ท่านปู้เฮ่อ รองประธานคณะกรรมการบริหารประจำสภาผู้แทนประชาชน
ท่านซุนฝูหลิง รองประธานคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของประชาชน
ท่านซุนเจียเจิ้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ท่านจินปิ่งหัว รองประธานสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน
ท่านผู้บริหารในส่วนราชการต่างๆ
มิตรเก่าและใหม่ทั้งหลาย
สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

ในวันนี้ ณ ที่นี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ จากมูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน ข้าพเจ้าจึงมีความปีติยิ่ง ข้าพเจ้าชื่นชอบวรรณคดีจีน โดยเฉพาะบทกวีสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง ยุคดังกล่าวบรรดากวีทั้งหลายซึ่งมีจำนวนมากมาย ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เลอเลิศประเสริฐในปริมาณมหาศาล เป็นมรดกให้แก่คนรุ่นหลัง อาทิ ยอดกวีหลี่ไป๋ อริยกวีตู้ฝู่ มหากวี ซูตงปัว และกวีหญิง หลี่ชิงเจ้า ข้าพเจ้าได้เลือกสรรบทกวีจำนวน 34 บทจากกวีนิพนธ์ที่ได้เล่าเรียนมาและแปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทย รวมเล่มตีพิมพ์ในชื่อ หยกใสร่ายคำ โดยมุ่งประสงค์ให้ชาวไทยได้รับทราบถึงสิ่งอันล้ำค่าชิ้นนี้ในประวัติวรรณคดีจีน ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยสองแห่งได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของตำราเรียน ข้าพเจ้า

(น.258) ยังได้แปลนวนิยายเรื่อง ผีเสื้อ ของหวังเหมิ่ง และนวนิยายของฟังฟังเรื่อง เมฆเหินน้ำไหล ด้วย ปรากฏว่าเป็นที่นิยมชื่นชอบของนักอ่านชาวไทย ขณะนี้หนังสือทั้ง 3 เล่มดังกล่าวได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 8 แล้ว การแปลนวนิยายภาษาจีนแต่ละเรื่องก็ดี การประพันธ์หนังสือสารคดีท่องเที่ยวจีนแต่ละเล่มก็ดี ล้วนแล้วแต่ได้ก่อให้เกิดลูกคลื่นเกี่ยวกับเรื่องจีนๆ ในประเทศไทยระลอกแล้วระลอกเล่า ครั้งนี้เมื่อข้าพเจ้าได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนหนิงเซี่ย ชิงไห่ และทิเบต ทั้งสามมณฑล ก็ได้ก่อให้เกิดความนิยมภาคพื้นตะวันตกของจีนในประเทศไทยอีกระลอกหนึ่ง ข้าพเจ้านั้นเมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาจีนลึกซึ้งมากขึ้นเพียงใด ความสนใจชื่นชอบในการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมจีนก็เพิ่มพูนมากขึ้นเพียงนั้น ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมปีนี้ ความใฝ่ฝันที่ฝังอยู่ในใจข้าพเจ้าหลายปีได้เป็นจริงขึ้นมา นั่นก็คือข้าพเจ้าได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นเวลา 1 เดือน ถึงแม้ว่าระยะเวลาจะสั้น แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ความรู้ภาษาจีนได้เพิ่มพูนมากขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนทางมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ข้าพเจ้า อันเป็นเกียรติสูงยิ่ง เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศจีนก็ได้มอบรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีนให้เช่นกัน รางวัลต่างๆ และเกียรติภูมิเหล่านี้นอกจากจะให้การยกย่องแล้วยังเป็นกำลังใจแก่ข้าพเจ้าด้วย ขอขอบคุณรัฐบาลจีนที่ให้ความสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่ข้าพเจ้าเป็นเวลายาวนานในการศึกษาภาษาจีน และขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ถ่ายทอดความรู้ภาษาจีนให้แก่ข้าพเจ้า ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั้งหลายที่ได้อำนวยความสะดวกในหลายสิ่งหลายอย่าง นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะขยันขันแข็งศึกษาภาษาจีนสืบต่อไป และยังจะมาเยี่ยมเยือนประเทศจีนอีก ตราบถึงปัจจุบันยังมีอีก 6 มณฑลที่ข้าพเจ้าไม่เคยไป ตั้งใจว่าจะต้องไป รวมทั้งมุ่งหวังว่า จากผลของการเยี่ยมเยือนและ

(น.259) การถ่ายทอดแนะนำของข้าพเจ้า คงจะทำให้ชาวไทยทั้งหลายได้รับทราบอย่างแจ่มชัดรอบด้านเกี่ยวกับประเทศจีน ขอให้มิตรภาพระหว่างไทย-จีน จงสืบทอดยั่งยืนไปทุกยุคทุกสมัยตลอดชั่วกาลนานตลอดไป ขอขอบคุณอีกครั้งต่อมูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีนที่ได้มอบรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงาน
ขอบคุณ

ภาคผนวก ข พระราชวังโปตาลา

พระราชวังโปตาลา
พระราชวังโปตาลาเป็นพระราชวังฤดูหนาวขององค์ดาไลลามะ สร้างโดยกษัตริย์ซงซันกัมโปในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชื่อโปตาลามาจากชื่อภาษาสันสกฤตว่า “โปตลกะ” หมายถึง พระราชวังบนสรวงสวรรค์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เนื่องจากชาวทิเบตเชื่อว่ากษัตริย์ซงซันกัมโปคือ นิรมาณกาย (ยังเซ) ของพระอวโลกิเตศวร ที่ประทับของพระองค์จึงได้รับการขนานนามเช่นนั้น หลังจากพระราชวังสร้างได้ประมาณ 100 ปี เกิดฟ้าผ่าทำให้ไฟไหม้ พระราชวังได้รับความเสียหายอย่างมาก เมื่ออาณาจักรยาลุง (ราชวงศ์หย่าหลุง / ราชวงศ์ถู่โป๋) เสื่อมสลายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 10 พระราชวังก็ถูกทำลายไปอีก จนถึงสมัยขององค์ดาไลลามะที่ 5 ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 พระองค์โปรดให้มีการบูรณะพระราชวังโปตาลาครั้งใหญ่ตามภาพจำลองของพระราชวังที่เขียนไว้ที่ข้างผนังวัดโจคัง แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนจะบูรณะเสร็จสิ้นทั้งหมด ผู้สำเร็จราชการซังเก เกียทโซ จึงดำเนินการซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ

(น.262) ตำหนัก วิหาร ห้องโถงภายในพระราชวังได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยของดาไลลามะองค์ที่ 13 พระราชวังโปตาลาต่างจากวัดและวังอื่นๆ ตรงที่ไม่ถูกทำลายในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากทิเบตเปลี่ยนการปกครอง รัฐบาลจีนได้บูรณะพระราชวังไปแล้วหนึ่งครั้งและกำลังดำเนินการบูรณะครั้งที่สองด้วย งบประมาณ 170 ล้านหยวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ในการบูรณะครั้งนี้รัฐบาลมีแผนการที่จะสร้างหอขนาดใหญ่เพื่อเก็บสมบัติและวัตถุต่างๆ ของพระราชวัง ในขณะนี้ได้ทำบัญชีทรัพย์สิน ประเมินค่า วัดขนาด และถ่ายรูปสิ่งของต่างๆ ไปแล้วประมาณ 80% พระราชวังโปตาลาเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่แสดงฝีมือของช่างศิลป์ทิเบตในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 138,025 ตารางเมตร ประกอบด้วยวังแดงและวังขาว วังแดงมีความสูง 13 ชั้น เป็นอาคารใหญ่ทาสีแดงอยู่ตรงกลางพระราชวัง วังขาวเป็นอาคาร 2 หลังทาสีขาวอยู่ด้านขวาและด้านซ้ายของวังแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ สีขาวแสดงถึงสันติภาพ



(น.263) วังทั้งสองใช้ประกอบหน้าที่ต่างกัน วังแดง ใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา และเป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระศพของดาไลลามะ 8 องค์ตั้งแต่องค์ที่ 5 ผู้สำเร็จราชการซังเก เกียทโซเป็นผู้สร้างวังแดงขึ้นเพื่อประดิษฐานสถูปบรรจุพระศพของดาไลลามะองค์ที่ 5 เมื่อคราวที่พระองค์สิ้นพระชนม์นั้นซังเก เกียทโซเก็บความลับเรื่องการสิ้นพระชนม์นานถึง 12 ปี (บ้างบอกว่า 14 ปี บ้างก็ว่า 15 ปี) ด้วยเกรงว่าหากประชาชนทราบข่าวจะไม่สามารถสร้างวังแดงได้เสร็จ และเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบในแผ่นดินด้วย หลังจากสร้างสถูปสำหรับดาไลลามะองค์ที่ 5 ที่พระราชวังโปตาลาแล้วก็มีการสร้างสถูปสำหรับดาไลลามะองค์อื่นที่นี่เช่นกัน อย่างไรก็ตามพระราชวังนี้ไม่มีสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 6 เนื่องจากพระองค์ไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่ลาซา บ้างเชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ที่เมืองลีทัง ทางใต้ของแคว้นคาม (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองตนเองกานเซของชาวทิเบตในมณฑลเสฉวน) บ้างก็เชื่อว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ถูกลาซังข่านแห่งมองโกลเนรเทศไปจีน และพระศพของพระองค์เก็บไว้ที่วัดหนึ่งในบริเวณทะเลสาบโกโกนอร์ ในมณฑลชิงไห่ สถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 และที่ 13 ได้ชื่อว่ามีความงดงามและยิ่งใหญ่ที่สุด องค์ระฆังทำด้วยทองคำแท้ตั้งอยู่บนฐานที่ทำด้วยทองเหลือง ที่ยอดฝังด้วยพลอยเขียวมูลนกการเวกและอัญมณีอื่นๆ เช่น มุก และกัลปังหา สถูปของดาไลลามะองค์ที่ 5 ขนาบข้างด้วยสถูปของดาไลลามะองค์ที่ 10 และ 12 ภายในวังแดงมีหอประชุม วิหาร และหอสมุดเก็บพระไตรปิฎกครบชุด ได้แก่ กันจูร์ (พระไตรปิฎก) และตันจูร์ (อรรถกถา) วังขาว ซึ่งอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาของวังแดงนั้นเป็นที่ทำการรัฐบาลและเป็นที่ประทับของดาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 5 ดาไลลามะองค์ที่ 1 ถึง 4 ไม่ได้ประทับที่นี่ หากแต่ประทับที่วังกานเดนโพทรังภายในวัดเดรปุง (ชื่อกานเดนโพทรังนี้ ต่อมาได้กลายมาเป็นชื่อเรียกรัฐบาลขององค์ดาไลลามะ) เนื่องจากพระราชวังโปตาลาเป็นที่ประทับของดาไลลามะ ซึ่งชาวทิเบตเชื่อว่า เป็นนิรมาณ

(น.264) กายของพระอวโลกิเตศวร พวกเขาจึงนิยมเดินทางมาจาริกแสวงบุญและเดินประทักษิณรอบพระราชวังนี้ พระราชวังโปตาลามี 999 ห้อง หากรวมวิหารที่เป็นถ้ำชื่อ เชอเกียลดรุบพุก (ถ้ำสมประสงค์ของธรรมราชา) หรือฝ่าหวังต้งในภาษาจีนแล้ว ก็จะนับได้ 1,000 ห้องพอดี วิหารเชอเกียลดรุบพุกเป็นที่เก็บพระบรมรูปของกษัตริย์ซงซันกัมโปและพระรูปมเหสี 2 พระองค์คือ เจ้าหญิงเหวินเฉิงจากจีนและเจ้าหญิงทรีซุน (ภฤกุตี) จากเนปาล นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของอำมาตย์ทนมี สัมโภตา ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรทิเบต และอำมาตย์สกุลการ์ผู้ไปรับเจ้าหญิงเหวินเฉิงมาจากจีน เชอเกียลดรุบพุกเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในพระราชวังนี้ พระบรมรูปและรูปปั้นในวิหารนี้สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 เชื่อกันว่ากษัตริย์ซงซันกัมโปเคยทรงนั่งสมาธิที่นี่ วิหารสำคัญ เช่น วิหารทรุงรับ (วิหารต้นตระกูล) ในวังแดง มีพระพุทธรูปศากยมุนี รูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 5 สถูปบรรจุพระศพดาไลลามะองค์ที่ 11 ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 17 พรรษา ระหว่างสถูปกับหิ้งพระหลักในวิหารมีพระพุทธเจ้า 3 ภพ และพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ (แมงลา) ที่ดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระไตรปิฎกวางอยู่บนชั้นตามผนัง พระไตรปิฎกเหล่านี้จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1725 คัมภีร์เหล่านี้เขียนด้วยน้ำหมึกทองและสีตามธรรมชาติ วิหารที่สำคัญที่สุดวิหารหนึ่งของวังแดงคือ วิหารไตรโลก ซึ่งมีชื่อภาษาทิเบตว่า “ซาซุม นัมเกียล” (วิหารชัยชนะเหนือสามโลก) เป็นวิหารของพระโพธิสัตว์อวโลติเกศวร 11 เศียร 1,000 กร ทำด้วยเงินแท้ สูง 3 เมตร หนักประมาณ 300 กิโลกรัม สร้างในปี ค.ศ. 1903 สมัยดาไลลามะองค์ที่ 13 ในวิหารนี้มีภาพทังกาวาดรูปจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1795) แขวนอยู่บนผนังด้านเหนือ ภาพนี้จักรพรรดิเฉียนหลงถวายดาไลลามะองค์ที่ 8 ใต้ภาพมีป้ายสลัก 4 ภาษา คือ ภาษาทิเบต จีน แมนจู และมองโกล เขียนว่า “ขอให้จักรพรรดิคังซีมีพระชนมายุนับหมื่นปี” ป้ายนี้จักรพรรดิเฉียนหลง

(น.265) พระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 7 (ค.ศ. 1708-1757) ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 14 พรรษาเนื่องในวโรกาสที่จักรพรรดิคังซีครองราชย์สมบัติครบ 61 ปี ด้านเหนือของวิหารนี้เป็นบัลลังก์ของดาไลลามะองค์ที่ 7 มีรูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 7 และรูปปั้นของพระอาจารย์จงคาปา ปีกตะวันออกของชั้นที่ 4 ของวังแดงเป็นวิหารของพระศรีอารยเมตไตรย์เรียกว่า วิหารจัมคัง (จัม มาจากคำว่า จัมปา ซึ่งเป็นชื่อเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์นี้) ในวิหารนี้มีพระพุทธรูปศรีอาริย์สูง 3.66 เมตรและกว้าง 2.65 เมตร ในท่านั่ง ทำด้วยทองแดง นอกจากนี้ในวิหารมีรูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 5 รูปปั้นพระโพธิสัตว์ตาราขาว เจดีย์ไม้ และชั้นวางพระไตรปิฎก สถูปดาไลลามะองค์ที่ 13 สูง 13 เมตร สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1934-1936 ภายในสถูปมีพระศพของดาไลลามะองค์ที่ 13 เก็บรักษาด้วยเกลือ ยอดสถูปประดับด้วยพลอยเขียวมูลนกการเวก ด้านหน้าของสถูปเป็นรูปปั้นดาไลลามะองค์นี้ ปีกตะวันตกของชั้นที่ 4 เป็นวิหารเรียกว่า พักปาลาคัง (วิหารพระอวโลกิเตศวร) ที่ผู้จาริกแสวงบุญชาวทิเบตถือว่าเป็นวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพระราชวัง มีพระพุทธรูปอวโลกิเตศวรทำจากไม้จันทน์ซึ่งเชื่อกันว่าไม่ได้มีผู้ใดสร้างขึ้น แต่ปรากฏขึ้นเองในโลกมนุษย์ ซมเชนนุบ (ห้องประชุมใหญ่ด้านตะวันตก) เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดในพระราชวังอุทิศแด่ดาไลลามะองค์ที่ 5 มีเสาใหญ่ 8 เสาและเสาเล็ก 36 เสา หุ้มด้วยพรม มีบัลลังก์ของดาไลลามะองค์ที่ 6 เหนือบัลลังก์มีป้ายเขียนเป็นภาษาจีนจากจักรพรรดิเฉียนหลง ภาพฝาผนังแสดงชีวิตของดาไลลามะองค์ที่ 5 มีรูปโปตลกะและกษัตริย์ทิเบต ถัดไปเป็นวิหารลัมริม (หนทางค่อยเป็นค่อยไปสู่การตรัสรู้) มีรูปปั้นของจงคาปาและพระอาจารย์ในสายเกลุกปะและตู้เก็บพระไตรปิฎก

(น.266) วิหารกุนซังลาคังเก็บพระพุทธรูปและสถูปเล็กๆ ที่พ่อค้าชาวทิเบตชื่อเต็มปาต้าชี่เป็นผู้นำมาถวาย หอสมบัติเป็นที่แสดงของมีค่าต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าและของใช้ของดาไลลามะและราชองครักษ์ เครื่องใช้ในการออกว่าราชการ เช่น หอยสังข์แกะสลักเป็นรูปมังกร พระพุทธรูปและเครื่องบูชาในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปทำจากหินคริสตัลของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พระรูปทำด้วยทองแดงชุบทองของเหวัชระ (เกย ดอร์เจ) ซึ่งเป็นเทพตามลัทธิตันตระ ทรงยืนบนดอกบัวพร้อมชายา มันดาลาหรือภาพจำลองจักรวาล 3 มิติ สร้างในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำจากไข่มุก 200,000 เม็ด ภาชนะใส่น้ำมนต์ทำจากปะการังและกัลปังหา เครื่องแต่งกายในการประกอบพิธีชัม ซึ่งเป็นการรำทางศาสนาที่มีพระเป็นผู้แสดง ทำจากกระดูกและหนังวัว สมบัติที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น กุญแจใหญ่ที่สุดของพระราชวัง แบบจำลองพระราชวัง เขาแพะของแพะที่มีเขายาวมากจนกินหญ้าไม่ได้และต้องตายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์การแพทย์ของยูทก ยนเต็น โกนโป ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาการแพทย์ของทิเบต คัมภีร์โหราศาสตร์ และที่สำคัญคือ คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรที่จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทาน ด้านตะวันออกของวังขาวเป็นลานกว้างขนาด 1,500 ตารางเมตร ชื่อว่าเตยังชาร์ ลานนี้เป็นที่แสดงพิธีทางศาสนารวมทั้งการแสดงพิธีชัม สองด้านของลานนี้เป็นกุฏิพระ 2 ชั้นและห้องเก็บของ ทางปีกตะวันออกของเตยังชาร์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนธรรมะชื่อว่า เซล็อบต้า (โรงเรียนบนยอดเขา) สร้างโดยดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1749 บนฝาผนังของวังขาวมีภาพเขียนฝาผนังที่วิจิตร เป็นภาพโลกบาล การสร้างวิทยาลัยการแพทย์บนภูเขาชักโปรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภูเขามาร์โปรี ที่ตั้งของพระราชวังโปตาลา การเสด็จเข้าสู่ทิเบตของเจ้าหญิงเหวินเฉิง การสร้างวัดต้าเจาซื่อ และการเสด็จไปปักกิ่งของดาไลลามะองค์ที่ 5 เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิราชวงศ์ชิง

(น.267) ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 13 และ 14 อยู่บนชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของวังขาว ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 13 และดาไลลามะองค์อื่นๆ นอกเหนือจากดาไลลามะองค์ที่ 14 เรียกว่า นิโว นุบ โซนัม เลคิล (ตำหนักสุริยประภาด้านตะวันตก) ประกอบด้วยห้องบรรทมและห้องพักผ่อนพระวรกาย ที่บางครั้งใช้ประชุมสภาและต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย ที่ประทับของดาไลลามะองค์ที่ 14 เรียกว่า นิโว ชาร์ ดาเดน นังเซล (ตำหนักสุริยประภาด้านตะวันออก) ประกอบด้วยห้องออกว่าราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ห้องนั่งสมาธิซึ่งมีหน้าต่าง อยู่ใจกลางพระราชวัง ที่นี่เป็นที่ที่พระองค์ทอดพระเนตรชัมซึ่งแสดงที่เตยังชาร์ หิ้งพระในห้องนี้มีพระพุทธรูปต่างๆ ที่สร้างอย่างสวยงาม ห้องด้านในเรียกว่า โกนโปลาคัง มีรูปปั้นของธรรมบาล ได้แก่ มหากาลเกรและศรีเทวี ด้านในหลังผ้าม่านเป็นห้องบรรทมและห้องสรงของดาไลลามะ ซมเชนชาร์ (ห้องประชุมใหญ่ด้านตะวันออก) ตั้งอยู่บนชั้นที่ 3 ของวังขาว เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดในวังขาว มีเสา 64 ต้น เป็นที่ที่ประกอบพิธีสำคัญของรัฐ ดาไลลามะทุกพระองค์ขึ้นครองราชย์ที่นี่ มีบัลลังก์ของดาไลลามะ ภาพฝาผนังซึ่งวาดในสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 เป็นเรื่องวิวัฒนาการของชาวทิเบต ประวัติและตำนานเกี่ยวกับดาไลลามะ อาคารระหว่างวังแดงและวังขาวเป็นที่แขวนภาพทังกาขนาดใหญ่รูปพระพุทธเจ้าศากยมุนี ซึ่งจะนำมาแสดงให้พุทธศาสนิกชนชมและบูชาในช่วงเทศกาลปีใหม่