<< Back
" มุ่งไกลในรอยทราย วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2533 "
(น.128) รูป90. ไปพิพิธภัณฑ์ของมณฑลกานซู
On the way to the museum of Gansu.
(น.129) พฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2533
เช้านี้อากาศข้องนอกหนาวมาก น้ำที่ขังอยู่บนหลังคา กลายเป็นน้ำแข็งเหมือนอยู่ในตู้เย็น แดดออกยังไม่ยอมละลาย
ที่นี่เขาไม่ถามว่าจะรับประทานอาหารเช้าแบบจีนหรือแบบฝรั่งแต่จัดมาเลย รู้สึกว่าจะปนทั้ง 2 อย่างคือ มีไข่ดาว ขนมปังทาเนยทาแยม ข้าวต้มใส่ถั่วเขียว มีเครื่องข้าวต้ม หม่านโถว
เกือบ ๆ จะเก้าโมงเช้าเลขาธิการมณฑล ซึ่งคุณหลิวอธิบายให้ฟังว่าคล้าย ๆ กับปลัด เป็นผู้นั่งรถพาไป เขาเล่าว่าพิพิธภัณฑ์มณฑลที่เราจะไปนี้สร้าง ค.ศ. 1956 อยู่ในเนื้อที่ 18,000 ตารางเมตร พิพิธภัณฑ์ที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1. ประวัติศาสตร์
2. ทรัพยากรธรรมชาติ
3. งานการสร้างสรรค์สังคมนิยมกานซู
หลานโจวนครหลวงของมณฑลกานซูมีพลเมืองราวสองล้านสี่แสนคน (ตอนปลดแอกใหม่ ๆ มีแค่สองแสน) ที่อยู่ในตัวเมืองมีล้านสองแสน นอกนั้นอาศัยอยู่ชานเมือง แต่ก่อนนี้มีชื่อเรียกว่าจินเฉิง (เมืองทอง) อุตสาห
(น.130) รูป 91. รูปสำริด “ม้าบิน” อันมีชื่อเสียง
The famous "flying horse", bronze.
(น.130) กรรมของเมืองนี้มีหลายอย่าง เช่น ปิโตรเคมี เครื่องถักทอ อิเล็กทรอนิกส์ มีน้ำมันที่เมืองยู่วเหมินและฉางชิง แต่ว่าไม่พอป้อนโรงกลั่น
ต้องลำเลียงมาจากซินเกียงทางรถไฟ เริ่มมีการวางท่อจากซินเกียงมากานซู โรงกลั่นห่างจากหลานโจวไปประมาณ 20 กิโลเมตร
เมืองหลานโจววางตัวไปตามแม่น้ำหวงเหอ ยาวประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเขาหัวโล้นสีน้ำตาล
พิพิธภัณฑ์กานซูเป็นที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องของวัตถุโบราณ ที่พิพิธภัณฑ์นี้ติดคำแปลคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ให้ด้วย
(แต่ข้าพเจ้าไม่มีเวลาดู เพราะต้องเดินดูอย่างเร็วที่สุด ฉะนั้นจะพยายามเขียนบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นี้ให้ดีที่สุดเท่าที่คนที่มองผ่านแผล็บเดียวจะทำได้) ได้ทราบ
(น.131) รูป 92. นอกจากจดจากป้ายคำอธิบายแล้วยังจดจากคำอธิบายของภัณฑารักษ์
On top of noting down all the printed descriptions, I also attempted to take note of the explanation given by the curator.
(น.131) ว่าในห้องเก็บของของพิพิธภัณฑ์มีของเกือบห้าแสนชิ้น แต่นำมาจัดแสดงได้เพียงส่วนหนึ่ง
เมื่อไปถึงผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์นำไปที่หน้าแผนที่ของมณฑลแล้วกล่าวต้อนรับ เล่าสภาพของมณฑลอย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นมณฑลที่อยู่ตรงกลางของจีนภาคตะวันตก
เป็นมณฑลที่มีคนกลุ่มน้อยอยู่มาก แต่ก็ยังรักษาความสัมพันธ์กับจีนตอนกลาง (จงหยวน-ตงง้วน) ได้
การอธิบายรายละเอียดของวัตถุในพิพิธภัณฑ์จะต้องทำอย่างรวดเร็ว พอดีมีนักวิชาการของพิพิธภัณฑ์ท่านหนึ่ง ชื่อคุณหลี่ฮั้ว อธิบายเป็นภาษาอังกฤษ
วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์พบที่ต้าตี้วันในตอนกลางของมณฑลเป็นสมัยหินเก่า อายุประมาณ 10,000 ปี มีเครื่องมือหิน ในบริเวณเดียว
(น.132) กันยังได้พบหม้อเขียนสีดำและแดง ตามแบบวัฒนธรรมยางเชา (ยางเชาจริง ๆ พบที่เหอหนาน) อายุประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล แหล่งหม้อเขียนสี (เป็นวัฒนธรรมหินใหม่) ในกานซูมีหลายประเภท ได้แก่
1. หม่าเจี้ยเหยา อยู่ในอำเภอหลินเตา ตอนใต้ของกานซูมีลายเขียนภายในและภายนอกหม้อ เป็นลายรูปโลกและจักรวาล เครื่องมือหินใหม่
กระดูกสัตว์ ที่สำคัญคือมีดทำด้วยกระดูก แต่เจาะเป็นช่องใส่ใบมีดหินขัดอย่างบาง เข็มทำด้วยกระดูกสัตว์ (อายุประมาณ 5,000 – 4,000 ปีก่อนคริสตกาล)
2. ป้านชาน อายุประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ลายเขียนจะเป็นรูปฟันปลา
ยังมีอีกหลายแบบแต่ดูไม่ทัน
เขาได้จำลองหลุมฝังศพที่อู่เว่ยมาให้ดู เข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมฉีเจีย (4,000 -3,000 ปีก่อนคริสตกาล) มีโครงกระดูก 3 โครง เป็นชายโครงหนึ่ง หญิงสองโครง มีเครื่องถ้วยชามและลูกปัดอยู่ด้วย
วัฒนธรรมนี้อาจารย์หลี่ฮั้วอธิบายว่าเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คือกลายเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ชายมีความสำคัญ
เมื่อครั้งที่ย่ำแดนมังกรคราวที่แล้วข้าพเจ้าได้ไปดูวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่ป้านโพ ซีอาน เขาอธิบายว่าเป็นวัฒนธรรมที่ผู้หญิงมีความสำคัญ เป็นสังคมแบบดั้งเดิม ไม่มีเวลาถามรายละเอียด (อีกแล้ว)
เดินไปอีกห้องผ่านร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งป้าจันอุตส่าห์ซื้อของได้) วัฒนธรรมต่อจากนี้เรียกว่ายุคโลหะหรือสังคมทาส เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์โจว มีของที่ใช้ในพิธีบูชาบรรพบุรุษ ได้ขุดพบหอยเบี้ยที่ใช้แทนเงินอย่างที่เมืองไทยก็มี (อายุ 3,500 ปี ก็น่าจะยังเป็นสมัยหินใหม่?)
(น.133) เครื่องเคลือบในยุคแรกมีในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (1122 – 770 ปีก่อนคริสตกาล) ที่แสดงไว้เป็นหม้อสำหรับเก็บน้ำมัน ภาชนะสำริดซึ่งเป็นของที่ใช้ในพิธี ไม่ได้เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน บางทีมีชื่อคนทำสลักไว้ บางทีก็เป็นชื่อของเจ้าของ ที่สำคัญคือภาชนะที่มี 3 ขา
ของสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 220)1 มีศิลปะชิ้นเอกที่เป็นสัญลักษณ์ของมณฑลกานซู คือม้าเหยียบนกนางแอ่น พบที่อู่เว่ย เป็นเครื่องแสดงว่าวิ่งได้เร็วมาก ม้าเป็นสิ่งที่แสดงความมีพลัง เป็นเจ้าแห่งความเร็ว
สมัยก่อนมีพวกพ่อค้ามาจากประเทศทางตะวันตกมาที่จงหยวน จะต้องคิดเตรียมการว่าพาหนะใดจะใช้ขนของได้มากที่สุด (เห็นจะเป็นอูฐ) และพาหนะใดจะนำคนไปได้ไกลที่สุดคือจะต้องเร็วที่สุด ก็คือ ม้านี่เอง
ในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีผู้รุกรานมาจากทิศตะวันตก จากที่ราบสูงมองโกเลียบ่อยครั้ง จีนต้องหาทางแก้ไขโดยการหาพาหนะที่รวดเร็ว คล่องตัว เหมาะสำหรับใช้ในการรบ ก็คือม้าอีกนั่นแหละ จึงต้องไปติดต่อขอม้าจากพวกคนกลุ่มน้อยจากเมืองเฟอร์กานา (ปัจจุบันอยู่ในอูซเบกิสถาน สหภาพโซเวียต) ได้ม้า “เหงื่อเลือด” มา
เมื่อเขียนถึงตรงนี้ข้าพเจ้าขอย้อนมาพูดเรื่องม้าอีกสักครั้ง (ต่อไปอาจจะพูดอีกหลายครั้งเมื่อมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงคือไปคุยกับใครมาอีก) ข้าพเจ้าอ่านหนังสือกี่เล่ม ๆ ก็ไม่ค่อยตรงกัน ตามความเข้าใจว่าม้าที่ฮั่นอู่ตี้ได้มา เป็นม้าจากเฟอร์กานา เป็นม้าที่มีพลัง และความรวดเร็วเรียกว่า ม้าเหงื่อเลือด
1 กล่าวโดยละเอียดราชวงศ์ฮั่นแบ่งเป็นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ปีก่อนคริสต์กาล - ค.ศ. 8) หวังหมางยึดอำนาจ ตั้งราชวงศ์ซิน ค.ศ. 8 - 23 ต่อด้วยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25 -220)
(น.134) รูป 93. พิพิธภัณฑ์นี้มีศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ จากหลายสมัย จัดเรียงตามลำดับเวลา
Art objects in the museum are chronologically arranged.
(น.134) (ฮั่นเสว) ในเรื่องมังกรหยกว่าเป็นม้าที่ก๊วยเจ๋งใช้นั่นแหละ แต่มีนักวิชาการภายหลังตีความว่าที่ม้ามีเหงื่อเป็นเลือดไม่ได้เป็นพันธุ์พิเศษ แต่เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรีย ตัวอย่างของม้าชนิดนี้คือม้าที่ขุดพบที่อู่เว่ยที่เรากำลังดูอยู่
ม้าชนิดที่ 2 คือม้าอูซุน มาจากทุ่งหญ้าแถบลุ่มแม่น้ำอีลี่ คือ ม้าที่เหยียบฉยุงหนู
ม้าชนิดที่ 3 ม้าเหอชูว ของจิ๋นซีฮ่องเต้ เดิมมาจากทุ่งหญ้าในกานซู ชิงไห่ และเสฉวน
(น.135) คุยไปคุยมาถึงได้ทราบว่าม้าสวรรค์ที่เรากำลังจ้องอยู่เป็นของปลอม ของจริงนั้นคนอธิบายคนหนึ่งบอกว่า ของจริงอยู่ในห้องเก็บของเอามาโชว์ไม่ได้ ส่วนอีกคนบอกว่า
ของจริงเอาไปแสดงต่างประเทศ เท่าที่ทราบเขาเอาไปแสดงต่างประเทศบ่อย ๆ จริง ๆ ก็นับว่าแปลก เพราะทั่วไปเขาจะเก็บเอาของจริงไว้ที่บ้านและเอาของปลอมไปแสดงกัน ข้าพเจ้าเคยได้เห็นของจริงโดยบังเอิญที่
Royal Academy ที่ลอนดอน หลังจากไปราชการงานพระบรมศพพระเจ้ากุสตาฟ อดอล์ฟ แห่งสวีเดน ก่อนกลับแวะค้างลอนดอนคืนหนึ่ง ได้ทราบจากเจ้าหญิงอเล็กซานดร้าว่ามีนิทรรศการศิลปะจีน ข้าพเจ้าอยากดู
แต่คิดว่าคงไม่มีโอกาสเพราะต้องกลับแล้ว ท่านอุตส่าห์จัดให้เข้าได้ก่อนเปิดงาน ขณะนั้นถือว่าได้ดูของแปลกเพราะ พ.ศ. 2516 จีนและไทยยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง ของอื่นนอกจากม้าที่ข้าพเจ้าเห็นมีรูปตุ๊กตาแกะสลักไม้
เหรียญเงินพบที่เมืองซีอาน เมืองซีอานนี้ (เราไม่ได้ไป) เป็นเมืองสำคัญของเส้นทางค้าแพรไหมเมืองหนึ่งก่อนถึงตุนหวง เคยเป็นทางแยกของเส้นทางค้าแพรไหมสายที่จะขึ้นไปฮามี ทู่หลู่ฟัน (ใต้เทียนซาน) กับสายคุนลุ้นที่จะไปเหอเถียน แล้วไปบรรจบที่ข่าชือหรือกาชการ์
มีผ้าไหมพิมพ์ลวดลาย เครื่องมือทำนา
ของที่พบในสุสานที่อู่เว่ยมีเครื่องดินเผาเคลือบเป็นรูปบ้าน ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่ามีประโยชน์มาก ทำให้เราทราบว่าบ้านคนจีนสมัยฮั่นมีลักษณะอย่างไร รูปฉางข้าว สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ
สิ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์นี้มีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งคือตัวหนังสือที่เขียนบนติ้วไม้ผูกเข้าด้วยกัน มีเป็นจำนวนมาก เขาอธิบายว่าการผูกติ้วไม้เข้าด้วยกันเป็นต้นกำเนิดของคำว่าเช่อ ซึ่งแปลว่าเล่ม หนังสือไม้เหล่านี้พบมากใน
(น.136) กานซูตะวันตกเฉียงเหนือ บันทึกประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น รวมทั้งกิจการทางทหารด้วย บางส่วนเป็นตำรายา
ของที่แสดงเอาไว้ว่าเป็นของ สมัยราชวงศ์ฮั่น มีอีกหลายอย่าง เช่น กับดักสัตว์ หญ้าแห้งที่ใช้จุดเป็นสัญญาณเตือนภัย
หลังจากสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220 – 265) ได้พบอิฐเขียนสีสมัยราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจโฉ) ตั้งเมืองหลวงอยู่ลั่วหยาง (ค.ศ. 220 – 265) และราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317
(ซึ่งรวบรวมประเทศไว้ได้ราว 50 ปี) ช่วงนี้พบอิฐเขียนสีจากเจียยู่กวน (ที่แสดงไว้เป็นของทำจำลอง) อิฐพวกนี้แสดงชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น เช่น การล่าสัตว์ ห่อกองฟาง การเลี้ยงสัตว์ ไถนา หาบน้ำ เป็นต้น
หลังจากนั้นเป็น สมัยราชวงศ์ใต้และเหนือ (ค.ศ. 317 – 589) คือ สมัยแตกแยกทางการเมือง มีราชวงศ์ต่าง ๆ ทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้หลายราชวงศ์ และมีแคว้นต่าง ๆ ของอนารยชน 5 เผ่าอีกถึง 16 แคว้น
ประวัติศาสตร์ตอนนี้ยุ่งมาก ข้าพเจ้าจะขอไม่กล่าวในตอนนี้ ขอกล่าวเพียงว่าของต่าง ๆ ที่พิพิธภัณฑ์แสดงไว้เป็นพุทธศิลป์ที่มีในช่วงเวลานี้
เช่นของที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เว่ยภาคเหนือ (ค.ศ. 386 – 534) ราชวงศ์โจวภาคเหนือ (ค.ศ. 557 – 581) เป็นต้น เขาทำแผนที่แสดงที่ตั้งของถ้ำต่าง ๆ ที่มีภาพเขียนหรือภาพสลักในพุทธศาสนา
ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ซึ่งยึดอำนาจจากราชวงศ์โจวภาคเหนือ และราชวงศ์ฉินในภาคใต้ได้ ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907)
แสดงหีบใส่พระธาตุซึ่งมี 3 ชั้น พระพุทธรูปสมัยสุยและสมัยถังหน้าตาเหมือนคนจีน (แบบอ้วน ๆ ) ส่วนพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์ฮั่นยังหน้าตามีเค้าอินเดีย
(น.137) รูป 94. หนังสือเดินทาง
Passport.
รูป 95. เสื้อเกราะสมัยราชวงศ์ถัง
Armour, Tang period.
(น.137) เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์ถังเป็นเคลือบ 3 สี รูปทวารบาลเป็นสัตว์ประหลาดสำหรับป้องกันภูตผีปิศาจ
สมัยราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960 – 1297 แสดงเครื่องเคลือบต่าง ๆ
สมัยราชวงศ์เซี่ยตะวันตก (ค.ศ. 1038 – 1227 เป็นเผ่าทังกุต) เป็นราชวงศ์อยู่ทางเหนือของจีน ร่วมสมัยกับราชวงศ์ซ่ง
(น.138) ราชวงศ์จิน (เผ่า Jurchen เป็นบรรพบุรุษของพวกแมนจู ค.ศ. 1115 – 1234) คนที่ดูมังกรหยก (อีกแล้ว) ควรจะรู้จักพวกนี้ ที่เราเรียกว่าพวกกิมก๊ก
แต่งชุดแดง ๆ ที่เป็นคนตีราชวงศ์ซ่ง ได้ครองดินแดนภาคเหนือทั้งหมด ใน ค.ศ. 1126 แต่ตอนหลังก็ถูกพวกราชวงศ์หยวน (มองโกล) โจมตียึดดินแดนไป
สมัยราชวงศ์หยวน (หงวน) ตั้งอาณาจักรใน ค.ศ. 1206 ตั้งนามราชวงศ์ว่าหยวนในค.ศ. 1271 พิพิธภัณฑ์ตั้งเครื่องถ้วยที่พบในกานซู เคลือบสีแดง เครื่องเคลือบทำเป็นบ้านไม้ในสมัยราชวงศ์หยวน แสดงสถาปัตยกรรมสมัยนั้น ที่ประตูมีคนรับใช้ยืนอยู่ เจ้าของบ้านเป็นหญิงชรานั่งอยู่ที่หน้าต่าง
สมัยราชวงศ์หมิง (เหม็ง) ค.ศ. 1368 – 1644 มีเสื้อเกราะเหล็กที่หน้าอกมีรอยทะลุ เป็นอันว่าเจ้าของถูกยิงตายแน่ ๆ ปืนใหญ่ ดาบ แผ่นกระดาษซึ่งครูกู้อธิบายว่าเป็นหนังสือเดินทางสมัยก่อน
สมัยราชวงศ์ชิง (เช็ง) ค.ศ. 1644 (ปีที่เข้าปักกิ่งทางด่านซ่านไห่กวน) – 1911 แสดงแผนที่เมืองหลานโจวเมื่อ 200 ปีมาแล้ว สมัยนั้นเรียกชื่อว่าเมืองจินเฉิง
มีศิลาจารึกที่กำแพงเมือง และแสดงภาพวาดของศิลปินท้องถิ่นในสมัยราชวงศ์ชิง
ข้าพเจ้าถามว่าปัจจุบันมีการขุดค้นทางโบราณคดีบ้างไหม เขาตอบว่ารัฐบาลไม่สนับสนุน เพราะเทคนิคการรักษาของยังไม่ดีพอ
จากแผนกโบราณคดี เราดูต่อที่แผนกศิลปะพื้นบ้าน คนอธิบายเขาเอาบทความภาษาจีนยาวเหยียดส่งมาให้ข้าพเจ้า อวดว่านิทรรศการนี้เคย
(น.139) รูป 96. ส่วนที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์ แสดงศิลปะพื้นบ้านของชนเผ่าต่าง ๆ ในกานซู
Second section of the museum: exhibition of folk arts of various minority groups of Gansu.
(น.139)ร่วมงานศิลปหัตถกรรมแห่งชาติ ตราของงานเป็นลายกระต่าย 3 ตัวที่มีในตุนหวง เขาเทียบกับศิลปะโบราณ หัตถกรรม ประเพณีนิยม และทำขึ้นใหม่ เช่น การตัดกระดาษ การปักลาย เครื่องปั้นดินเผา เทียบกับศิลปะที่เมืองเทียนสุ่ย ที่เมืองต้าตี้วัน
ส่วนที่ 2 เป็นประเพณีของชาวบ้าน มีกระดาษตัด สำหรับปิดตามประตูสำหรับงานตรุษจีน ตะเกียง พวกของต่าง ๆ สำหรับแขวนทำด้วย
Next >>