Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันอังคารที่ 10 เมษายน 2533 "


(น.70) รูป 58. ประตูไคหย่วนเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่จะไปทางทิศตะวันตกตามเส้นทางแพรไหม
Kaiyuan Gate: departing point of the Silk Routes to the West.

(น.71) อังคารที่ 10 เมษายน 2533
เช้านี้รับประทานอาหารในห้องอาหาร ที่ห้องพักของข้าพเจ้าเอง โดยเขาให้เลือกว่าจะรับประทานอาหารเช้าแบบฝรั่งหรือแบบจีน วันแรกนี้ข้าพเจ้าจึงลองอาหารเช้าแบบฝรั่งก่อน ก็มีไข่ดาว หมูแฮม หมูเบคอน ขนมปัง เนย แยมพืช ผลไม้กระป๋อง พรุ่งนี้ถึงจะชิมแบบจีน นั่งรถไปกับคุณหันกัวจินรองอธิบดีกรมวิเทศสัมพันธ์ รัฐบาลมณฑลส่านซี และคุณหลิว คุณหันบอกว่าเขาเรียนจบมาทางประวัติศาสตร์เหมือนกันจึงอธิบายได้ เราจะเดินทางไปสุสานเฉียนหลิง ระยะทาง 85 กิโลเมตร ขึ้นเขาอีก 5 กิโลเมตร มีการค้นคว้าวิจัยมาก ถนนในซีอานปัจจุบันตามแบบราชวงศ์หมิง สมัยถังกว้างกว่าปัจจุบัน 8 เท่า ถ้าอยากจะทราบว่าบรรยากาศราชวงศ์ถังเป็นอย่างไรก็ต้องอ่านบทกวีต่าง ๆ เช่น หลี่ไป่ ตู้ฝู่ หวางเหว่ย บทกวีเหล่านี้กล่าวถึงวัฒนธรรมชีวิตของคนในประวัติศาสตร์เมื่อประกอบกับสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน จะประสานอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกันได้ ถนนสองด้านเป็นต้นหยาง ต้นฝรั่งเพิ่งแตกใบ เพราเวลานี้เป็นต้นฤดูชุนเทียน อีกไม่นานเราก็จะเริ่มต้นไปตามเส้นทางแพรไหมแล้ว ก่อนอื่นเราไปหยุดที่ประตูไคหย่วนอันเป็นจุดเริ่มต้น ความหมายจองคำว่าไค หมายถึง


(น.72) รูป 59. ภาพหมู่มิตรภาพจีนไทย
Group picture: Chinese-Thai Friendship

การเปิด หย่วนหมายถึงไกล ทางจีนจึงแกะสลักรูปกองคาราวานอูฐที่เดินทางไปเกือบหมื่นลี้ อูฐที่คนจีนใช้เป็นอูฐ 2 โหนก เป็นอูฐที่อดทนแบกน้ำหนักได้มาก เหมาะสมกับภูมิประเทศแถบนี้มากกว่าอูฐโหนกเดียวของอาหรับซึ่งขายาว วิ่งเร็ว แต่แบกน้ำหนักไม่มาก และมาจากที่ไกล ผู้คนที่เขาแกะสลักไว้ในกองคาราวานอูฐ เป็นคนชนชาติต่าง ๆ หลายเผ่า พวกเราเลยถือโอกาสถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ไทย-จีน ตรงนี้ คุณหันเล่าว่าประชาชาติมีโครงการค้นคว้าเกี่ยวกับเส้นทางสายไหม โดยจะจัดนักวิชาการทางด้านโบราณคดี ทรัพยากรธรณี วัฒนธรรม

(น.73) ประมาณ 5,000 คนร่วมโครงการ ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งจะมาเมืองจีนในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสำรวจเส้นทางแพรไหมเป็นเวลา 40 วันโดยทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมามีการประชุมที่เมืองอิสลามาบัด ปากีสถาน เรื่องการสำรวจเส้นทางแพรไหม ที่พิพิธภัณฑ์ส่านซีจะจัดนิทรรศการที่ผู้อำนวยการ (อาจารย์หวาง) พูดเมื่อคืนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการสำรวจของสหประชาชาติ ตอนทีมสำรวจดำเนินการจะมีการถ่ายทอดดาวเทียมไปต่างประเทศด้วย เส้นทางสำคัญในการสำรวจครั้งนี้คือเมืองอีซาน สุสานเม่าหลิง เฉียนหลิง วัดฝ่าเหมินซื่อ เมืองเป่าจี (ออกจากซีอานไปประมาน 200 กิโลเมตร) อยู่บริเวณซีอาน 5-6 วัน แล้วไปเมืองต่าง ๆ ในมณฑลกานซู ได้แก่เมืองเทียนสุ่ย หลานโจว อู่เว่ย จิ่วฉวน เดินทางตามแม่น้ำเว่ย ที่เมืองตุนหวงมีการจัดสัมมนาทางวิชาการ ส่วนที่มณฑลซินเกียงไปเมืองทู่หลู่ฟัน เมืองเกาชาง คูเชอ ข่าชือ หลังจากจัดโครงการนี้แล้วจะดำเนินงานต่อไปอีก 16 ปี โดยแยกเป็นหัวข้อวิชาการต่างๆ การสำรวจได้รับความสนับสนุนจากหลายประเทศในโลก ประธานยูเนสโกมาร่วมประชุมด้วย การค้นคว้าครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลกด้วย เส้นทางแพรไหมเป็นทางเชื่อมเอเชียกับภาคตะวันตก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี มีผลเกื้อกูลให้เศรษฐกิจโลกคืบหน้า สมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) มีเส้นทางแพรไหมทางทะเล ทำให้เส้นทางบกลดบทบาทลง เส้นทางแพรไหมทางทะเลนั้นรุ่งเรืองอยู่ที่มณฑลฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) และกว่างตง (กวางตุ้ง) ต่อไปที่สิงคโปร์ ลังกา แอฟริกา และยุโรปตะวันตก


(น.74) รูปที่ 60. หินสลักรูปขบวนกองคาราวานเดินทางไปภาคตะวันตก
Stone sculpture illustrating a caravan heading westward.

ถึงตอนนี้เห็นข้าพเจ้าควักเข็มทิศมาดูเส้นทางที่เรากำลังเดินทาง คุณหันก็เลยบอกว่าเข็มทิศนี่จีนคิดก่อน โคลัมบัสก็เดินทางโดยใช้เข็มทิศนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวเอเชียมีส่วนเกื้อกูลอารยธรรมโลก เปลี่ยนจากเรื่องประวัติศาสตร์ คุณหันกลับมาอธิบายสองข้างถนนที่เขาปลูกผักแบบคลุมโปงพลาสติก พืชน้ำมัน (ดอกเหลือง ๆ ) และข้าวสาลี ปีนี้ข้าวสาลีจะเก็บได้ในวันที่ 6 มิถุนายน เราข้ามแม่น้ำฟงต่อด้วยแม่น้ำเว่ย เข้าไปเมืองเสียนหยาง เมืองหลวงของราชวงศ์ฉิน (บริเวณฉางอานมีแม่น้ำ 8 สายอยู่รอบ ๆ ) ตอนนี้น้ำในแม่น้ำเว่ยมีไม่มากนักต้องเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมแม่น้ำจึงจะเต็ม

(น.75) ที่เสียนหยางก็มีหุ่นทหารม้าถึง 5,000 ชิ้น สมัยราชวงศ์ฮั่นตัวเล็กกว่าของราชวงศ์ฉิน แต่เราไม่มีเวลาไปดู ภูมิประเทศแถบนี้เป็นที่ราบ และขึ้นไปเป็นที่ราบสูง มีการชลประทานทำให้ปลูกข้าวสาลีได้ดี อาจจะถือได้ว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในจีนแห่งหนึ่ง ทางด้านอุตสาหกรรมก็มีหลายอย่าง (ข้าพเจ้าถามถึงอุตสาหกรรมเพราะคราวที่แล้วคุณซุนหมิง วิเทศสัมพันธ์คนก่อนอธิบายไว้ตั้ง 9 ปีแล้วคงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง) เช่น เครื่องจักรกล การต่อเครื่องบินลำเลียงเป็นโรงงานใหญ่สุดของจีน รถบรรทุก อุปกรณ์ หม้อแปลงไฟฟ้า อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หลอดโทรทัศน์ การประกอบทีวีสี

(น.76) ตู้เย็น เครื่องคิดเลข ถลุงเหล็ก โรงงานทำอาวุธ เมื่อ 2 วันก่อนที่มีการส่งดาวเทียมนั้น สถานีที่ตรวจเช็คการทำงานของดาวเทียมก็อยู่ที่นี่ ทำหน้าที่ควบคุมให้ดาวเทียมเข้าวงจร (การดูแลส่วนอื่น ๆ บริษัทของสหรัฐเป็นผู้ดูแล) บางชิ้นส่วนของจรวดก็ทำที่ซีอาน สำหรับอุตสาหกรรมเบา มีการผลิตสุราที่ประกวดชนะทั้งประเทศ สุราทำจากข้าวเหนียวดำ มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ส่านซีเป็นมณฑลที่มีรูปร่างยาวแต่แคบ ฉะนั้นสภาพทางภูมิศาสตร์ คือภูมิประเทศและภูมิอากาศจะต่างกันมาก ทางเหนือเป็นทะเลทราย ดินสีเหลือง และเป็นเนินสูง พืชที่ปลูกจะเป็นข้าวฟ่าง ข้าวโพด เกาเหลียง เป็นข้าวเม็ดใหญ่ ทำเหล้าเกาเหลียงอันขึ้นชื่อ มีแอลกอฮอล์ 60 º ภาคกลางเป็นที่ราบปลูกข้าวสาลีและข้าวโพดได้ดี ส่วนทางใต้เป็นภูเขาสลับกับที่ราบ ปลูกข้าวเจ้า มีข้าวสาลีบ้าง แต่มีจำนวนน้อย ทางเหนือมีทรัพยากรถ่านหินมาก เป็นถ่านหินอย่างดีไม่มีสิ่งเจือปน ระหว่างที่คุณหันเล่า ข้าพเจ้าก็ชมวิวไปพลาง สองข้างทางมีสีสันชวนมอง สีเขียวของต้นข้าวสาลี ดอกน้ำมันสีเหลือง ต้นสาลี่ออกดอกขาว ข้าวออกดอกชมพู ข้างทางมีเตาเผาอิฐมาก ชาวข้านเขาใช้อิฐมาก คุณหันเล่าเรื่องสุสานเฉียงหลิงที่เรากำลังจะไปให้ฟังอย่างย่อ ๆ ว่าเป็นสุสานของพระจักรพรรดิถังเกาจง (หลี่จื้อ) จักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 628 – 683) และจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน หรือบูเช็กเทียน (ค.ศ. 624 – 705) สุสานนี้อยู่บนเขาเหลียงซานอยู่ห่างอำเภอเฉียนเซียนไป 6 กิโลเมตร ถังเกาจงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของหลี่ซื่อหมิ่น (ถังไท่จง) จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ถัง ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ. 649 สวรรคตใน

(น.77) เมืองลั่วหยางเมื่อ ค.ศ. 683 (เมืองลกเอี๋ยงในวรรณคดีเรื่องสามก๊ก) และฝังที่เฉียนหลิงนี้ อู่เจ๋อเทียนมีนิวาสถานเดิมอยู่ที่เหวินสุ่ย (มณฑลส่านซีในปัจจุบัน) เคยเป็นพระสนมที่มีฐานะอยู่ในกลุ่มพระสนมอันดับ 5 ของพระเจ้าถังไท่จง เมื่อพระเจ้าถังไท่จงสวรรคตแล้วตามปกติพวกสนมจะต้องไปบวชชีกันหมด แต่อู่เจ๋อเทียนทำอย่างไรไม่ทราบ สึกออกมาเป็นมเหสีของพระเจ้าถังเกาจงได้ มีอายุมากกว่าถังเกาจง 4 ปี เห็นจะเป็นเพราะฉลาด มีความรู้ เมื่อพระเจ้าถังเกาจงเริ่มประชวรใน ค.ศ. 659 พระเนตรบอด ปวดพระเศียรทุกวัน ราชการงานเมืองอะไรก็ปล่อยให้อู่เจ๋อเทียนทำหมด พอพระเจ้าถังเกาจงสวรรคต พระนางก็ตั้งตัวเองเป็นจักพรรดิ เป็นองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่เป็นผู้หญิง เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ก็ปฏิรูปภายในประเทศ เปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นราชวงศ์โจว ภายหลังได้มอบอำนาจให้ลูกชายคือถังจงจง ซึ่งได้เปลี่ยนราชวงศ์กลับไปเป็นราชวงศ์ถังตามเดิม อู่เจ๋อเทียนสวรรคตที่ลั่วหยาง เมื่อ ค.ศ. 705 และถูกนำมาฝังที่เฉียนหลิงเช่นเดียวกับพระเจ้าถังเกาจง (ที่เรียกว่าเฉียน เพราะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของซีอาน) หมอดูจีนโบราณเรียกทิศนี้ (เวลาผูกดวง) ว่าเฉียน รอบ ๆ สุสานเฉียนหลิงมีสุสานเจ้าชาย เจ้าหญิง และเสนาบดี สุสานเฉียนหลิงสูงประมาณ 1,040 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในบริเวณส่านซีมีสุสาน 72 แห่ง คุณหันพูดว่าคนกล่าวกันบ่อย ๆ ว่าสุสานใหญ่จะถูกขโมย แต่เฉียนหลิงไม่มีคนขโมย ไม่มีในเอกสาร และไม่มีร่องรอยการถูกขโมยด้วย ฉะนั้นข้างในอาจมีศิลปวัตถุอยู่ เคยมีนักประวัติศาสตร์เสนอให้ขุดสุสานเพื่อหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลไม่เห็นด้วย เพราะวิชาการเก็บรักษาวัตถุโบราณของจีนยังไม่ก้าวหน้า


(น.78) รูปที่ 61. พอถึงพิพิธภัณฑ์ฟังบรรยายสรุป
At the tomb: listening to the briefing

เมื่อไปถึงสุสานผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เฉียนหลิงมาต้อนรับ พาไปนั่งที่ห้องรับรอง และลุกขึ้นอธิบายคล้าย ๆ ที่คุณหันอธิบายในรถ แต่ได้เพิ่มเติมตัวเลขมากมาย บรรยายลักษณะผังของสุสานตามแบบนักโบราณคดี ครูใหญ่อาจารย์กู้เดินเข้ามาหาข้าพเจ้า บอกว่าหาคนอธิบายใหม่จะดีไหม ที่นี่มีคนพูดภาษาอังกฤษได้ ให้เขาพูดภาษาอังกฤษเสียเลย ผู้อำนวยการคนนี้พูดภาษาพื้นเมือง คุณหลิว (ล่าม) ก็ฟังไม่ออก ข้าพเจ้าลำบากใจมากเขาอธิบายไม่ค่อยรู้เรื่องจริง ๆ (ฟังจากล่าม) แต่ข้าพเจ้าก็เกรงใจเขา เพราะว่าเขามีท่าทางกระตือรือร้นที่จะอธิบายจริง ๆ ถ้าให้คนอื่นพูดเขาคงจะเสียใจ ข้าพเจ้าเลยบอกว่าวันนี้เรามาช้า


(น.79) รูป 62. บริเวณสุสานของเจ้าหญิงหย่งไท่
The ground of Princess Yongtai's tomb.

กว่ากำหนดไป 45 นาทีเพราะมัวไปหยุดที่ประตูเริ่มต้นเส้นทางค้าแพรไหม ฉะนั้นทางที่ดีไปดูที่สถานที่และอธิบายไปเลยจะดีกว่า ทุกคนก็เห็นด้วย ครูกู้บ่นให้ฟังว่า “ฉันเป็นคนจีนยังฟังไม่รู้เรื่อง” เปียนเหมย (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย) ก็บอกว่าไม่เข้าใจเช่นเดียวกัน เราไปที่สุสานของเจ้าหญิงหย่งไท่ ระหว่างดูมีใครต่อใครอธิบายกันหลายคน ทั้งพวกพิพิธภัณฑ์เฉียนหลิง และอาจารย์หวางจากพิพิธภัณฑ์ส่านซี เจ้าหญิงหย่งไท่มีพระนามเดิมว่าหลี่เสี่ยนหุ้ย (ค.ศ. 684-701) เป็นหลานของพระเจ้าถังเกาจง พระธิดาพระเจ้าถังจงจง (หลี่เสี่ยน) สิ้นพระชนม์ที่ลั่วหยาง และภายหลังย้ายมาฝังที่นี่


(น.80) รูป 63. สมัยราชวงศ์ถัง สุสานจะทำเป็นอุโมงค์ลงไปใต้ดิน ภายในอาคารค่อนข้างเย็นเยือก
Tombs in Tang times were usually fashioned as an underground structure with tunnels. It was rather chilly inside.


รูป 64. มีป้ายติดไว้ว่าตรงนี้ขโมยแอบขุดเข้ามา
There is a sign showing where the robbers had dugged an entrance to the tomb.

(น.80) ลักษณะสุสาน (ในสายตาข้าพเจ้า) เป็นอุโมงค์ลงไปใต้ดิน มีอะไรก็ไม่ทราบทำให้นึกถึงวัดอุโมงค์ที่เชียงใหม่ ทางเข้ามีจารึก 2 แผ่นเล่าประวัติเจ้าหญิง ตามผนังและเพดานอุโมงค์เขียนลวดลาย เขาบอกว่ามีลายแบบจีน ลายดอกทับทิมเป็นลายตามแบบตะวันตก ทับทิมนี้จีนถือว่าเป็นผลไม้มงคล มีเม็ดมากแปลว่ามีลูกหลานมาก (ปัจจุบันสังคมเข้าสู่ยุคลูกมากยากจน ไม่ทราบว่ามงคลแบบนี้จะเปลี่ยนไปหรือเปล่า) มีป้ายปิดกำแพงไว้ว่า ตรงนี้ขโมยแอบขุดเข้ามา ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขาสนใจอยู่กับว่าขโมยขุดหรือไม่ขุดอย่างมาก เข้าใจว่าคงเป็นปัญหาของเขา

Next >>