<< Back
" มุ่งไกลในรอยทราย วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2533 "
(น.153)
เส้นเหนือจากซีอานไปตุนหวง โหลวหลาน คอร์ลา คูเชอ อักซู ข่าชือ เฟอร์กานา ซามาร์คาน แล้วต่อไปอัฟกานิสถาน และอิหร่าน
เส้นใต้จากตุนหวง เฉี่ยม่อ เหอเถียน ยาร์คาน บรรจบกับทางแรกที่ข่าชือ หรือจะไปต่อทาชเคอร์คานก็ได้ แล้วไปต่อแบกเทรียในอัฟกานิสถานปัจจุบัน ออกอิหร่านไปริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ยังมีเส้นทางอื่นอีกหลายเส้น แต่พูดเฉพาะเส้นทางหลัก ๆ ที่รู้จักกันดี พอถึงสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง เส้นทางหลักจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อาจจะเป็นเพราะมีการติดต่อกันมากขึ้น สมัยราชวงศ์ถังอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอารยธรรมจีนสมัยโบราณ คนจึงรู้จักกันมาก เมื่อพูดถึงเส้นทางแพรไหมก็มักจะคิดถึงเส้นทางสมัยราชวงศ์ถัง
ในสมัยราชวงศ์ใต้และเหนือซึ่งเป็นยุคที่แตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าหลายแคว้นหลายราชวงศ์ ก่อนที่จะเป็นปึกแผ่นในราชวงศ์สุย หลวงจีนฟาเซียนได้เดินทางไปตะวันตกเพื่อสืบหาพระพุทธศาสนาในอินเดีย ออกจากจีนใน ค.ศ. 399 ตามทางสายใต้ ข้ามภูเขาฮินดูกูชไปอินเดีย และเดินทางกลับจีนทางทะเลใน ค.ศ. 414
สมัยราชวงศ์ถังคนที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่พระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางไปอินเดียใน ค.ศ. 629 ท่านผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะศึกษาให้ถ่องแท้ก็ต้องอ่านคัมภีร์เดิม ประเทศอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดพุทธศาสนา ฉะนั้นต้องไปให้ถึงที่อินเดียจึงจะแก้ข้อสงสัยในเรื่องคัมภีร์พุทธศาสนาได้
ในช่วงนั้นทางการกำหนดว่าใครจะออกนอกประเทศจะต้องขออนุญาตคณะของพระถังซำจั๋ง (มีหลายองค์) ขอพระราชทานพระบรมราชา
(น.154) นุญาตจากพระเจ้าถังไท่จง (มีพระนามเดิมว่าหลี่ซื่อหมิ่น) แต่พระเจ้าถังไท่จงไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าในช่วงนั้นเพิ่งจะตั้งราชวงศ์ยังไม่มีความมั่นคง พระสงฆ์องค์อื่นก็เลิกล้มความตั้งใจ เหลือแต่พระถังซำจั๋งเท่านั้นที่ยังมีความคิดอยู่
ใช้เวลาที่คอยเรียนภาษาอินเดีย ขณะนั้นที่ฉางอานเกิดทุพภิกขภัย จักรพรรดิมีพระราชบัญชาให้ประชาชนไปที่อื่นที่อุดมสมบูรณ์ พระถังซำจั๋งเลยถือโอกาสเดินทางไปตะวันตก
ท่านเดินทางผ่านหลานโจวไปถึง เหลียงโจว (ปัจจุบันเรียกอู่เว่ย) พวกขุนนางที่อยู่ที่นั่นจะบังคับให้กลับไป ท่านก็ไม่ยอม จึงหนีออกไป ขุนนางให้นักรบไล่ตาม พอดีพระสงฆ์ท้องถิ่นที่เลื่อมใสท่านจึงส่งลูกศิษย์ตามไปส่งอย่างลับ ๆ
คณะสงฆ์นอนกลางวันเดินทางกลางคืน เพราะไม่กล้าปรากฏตัว จนถึงกานโจว (จางเย่) ข้าราชการที่นั่นเป็นพุทธศาสนิกชนจึงอำนวยความสะดวกถวาย ในการเดินทางผ่านหอไฟรักษาการณ์ต่าง ๆ (นอกเขตตุนหวง)
ต้องเสี่ยงกับการที่ขุนนางประจำหอจะไม่เห็นด้วยกับการเดินทาง แต่โชคดีที่ทุกคนเลื่อมใสท่าน จากนั้นรอนแรมไปในทะเลทรายที่มีแต่หัวกะโหลกคนตายกับขี้ม้าเป็นเครื่องบอกทางสู่ทิศตะวันตก เดินทางไปร้อยลี้ไม่พบน้ำเป็นเวลา 4 คืน 5 วัน
เดินทางไปร้อยลี้ (แถว ๆ ฮามี) กลางวันลมร้อน พัดทรายเข้าตา กลางคืนมีแต่แสงเรืองแห่งฟอสฟอรัส ในที่สุดก็ล้มลงทั้งคนทั้งม้า จนมีลมพัดจึงฟื้น ทันใดนั้นม้าพาเดินไปที่บ่อน้ำ ท่านได้ดื่มน้ำบรรเทาความกระหายและเติมใส่ถุงหนัง
เดินทางอีก 2 วันจึงผ่านทะเลทรายไปเมืองอีอู่หรือฮามี กษัตริย์เมืองนี้ปฏิบัติต่อพระถังซำจั๋งเป็นอย่างดี ท่านจึงพักอยู่ 10 วัน
และเดินทางต่อไปถึงเมืองเกาชาง (เป็นเมืองโบราณ ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองทู่หลู่ฟัน) กษัตริย์เมืองเกาชางเคารพท่านอย่างจริงใจ จึงไม่อยากให้ท่านจากไป ท่านรู้สึกเกรงใจแต่ก็จำเป็นจะต้องไปให้บรรลุจุดหมายจึงใช้วิธีอดข้าว กษัตริย์เกาชางเห็นความเด็ดเดี่ยวจึงยอมให้ท่านไป โดย
(น.155) ขอให้อยู่สอนคัมภีร์อีกสักเดือน เมื่อถึงที่หมายกลับมาแล้วขอให้พักที่เกาชางสักสามปี พระถังซำจั๋งก็รับคำ
จากเกาชางเดินทางไปทางตะวันตกตามเส้นทางแพรไหมเส้นเหนือถึงเมืองคูเชอ จนถึงเขตที่ราบสูงปามีร์ เข้าทัชเคนท์ ข้ามไปอินเดีย ขากลับ (ค.ศ. 645) ไม่ได้แวะเกาชางเพราะได้ตกเป็นของทางราชการจีนแล้ว จึงไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา (กลับทางเส้นทางสายใต้ กาชการ์ ยาร์คาน เหอเถียน)
เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในการสนทนากับนักวิชาการ และไม่ค่อยเข้ากับเรื่องตอนนี้สักเท่าไรนัก แต่ข้าพเจ้าอยากใส่ลงไปเพราะข้าพเจ้าชอบพระถังซำจั๋งมาก จริง ๆ แล้วเรื่องที่ข้าพเจ้าทราบมามีรายละเอียดยาวกว่านี้อีก แต่ว่าเกรงจะนอกเรื่องนานเกินไป ถ้าใครสนใจเรื่องพระถังซำจั๋งก็ขอเชิญอ่านไซอิ๋ว ซึ่งจะพูดถึงเมืองต่าง ๆ ที่พระถังซำจั๋งเดินทางไปอย่างละเอียด (อาจารย์สารสินแนะนำ) ข้าพเจ้าอ่านตั้งแต่อายุ 7 – 8 ขวบ ลืมไปหมดแล้ว
เส้นทางแพรไหมสมัยถังนี้เปลี่ยนแปลงไป เส้นทางสายทุ่งหญ้าหายไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกฉยุงหนูย้ายถิ่นไป เส้นทางเดินทางนั้นจะต้องมีการค้าขายตลอดทาง ฉยุงหนูเป็นผู้ร้าย แต่จะรบกันตลอดก็เป็นไปไม่ได้ คงต้องค้าขายกันไปบ้าง นี่ก็เป็นทฤษฎีหนึ่ง หรือว่าเส้นทางอื่นสะดวกกว่า
เส้นทางแพรไหมสายสำคัญในสมัยราชวงศ์ถังมี 3 ทาง ยึดตามภูเขาสำคัญคือ
1. เทียนซานเป่ยลู่ คือเส้นทางเหนือของเทือกเขาเทียนซาน ผ่านเมืองสำคัญคือเมื่อไปถึงอานซีแล้วจะแยกขึ้นทางฮามี อู่หลู่มู่ฉีหรืออุรุมชีเข้ารัสเซียทางทัชเคนท์ ซามาร์คาน
(น.156)
2. เทียนซานหนานลู่ คือเส้นทางใต้ของเทือกเขาเทียนซาน ถึงอานซีแล้วจะไปต่อที่ทู่หลู่ฟัน คอร์ลา (คู่เอ๋อเล่อ) คูเชอ ไป้เฉิง อาเคอซู (อักซู) ปาฉู่ ข่าชือ ต่อไปเฟอร์กานา ซามาร์คาน บรรจบกับทางแรก
3. คุนลุ้นเป่ยลู่ หรือจะเรียกว่ากู่หนานเต้า คือเส้นทางเหนือภูเขาคุนลุ้น คือจากอานซีไปตุนหวง โหลวหลาน ทะเลสาบลบนอร์ หมี่หลาน รั่วเจียง เฉี่ยม่อ (ชาร์ชาน) เหอเถียน ยาร์คาน แล้วบรรจบกับสายที่สองที่เมืองข่าชือหรือกาชการ์
ยังมีเส้นทางอื่นอีกแล้วแต่จะลัดไป เมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่มีร่องรอยทางโบราณคดีเหลืออยู่ แต่ละเมืองมีชื่อกันคนละหลาย ๆ ชื่อ ได้แก่ชื่อ สมัยใหม่ที่จีนเรียก ชื่อที่ฝรั่งเรียกตามภาษาคนกลุ่มน้อย
เช่น ภาษาเตอร์กหรือมองโกล ข้าพเจ้าจะพยายามรวบรวมชื่อพวกนี้ใส่ไว้ในภาคผนวก ตอนนี้ขอผ่านไปก่อน
เขียนของตัวเองจนลืมเรื่องนักวิชาการ ข้าพเจ้าถามเขาเรื่องรายละเอียดของเส้นทางต่าง ๆ และถามทรรศนะบางประการ เช่นว่าแต่แรกการติดต่อดูจะเป็นไปเพื่อความมั่นคง
แต่เปลี่ยนมาเป็นการติดต่อเพื่อเศรษฐกิจเมื่อไร เขาตอบว่าคิดว่าพร้อม ๆ กัน เพราะการแลกของขวัญเมื่อไปติดต่อทางการเมืองก็เป็นรูปแบบการค้าขายอย่างหนึ่งในสมัยโบราณ อย่างที่เรารู้จักกันในระยะต่อมาว่าเป็นระบบบรรณาการ (จิ้มก้อง)
ทางด้านเศรษฐกิจ พอจะสรุปเป็นสถิติได้ไหมว่าจีนได้ประโยชน์แค่ไหน
เขาตอบว่าไม่ได้สรุปเป็นตัวเลข แต่เห็นว่าวัฒนธรรมแพรไหมของจีนไปมีอิทธิพลทางตะวันตกมากที่สุด ทุกคนต้องการ อิหร่านโรมันรบกันธง
(น.157) ประจำทัพก็ใช้ไหมจีน ซีซาร์ไปดูละครก็สวมเสื้อแพรจีน ซึ่งถือเป็นพิธีการสูงสุด พอจะมีรายได้จากการจำหน่ายไหมดิบและแพร แต่พ่อค้าคนกลางเปอร์เซียผูกขาด ศูนย์กลางการค้าใหญ่อยู่ที่จางเย่ อู่เว่ย
ซึ่งในสมัยราชวงศ์สุยจักรพรรดิสุยหยางตี้จัดนิทรรศการค้าไหม (ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะเป็นทำนองกรมพาณิชย์สัมพันธ์จัด Trade Fair) ตุนหวง ทู่หลู่ฟัน ก็เป็นตลาดนัด
นอกจากเรื่องไหมวัฒนธรรมตะวันตกก็เข้าสู่ประเทศจีน เช่น เครื่องแก้ว เครื่องกระจก พืชพันธุ์ธัญญาหารเช่น องุ่น (กลายเป็นของท้องถิ่น) หญ้าอัลฟาฟา ซึ่งเป็นพืชอาหารสัตว์ (ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ
เนื่องจากเศรษฐกิจจีนช่วงนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร และใช้ในการคมนาคม การสงคราม คนที่เคยทำกิจการเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ก็ต้องทราบว่าเรื่องหญ้า ทำแปลงหญ้านี้สำคัญเพียงใด) เครื่องเทศ พรม
นอกจากจีนจะส่งออกผ้าไหมไปตะวันออกแล้ว ยังส่งเครื่องเคลือบ ใบชา เหล็ก เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การทำกระดาษ
เมื่อถามถึงสิ่งที่เขาคิดว่าจีนได้ประโยชน์ที่สุดจากการติดต่อกับตะวันตก เขาตอบว่า พุทธศาสนา การดนตรี การเขียนภาพ (เรื่องพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่อาจารย์ต้วนสนใจ ท่านเลยกล่าวมาก) จีนได้จากพุทธศาสนาทั้งในด้านปรัชญา
ศิลปะ วรรณกรรม การแพทย์ ดาราศาสตร์ การแต่งกาย เครื่องดนตรี พระถังซำจั๋งมีบทบาทมาก ท่านนำคัมภีร์มาแปลโดยยึดหลักการเคารพต่อความหมายของคำเดิม อธิบายให้ถูกต้อง และการใช้ภาษาที่ดี การแปลใช้วิธีอ่านภาษาสันสกฤต พูดเป็นภาษาจีน มีข้าราชการชั้นสูงช่วยขัดเกลาภาษา
เส้นทางแพรไหมทางบกเริ่มเสื่อมเมื่อใด
(น.158) รูป 104. ตอนค่ำผู้ว่าราชการมณฑลกานซูเลี้ยงอาหาร
Dinner hosted by the governor of Gansu.
(น.158) เขาตอบว่ายุค 5 ราชวงศ์ของจีน (ค.ศ. 907 – 960) การค้าทะเลเจริญ เพราะการนั่งเรือไปได้เร็วกว่า เศรษฐกิจจีนจึงขยายตัวลงทางใต้ ทางทะเลทรายเดินทางลำบาก อย่างไรก็ตามการเดินทางทางบกก็ยังคงมีในเส้นทางระยะสั้น ๆ เส้นทางยาวไม่มี
ประมาณบ่ายห้าโมงก็เลิกสนทนา มาเตรียมตัวสำหรับงานเลี้ยงตอนกลางคืน เวลาหกโมงครึ่งผู้ว่าราชการมณฑลมารับ เชิญไปนั่งที่ห้องรับแขก เขาเล่าถึงเรื่องของมณฑลว่ามีการพัฒนาอย่างไรในด้านการคมนาคม
มีการเชื่อมทางรถไฟกับทางรถไฟของโซเวียต ถือว่าเป็นเส้นทางสายเหล็ก เพื่อการสัมพันธ์กับยุโรป เขาให้หนังสือที่คิดว่าข้าพเจ้าจะใช้เป็นประโยชน์ในการหาข้อมูลได้
ไปที่ห้องอาหาร ก่อนอาหารท่านผู้ว่าฯ กล่าวต้อนรับก่อน ให้ข้าพเจ้ากล่าวตอบ
(น.159) รูป 105. ตอนค่ำผู้ว่าราชการมณฑลกานซูเลี้ยงอาหาร
Dinner hosted by the governor of Gansu.
(น.159) ก่อนจะพูดถึงการสนทนาในโต๊ะอาหาร จะขอกล่าวถึงอาหารว่ามีหลายอย่าง จัดออร์เดิร์ฟเป็นรูปนกยูง จานหนึ่งมีเนื้อตัวจามรี (Yak) ซึ่งจีนเรียกเหมาหนิว – วัวขน แป้งข้าวสาลีละลายน้ำ ตะพาบ ขาไก่ เนื้อแกะเสียบไม้ปิ้ง หมูหัน ถั่วต้ม ซุปเห็ด ผลไม้
เครื่องดื่มเป็นชาซานเผ้าของชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิม (หุย) ใส่ใบชา น้ำตาลกรวด แอปปริคอต และลำไยแห้ง ต้องใส่ในถ้วยชาพิเศษของเขามีฝาปิด มีจานรองถ้วย วิธีจะรับประทานที่ถูกต้องจะต้องใช้มือข้างเดียว
(น.160) ถือดื่มโดยไม่เปิดฝา ถ้าจะรับประทานหลาย ๆ ถ้วยก็ใช้วิธีเติมน้ำร้อนลงไปอย่างเดียว ไม่ต้องเติมอะไรอีก
ผู้ว่าราชการเล่าเรื่องคนกลุ่มน้อย ข้าพเจ้าถามถึงการเกษตรของกานซู (เพราะเห็นว่าแห้งแล้งมาก) ผู้ว่าฯ เล่าว่าทางใต้ของมณฑลปลูกชา เลี้ยงไหมได้ ทางเหนือเลี้ยงสัตว์ (เนื้อวัวจามรี) ปลูกข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ข้าวเกาเหลียง เป็นมณฑล 1 ใน 5 ของจีนซึ่งเป็นที่เลี้ยงสัตว์อย่างมาก
ทรัพยากรมีเหมืองแร่นิกเกิลใหญ่ที่สุดของจีน เหมืองแร่ดีบุกใหญ่แห่งหนึ่ง นอกนั้นมีทอง เงิน แอนดิโมนี ทังสเตน ฉะนั้นจึงมีฐานทางอุตสาหกรรมโลหะ ที่เจียยู่กวนมีโรงถลุงเหล็กบริษัทจิ่วฉวนซึ่งใหญ่ที่สุดของจีน มีถ่านหิน พลังน้ำอุดมสมบูรณ์มาก
เพราะเป็นส่วนต้นน้ำหวงเหอ เป็นแหล่งพลังงาน ได้สร้างสถานีกำเนิดไฟฟ้า 8 แห่ง มีเหมืองถ่านหินและสร้างโรงไฟฟ้าใกล้เหมืองด้วย การมีพลังงานมากเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก แต่ปัญหาสำคัญคือการเกษตร ในกานซูได้เปรียบเพราะมีแดดดี
ความแตกต่างของอุณหภูมิสำหรับพืชผล เสียที่ขาดน้ำ ฉะนั้นจึงเน้นเรื่องการชลประทานเช่นที่เจียยู่กวน ในเขตฉนวนเหอซีเป็นเขตที่มีน้ำน้อยมาก ต้องอาศัยน้ำจากหิมะละลายจากเขาฉีเหลียนลงแม่น้ำ ทำเขื่อนเลี้ยงไร่นา บริเวณที่ราบก็ทำการเกษตรได้เลย
แต่ในเขตภูเขาก็ต้องส่งเสริมการทำนาขั้นบันได ซึ่งจะประหยัดน้ำได้ดีสำหรับที่มีฝนน้อยต้องใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยแอมโมเนียเป็นหลัก ปุ๋ยฟอสเฟตผลิตในมณฑล ต้องผสมพันธุ์พืชให้ทนสภาพภูมิอากาศ
สรุปว่าพัฒนาการเกษตรได้โดย
1. จัดการชลประทาน
2. นาขั้นบันได
(น.161) รูป 106. ระบำที่ประดิษฐ์ท่าเลียนแบบภาพเขียนในถ้ำตุนหวง
Dance: reconstructed from mural painting in Dunhuang caves.
(น.161)
3. ปุ๋ยเคมี
4. เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืช
อาหารการกินในมณฑลยังต้องอาศัยของจากรัฐบาลกลาง หวังว่าภายใน 5 ปีจะผลิตข้าวเลี้ยงตัวได้ (ทำเส้นหมี่ หม่านโถว โรตี เกี๊ยว) คนกลุ่มน้อยจะรับประทานแตกต่างไปจากคนอื่น
(น.162) ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ นั้นเป็นวิศวกร ผู้ว่าฯ เล่าว่าเมื่อจบการศึกษาก็มาทำงานที่มณฑลนี้ ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไปศึกษาต่อจนจบวิศวะเครื่องกลที่โซเวียต แล้วมาทำงานที่โรงงานปิโตรเคมีตั้งแต่เป็นรองหัวหน้าวิศวกร
จนเป็นรองประธานสมาพันธ์ปิโตรเลียมของมณฑล และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการมณฑลกานซู เขาบอกว่าเขายังชอบทำงานเทคนิคมากกว่า เมื่อถูกถามซ้ำว่าในการทำงานอะไรเป็นปัญหามากที่สุด เขาว่าเรื่องเกษตรนี่แหละ
และเป็นเรื่องที่เขาต้องมาเรียนรู้ใหม่ด้วย เรื่องงานวิศวกรรมไม่มีปัญหา ทางรัฐบาลกลางบรรจุวิศวกรมาให้มาก รองผู้ว่าฯ ก็เป็นวิศวกรเหมืองแร่ ทำงานเกี่ยวกับโรงถลุงเหล็กมาก่อน
หลังอาหารพักเข้าห้องน้ำห้องท่ากันครู่หนึ่ง ไปที่โรงละครซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน (อีกอาคาร) เห็นมีเด็กนักเรียนประมาณว่าเป็นเด็กชั้นประถมศึกษานั่งอยู่แล้ว การแสดงประกอบด้วยนาฏศิลป์เลียนแบบภาพเขียนในถ้ำตุนหวง
การเดี่ยวเครื่องดนตรี เออร์หู (ซอ) กับขิม เพลงแสงจันทร์ส่องทะเลสาบ ข้าพเจ้าชอบรายการนี้มากที่สุด เล่นได้ไพเราะมาก เดี่ยวเจ็งเพลงฤดูชุนเทียนมาสู่ภูเขาหิมะ เดี่ยวปี่สั่วน่ากับแคนจีนเพลงเก็บดอกฝ้าย ก็สนุกดี
ผู้ที่แสดงนาฏศิลป์เป็นนักเรียนโรงเรียนศิลปะการแสดงแห่งกานซู อายุประมาณ 13 – 14 ปี ส่วนผู้แสดงดนตรีเป็นครูทั้งนั้น ไม่ทันได้ซักถามเกี่ยวกับเรื่องหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนนี้ เมื่อแสดงจบถ่ายรูปร่วมกับนักแสดง
เป็นอันว่าจบรายการสำหรับวันนี้ ผู้ว่าราชการมณฑล เขาขอส่งเราที่นี่เลย
(น.163) รูป 107. เมื่อจบการแสดง ถ่ายภาพร่วมกับนักแสดงซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนนาฏศิลป์กานซู
After the performance, posing for pictures with the performers who are students from the Gansu dance school.