Please wait...

<< Back

" มุ่งไกลในรอยทราย วันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2533 "


(น.174) รูป 114. ริมแม่น้ำหวงเหอ
The bank of the Huang He river.

(น.174) บริเวณนี้เป็นที่ให้เด็กนักเรียนมาตั้งค่ายพักแรมในฤดูร้อน กลางแม่น้ำหวงเหอนี้มีดอนซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกนก ออกนอกเมืองไป สองข้างทางเป็นภูเขาที่ใช้ดินสีแดงมาทำอิฐและกระเบื้องไปเสียครึ่งทาง ทำมากมายเป็นล่ำเป็นสัน ไม่เคยเห็นบ้านเรามีมากแค่นี้ พอพ้นจากเขตที่ทำอิฐและกระเบื้อง เป็นเขตทำการเกษตร เวลา

(น.175) นี้ชาวนาเริ่มไถนา (ได้ใช้ลาเทียมไถ) บริเวณใกล้ ๆ สนามบิน ดินเป็นสีขาว ไม่มีการทำการเกษตร เมื่อถึงสนามบินข้าพเจ้าถามรองผู้ว่าราชการมณฑลว่าที่ตรงนั้นเป็นที่อะไร เขาบอกว่าเป็นดินที่มีปัญหาดินเค็ม มีที่แบบนี้เป็นบริเวณค่อนข้างกว้าง เพาะปลูกอะไรไม่ได้ รัฐบาลกำลังคิดแก้ไขโดยอาศัยน้ำชลประทานกดเอาไว้ ลาทุก ๆ คน ข้าพเจ้าให้ของที่ระลึกแก่คนขับรถ เปียนเหมยช่วยถ่ายรูปด้วยกล้องของคนขับรถ แต่ฟิล์มหมดพอดี เครื่องบินออกเวลา 16.00 น. ใช้เวลาบินประมาณชั่วโมง 15 นาที มองวิวทุ่งนาและภูเขาในช่วงฤดูนี้ (ฤดูอื่นข้าพเจ้าไม่ทราบ) โกร๋น ไม่มีสีเขียวเลย สักพักเห็นมีที่ดูเหมือนว่าปลูกอะไร รูปร่างเป็นนาสี่เหลี่ยมธรรมดาส่วนหนึ่ง แต่มีอยู่ 2 แผ่น มีรูปร่างกลม ๆ คล้าย ๆ กับบริเวณที่ใช้เครื่องฉีดน้ำ (Sprinkler) ขนาดใหญ่ ต่อจากนั้นก็เป็นทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา นึกไม่ออกเลยว่าสมัยก่อนเขาจะเดินทางกันอย่างไร นาน ๆ จะมีร่องน้ำเสียที ดูได้แค่นี้เครื่องบินก็บินเข้าเมฆไป วันนี้ทางเครื่องบินแจกลูกเกดกับกระเป๋าอีกใบหนึ่ง ลูกเกดอร่อยมากไม่เหมือนกับที่เคยรับประทาน เป็นสีออกเขียว ไม่ดำ ที่สนามบินเจียยู่กวนอุณหภูมิ 2 ซํ. รองนายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์คอยต้อนรับ ข้าพเจ้านั่งรถไปกับคุณเฉิง เห็นโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่ คุณเฉิงบอกว่ามีเหมืองด้วย สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1958 ในทะเลทรายโกบีมีมัมมี่สมัยราชวงศ์ฮั่น และมีสุสานจำนวนมาก ตอนที่สร้างสนามบินตุนหวงขุดไปเจอสิบกว่าแห่ง องค์การอนุรักษ์วัตถุโบราณไม่ให้สร้างสนามบินใหญ่ที่ตุนหวง

(น.176) เพราะเกรงจะกระทบกระเทือนถ้ำ ถนนที่มีอยู่ก็ไม่พอเพียงในการคมนาคม เพราะเป็นถนนที่ใช้ทั้งกานซูและซินเกียง สินค้าของกานซูบางทีก็ลำเลียงออกได้ไม่ทัน ทั้งกานซูและซินเกียงก็มีสินค้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ข้าพเจ้าถามถึงบริเวณที่มีรูปร่างกลมซึ่งข้าพเจ้าสังเกตเห็นจากบนเครื่องบินว่าเป็นการใช้ระบบน้ำฉีด (Sprinkler) ใช่ไหม คุณเฉิงบอกว่าใช่ ทางรัฐบาลกานซูเห็นว่าบริเวณทะเลทราย ถ้ามีน้ำก็ย่อมเพาะปลูกได้ การใช้วิธีฉีดน้ำแบบนี้จะเป็นการประหยัดน้ำไปได้ แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย เวลาในกานซูแตกต่างจากเวลาในปักกิ่งประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ทางราชการก็ต้องใช้เวลาปักกิ่ง ฉะนั้นจะมือเวลาสองทุ่มครึ่ง ไปที่โรงแรมฉางเฉิง (แปลว่ากำแพงเมืองจีน) เขาทำเป็นรูปกำแพงเมืองจีน ปักธงระหว่างช่องกำแพง เข้าไปในห้อง มีของรับประทานวางเอาไว้แยะ น้ำชา หมากฝรั่ง ถั่วพิชตาชิโอ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ที่ลองชิมดูคือเม็ดฟักทองไม่มีเปลือก ทุ่มหนึ่งลงไปรับประทานอาหารที่ห้องอาหาร รองนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าภาพ ก่อนอาหารเจ้าภาพกล่าวต้อนรับ และเล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองเจียยู่กวนโดยสังเขป ว่าเมืองนี้เป็นเมืองค่อนข้างใหม่ มีบริษัทอุตสาหกรรมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดชื่อบริษัทจิ่วฉวน ก่อนจะสร้างเป็นเมืองก็เป็นด่านสำคัญแต่โบราณในเส้นทางแพรไหม มีโบราณวัตถุมากมาย ฉะนั้นจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนมามากที่สุด 1 ใน 70 แห่งทั่วประเทศจีน รับนักท่องเที่ยวปีละประมาณสองแสนคน ประเทศและจีนมีความสัมพันธ์กันมาเป็นอย่างดี ติดต่อกันอย่างกว้างขวาง ฉะนั้นการเยือนครั้งนี้ก็จะเป็นการแสดงความเข้าใจมากยิ่งขึ้น


(น.177) รูป 115. เลี้ยงอาหารค่ำ ฉลองวันสงกรานต์ที่หนาวเย็น!
Dinner party celebrating Songkran day in cold weather!

(น.177) ข้าพเจ้ากล่าวตอบ
อาหารวันนี้มีมากมายจริง ๆ เขาบอกว่าจัดเพื่อต้อนรับ และฉลองสงกรานต์ด้วย ออร์เดิร์ฟก็มีปลา เนื้อ ไข่นกกระทา ถั่วงอก แตงกวาดอง สาหร่ายทะเลทรายโกบี อาหารหลักก็มีแถมนอกรายการอีก มีซุปเอ็นเท้าอูฐ กรุบ ๆ อร่อยดี ใส่ขิงมากจนรู้สึกว่าค่อนข้างจะเผ็ด คุณเฉิงบอกว่าซุปแบบนี้ถ้าทำไม่ดีจะเหม็น เล่ากันว่าราชวงศ์ถังนิยมกินเนื้ออูฐ โหนกอูฐก็กินได้ ซุปอูฐนี้เขาเคี่ยวตั้งแต่เมื่อวานนี้ ต่อจากนั้นก็มีไข่นกกระทา ซึ่ง

(น.178) เขาตั้งชื่อให้ว่าเงาของนกในทะเลทรายโกบี (ของนอกรายการ) เขาบอกว่าบางทีอาหารก็เหมือน ๆ กันแต่พ่อครัวก็ชอบตั้งชื่อให้น่าตื่นเต้น จนกระทั่งฟังชื่อแล้วก็ไม่ทราบว่าที่รับประทานเข้าไปเป็นอะไร เพื่อเป็นการประกอบเรื่องว่าคนจีนนิยมการตั้งชื่ออาหารให้เพราะที่ปรึกษาเช่าเล่าเรื่องประกอบว่า จักรพรรดิเจิ้งเต๋อแห่งราชวงศ์หมิงเสด็จประพาสเจียงหนานไปทรงเยี่ยมที่บ้านชาวบ้าน ได้เสวยอาหารอร่อยมาก ชาวบ้านเรียกว่ามรกตผิวหยก เมื่อกลับวังให้พ่อครัวในวังทำก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่ามันคืออะไร ในที่สุดก็ได้ทราบว่าเป็นผักปวยเล้งผัดกับเต้าหู้ ที่ปรึกษาเช่าบอกว่าคนบางคนก็ไม่ค่อยมีจินตนาการ แต่ก็ไม่อยากให้อาหารชื่อซ้ำจึงตั้งชื่ออาหารวันแรกว่าเต้าหู้ผัดปวยเล้ง วันที่สองว่าปวยเล้งผัดเต้าหู้ วันที่สามตั้งว่าเต้าหู้กับปวยเล้งผัดด้วยกัน ต่อจากนั้นมีนกกระทาทอด หมูทอด มะเขือเทศชุบไข่ชุบน้ำผึ้งทอด มีของแถมเป็นแอปเปิ้ลยัดไส้ข้าวเหนียวกับลูกเกด ขนมมือพระ เป็นแป้งใส่ไส้ถั่วแดงบด พวกขนมที่รับประทานในเทศกาลต่าง ๆ มากมาย รับประทานไม่หวาดไม่ไหว เต้าหู้ห่อ 4 ก้อนห่อด้วยเห็ด เขียนคำอวยพรให้มีความสุขความสบาย เงินทองไหลมาเทมา บอกว่าเป็นการอวยพรปีใหม่สงกรานต์ นับว่าปีนี้เป็นงานสงกรานต์ที่มีของรับประทานมากที่สุด และหนาวที่สุดในชีวิตด้วย สุดท้ายเป็นสุกี้ในหม้อร้อน เขาทำอร่อยมาก แต่ยังกินไม่ได้ครบทุกโต๊ะ เจ้าภาพลุกเสียก่อน โต๊ะท้าย ๆ จึงอด เครื่องดื่มวันนี้มีซาจี้ แต่แรกข้าพเจ้าไม่อยากดื่มเพราะคิดว่าเป็นน้ำซาสี่ แต่ภายหลังลองชิมดูจึงทราบว่าไม่ใช้ซาสี่ เป็นผลไม้พื้นเมือง อร่อยดี นายกเทศมนตรีเล่าว่านอกจากจะมีบริษัทถลุงเหล็กจิ่วฉวนแล้ว ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเบาพวกทอผ้า เคมีภัณฑ์ ข้าพเจ้าบอกว่าสนใจธาร

(น.179) น้ำแข็งปิงฉวน เขาบอกว่าต้องนั่งรถไปจากในเมือง 118 กิโลเมตร ปีนเขาอีก 4 กิโลเมตรจึงจะถึงธารน้ำแข็ง สูงถึง 4,300 เมตร สูงสุด 5,160 เมตร หนา 70 เมตร เป็นสถานที่น่าสนใจมาก แต่จะต้องเสียเวลาทั้งวันจึงจะไปได้ ที่นั่นมีดอกบัวหิมะแบบที่เราได้ยินในหนังจีน เป็นยาสมุนไพรช่วยให้เลือดลมดี ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายน บริเวณปิงฉวนนี้เป็นที่เหมาะสมสำหรับการเล่นเครื่องร่อน (Glider) ใช้เครื่องบินหรือบัลลูนมาก ข้าพเจ้าถามถึงการเพาะปลูกที่นี่ เขาว่ามีข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่ว ผัก แตง ซึ่งส่งไปขายได้มาก แตงที่นี่มีน้ำตาลถึง 12 – 14% เพราะอากาศมีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ช่วยให้พืชสร้างน้ำตาล แตงเรียกว่ายู่หลาน (ดอกจำปี) เนื้อขาว ขณะนี้กำลังส่งเสริมการปลูกข้าวสาลีพันธุ์ใหม่ ซึ่งให้ผลผลิตสูง ปลูกสลับกับข้าวโพด เป็นการช่วยการเติบโต อาจารย์ต้วน (ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตุนหวง) อธิบายว่าในสมัยก่อน คือ สมัยหมิงกับสมัยชิง ถ้าข้าราชการทำผิด หรือไม่เป็นที่พอพระทัยของจักรพรรดิก็จะถูกเนรเทศมาไกล ๆ อย่างที่เจียยู่กวนนี้ เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ด่านเจียยู่กวนเพิ่งซ่อมเสร็จเมื่อปีที่แล้ว จากด่านจะมองมาเห็นเฮยซาน ซึ่งเป็นแหล่งที่พบภาพและหินสลักมากมาย เป็นฝีมือคนกลุ่มน้อยในสมัยโบราณในสมัยราชวงศ์หมิงสร้างกำแพงเมืองจีนไปไกลถึงตุนหวง มียู่วเหมินกวน หยางกวน อยู่ที่กำแพงเมืองจีนแถบใกล้ ๆ กับตุนหวง รัชกาลแรกแพร่อิทธิพลไปซินเกียง ตอนหลังคิดว่ามีกำลังทหารไม่พอจึงถอยไปมาสร้างด่านไว้ที่เจียยู่กวนนี้ ช่วงนี้นั่งรถไปทัศนาจรจะเห็นกำแพงเมืองจีนเป็นตอน ๆ เวลายูเนสโกมาทัศนศึกษาป้อมยาม ทางเทศบาลจะลองจุดสัญญาณไฟติดต่อ


(น.180) รูป 116. ผู้ว่าฯ มอบภาพเขียนแบบจีนขนาดเล็ก ยาวเหยียดให้เป็นของที่ระลึก
The governor gave me a long Chinese miniature.

(น.181) กัน สัญญาณที่จุดติดต่อจะต้องนัดกันไว้ก่อนว่าสัญญาณแบบไหนแปลว่าอะไร ที่ปรึกษาเช่าอธิบายว่าสมัยโบราณไม่มีโทรศัพท์หรือเทเล็กซ์ก็ต้องทำแบบนี้แหละ เครื่องมือส่งสัญญาณคือต้นกกแห้งมัดเป็นฟ่อนและจุดไฟให้มีควันเห็นไปได้ไกล เมืองนี้แต่เดิมไม่มีอะไรเลยไม่เป็นเมืองเสียด้วยซ้ำไป เป็นแต่ด่าน เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมถลุงเหล็กก็เลยตั้งเป็นเมืองเมื่อ ค.ศ. 1958 เอาคนมาจากภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ สังเกตดูคนแถวนี้จะพูดภาษาอีสาน เด็กเกิดใหม่ก็พูดอีสาน ตัว (รอง) นายกเทศมนตรีก็มาจากมณฑลเหอเป่ย เป็นสถาปนิกจบจากมหาวิทยาลัยชิงหัวที่ปักกิ่ง อยู่ในตำแหน่งมา 2 สมัยแล้ว แต่แรกมีแผนว่าจะทำเมืองนี้ให้เป็นเมืองเซี่ยงไฮ้ กะว่าจะให้มีพลเมืองสองล้านคน แต่ผิดแผนก็เลยมีคนไม่มาก เขาอธิบายว่าตั้งแต่เปิดโรงแรมมาข้าพเจ้าเป็นแขกมีเกียรติ ใหญ่โตที่สุด ทางโรงแรมก็เลยปักธงให้เยอะแยะ แบ่งเป็นธงใหญ่ 360 ผืน ธงเล็ก 720 ผืน รวมเป็น 1,080 ผืน เป็นเลขมงคล รู้สึกเขาจัดเตรียมต้อนรับถี่ถ้วนมาก มีของขวัญให้หลายอย่าง เช่น เหรียญที่ระลึก หินจากทะเลทรายโกบีมาประดิษฐ์เป็นรูปตุ๊กตา ที่น่าดูที่สุดเห็นจะเป็นภาพเขียนแบบจีนแต่มีขนาดเล็ก ยาวเหยียด ไม่เคยเห็นที่ไหนเลย ได้ความว่าจิตรกรวาดให้เป็นพิเศษ เป็นภาพกำแพงเมืองจีน ป้อมเจียยู่กวน ภูเขาฉีเหลียน และภูเขาเฮย (เฮย – ดำ) รับประทานเสร็จแล้วค่อนข้างจะดึก เพราะอาหารมากกินช้า ข้าพเจ้าขึ้นมาเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ซุปมาช่วยอ่านเรื่อง และคุยกันถึงทฤษฎีต่าง ๆ เรื่องคนกลุ่มน้อยใครเป็นเผ่าไหนเป็นเรื่องยุ่งมาก เราคงจะต้องยึดตำราสักเล่มหนึ่งแล้วลองสอบเทียบดู